ประตูน้ำ ย่านที่ชาวกรุงเทพฯ หลายคนแค่หลับตานึกถึงก็จินตนาการได้ถึงความอลม่านจอแจ ทั้งคนหอบหิ้วสินค้า หาบเร่แผงลอย รถขนส่ง รถเข็นบรรทุกของพะรุงพะรัง ฯลฯ แต่ย่านที่ดูจะเป็นฝันร้ายของนักสัญจรนี้ กลับเป็นสวรรค์ของพ่อค้าแม่ขายทั้งขายส่งขายปลีกจากต่างชาติต่างภาษามายาวนาน เสมือนเป็นห้องเครื่องทางเศรษฐกิจที่ทำให้กรุงเทพฯ ขับเคลื่อนมากว่าศตวรรษ
สำหรับเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ Learning Fest Bangkok 2023 มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Civic Education Foundation) และสาธารณศึกษา Feeltrip อาสาจัดทริปพาผู้สนใจไปเดินตรอก ออกซอก เข้าซอย ภายในย่านประตูน้ำ เพื่อชวนกันเรียนรู้โลกเบื้องหลังกองเสื้อผ้า ว่าประตูน้ำมีที่มาอย่างไร และกำลังจะเป็นไปในทิศทางไหนต่อ ภายใต้ชื่อกิจกรรม CreativeTrail ป้ายหน้าประตูน้ำ
รวมพลคนเดิน เริ่ม!
“ป้ายหน้า ประตูน้ำ!” หากมาด้วยรถหรือเรือประจำทาง เสียงนี้คือสัญญาณว่านักเดินเท้ากำลังจะถึงจุดนัดพบ ซึ่งก็คือ ประตูน้ำ ย่านการค้าพหุวัฒนธรรมที่คึกคักมานานเป็นศตวรรษ
เมื่อชวนกันออกเดิน ภาพที่ปรากฏต่อสายตาทุกคนก็คือบรรดาเสื้อผ้าและกระเป๋าที่สุมกันเป็นกองพะเนิน หรือไม่ก็แขวนไว้แน่นราว และยังมีของกินของใช้สารพัน ในเสียงสนทนาตอบโต้ระหว่างคนค้าขายและลูกค้า ซึ่งก็น่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายปลีกจากย่านไหนสักย่านที่มาเหมาสินค้าในราคาส่ง แต่เราเคยเอ๊ะ! ถึงความเป็นมาของย่านนี้กันบ้างไหม ว่าแหล่งค้าส่งเสื้อผ้ารายใหญ่ลำดับต้น ๆ ของประเทศแห่งนี้ คนเขาเริ่มเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยกันตั้งแต่เมื่อไร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริให้มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อขยายตัวเมือง ทำให้ต้องเกณฑ์แรงงานในการขุดคลอง จึงมีทั้งคนพม่า คนมอญ คนเขมร คนแขกมากัสซาร์ (แขกมักกะสัน) หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนจีน เข้ามาหยิบจอบเสียมทำงานและจับจองพื้นที่ตั้งแต่สมัยนั้น หลังงานขุดคลอง รัชกาลที่ 3 จึงได้พระราชทานที่ดินขนาบเส้นคลองให้เป็นย่านอาศัยของเหล่าแรงงาน
และเมื่อคนชนชาติที่เลื่องชื่อด้านการเจรจาค้าขายมาอยู่ร่วมกัน ตลาดก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
จากคาบาเรต์สู่รถไฟไทย
เหตุผลเบื้องหลังชุดเสื้อผ้าและเครื่องประดับระยับตาที่พบเห็นทั่วไปจากร้านค้าในย่านนี้ เป็นเพราะแต่ก่อนย่านนี้เคยเป็นแหล่งสถานบันเทิง จึงเป็นแหล่งตัดเย็บชุดนักแสดงคาบาเรต์โชว์ เมื่อผ่านกาลเวลา เกิดห้างสรรพสินค้าอย่าง แพลตตินั่ม กรุงทองพลาซ่า ร้านตัดเย็บชุดนักแสดงเหล่านี้ก็เคลื่อนตัวขึ้นห้าง ห้างเหล่านี้จึงเป็นแหล่งรวมสินค้าแฟชั่นใจกลางเมือง มีทั้งของตามแฟชั่นและนอกกระแสแต่ยังมีอุปสงค์ ซึ่งล้วนนำมาวางขายกันในราคาจับต้องได้
