‘คอนเทนต์’ (content) กลายเป็นคำคุ้นหูของคนทั่วไปตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบได้ แต่ทุกวันนี้ ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็เข้าถึงอุปกรณ์ผลิตสื่อและอินเทอร์เน็ต เราใช้คำนี้เรียกสื่อรูปแบบสารพัด ทั้งที่ทำขึ้นโดยสื่อมวลชนสำนักใหญ่ ไปจนถึงคนทั่วไปที่มีเรื่องราวอยากแบ่งปัน แต่คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ครีเอเตอร์’ ดูจะเอาจริงเอาจังที่สุดในการหาเรื่องมาเล่าให้แตกต่าง สะกิดใจผู้ชมผู้ฟัง และเกาะติดอยู่กับภารกิจนี้จนเหมือนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
สำหรับเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 TK Park จึงชวน The MATTER มาเปิดวงพูดคุย เอ๊ะ talk ในหัวข้อ ‘คนเอ๊ะ ครีเอเตอร์’ กับ ‘โจ้ — นทธัญ แสงไชย’ จาก Salmon Podcast ‘เบลล์ — จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์’ บรรณาธิการบริหาร Capital และ ‘ต้นกล้า — มิ่งบุญ ฮาตะ’ จากรายการคืนพุธมุดผ้าห่ม ให้ทั้งสามคนมานั่งล้อมวงพูดคุยกับแบบสบาย ๆ ถึงเบื้องหลังเส้นทางกว่าจะมาเป็นครีเอเตอร์ พวกเขาต้อง ‘เอ๊ะ’ กับการค้นหาตัวตน เอ๊ะ! กี่ครั้งถึงได้คอนเทนต์ และ เอ๊ะ! ควรจะเล่าออกมาให้มีเอกลักษณ์ได้อย่างไร เพื่อให้เราได้เห็นคอนเทนต์จจากมุมมองของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกมุม
การเริ่ม “เอ๊ะ” มันสำคัญกับเราในฐานะครีเอเตอร์อย่างไร
โจ้: ถ้าเราไม่เอ๊ะ เราจะอยู่กับสิ่งที่คุ้นชิน ไม่เจอคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่พาไปรู้จักแง่มุมใหม่ ๆ การเอ๊ะยังใช้ตรวจสอบการทำงานของเราได้ด้วย เหมือนการขึ้นสถานีจากความรู้สึกว่า เอ๊ะ พอดแคสต์บ้านเราทำไมดูจริงจัง ไม่มีที่เป็นเอ็นเตอร์เทนหรือไลฟ์สไตล์เลยเหรอ จากการเอ๊ะเลยเป็นที่มาของการเปิด Salmon Podcast
เบลล์: หนึ่งในกระดูกสันหลังของการทำสื่อ คือ การตั้งคำถามสู่การทำคอนเทนต์ วันที่เราออกไปสัมภาษณ์มนุษย์หลายอาชีพ เราใช้การตั้งคำถามแล้วฟังเขา หลังจากนั้นเราเอาข้อมูลที่ได้กลับไปจัดการผ่านกระบวนผลิตคอนเทนต์ กระบวนการนั้นก็จะกลับมาตั้งคำถามว่า วิธีการปล่อยชิ้นงาน เราบรรลุวัตถุประสงค์แล้วหรือยัง มันจะเอ๊ะในทุกขั้นตอน
