10 สุดยอดการตลาดห้องสมุดปี 2016
สหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA-International Federation of Library Associations and Institutions) ร่วมกับบริษัท BibLibre จัดประกวดโครงการการตลาดห้องสมุดนานาชาติ 2016 ขึ้น เพื่อเฟ้นหากลยุทธ์การตลาดที่ช่วยโปรโมทห้องสมุดและบริการสารสนเทศได้อย่างสร้างสรรค์ โครงการที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้คือ Inspiration Lab ของห้องสมุดประชาชนแวนคูเวอร์ รางวัลรองชนะเลิศคือโครงการLibrary Time ของห้องสมุดเซียะเหมิน และอันดับสามได้แก่โครงการ Libraries Pop Ups! ของห้องสมุดซันไชน์โคสท์ นอกจากนี้ยังมีโครงการซึ่งเสนอกลวิธีมัดใจลูกค้าที่แหวกแนวและโดนใจผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้รวมทั้งสิ้น 10 โครงการ
1. Inspiration Lab, ประเทศแคนาดา
ห้องสมุดประชาชนแวนคูเวอร์นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับอ่านหนังสือแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์มัลติมีเดียที่ถ่ายทอดตัวตนของชาวเมือง ห้องสมุดจัดสรรพื้นที่ 7,500 ตารางฟุตเพื่อเป็น Inspiration Lab เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ผลิตสื่อที่ทันสมัย อาทิ ห้องบันทึกเสียง สตูดิโอถ่ายภาพ ห้องตัดต่อภาพและเสียง พื้นที่ทำงานร่วมกันและพื้นที่แสดงผลงาน อีกทั้งยังจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการสร้างสรรค์สื่อควบคู่กันไปด้วย ในทุกสัปดาห์มีหลักสูตรอบรมความรู้ด้านภาพยนตร์ การพัฒนาเกม และสื่อดิจิทัล และในแต่ละเดือนจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดังกล่าวมาบรรยายเพื่อให้ความรู้และแรงบันดาลใจ
ห้องสมุดประชาสัมพันธ์โครงการนี้โดยติดป้ายโฆษณาไว้ที่ป้ายรถเมล์ซึ่งสามารถขึ้นรถมายังห้องสมุดได้ มุ่งเน้นการสร้างความรับรู้ใหม่ที่ผู้ใช้บริการมีต่อห้องสมุดในฐานะสถานที่ที่ทันสมัย ก้าวหน้า และสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในแวดวงสื่อโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถช่วยส่งต่อการรับรู้นี้ผ่านเครือข่ายและช่องทางของตัวเอง
2. Library Time, ประเทศจีน
ตั้งแต่ปี 2013 บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเซียะเหมินทุกคนสามารถย้อนดูวันวานเก่าๆ ที่พวกเขาเคยมีในห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อหนังสือ ช่วงเวลาที่มาใช้บริการห้องสมุด จำนวนหนังสือที่ยืม ที่นั่งตัวโปรด ฯลฯ โดยล็อคอินเข้าไปใช้งาน e-account ของตนเอง ซึ่งเป็นบัญชีการใช้งานแบบตลอดชีพ แล้วแปลงความทรงจำเหล่านั้นให้กลายเป็นอีโปสการ์ดที่งดงามด้วยดอกไม้ ใบไม้ ภาพวาด และบทเพลง โปสการ์ดของโครงการ Library Time ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวางผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและบล็อกต่างๆ นับว่าเป็นการใช้สื่อที่เรียบง่าย แต่ได้รับผลการตอบรับทางการตลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
3. Libraries Pop Ups! , ประเทศออสเตรเลีย
ห้องสมุดซันไชน์โคสท์ (Sunshine Coast Libraries) ประเทศออสเตรเลีย มีไอเดียที่จะสร้างสีสันให้กับชายหาดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการตั้งห้องสมุดนอกสถานที่ 6 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีสโลแกนและกิจกรรมสนุกๆ ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ห้องสมุดคือสีสันของชีวิต ออสซี่ตัวจริงต้องอ่าน การอ่านคืออาหารสมอง ห้องสมุดจุดประกายชีวิต วิ่งเพื่ออ่าน และห้องสมุดสุดเจ๋ง