เมื่อค่อย ๆ เดินเลาะตามทางจากตลาดกรุงทอง มาทางฝั่งของตึกใบหยก ออกถนนราชปรารภ เส้นทางก็เรียงรายไปด้วยร้านอาหารนานาชาติ ที่เมื่อพนักงานเห็นผู้คนเดินกันเป็นกลุ่ม ๆ ก็ปรี่เข้ามาชักชวนให้เข้าไปลองชิมรสอาหารภายในร้าน ซึ่งจะเสิร์ฟพร้อมเครื่องดื่มฟองนุ่มยี่ห้อต่าง ๆ ร้านอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารอินเดีย บางร้านตกแต่งภายในแบบไม่ได้ตั้งใจด้วยรูปถ่ายอันคุ้นตาของผู้เป็นที่เชิดชูของชาวฮินดี มหาตมะ คานธี และรพินทรนาถ ฐากูร ละแวกนี้ยังมีร้านอาหารจากชาติอื่นในเอเชียใต้แซมอยู่ รวมถึงอาหารพม่าโดยชาวเมียนมาร์ที่อาศัยอยู่อย่างกลมกลืน ด้วยวัฒนธรรมร่วมหลายอย่างซึ่งคล้ายคลึงกันกับชาวเอเชียใต้
ไม่นาน กลุ่มนักเดินเมืองก็พบสถานีทางรถไฟมักกะสัน ซึ่งเป็นจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพราะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มมีการสร้างรถไฟเกิดขึ้น (ช่วง พ.ศ. 2453–2459) และสถานที่สำคัญนั้นคือโรงงานมักกะสัน (สร้างระหว่าง พ.ศ. 2450–2453) ในอดีต ที่นี่เคยเป็นโรงงานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และโรงงานมักกะสันคือโรงงานแรกในประเทศไทยที่ผลิตอะไหล่รถไฟเองได้ จึงถือว่ายุคนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของกิจการรถไฟไทยเลยทีเดียว
ชุมชนพหุวัฒนธรรม
และเมื่อเดินเลียบทางรถไฟจากโรงงานมักกะสันมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มเข้าสู่เขตชุมชน ซึ่งสังเกตได้ถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในละแวก และถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางย่านธุรกิจคึกคักฉับไวของกรุงเทพฯ แต่ชุมชนพหุวัฒนธรรมของคนแขก คนพม่า คนจีน คนไทย เหล่านี้ ก็ยังดำเนินอยู่อย่างสงบ และดูเหมือนจะเคลื่อนผ่านเวลาช้ากว่าภายนอก
เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด ร้านค้าและแผงลอยในชุมชนเหล่านี้ไม่ได้เปิดไฟส่องสว่างสู้ความมืดเหมือนร้านข้างนอก แต่พ่อค้าแม่ขายกลับค่อย ๆ เก็บข้าวของลง พลางพูดคุยกันถึงกลุ่มนักเดินแปลกหน้าเหล่านี้ ที่กำลังเดินดูชุมชนของพวกเขาด้วยความสนใจ เช่นว่า “บ้านเขาคงไม่มีอะไรแบบนี้ เขาคงมาเที่ยวกันมั้ง” แล้วจึงมีเสียงหัวเราะซึ่งกันและกันตามมา เมื่อเฉลยว่านักเดินเมืองทั้งหมดที่พูดถึงนี่คนไทยทั้งนั้น
เมื่อนักเดินเริ่มเมื่อยล้า ก็ได้เวลาสิ้นสุดทริปเดินเล็ก ๆ ทริปนี้ด้วยมุมมองต่อคำว่า “ประตูน้ำ” ที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะประตูน้ำเป็นมากกว่าแค่ศูนย์รวมสินค้าแฟชั่น แต่ยังเป็นเหมือนประตูสู่ศูนย์รวมความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจ ความหลากหลายของวัฒนธรรม และผู้คนที่สวมบทเสมือนทูตที่ดำเนินการแลกเปลี่ยน แต่ในแบบไร้พิธีรีตอง
ย่านประตูน้ำยังคงมีการค้าขายคึกคักทุกวัน ดังนั้น คุณเองก็ลองไปออกทริปสัมผัสความเคลื่อนไหวของย่านนี้ได้ และอาจพบเรื่องราวน่าค้นหามากกว่าแค่ที่ TK Park นำมาเล่าให้ฟังในบทความนี้ก็เป็นได้