ต้นกล้า: เอ๊ะของผมมันมาตอนก่อนที่จะเป็นรูปแบบรายการ พี่ชายเป็นครีเอเตอร์มาก่อน เขาจะคอยสอนตลอดว่า ถ้าอยากจะเป็น ต้องหาตัวเองให้เจอ มันเป็นเอ๊ะแรกที่เรารู้สึกว่า เราเป็นใคร คาแรกเตอร์เราคืออะไร จะถ่ายทอดแบบไหน คนมาดูเราเพราะอะไร ก่อนที่จะมีช่อง RUBSARB Production เราใช้ชื่อเป็น GGTK Castation โดยพี่จอร์จกับผมร่วมกันก่อตั้งเพื่อหาตัวตนของเราก่อน ซึ่งเอ๊ะมาตลอดว่า สิ่งนี้มันไม่ใช่เรา เราเลยลองพลิกมานำเสนอสิ่งที่อยากทำ ซึ่งก็คือเรื่องผี ในไทย ตอนนั้นคนฟังเรื่องผีเยอะ ในญี่ปุ่นเขาฟังกันหลายวิธีการมาก มีเปิดเป็นบาร์นั่งดื่มพร้อมฟังเรื่องผี จัดเป็นโชว์บนเวทีเพื่อเล่าเรื่องผี ซึ่งยังไม่มีในไทย เราก็ เอ๊ะ ทำไมเราไม่เริ่มล่ะ จากที่คนทางบ้านโทรเข้ามา ซึ่งเป็นรูปแบบรายการที่คุ้นชินกัน เราลองเปลี่ยนวิธีการเป็นนำเสนอด้วยวิธีของเราคนเดียว นั่นก็คือจุดเริ่มต้น
‘เอ๊ะ’ แล้วหาตัวเองให้เจอจนเกิดเป็น DNA ตัวตนของเราอย่างไร
เบลล์: คนมักจะพูดกันว่า ก่อนทำสื่อต้องค้นหาตัวเอง แต่โดยส่วนตัวแล้วกระบวนการนี้ไม่ค่อยเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ ตัวตนจะมาพร้อมโจทย์หรือโอกาสบางอย่างมากกว่า ก่อนหน้านี้ผมทำ a day ซึ่งเป็นสื่อไลฟ์สไตล์มาก ๆ พอได้รับคำชวนให้มาเป็น บ.ก. Capital ตอนนั้นยังไม่มีสื่อธุรกิจที่เข้าถึงง่าย แต่ในต่างประเทศสื่อธุรกิจเล่าสนุกเยอะมาก ผมเลยอยากเล่าให้มันสนุก ก็หันกลับมามองตัวเรา มองสิ่งที่ชอบ หนัง หนังสือ เพลง พวกนี้มันสะสมให้ออกมาเป็นตัวเรา พอเราอยากให้มันเข้าถึงคนได้ง่าย เราก็เลยเล่าเรื่องตามความถนัดคือเล่าด้วยแว่นของคนทำสื่อไลฟ์สไตล์ หรือสิ่งที่เราสะสมมา ตัวตนเราก็เลยออกมาเป็นแบบนี้
โจ้: ผมไม่ได้รู้สึกชอบทำพอดแคสต์ แต่กลายเป็นว่าประสบการณ์การทำงานของผม ทั้งเคยทำเพลง งานเขียน นิตยสาร เป็นบรรณาธิการหนังสือ มันเหมาะกับการทำพอดแคสต์มาก มันไม่ใช่งานในฝันนะ แต่งานนี้ใช้ศักยภาพของเราเต็มที่เลย เลยคิดว่าไม่ว่าเราจะรักในตัวตนของเราหรือไม่ สิ่งที่เราสะสมมา มันเดินทางไปด้วยกันแล้ว
ต้นกล้า: คืนพุธมุดผ้าห่มเป็นเหมือน Identity ของผมอีกมุมหนึ่ง ซึ่งโดยปกติผมจะไม่ค่อยเล่าผ่านสื่อเท่าไหร่ เพราะเป็นรายการเล่าเรื่องน่ากลัว เหมือนเป็นมุมดาร์กของเรา แต่ รับทราบ Production เราจะไปในมุมเล่นซะมากกว่า พอเรามาทำวันพุธฯ คนฟังที่ชอบอะไรคล้ายเราก็ติดตามรูปแบบการนำเสนอของเรา ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องสกิลที่ค่อย ๆ เรียนรู้ไป จากคืนที่หนึ่งไปจนถึงคืนที่สองร้อยกว่า มันค่อย ๆ ปรับและพัฒนามาเป็นรูปแบบของเรา
พอเราค้นพบตัวตนหรือทางของเราแล้วปล่อยผลงานออกไป เรา ‘เอ๊ะ’ อะไรต่อ
