ในยุคที่โลกไร้พรมแดน การพัฒนาเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ง่าย ไปจนถึงสามารถทำบางสิ่งที่ยึดถือคุณค่าในแบบเดียวกันร่วมกันได้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก นั่นจึงทำให้ผู้คนยุคใหม่ตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นพลเมืองของโลก มากกว่าการเป็นประชากรของประเทศเดียว และแน่นอนเมื่อนิยามของคำว่าพลเมืองเปลี่ยนไป การศึกษาและการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ยังเด็ก ก็ต้องสอดคล้องกับสำนึกใหม่นี้ด้วยเช่นกัน คำถามก็คือ พลเมืองโลก หรือ Global Citizen คืออะไร? แล้วพ่อแม่ยุคใหม่จะต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กเติบโตไปเป็น Global Citizen ที่มีคุณภาพในอนาคตได้อย่างไร?
อุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Edsy สตาร์ทอัพการศึกษา จัดเสวนา เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน ในหัวข้อ เตรียมพร้อมเด็กไทยให้เป็น Global Citizen ร่วมรับฟังวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนมุมมองจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณกรณ์ จาติกวณิช ที่ปรึกษาอาวุโสของ Edsy และหัวหน้าพรรคกล้า เสวนาร่วมกับ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินรายการโดย คุณก้อง-อรรฆรัตน์ นิติพน
นิยามความเป็นพลเมืองโลก
เมื่อโลกเปิด แน่นอนว่ามนุษย์สามารถมองหาพื้นที่เติบโตให้กับชีวิตได้อย่างไม่จำกัด ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้คำว่าพลเมืองโลก หรือ Global Citizen ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งการเป็นพลเมืองโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นใคร ชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหนบนโลก แต่คือการเชื่อมโยงร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกันทั่วโลก และในวงเสวนากับหัวข้อ เตรียมพร้อมเด็กไทยให้เป็น Global Citizen คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เริ่มต้นให้ความเห็นว่า การเป็นพลเมืองโลก คือการพร้อมเรียนรู้ เข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
“ส่วนตัวคิดว่า Global Citizen คือคนที่มีความคิดเปิด กล้ารับสิ่งใหม่ๆ กล้าออกจาก Comfort Zone แล้วถามว่าทำไมถึงสำคัญ เพราะในวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นถ้าจะสร้างพลเมืองของชาติให้เติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกได้ เขาจะต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง Global Citizen ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องให้ลูกไปเรียนนานาชาติหรือเรียนเมืองนอก พ่อแม่บางคนอาจจะไม่สามารถส่งลูกเรียนในลักษณะนั้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกของเราหมดโอกาสที่จะเป็นคนที่เปิดสู่โลกกว้างได้ เพราะสิ่งที่สำคัญอยู่ที่ Mindset การศึกษาสามารถทำให้เขาเปิดโลกของตัวเองได้ตลอดเวลา เพราะการศึกษาไม่ได้อยู่เฉพาะโรงเรียน แต่อยู่ที่ตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่สามารถนำพาลูกเป็นพลเมืองโลกได้ ถ้ายอมออกจากสิ่งเดิมๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องรับสิ่งใหม่ๆ ทั้งหมดมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คือต้องมีอัตลักษณ์ความเป็นเราอยู่ด้วย นั่นก็คือรู้เขาแล้วต้องรู้เราด้วย ต้องรู้จักวิเคราะห์ เข้าใจและก็ตัดสินใจ”
สำหรับคุณกรณ์ จาติกวณิช อธิบายเพิ่มเติมว่า “การจะเป็น Global Citizen แน่นอนที่สุดต้องคุยกับเขาให้รู้เรื่อง แต่ก็ควรมี Mindset ว่าสนใจเรื่องของเขาด้วย ไม่ใช่สนใจเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา แล้วพร้อมที่จะเรียนรู้จากเขา ต้องค่อนข้างเปิดกว้าง ผมอยากจะเสริมว่า จริงๆ เราจำเป็นต้องมีความเป็นเสรีนิยมส่วนหนึ่ง เพราะเสรีนิยมคือความพร้อมที่จะรับความต่าง คือ Global Citizen ส่วนตัวผมว่ามีนิยามแฝงอยู่ว่า คุณต้องยอมรับความต่างของคนที่อยู่ในหลากหลายสังคม หลากหลายวัฒนธรรมที่อาจจะต่างกับเรา ซึ่งแน่นอนที่สุด ผมเห็นด้วยว่าเราต้องยึดอัตลักษณ์ของตัวเราเองให้มั่นไว้ด้วย อย่างเราเป็นคนไทย อัตลักษณ์แบบคนไทย แต่เราจำเป็นต้องเปิดรับความคิด แล้วก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับชาวโลกด้วย”
