บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องทำให้คำว่า “แม่” กลายเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าเพียงผู้ให้กำเนิด และปัจจุบัน ความเป็นแม่ (motherhood) ซึ่งหมายรวมถึงบทบาทของการเลี้ยงดูลูกให้พร้อมเผชิญชีวิตในโลก ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศหญิงเท่านั้น นี่คือประเด็นหลักของละครที่กำลังเป็นกระแสอย่าง “มาตาลดา” ซึ่งสร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกัน กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงในวงกว้าง
ละครเรื่องนี้กล่าวถึงตัวละคร พ่อเกรซ (เกริก) ซึ่งเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว LGBTQ+ เพื่อนสาวข้ามเพศคนสนิท วีนัส และผองเพื่อน หรือบรรดา “แม่ ๆ” ของมาตาลดา ตัวเอกของเรื่อง ที่ช่วยกันเลี้ยงดูมาตาลดาอย่างเต็มความสามารถ ในขณะที่แม่ผู้ให้กำเนิดมาตาลดามีครอบครัวใหม่อยู่ต่างประเทศ และคงความสัมพันธ์ฉันเพื่อนกับพ่อเกรซ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าความเป็นแม่ในยุคปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้ที่ให้กำเนิดหรือผู้ที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น ทว่าเป็นบทบาทที่หลายคนร่วมแชร์กันได้อย่างดีไม่ต่างจากแม่ผู้ให้กำเนิด จนสอนให้มาตาลดาพร้อมรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้
มาตาลดา หรือ “มาตา” คือเด็กน้อยที่เติบโตมาในครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่าง มีพ่อเป็น LGBTQ+ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว จนหนีออกมาเป็นนางโชว์ที่พัทยา ทำให้มาตาลดาถูกล้อเลียนและถูกรังแกจากเพื่อนในห้องเรียนและสังคมรอบตัวว่ามีพ่อเป็นตุ๊ด แต่ความรักของเกรซ และเพื่อนนางโชว์ของพ่อก็ทำหน้าที่เป็นครอบครัวแสนอบอุ่น เติมเต็มพลังของความเป็นแม่ลงในหัวใจของมาตาลดาให้เปี่ยมไปด้วยความรัก และด้วยการเลี้ยงดูแบบพิเศษด้วยคำแนะนำจากจิตแพทย์เด็ก ทำให้มาตาลดาเติบโตขึ้นด้วยหัวใจที่แข็งแรง พร้อมที่จะยิ้มรับทุกปัญหาได้ด้วยความเข้าใจ
มาตามักจะชื่นชมพระเอก “เป็นหนึ่ง” เสมอว่าเป็นคุณหมอใจดี โดยไม่ได้รู้สึกว่าตัวมาตาเองก็ ‘ใจดี’ มาก ๆ แม้จะโตมากับครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์พร้อมตามแบบฉบับครอบครัวทั่วไป แต่สิ่งที่พ่อเกรซผู้ทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ทำอยู่เสมอคือสอนให้มาตาเข้าใจในคุณค่าของตัวเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความใจดีในที่นี้คือการเข้าใจและมองเห็นว่าคนทุกคนในโลกใบนี้ต่างก็ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ด้วยกันทั้งนั้น
มาตาสามารถเยียวยาจิตใจเป็นหนึ่งได้เสมอ อย่างที่พ่อเกรซบอกว่ามาตามี “พลังวิเศษ” คือความใจดี และความใจดีนั้นทำให้เธอสามารถสร้างรอยยิ้มให้ผู้คนรอบตัวได้
การสอนลูกของเกรซและแม่วีนัสเปรียบเหมือนการติดอาวุธทางอารมณ์ให้ลูก เพราะนอกจากการใจดีกับผู้อื่นแล้ว มาตายังใจดีกับตนเอง (Self-compassion) ด้วย นั่นคือการไม่ให้ซ้ำเติมตัวเองเมื่อทำผิดพลาด และให้โอกาสตัวเองเสมอ
จากละครเรื่องนี้ เราได้เห็นตัวอย่างว่าบทบาทของแม่นั้นสามาเป็นได้มากกว่าการเลี้ยงดูให้ลูกกินอิ่มนอนหลับ แต่หมายรวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ลูกเผชิญสังคมภายนอกได้อย่างมีความสุข โดยเพศสภาพของทั้งเกริกและวีนัสไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อ “ความเป็นแม่” ที่มีให้ลูกได้อย่างเต็มเปี่ยมแต่อย่างใด และทั้งสองรู้ดีอยู่ว่าลูกจะต้องรับมือกับการเติบโตในครอบครัว LGBTQ+ พ่อเกรซจึงเตรียมให้มาตาพบกับจิตแพทย์ตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งสองให้ความสำคัญกับความสุขของลูกมาก และการเลี้ยงดูจะเป็นไปอย่างทะนุถนอม แต่ก็สอนให้ลูกรับมือกับสังคมภายนอกไปพร้อม ๆ กันได้
ละครเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นภาพบทบาทของแม่ที่แตกต่างกัน แม่ของเป็นหนึ่งเป็นแม่ผู้ให้กำเนิด (biological mother) ที่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างเข้าใจแต่อย่างใด เป็นการเลี้ยงลูกให้ลูกกินอิ่ม เติบโตไปตามวัย โดยไม่รับรู้ถึงความต้องการของลูก และทำร้ายลูกทางอ้อมโดยการปล่อยให้สามีเลี้ยงดูลูกอย่างเข้มงวด เพื่อให้กลายเป็นคนสมบูรณ์แบบตามที่พ่อแม่กำหนด แม่ของเป็นหนึ่งเห็นว่าสิ่งที่พ่อคิดว่าดีที่สุดสำหรับลูกก็คือสิ่งที่ดี และไม่ได้เปิดรับความรู้สึกที่แท้จริงของลูก จนทำให้เป็นหนึ่งเติบโตขึ้นมาบนความคาดหวังของพ่อแม่
บทบาทของแม่ในหลายมิตินี้นำพาผู้ชมไปสำรวจผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูก และรับรู้ว่าหลายครั้งสิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่ไม่ใช่คำสั่งสอน แต่เป็นเพียงสัมผัสที่อ่อนโยน การโอบกอดซึ่งเป็นภาษากายที่แสดงถึงความเข้าใจและกำลังใจ ซึ่งจะเห็นได้จากฝั่งแม่ของมาตาลดาที่มีการโอบกอดให้กำลังใจกันอยู่เสมอ ในขณะที่เป็นหนึ่งไม่เคยได้รับสิ่งนี้จากผู้เป็นแม่เลย จนมาตาลดาแกล้งชงให้เป็นหนึ่งกอดแม่ ในตอนที่ไปรับพ่อแม่กลับจากต่างประเทศ และตอนที่เป็นหนึ่งกอดให้กำลังใจแม่หลังจากมีเรื่องกับพ่อและมาพักที่บ้านเป็นหนึ่ง
อีกสิ่งที่แม่ข้ามเพศอย่างเกรซและวีนัสมีคือ การนั่งและตั้งใจฟังปัญหาใหญ่น้อยของลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าคำแนะนำใด ๆ วีนัสและเกรซไม่เคยมองว่าความรู้สึกของลูกว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่จะรับฟัง เห็นอกเห็นใจ และพยายามเข้าใจยอมรับเสมอ ในขณะที่แม่ของเป็นหนึ่งไม่ให้โอกาสลูกในการแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของลูกเลย ความสัมพันธ์ของแม่และเป็นหนึ่งแม้จะตั้งอยู่บนความรักที่มีให้กัน แต่ไม่ได้ใช้เวลาหรือมีส่วนร่วมในชีวิตของกันและกันเลย ดังจะเห็นได้ว่าแม่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเป็นหนึ่งชอบอบขนมเค้กหรือเลี้ยงหมาไว้ที่บ้านด้วย
แม่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก จะกลายเป็นคนสนิทที่ลูกวางใจ เป็นเซฟโซนของลูก อย่างในฉากหนึ่งที่เกรซและวีนัสพูดกับมาตาว่า "ครอบครัวของเราจะเป็นเซฟโซนของมาตาเสมอ .. จำไว้ว่า อย่าให้คำตอบหรือคำพูดใคร ๆ มาด้อยค่าตัวเราเป็นอันขาด" ในที่นี้ แม่คือเสาหลักในการสร้างเซฟโซนให้ลูก คอยรับฟังเวลาลูกมาเล่าเรื่องให้ฟังด้วยความรักความเอาใจใส่ในตัวลูก ในขณะเดียวกันก็สั่งสอนให้ลูกอยู่ในสังคมได้ สั่งสอนวินัยต่าง ๆ ที่สำคัญ เมื่อลูกโตขึ้นก็จะเป็นคนที่ไม่เอาแต่ใจและไม่เป็นที่รังเกียจของคนอื่น
นอกจากนี้ แม่ยังต้องรู้จักชมเชยและให้กำลังใจลูก ซึ่งมุมนี้ก็ไม่ได้เห็นจากฝั่งแม่ของเป็นหนึ่งเช่นกัน แม้ลูกจะเรียนเก่งและเป็นแพทย์ที่มีฝีมือ ซึ่งถ้าแม่ให้กำลังใจก็อาจจะทำให้เป็นหนึ่งมีความมั่นใจในตัวเองและมีความสุขมากขึ้น
ความเป็นแม่จากละครเรื่อง “มาตาลดา” จึงช่วยให้เรามองเห็นมิติความเป็นแม่ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศสภาพหรือเพศวิถี แต่เป็นแม่ที่มีความหมายว่าเป็นเซฟโซนให้กับลูกที่ลูกจะพึ่งพาได้เมื่อมีเรื่องไม่สบายใจ ความเป็นแม่ในความหมายนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แต่ก็เริ่มต้นได้ไม่ยากด้วยการเริ่มสร้างสัมพันธ์ที่ดี มีเวลาให้กันและกันในการพูดคุยเรื่องต่าง ๆ มีส่วนร่วมในชีวิตของกันและกัน และมีความเห็นอกเห็นใจให้กัน
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากละครเรื่อง “มาตาลดา” ออกอากาศทางช่อง 3 HD