โจ้: เอ๊ะว่า การทำพอดแคสต์เป็นอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ไหม แม้ว่าเราจะชื่อ Salmon Podcast แต่เราก็ลองไปจัดสด ๆ ตามที่ต่าง ๆ ลองให้มีละครเวทีเพื่อทลายกรอบบางอย่างของพอดแคสต์ อะไรที่เราเอ๊ะ ก็จะลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เอาอย่างอื่นมาประกอบโดยมีการเล่าเรื่องนำอยู่
เบลล์: ขอแชร์ 2 บทบาท อย่างแรกการเป็นสื่อหรือทำเพจ สมมติสนใจเรื่องอาหาร คิดจะทำเพจอาหาร ก็ต้องเอ๊ะก่อนว่า ทำไมเราต้องทำเพจ คอนเทนต์เราจะแตกต่างไหม อีกคำถามที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือ โมเดลธุรกิจ เราจะอยู่กับมันอย่างไร หาช่องทางอย่างไร ความเป็นไปได้คือหนึ่งในช่องทางธุรกิจ อีกหนึ่งมุมมองส่วนตัว การทำคอนเทนต์สิ่งที่ยากคือ การที่เราต้องรู้ว่าเราไม่ควรทำอะไร ดังนั้น ต้องนึกถึง 3 สิ่งสำคัญ หนึ่ง เราจะเล่าเรื่องอะไร สอง จุดประสงค์จะเล่าทำไม เช่น เล่าเรื่องการเมืองเพื่อกระตุ้นให้คนเกิดการตั้งคำถาม สาม เล่าให้ใครฟัง เล่ามุมไหนคือต้องกำหนดประเด็น อันนี้สำคัญมาก จะทำให้เราแตกต่าง สุดท้ายเล่าผ่านสื่อใด
ต้นกล้า: เริ่มต้นเราทำเอามันก่อนวันแรก มันเป็นพื้นที่ที่เราได้แสดงตัวตน ก็มองให้เป็นถังขยะเพื่อโยนไอเดีย ลองผิดลองถูก แล้วให้สังคมหรือคนดูสะท้อนกลับมา เราจะโตมากับสิ่งที่เราทำทั้ง ไปพร้อม ๆ กับคนดูที่จะเห็นเราในวันที่ล้มและวันที่สำเร็จ อันนี้ล่ะคือตัวตน แล้วเราค่อยมาเพิ่มสกิลอื่น เช่น เรื่องการพูดให้รู้เรื่อง พัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยต้องยืนหยัดในสันหลังของเรา ถ้าเราคล้อยไปตามความชอบคนอื่นทั้งหมด วันพุธมุดผ้าห่มก็อาจไม่ได้มาอยู่ตรงนี้ และที่สำคัญอันไหนที่ทำแล้วดังอย่าไปยึดติด มันไม่ใช่สกิล มันเป็นกระแสที่เราไม่ควรไปหากินกับมัน เพราะแฟนคลับก็จะมาแค่กับกระแส ถ้าเราอยากให้คนตามเราเป็นคนยังไง เราก็ต้องเป็นตัวเองก่อน แล้วมันจะคัดคนมาดูเราเอง
เอ๊ะ แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะบอกตัวเองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหยุดทำสิ่งนี้
โจ้: เราทำรายการมาแล้วกว่า 30 รายการ บางรายการหยุดทำไปก่อนแล้วกลับมาทำใหม่ สุดท้ายก็จะมีรายการที่รอซีซั่นของมัน มันเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การลองแต่เป็นการดูแง่มุมว่าไปทางไหนได้บ้าง เราเลยรู้สึกจะเริ่มและเลิกตอนไหน มันมีเกณฑ์มากมาย ทั้งในเชิงของสภาพจิตใจคนทำงาน เชิงธุรกิจไปได้หรือเปล่า บางอย่างเราอาจจะต้องเลิกเพื่อดำเนินสิ่งใหม่ ๆ รายการขอตั้งเป้าหมายเป็นมาราธอนที่มีการหยุดเดิน มีจุดแวะพัก แล้วกลับมาวิ่งใหม่อีกครั้ง การเลิกเลยไม่ใช่การสิ้นสุดของรายการแต่เป็นการลองหยุดพักเพื่อมองหาไอเดียใหม่ ๆ กลับมาใช้ในงานนั้น ๆ ต่อ
