โดย ทิม นิวคอมบ์ (Tim Newcomb)
เราได้ยินเรื่องนี้กันมานานหลายปีแล้ว ในที่สุดห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือก็เริ่มมีให้เห็นในสถาบันศึกษาต่างๆ อย่างเช่นในห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ของ Drexel University ที่เพิ่งเปิด ในนั้นแทบไม่มีชั้นหนังสือให้เห็นเลยแต่กลับมีคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ให้นั่งเป็นแถวๆ เรียงรายให้บริการข้อมูลทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์จากมหาวิทยาลัยฟิลาเดเฟียกว่า 170 ล้านรายการ ในฐานะผู้ออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ Scott Erdy กล่าวว่าเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในห้องสมุดออกแบบมาให้เหมาะสมกับการเคลื่อนย้าย สร้างพื้นที่เปิดในห้องได้ตามต้องการ ขณะที่ผนังในห้องสามารถใช้แทนกระดานเพื่อให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษาได้ “แลกเปลี่ยนความรู้กัน,” ตามแนวคิดของ Danuta Nitecki ผู้อำนวยการของห้องสมุด Drexel University ที่ว่า “ห้องสมุดของเราไม่ใช่เป็นแหล่งรวมของหนังสือ แต่เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้”
อันที่จริงแนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นในแวดวงวิศวกรรม ในปี พ.ศ. 2543 ห้องสมุดวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยแคนซัส สเตท กลายเป็นห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือแห่งแรก ตามมาด้วยห้องสมุดแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตัดสินใจลดจำนวนหนังสือแบบรูปเล่มที่ไม่จำเป็น เหลือเพียง 10,000 เล่ม เพื่อให้มีพื้นที่วางโต๊ะไว้เป็นมุมเพื่อการศึกษาและเรียนรู้มากขึ้น และส่วนห้องสมุดมหาวิทยาลัยเท็คซัส ในซาน แอนโตนิโอที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ พ.ศ. 2553 ก็แทบจะเก็บหนังสือที่เป็นเล่มทั้งหมดออกไป แล้วแทนที่ด้วยอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคทั้งหลาย
เมื่อไม่มีหนังสือเป็นเล่มๆในห้องสมุด แล้วห้องสมุดยังคงเป็นห้องสมุดได้หรือไม่
“ห้องสมุดคือเสาหลักของจุดนัดพบ,” Michael Connelly นักเขียนหนังสือขายดีเรื่อง The Fifth Witness กล่าวว่า “มีแนวคิดมากมายเบื้องหลังความเป็นห้องสมุด หากขาดเสาหลักนี้ไป ก็เหมือนขาดที่นัดพบ” คอนเนลลีอธิบายว่าการที่ได้เดินเลือกหาหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัยนั้นสร้างแรงบันดาลให้หันมายึดอาชีพนักเขียน “แรงบันดาลใจแบบนี้จะเกิดขึ้นในห้องสมุดที่ไร้หนังสือได้หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ"
ในมุมมองด้านการออกแบบ สถาปนิกล้วนเศร้าใจกับเทรนด์ห้องสมุดไร้หนังสือ Steven Holl สถานปนิกที่ออกแบบห้องสมุดควีนส์สาขาใหม่ในนิวยอร์ก ซิตี้กล่าวว่า หนังสือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถมีอยู่ร่วมกันกับเทคโนโลยีได้อย่างสบายๆ “การเปิดรับเทคโนโลยียุคดิจิตอล ความฉับไว แล้วนำมาผสมผสานกับประวัติศาสตร์และลักษณะที่จับต้องได้ของหนังสือจะทำให้พื้นที่ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น” Holl กล่าว “หนังสือหนึ่งเล่มเป็นตัวแทนของความรู้ ส่วนการหาจุดลงตัวให้กับห้องสมุดก็เป็นเรื่องที่ดี”
แต่นักออกแบบรายอื่น อย่างสถาปนิกชาวดัชท์ Rem Koolhaas ที่ออกแบบ Seattle Central Library เหมือนจะได้รับแรงบันดาลใจจากความท้าทายของเทรนด์ที่ก้าวไปสู่โลกไร้หนังสือ ชั้นหนังสือวนเป็นเกลียวที่เขาออกแบบสามารถว่างหนังสือได้มากกว่า 1 ล้านเล่ม ในขณะที่เปิดพื้นที่โลกสำหรับรองรับอุปกรณ์ยุคดิจิตอลที่ทันสมัย
หลายๆคนอาจค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ถึงจะยังไม่มีห้องสมุดไร้หนังสือให้เห็นในวันนี้ แต่ไม่ช้าก็คงจะมีให้เห็น ห้องสมุดประชาชนสาขาใหญ่ในนิวยอร์กกำลังปรับปรุงเพื่อ “ผสมผสานระบบทันสมัยแห่งยุคดิจิตอลให้เข้ากับหนังสือ” ดังที่ Norman Foster สถาปนิกชื่อดังได้กล่าวไว้
เขาพยายามจะสร้างส่วนดังกล่าวให้รองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของห้องสมุดในอนาคต โดยนำลักษณะของหนังสือแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับการออกแบบอันล้ำยุครูปทรงสมองในห้องสมุด Free University กรุงเบอร์ลิน ที่จัดวางหิ้งหนังสือในห้องสมุดไว้กลางอาคารทรงโค้งอันทันสมัย โดยมีอุปกรณ์ล้ำหน้าของยุคดิจิตอลวางอยู่โดยรอบ เพื่อสร้างบรรยากาศในห้องให้ดูราวกับว่า “หนังสือคือสิ่งหนึ่งที่สำคัญในชีวิต ไม่ว่าเวลาจะแปรเปลี่ยนไปนานเพียงใดก็ตาม”
แปลและดัดแปลงจากบทความของ Tim Newcomb เรื่อง Is a Bookless Library Still a Library?
ภาพประกอบจาก http://img.timeinc.net และ http://i2.cdn.turner.com