แท้ที่จริงแล้ววัตถุประสงค์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังห้องสมุดชายหาดคือ การโปรโมทห้องสมุดออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นโอกาสให้บรรณารักษ์ได้ทำในสิ่งที่ออกจากกรอบคิดเดิมๆ และเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการให้บริการลูกค้า Libraries Pop Ups! ใช้การตลาดแบบที่ไม่มีห้องสมุดใดเคยใช้มาก่อน สร้างความแปลกใจให้ผู้ใช้บริการ และสร้างโอกาสให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลห้องสมุดได้รับรู้บริการใหม่ๆ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง
4. Free-Range Resources Project, ประเทศออสเตรเลีย
ห้องสมุดเวสเทิร์นดาวนส์ (Western Downs Libraries) ได้จัดหาและรวบรวมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองจนเกิดเป็นหลักสูตรนับพันหัวข้อ ห้องสมุดพยายามประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรู้จักบริการนี้ผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งการใช้โซเชียลมีเดีย และการเผยแพร่ลิงก์ของเว็บไซต์โดยตรง วิธีการที่สำคัญคือการใช้ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบค้นผ่าน search engine โดยการดันเว็บไซต์ของห้องสมุดให้ขึ้นไปอยู่อันดับต้นๆ เมื่อผู้ใช้บริการค้นหา ผลที่ตามมาทำให้ยอดการใช้งานทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์และการสมัครเป็นสมาชิกของห้องสมุดเพิ่มสูงขึ้น เป็นการลงทุนเพียงเล็กน้อยแต่เกิดผลทางการตลาดที่เกินคุ้ม
5. Read and Run, ประเทศโปแลนด์
ห้องสมุดมัลติมีเดียพลาเน็ตต้า 11 (Planeta 11 multimedia library) ได้ชื่อว่ามักจะจัดกิจกรรมแปลกๆ ไม่เหมือนใคร หนึ่งในนั้นก็คือ กิจกรรม Read and Run ซึ่งชวนคนมาวิ่งพร้อมกับถือหนังสือไว้ในมือ เพื่อแสดงออกว่าคนที่รักการอ่านนั้นเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉงทั้งสมองและร่างกาย แคมเปญนี้ยังจัดขึ้นเพื่อขอรับบริจาคหนังสือ และขอรับการสนับสนุนคูปองฟิตเนส บัตรเที่ยวสวนน้ำ ตั๋วชมภาพยนตร์ คูปองสลัดบาร์และกาแฟ ฯลฯ จากสปอนเซอร์ต่างๆ
การประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 120 คน เกินกว่าที่ห้องสมุดตั้งเป้าไว้ ส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัวและมีหลายคนเดินทางมาจากต่างประเทศ เช่น รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส ในวันนั้นทุกคนมารวมตัวกันที่ลาน วอร์มร่างกายก่อนโดยการอ่านออกเสียงหนังสือที่แต่ละคนพกมาด้วย และเมื่อเริ่มออกวิ่งทุกคนต่างก็ตะโกนชื่อนักเขียนคนโปรดออกมาดังๆ
6. Thesswiki, ประเทศกรีซ
ห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศมหาวิทยาลัยอริสโตเติลเมืองเทสซาโลนิกิ (Aristotle University of Thessaloniki) มีแนวคิดที่จะดิจิไทซ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง จึงได้ร่วมมือกับนักเขียนและกวีที่อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่ช่วยยกร่างเนื้อหาในหลากหลายแง่มุม แล้วเผยแพร่เนื้อหาโดยใช้สารานุกรมออนไลน์วิกิพีเดียเป็นเครื่องมือ สารสนเทศชุดนี้จึงถูกตั้งชื่อใหม่ว่า Thesswiki
คุณลักษณะสำคัญของวิกิพีเดียก็คือ การเปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้เข้าไปแก้ไขและเพิ่มเติมเนื้อหาข้อมูลต่อจากผู้ที่ได้สร้างเนื้อหาไว้ ชาวเมืองเทสซาโลนิกิจึงมีส่วนร่วมในการเขียนถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นของตนได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้เนื้อหาที่จัดทำขึ้นยังสามารถเชื่อมโยงกับ Google Map ซึ่งสะดวกต่อนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเยี่ยมชมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง
7. Metro-library, ประเทศจีน
โครงการ Metro-library ของหอสมุดแห่งชาติจีน ได้ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ทรัพยากรการอ่านดิจิทัลไว้ที่รถไฟใต้ดินปักกิ่งสายที่ 4 ทั้งโปสเตอร์ในขบวนรถไฟ เสาสถานีรถไฟ และป้ายไฟโฆษณา ซึ่งมีผู้โดยสารจำนวนมหาศาลในแต่ละวันที่สามารถเข้าถึงสื่อดังกล่าว ห้องสมุดได้สร้าง QR Code เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงทรัพยากรดิจิทัลได้ทันทีด้วยอุปกรณ์โมบาย โครงการ Metro-library ก่อให้เกิดบรรยากาศที่สะท้อนให้เห็นถึงการอ่านกับชีวิตประจำวันของชาวเมืองปักกิ่ง และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือระหว่างการเดินทางไปทำงานหรือท่องเที่ยว
8. Red de Bibliotecas, โคลัมเบีย
ห้องสมุดมูลนิธิ EPM ประเทศโคลัมเบียได้ออกแบบแอพพลิเคชั่น Red de Bibliotecas เพื่อให้บริการสารสนเทศห้องสมุดออนไลน์ ได้แก่ หนังสือนิทาน หนังสือเสียง และมัลติมีเดีย ผู้ใช้บริการสามารถใช้แอพพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดที่ปกหนังสือเพื่อเข้าถึงเวอร์ชั่นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา แอพพลิเคชั่นที่จัดทำขึ้นรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และแอนดรอยด์ โครงการนี้ถูกประชาสัมพันธ์ออกไปหลายช่องทาง รวมทั้งการทำคลิปวิดีโอที่โดนใจคนรุ่นใหม่
9. Literary creation, ประเทศรัสเซีย
ห้องสมุดเมืองโคมิ ประเทศรัสเซีย มีบริการพิเศษสำหรับช่วยเหลือเด็กที่มีความพิการทางสมองและครอบครัว โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมและริเริ่มกิจกรรมศิลปะบำบัดที่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางปัญญา เช่น หนังสือ ของเล่น เกม งานฝีมือ งานศิลปะ เพลง และนิทาน เมื่อห้องสมุดเริ่มเปิดตัวโครงการมีผู้ให้ความสนใจโครงการนี้จำนวนมาก ทั้งผู้ปกครองที่มีลูกพิการทางสมอง นักจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้ใช้บริการทั่วไปที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว จนได้เกิดเป็นชมรม “Sunday hour” ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่มาช่วยจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ และครอบครัว
10. Egyptian Crafts Festival, ประเทศอียิปต์
เทศกาลงานฝีมือของอียิปต์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2014 เพื่อโปรโมทหนังสือชื่อ “Here's what I saw” ของศิลปินชาวอียิปต์คนหนึ่ง ซึ่งเขาได้วาดภาพงานฝีมือที่เขาเคยเห็นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งโด่งดังไปยังต่างประเทศ ห้องสมุดได้นำภาพในหนังสือมาจัดนิทรรศการ และยังได้เชิญช่างศิลป์พื้นเมืองมาสาธิตผลงานและจัดเวิร์คช็อป ทำให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่หันมาเห็นคุณค่าของงานศิลปะซึ่งบางอย่างหาดูได้ยากในปัจจุบัน จากความสำเร็จในครั้งนั้น ทำให้ในปีต่อมามีการจัดงานขึ้นเป็นครั้งที่สอง โดยได้เชิญช่างศิลป์จากประเทศเซเนกัลมาแสดงผลงานทางวัฒนธรรมด้วย
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางทัศนีย์ แซ่ลิ้ม ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้,พฤษภาคม 2559
แหล่งข้อมูลและภาพ
https://storify.com/Bpi/winner-top-3-and-top-10-for-the-ifla-biblibre-inte