ทุกวันนี้ หากเราเห็นเด็ก ๆ มีท่าทางจับดินสอผิดวิธี หลายคนอาจจะนึกตำหนิพ่อแม่เด็กที่ปล่อยให้ลูกใช้เวลากับอุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่มากเกินไปจนไม่ได้ฝึกฝนจับดินสอด้วยท่าทางที่ถูกต้องเหมือนเด็กยุคก่อน แต่หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า จริง ๆ แล้วการจับดินสอด้วยท่าทางที่แปลกไปนั้น อาจเป็นเพียงอาการปรากฏอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งของภาวะการเรียนรู้ถดถอย ซึ่งสืบเนื่องมาจากการปิดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนอย่างยาวนานเป็นประวัติการณ์เมื่อช่วงโควิด-19
ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครรอดพ้นจากผลกระทบของโควิด-19 และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเด็ก ๆ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 หลังการระบาดของโควิด-19 มีรายงานผลการวิจัยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ที่ชี้ให้เห็นว่าเด็ก ๆ ในเกือบทุกประเทศต้องเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลการศึกษาร่วมกันโดยยูเนสโก ยูนิเซฟ และธนาคารโลก พบว่าทั่วโลก มีเด็กอย่างน้อย 1 จากทุก 3 คน ถูกตัดขาดจากการศึกษาโดยสิ้นเชิงในช่วงระยะเวลาเพียง 6 เดือนแรกหลังการแพร่ระบาด เพราะไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ทางไกลได้ เด็ก ๆ ในประเทศไทยก็เผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่งของครอบครัวในประเทศไทยไม่พร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์ เพราะครึ่งหนึ่งไม่มีอุปกรณ์ และอีกร้อยละ 26 ไม่มีอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญยิ่งไปกว่าอุปกรณ์และการเข้าถึงชั้นเรียนออนไลน์คือ พ่อแม่ผู้ปกครองร้อยละ 40 ไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกขณะเรียนออนไลน์ และเมื่อเด็ก ๆ มีข้อสงสัยก็ไม่สามารถถามครูได้เหมือนเมื่อครั้งที่ยังเจอหน้ากันในห้องเรียน
งานวิจัย 'สำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย' โดยสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทดสอบสมรรถนะของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียนใน 6 จังหวัดภาคใต้ (สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส) พบว่า เด็กร้อยละ 98 มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน และเกินครึ่งจับดินสอผิดวิธี นั่นเป็นเพราะเด็กต้องเรียนหนังสือผ่านทางออนไลน์เป็นเวลายาวนานถึงสองปี และเด็กเล็กจำนวนมากต้องอยู่บ้านและไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมสัมผัสที่เด็กเล็กได้ทำที่โรงเรียนในภาวะปกติ เช่น การปั้นดินน้ำมัน การต่อบล็อก ฉีกปะ พับกระดาษ ซึ่งช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่ใช้ในกิจกรรมชีวิตประจำวัน เช่น การใส่เสื้อผ้า การแปรงฟัน หรือการขีดเขียนและระบายสี
การที่เด็กช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้นมีท่าทางจับดินสอผิดวิธี เป็นสัญญาณเตือนของภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง และยังมีสัญญาณเตือนอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การที่เด็กพูดเป็นคำ ๆ เรียบเรียงประโยคและเล่าเรื่องไม่ได้ อ่านไม่ออก เขียนคำพื้นฐานไม่ได้ และกระโดดขาเดียวหรือกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้ เหล่านี้ล้วนแต่บ่งชี้ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็ก
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจำนวนมากกังวลว่าความสามารถของเด็กเหล่านี้ ที่เติบโตขึ้นในช่วงโควิด-19 จะไม่สามารถเทียบกับรุ่นพี่หรือรุ่นน้องได้ หากไม่มีการเร่งฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยเพื่อชดเชยโอกาสเรียนรู้ที่พลาดไปในช่วงของการระบาด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหามาตรการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ให้กับเด็กทุกคนทันทีที่โรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบปกติตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565
สกศ. ได้นำเสนอมาตรการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ 7 มาตรการ↗ ที่ประกอบด้วย (1)การออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ใหม่ที่ตอบสนองต่อบริบทความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้เรียน (2) การพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา (3) การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (4) การพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้แบบเปิด และเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา (5) การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และสุขภาวะที่ดีของผู้เรียน ทั้งสุขภาพ และสุขภาพจิต (6) การยกระดับการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ และ (7) การจัดสวัสดิการความปลอดภัย สร้างขวัญและกำลังใจแก่ครูผู้สอน
ดังนั้น ปัญหาจากภาวะการเรียนรู้ถดถอยนี้อาจมีหนทางแก้ไข เพราะเมื่อมีการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูพัฒนาการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เด็ก ๆ ก็แสดงพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับภายใน 14 วัน และจากการสำรวจโดย กสศ. พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างชัดเจน มีค่าแรงบีบมือจาก 7.6 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 9.8 กิโลกรัม เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องภายใน 14 วัน
แม้ว่าจะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการฟื้นฟูด้วยวิธีนี้ประสบความสำเร็จ แต่ผลการสำรวจเบื้องต้นนี้จาก กสศ. ก็ได้จุดประกายความหวังที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ทั้งนี้ ประสิทธิภาพและความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จริงอย่างมีระสิทธิภาพและยั่งยืน ก็ต่อเมื่อครูและผู้ปกครองให้ความใส่ใจและร่วมมือกัน เช่น หมั่นสังเกตพัฒนาการที่เด็กไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม ไม่ควรเร่งรีบสอน หรือให้เด็กรีบเรียนแต่เนื้อหาโดยละเลยการฝึกทักษะที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ควรปล่อยให้เด็กมีความสุขกับการเรียน และออกแบบกิจกรรมและกระบวนการใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าโควิด-19 จะสร้างความปั่นป่วนและความยากลำบากให้กับคนทั่วโลก ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้และมีพัฒนาการที่ถดถอยหรือช้าลง แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการศึกษาได้กลับมาทบทวนกระบวนการสร้างประสิทธิภาพในการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์เดิมและตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ไปพร้อมกันได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก matichon↗ workpointtoday↗ และ unicef↗