ภาษาทำให้เราเปิดโลก แต่สำคัญสุดคือวิธีคิด
การเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นพลเมืองโลก วิทยากรทั้ง 2 ท่าน เห็นตรงกันว่า สิ่งสำคัญคือทักษะพื้นฐานด้านภาษา จำเป็นต้องมี แต่ก็มีเรื่องอื่นประกอบด้วย
โดยคุณกรณ์ สะท้อนมุมมองในวงเสวนาถึงประเด็นนี้ไว้ว่า ภาษาทำให้โลกเราเปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพูดคุยสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ ซึ่งสกิลภาษาพื้นฐานที่เด็กไทยควรมี นั่นคือ ภาษาอังกฤษ และที่สำคัญการเรียนรู้ด้านภาษา ยังนำพามาด้วยการได้เห็นและเข้าใจวัฒนธรรมอันหลากหลาย “ภาษาไม่ได้เป็นทักษะการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ที่ติดพ่วงมาด้วย คือวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามีความสำคัญ นั่นเป็นสาเหตุว่าตอนเราเรียนภาษาไม่ได้เรียนเรื่องแค่ไวยากรณ์ แต่เราอ่านวรรณคดีด้วย ทำให้เรามีความเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ นั่นคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง ช่วยให้เราได้เห็นมิติต่างๆ มีความเข้าใจกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการซึมซับสำคัญ เช่นเดียวกัน เด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ในโรงเรียนอินเตอร์ เทียบกับเด็กไทยที่ไปเรียนต่างประเทศ ความต่างอยู่ที่ประสบการณ์ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่สำคัญในการศึกษาและทำให้เขาเข้าใจจริงๆ กับสังคมที่อยู่นอกบ้านเขา”
ส่วนคุณกอบกาญจน์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ถึงแม้บางบ้านจะมีโอกาสไปเรียนต่างประเทศ หรือได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ แต่ถ้าไม่เป็นคนเปิดโลก อยู่กับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ ทำแบบเดิม ภาษาก็ไม่ได้การันตีว่าจะเติบโตไปเป็น Global Citizen ที่มีคุณภาพในอนาคตได้ ฉะนั้นใจต้องเปิด รวมถึงต้องฝึกการกระทำของตัวเองด้วย ต้องไม่ปิดตัวเอง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะการศึกษาไม่ได้มีเฉพาะในตำราหรือการไปโรงเรียน การศึกษาที่ดีที่สุด คือการศึกษาจากคน ซึ่งสามารถเป็นคนไหนก็ได้บนโลก ดังนั้นภาษาทำให้เราศึกษาได้ลึกขึ้นและไปได้เร็วจริง แต่ขณะเดียวกันอย่าคิดว่าภาษาเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เราเปิด เพราะสำคัญสุดคือวิธีคิด
เรียนให้กว้าง เปิดรับความคิดต่าง และยอมรับวัฒนธรรมหลากหลาย
การรุกหน้าของเทคโนโลยี ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งด้านการคิด และการปฏิบัติที่เพื่อนมนุษย์ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ฉะนั้นการศึกษาจึงควรเป็นมากกว่าการเครื่องมือที่สอนให้คนสามารถอ่าน ท่องหรือเขียน การศึกษาควรสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณค่าในชีวิต
สำหรับประเด็นเรื่องการเตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน คุณกอบกาญจน์ แสดงความคิดเห็นว่า “ควรจะเรียนให้กว้าง ส่วนตัวคิดว่าอะไรที่อยู่ในตำราตอนนี้ก็อาจจะล้าสมัยเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการศึกษาที่ดี ควรสอนให้เรียนรู้ให้เป็น แล้วก็ทุกๆ วันต้องเป็น new chapter ให้ได้ ดังนั้นการเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ เล่นกีฬา ดูดาว เดินป่า หรืออะไรก็ตาม ทุกๆ อย่างจะเป็นส่วนช่วยให้เราเป็นคนที่เปิดและสร้างสรรค์มากขึ้น ฉะนั้นผู้ปกครองยุคใหม่ก็ต้องทำให้ลูกได้รู้จักที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น การอ่านหนังสือหรือการสนใจหลากหลายในชีวิตที่เข้ามาสำคัญมาก และพ่อแม่ก็ควรสนับสนุนเขา เพื่อเขาจะได้ค้นพบตัวเองและพบความนึกคิดอะไรใหม่ๆ”
