ถ้าช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคุณได้ตั้งปณิธานสำหรับปีใหม่ไว้ และถ้าเมื่อพ้นเดือนมกราคมไปแล้วคุณยังคงดำเนินชีวิตตามปณิธานนั้นอยู่ คุณอาจกำลังกลายเป็นคนส่วนน้อย เพราะตัวเลขจากการสำรวจระบุว่า 43% ของคนที่ตั้งปณิธานปีใหม่ จะถอดใจไปภายในหนึ่งเดือน และเมื่อสิ้นสุดปี จะเหลือผู้ที่ยืนหยัดในปณิธานที่ตัวเองตั้งไว้เพียง 9%
TK Park ชวนทุกคนมาสำรวจและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ New Year Resolution หรือการตั้งความหวังให้ตัวเองในช่วงปีใหม่ ว่าสิ่งนี้สะท้อนอะไร และปัจจัยอะไรที่ทำให้ความตั้งใจเหล่านี้ล้มเหลวอยู่ร่ำไป เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ ปรับตัว และขยับตัวเองเข้าใกล้ความสำเร็จให้ได้มากกว่าที่เคยเป็น
ทำไมต้องเริ่ม 1 มกราคม?
สถิติระบุว่า 40–45% ของคนวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาล้วนเคยตั้งปณิธานปีใหม่ และงานศึกษาหลายชิ้นชี้ไปในทางเดียวกันว่า คนเรามีแนวโน้มจะเริ่มออกตัวสู่เป้าหมายใหม่เมื่อรู้สึกว่าช่วงเวลาสำคัญกำลังจะเริ่มต้นขึ้น เช่น ต้นสัปดาห์ ต้นเดือน หรือต้นปี เพราะการนับเวลารอบใหม่ในแต่ละครั้งส่งผลเชิงบวกทางจิตวิทยา ผู้คนมักคาดการณ์ว่าเรื่องราวที่ไม่พึงปรารถนาหรือภาระที่กำลังแบกรับอยู่ในช่วงเวลาเดิมกำลังจะจบสิ้นลงไป ดังนั้น ก็อาจถึงเวลาที่เรื่องดี ๆ จะต้องเกิดขึ้น ผู้คนจึงมีกำลังใจในการตั้งความหวังและเชื่อมั่นว่าตัวเองจะมีพละกำลังทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Fresh Start Effect
ปณิธานยอดนิยม
ปณิธานปีใหม่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ 33% คือการดูแลสุขภาพร่างกาย รองลงมาคือ 20% เป็นความตั้งใจว่าจะลดน้ำหนัก 13% ต่อมาคือความตั้งใจเปลี่ยนนิสัยการกิน อีก 9% คือความตั้งใจพัฒนาตนเองให้รู้สึกเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และ 5% เป็นความตั้งใจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพจิตและการนอนหลับ ส่วนปณิธานที่เหลือ ประกอบด้วยเรื่องการทำงาน การเรียน การเลิกสูบบุหรี่ และการเปลี่ยนนิสัยส่วนตัวอื่น ๆ รวมกันประมาณ 20%
เบื้องหลังการลด ละ เลิก และล้มเหลว
Jonathan Alpert นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Be Fearless: Change Your Life in 28 Days↗ ได้วิเคราะห์สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถบรรลุปณิธานของตนในแต่ละปีไว้ดังนี้
1. ปณิธานที่ตั้งไว้ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงพอ
การตั้งปณิธานที่ไม่มีกรอบเวลาและรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร ทำให้การสร้างนิสัยใหม่เป็นไปได้ยาก เช่น การตั้งปณิธานว่า "จะออกกำลังกายมากขึ้น" หรือ "จะลดน้ำหนัก" โดยไม่ระบุขั้นตอนและองค์ประกอบที่จะนำทางไปสู่เป้าหมายนี้ว่าจะออกกำลังกายด้วยวิธีใด ที่ไหน สัปดาห์ละกี่ครั้ง หรือจะลดน้ำหนักด้วยวิธีใด เปลี่ยนนิสัยอะไรบ้าง จึงทำให้ไม่สามารถติดตามความคืบหน้าได้ แรงบันดาลใจจากความสำเร็จทีละขั้นก็จะไม่เกิดขึ้น เราจึงไม่สามารถรักษาวินัยให้ยืนยาวได้ตลอดทั้งปี
2. ตั้งปณิธานด้วยคำพูดแง่ลบ