เบลล์: การเลิกมันเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่เราอาจทำเพื่อมองหาไอเดียใหม่ ๆ ไม่ใช่ความล้มเหลว เวลาเราจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง ในฐานะคนทำสื่อ เราไม่รู้หรอกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร จะไปสุดที่ตรงไหน เราทำได้แค่ตั้งสมมติฐาน พอลงมือทำจริง ๆ อาจจะไม่เหมือนที่คิดไว้ สิ่งที่เราคิดว่าเราขาดอาจจะไม่ใช่แบบนั้น การเลิกก็เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนสิ่งที่เราทำ หรือมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
ต้นกล้า: มันจะมีการเอ๊ะอีกอย่างที่ทุกวันนี้ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ คืออะไรที่เรารู้สึกว่าเราชอบสิ่งนี้มาก ๆ เราภูมิใจมากกับการทำคลิป ๆ นี้แล้วได้ถ่ายทอดออกไป แต่ผลลัพธ์หรือยอดวิวกลับไม่เป็นไปตามคาด หรือเพราะเราปล่อยผิดวัน ผิดเวลาหรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราคิดอยู่นั้น มันคืออัลกอริทึมที่มองไม่เห็น คือการที่คุณต้องลงคลิปให้สม่ำเสมอ เป็นเวลา ให้อยู่ในสายตาผู้คน ยอดวิวก็จะมาอย่างต่อเนื่องเอง
ฝากการ ‘เอ๊ะ’ ถึงทุกคน
โจ้: หลักสำคัญที่สุดของการทำคอนเทนต์ คือ เราต้องเอ๊ะว่าเราทำไปเพื่ออะไร สิ่งนั้นจะเป็นแกนหลักของเรา ขณะเดียวกันเราก็ต้องรีเช็กว่า เอ๊ะ เราทำสิ่งนั้นไปทำไม ถ้ามันตอบโจทย์เราได้ ก็จะรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร
เบลล์: คอนเทนต์ปัจจุบันนี้มันรวดเร็วมาก ส่วนใหญ่หาวัตถุดิบจากข้างนอก ผมอยากชวนทุกคนมาเอ๊ะ เพื่อมองย้อนกลับเข้าไปข้างในตัวเราว่า เราเป็นใคร เราเชื่อ สนใจ หรือมีศักยภาพอะไร ให้ความสำคัญกับอะไร การสำรวจภายในตัวเราจะทำให้เรามองเรื่องรอบข้างได้แตกต่างจากคนอื่น
ต้นกล้า: ให้เอ๊ะกับตัวเองไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะอะไร ผมเชื่อในการสร้างคอมมูนิตี้ให้เกิดการรวมตัวกันของบุคคลเสมอ ถ้าเราอยากที่จะถ่ายทอดอะไรออกไป เริ่มจากคิดถึงตัวตนเราให้ชัดเจนก่อน เราอยากได้สิ่งไหนจากสังคม ตัวเราเป็นยังไง สังคมก็จะตอบกลับหรือมอบสิ่งนั้นคืนเรามาอย่างนั้น
TK Park เชื่อว่าพลังของความสงสัย จะชวนเจ้าของความสงสัยเปิดประตูไปสู่ความสงสัยใหม่ ๆ พร้อมโอกาสทำในเรื่องไม่เคยทำ ดังที่เทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 ชวนทุกคนมา ‘สงสัยให้สุด เป็นมนุษย์ไม่หยุดเอ๊ะ’