ด้านคุณกรณ์ เสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า “การเป็นพลเมืองโลกคือการเปิดรับวัฒนธรรม ซึ่งมาจากการศึกษา จากการอ่าน ดูนิทรรศการ พบปะพูดคุย คือถ้าเราไม่เปิดรับความคิดที่แตกต่างหลากหลาย และวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคย เราไม่มีทางที่จะเป็น Global Citizen ได้ เพราะ Global Citizen ต้องรู้และสนใจทั้งประเด็นและปัญหาของโลก เช่นถามว่าเราเป็น Global Citizen ได้ไหม ถ้าเราไม่สนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าก็ยากอยู่นะ คือถ้าตามนิยามของ Global Citizen ต้องเป็นคนที่มีความสนใจและเป็นห่วงในประเด็นของสังคมอื่นและโลกทั้งใบ ไม่ใช่เพียงแค่สังคมตัวเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรฝึกมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน เช่น ฝึกให้ติดตามข่าวสาร ลองอ่านข่าวต่างประเทศบ้างว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อย่างที่รบกันอยู่ตอนนี้รัสเซีย ยูเครน เกิดขึ้นเพราะอะไร ผลกระทบที่จะมีต่อโครงสร้างสังคมโลกและเศรษฐกิจจะมีผลกับเราอย่างไร แต่ก็ไม่ใช่แค่ติดตามข่าวอย่างเดียว แต่ต้องมีใจ มีส่วนร่วม รู้สึกอินกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา นั่นคือความหมายของการเป็น Global Citizen และคำถามก็คือเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร แล้วการอยู่ในฐานะ Global Citizen เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเรา ต่อบ้านเมืองเราอย่างไร ซึ่งผมว่า ณ วันนี้ เราลองนึกภาพ ถ้าคนไทยไม่มีความเป็น Global Citizen ผมคิดว่าเราก็จะเสียโอกาสเยอะ โลกเราเปิด ประเทศเราก็เป็นประเทศที่เปิดมาก เรารับนักท่องเที่ยว ค้าขายกับต่างประเทศ ทุกอย่างๆ เศรษฐกิจเราโยงอยู่กับต่างประเทศ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่เปิดรับและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ผมว่าเราก็จะเสียโอกาส”
เตรียมพร้อมพลเมืองชาติ สู่การเป็นพลเมืองโลก
ในส่วนการเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ คุณกอบกาญจน์ และคุณกรณ์ เห็นตรงกันว่าคือการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง นอกจากนี้ควรส่งเสริมด้านการศึกษาหรือความรู้ผู้คนในการที่จะทำให้พวกเขาเปิดใจกว้างขึ้น และสนับสนุนความสามารถในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานสำคัญ เพื่อจัดเตรียมพลเมืองในชาติเองให้พร้อมที่จะสามารถเป็นพลเมืองโลกได้ “
การฝึกลูกให้เป็น Global Citizen สำหรับครอบครัวผม เราพูดคุยกันเยอะ ก็มีแชร์ข่าว แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และก็ส่งเสริมการรักการอ่าน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก ส่วนเรื่องการติดตามข่าวสารก็เป็นเรื่องส่งเสริมอยู่ แต่ผมยอมรับอย่างหนึ่งว่าลูกให้ความสนใจข่าวสารมากขึ้น เมื่อเขารู้ภาษาอังกฤษ อันนี้ก็อาจเป็นเรื่องเศร้า ที่คอนเทนต์ภาษาอังกฤษมีเสน่ห์สำหรับเด็กมากกว่าคอนเทนต์ภาษาไทย ผมคิดว่าเรายังพัฒนาคอนเทนต์ของเราให้เด็กสนใจสู้ต่างประเทศไม่ได้ มันเลยทำให้ลูกผมพอเขาเลือกได้ เขาไปทางคอนเทนต์ภาษาอังกฤษหมดเลย เพราะสนุกกว่า ตั้งแต่รายการทีวี หนังสือ หรือคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ต แต่ทางกลับกันก็ทำให้เด็กที่ยังไม่รู้ภาษาอังกฤษ เสียโอกาสตรงนี้เหมือนกัน เพราะทำให้เขาไม่สนใจข่าวสารในวงกว้างโดยปริยายเพราะมีภาษามาเป็นตัวปิดกั้น”
คุณกรณ์กล่าว ส่วนคุณกอบกาญจน์ ทิ้งท้ายเสวนาครั้งนี้ไว้ว่า ไม่มีโรงเรียนไหนดีที่สุด ทุกอย่างมีดีและมีด้อย ซึ่งส่วนที่ด้อยในฐานะผู้ปกครอง ก็ควรเป็นคนที่ช่วยเสริมสิ่งที่ขาดหายไปนั้น และอยากให้เข้าใจว่า Global Citizen ไม่ได้หมายความว่าลูกเราต้องเป็นเด็กกรุงเทพ หรือต้องไปเรียนต่างประเทศ แต่อยู่ไหนก็สามารถเป็นพลเมืองโลกได้ ซึ่งหน้าที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ คือสร้างคน และการสร้างคนไม่ใช่ทำอย่างไรให้เขารวย แต่สร้างอย่างไรให้เขาเป็นคนที่ดีต่อไปในอนาคต นั่นก็คือเรื่อง Mindset ถ้ามี Mindset ที่ดีก็จะมีการกระทำที่ดีตามมา สุดท้ายผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นว่าเราไม่หยุดเรียนรู้ ด้วยการเรียนรู้ไปด้วยกัน สนุกไปกับเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พร้อมกับปลูกฝังเขาว่าความรู้ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปเร็ว