สื่ออิเล็กทรอนิกส์ Data Storytelling ชุด “LOOK AROUND THE SHELF” โดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจสถานการณ์การอ่านด้วยข้อมูลที่รวบรวมจากฝั่งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย (ฝั่งอุปทาน) เพื่อพยายามสรุปอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า นับตั้งแต่อุทยานการเรียนรู้ TK Park เปิดตัวเป็นครั้งแรกด้วยแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” เมื่อ 19 ปีที่แล้ว สถานการณ์ของการอ่าน ในฐานะประตูบานสำคัญสู่การเรียนรู้ ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ เป็นอย่างไร และถึงเวลาที่เราจะก้าวข้ามวาทกรรม “คนไทยอ่านหนังสือน้อย” กันได้หรือยัง
ในงานเสวนาและเปิดตัวสื่อ ชุด “LOOK AROUND THE SHELF” เมื่อวันพุธที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอสื่อชุดนี้ด้วย “เรื่องเล่า” ที่ข้อมูลชี้ให้เห็น ซึ่งเป็นการทดสอบสมมติฐาน 2 ประการ ที่น่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงหนังสือของสาธารณชน ว่า 1) วงการหนังสือไทยยังผลิตหนังสือเนื้อหาไม่ค่อยหลากหลาย ไม่สอดคล้องกับอุปสงค์จากฝั่งผู้บริโภค และ 2) หนังสือมีราคาแพงเกินไป ผู้คนจำนวนมากยังไม่เห็นความคุ้มค่าที่จะซื้อ
บทความนี้ TK Park ขมวดเรื่องราวว่าด้วยความ “ขนาดเล็ก” 4 ประการ ที่สรุปได้จากงานเสวนาและเปิดตัวสื่อชุดนี้ เพื่อชวนนักอ่านและนักเรียนรู้มาพินิจพิเคราะห์ร่วมกันไปกับเรา
1. Small dataset/body of literature
ข้อมูลสถิติการผลิตและจำหน่ายหนังสือที่สื่อชุด “LOOK AROUND THE SHELF” นำมาประมวลผล ชี้ให้เห็นว่าวงการหนังสือไทยผลิตหนังสือในบางหมวดหมู่มากกว่าหมวดอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี แต่ปรากฏการณ์นี้ (การกระจุกตัวของหนังสือบางหมวดหมู่) ยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนไปถึงภาพความนิยมหรืออุปสงค์ในตลาดหนังสือ รวมถึงยังไม่สามารถตอบข้อสมมติฐานที่ว่าความหลากหลายของหนังสือเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงหนังสือหรือไม่ เพราะยังขาดข้อมูลและงานศึกษาที่มุ่งสำรวจฝั่งอุปสงค์โดยตรง หรือที่มุ่งค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างกลไกตลาดทั้งสองฝั่งนี้ในวงการหนังสือไทยโดยเฉพาะ
2. Small(er) price
ทว่า ข้อมูลที่นำมาประมวลผลในสื่อชุดนี้เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ราคาของหนังสือเป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการเข้าถึงหนังสือของคนไทย กล่าวคือ หากนำหนังสือเล่มเดี่ยว (ไม่ใช่หนังสือชุด) ทั้งหมดมาเรียงโดยราคาปกที่ราคาถูกที่สุดไปถึงแพงที่สุด เล่มที่อยู่ตรงกลางจะมีราคา 199 บาท (ค่ามัธยฐาน) ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน นั่นหมายถึงแรงงานไทยที่อยู่ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ น่าจะไม่สามารถเจียดรายได้ของตนเพื่อซื้อหนังสือได้เลย (Average Propensity to Consume — APC = 0)
ดังนั้น หนึ่งในข้อเสนอของ TK Park และจากงานนี้ จึงเป็นการเสนอให้ลดทอนข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการซื้อ (Affordability) ทำให้หนังสือมีราคาถูกลงผ่านกลไกที่มีอยู่หรือกฎกติกาที่กำหนดขึ้นใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงในการซื้อหรืออ่านหนังสือของคนไทย เมื่อหนังสือไม่ใช่สินค้าราคาแพงเกินเอื้อมอีกต่อไป
3. Small press
อีกข้อเสนอหนึ่งที่สำคัญคือความพยายามเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหาในตลาดหนังสือ ด้วยวิธีการทำให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กสามารถประคองตัวอยู่ในตลาดได้
สำนักพิมพ์ขนาดเล็กมักดำเนินธุรกิจด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่าง หลากหลาย แหวกแนว เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการกระจายหนังสือไปยังผู้อ่านที่ย่อมน้อยกว่าสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ (เพราะไม่มีหน้าร้านเอง ร้านใหญ่ไม่รับไปวางขาย ข้อจำกัดในการทำการตลาด ฯลฯ) การลงทุนผลิตหนังสือในแต่ละครั้งของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กซึ่งรับความเสี่ยงทางธุรกิจได้ไม่มาก จึงจำเป็นต้องแตกต่างและเฉียบคม ซื้อใจผู้อ่านให้ได้มากพอที่จะปิดการขายให้ได้ ดังนั้น หากรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนหรือสร้างหลักประกันบางอย่างเพื่อให้สำนักพิมพ์เหล่านี้ดำเนินกิจการได้ต่อเนื่อง จะเป็นการหล่อเลี้ยงการปะทะสังสรรค์ของหนังสือเนื้อหาหลากหลายในท้องตลาดได้โดยปริยาย
4. Small (but sufficient) interventions
อย่างไรก็ดี รัฐควรแทรกแซงกลไกตลาดหนังสืออย่างเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือ รัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือของประชากร ไม่ว่าจะด้วยการทำระบบห้องสมุดที่มีมาตรฐาน เข้าถึงได้ง่าย ครอบคุลมทุกพื้นที่ หรือให้การอุดหนุนผู้ผลิตหนังสือด้วยการจัดตั้งกองทุนหนังสือ รวมถึงปรับปรุงกฎกติกา เงี่อนไขทางสรรพสามิต ฯลฯ เพื่อให้ผู้ผลิตหนังสือดำเนินกิจการได้ และให้ผู้คนเข้าถึงหนังสือได้ดังปรารถนา แต่รัฐไม่ควรมีบทบาทใด ๆ ต่อเรื่องรสนิยมการอ่านของผู้คน เพราะนั่นย่อมไม่ใช่การส่งเสริมการอ่านในฐานะที่การอ่านคือประตูบานสำคัญสู่การเรียนรู้
เรื่องราวจากภายในงานยังมีอีกมาก มาร่วมกันมองตลาดหนังสือไทยในมิติความหลากหลาย ราคา และผู้ผลิต จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Data Storytelling ชุด “LOOK AROUND THE SHELF” ได้ที่นี่↗ และชมงานเสวนาและเปิดตัวสื่อชุดนี้ย้อนหลังได้ที่นี่↗