ปัญหาอีกประการหนึ่งคือการตั้งปณิธานด้วยภาษาเชิงลบ เช่น ตั้งใจว่าจะ "หยุดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย" หรือ "หยุดกินอาหารขยะ" ภาษาที่แสดงถึงการห้ามปรามหรือการตีตราในแง่ลบ มักส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะปณิธานแบบนี้ทำให้เรานึกถึงแต่สิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยง ดังนั้น ควรตั้งปณิธานปีใหม่ด้วยภาษาเชิงบวกแทน เช่น แทนที่จะบอกตัวเองว่า "อย่ากินอาหารขยะ!" ก็เปลี่ยนเป็น "กินแครอทและเมล็ดฟักทองที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น" เนื่องจากการใช้ภาษามีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างแรงจูงใจและการรับรู้ของตนเอง วิธีที่เราพูดถึงตัวเองและเป้าหมายที่อยากลงมือทำจะส่งผลต่อการกระทำของเราโดยตรง
3. ปณิธานนั้นไม่ได้เกี่ยวกับตัวเราจริง ๆ
บางครั้ง ปณิธานปีใหม่ที่เราตั้งไว้ แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่ได้เชื่อในผลลัพธ์นั้นอยู่ก่อน หรืออาจไม่สะท้อนถึงสิ่งที่ตัวเราต้องการจริง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย ที่อาจเกิดจากค่านิยมของสังคมหรือเป็นสิ่งที่ผู้อื่นคาดหวังจากเรา หรือความตั้งใจเรื่องอาชีพและการทำงาน เราก็อาจได้รับอิทธิพลจากคนรอบข้างมากกว่าจะเกิดจากการที่เราประเมินตนเอง เราจึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของปณิธานนี้ตั้งแต่แรก ดังนั้น เราควรประเมินตนเองก่อนว่าเราต้องการอะไร และเรามีความเชื่อ รวมถึงศักยภาพที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากเพียงใด เมื่อปณิธานที่ตั้งไว้มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริง และมีความเฉพาะเจาะจงกับเราโดยตรงแล้ว เราน่าจะสามารถจินตนาการถึงตัวเองที่ทำปณิธานนั้นให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น
หวังยังไง ให้ไปให้ถึง
จากการวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์ วิธีเหล่านี้ช่วยให้หลายคนสามารถทำปณิธานปีใหม่ให้เกิดขึ้นเป็นกิจจะลักษณะและยืนยาวไปตลอดปีอย่างที่ตั้งใจไว้
1. ตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้จริง เพราะเป้าหมายที่คลุมเครือหรือทะเยอทะยานมากเกินไปอาจนำไปสู่ความคับข้องใจ การค่อย ๆ ละทิ้งปณิธาน และนำไปสู่ความรู้สึกผิดหวังในตัวเอง
2. วางแผนและขั้นตอนให้ละเอียดเท่าที่จะละเอียดได้ เช่น ร่างขั้นตอน แบ่งช่วงเวลาและความสำเร็จระยะสั้นที่วัดผลได้ง่าย เพื่อค่อย ๆ บรรลุเป้าหมายไปทีละส่วน
3. อย่าโดดเดี่ยวตัวเอง แชร์เรื่องราวความคืบหน้าเกี่ยวกับปณิธานของเราให้เพื่อน ครอบครัว และคนรอบข้างช่วยกำลังใจและคอยสังเกตพฤติกรรมของเราได้
4. ติดตามผลความคืบหน้า การติดตามและทบทวนความคืบหน้าเป็นประจำจะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ ปรับปรุงแผนการ และรักษาแรงจูงใจไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ
5. เผื่อใจไว้ให้ความล้มเหลว ระลึกไว้ว่าปีนี้ย่อมไม่ใช่ปีใหม่ปีสุดท้ายของเรา ดังนั้น ถ้าพยายามอย่างถึงที่สุดด้วยแผนการที่รัดกุมที่สุดแล้วแต่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน เราก็ยังได้รู้จักข้อจำกัดของตัวเองมากขึ้น และตั้งเป้าหมายใหม่อีกครั้งได้ในโอกาสหน้า
อ้างอิง: [1], [2], [3], [4]
_______________________
TK พัก — ชุดบทความขนาดสั้น อ่านง่าย เนื้อหาเบาสบาย ที่ TK Park เขียนขึ้นเพื่อให้คุณไม่ลืมบริหารร่างกาย จิตใจ อารมณ์ อย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพ¹ ²