ทุกวันนี้ บอร์ดเกม (Board Game) เกมกระดานที่เคยเป็นแค่กิจกรรมยามว่างของคนยุคก่อน ๆ กลายเป็นสื่อของเล่นยอดฮิตที่หลายคนอุทิศเวลาให้อย่างจริงจัง และมีการใช้ประโยชน์เพื่อเสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ที่ต่อยอดไปใช้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นกระแสความนิยมไปทั่วโลก และในเอเชียเองก็มีการจัดเทศกาลบอร์ดเกมนานาชาติเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ TK Park ด้วย
TK Park จึงขอใช้โอกาสนี้ บอกเล่าถึงเรื่องราวและบรรยากาศจากงานเวิร์กช็อป TK Board Game Workshop Playful Learning: เปลี่ยนบอร์ดเกมโปรดเป็นการเรียนรู้แบบทรงพลัง ที่ผู้อำนวยการสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ และอุปนายกสมาคมบอร์ดเกมประเทศไทย ‘วรุตม์ นิมิตยนต์’ หรือ ‘เทอร์โบ’ มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้วยตนเอง
ในงานนี้ ทั้งน้อง ๆ วัยมัธยมฯ เหล่าผู้ปกครองและลูก ๆ และผู้ใหญ่ในวงการการศึกษาหรือผู้ที่รักการเล่นเกมอยู่แล้วก็ต่างมาเข้าร่วมกิจกรรม ได้ทำความรู้จักกับบอร์ดเกม และได้รับคำแนะนำถึงวิธีการเล่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้งานบอร์ดเกมอย่างเต็มศักยภาพ
รู้จักกับบอร์ดเกม
บอร์ดเกม (Board Game) ประกอบด้วยกระดาน สื่อ หรืออุปกรณ์ที่จับต้องได้ แต่ละเกมมีอุปกรณ์และกติกาการเล่นแตกต่างกันออกไป โดยผู้ออกแบบจะกำหนดกติกา ซึ่งอาจมีทั้งแบบง่ายไปจนถึงกติกาที่ซับซ้อน บอร์ดเกมจึงแตกต่างไปเกมดิจิทัลตรงที่ผู้เล่นจะมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย หรือใช้กลยุทธ์เจรจาต่อรองกับผู้เล่นอื่นโดยตรงเพื่อดำเนินเกมให้บรรลุเป้าหมายตามกติกาที่กำหนด
เทอร์โบแบ่งประเภทของบอร์ดเกมออกเป็น 4 ประเภท
- บอร์ดเกม Strategy เกมที่เน้นวางแผนและใช้กลยุทธ์ที่ผู้เล่นสามารถตัดสินใจได้เอง
- บอร์ดเกม Communication เกมที่เน้นการพูดคุยหรือเจรจาระหว่างกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น เกม Werewolf ที่ต้องพูดคุยโกหกกันเองเพื่อหาคนร้าย
- บอร์ดเกม Action ที่ต้องอาศัยความว่องไวในการสังเกต พูดคุย และประลองปัญญา
- บอร์ดเกม Logic เกมที่มีคำตอบปลายทางอยู่แล้ว แต่ผู้เล่นจะต้องตามหาคำตอบนั้น ๆ ด้วยการแก้ไขปริศนาต่าง ๆ
ส่วนใหญ่ข้างกล่องบอร์ดเกมจะระบุอายุที่เหมาะแก่การเล่นคือ 8 ขวบขึ้นไป เพราะวัย 8 ขวบเป็นวัยที่เริ่มความเข้าใจกฎกติกา หรือเข้าใจวิธีเล่นเกมว่าจะต้องใช้การเดาใจ หรือใช้กลยุทธ์ใดในการหลอกล่อเพื่อบรรลุเป้าหมายของเกม ทั้งนี้ ข้อดีอย่างหนึ่งของบอร์ดเกมก็คือ หากผู้ปกครองต้องการเล่นกับลูก ๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปี ก็สามารถตัดทอนกฎกติกาบางข้อออกเพื่อให้เกมซับซ้อนน้อยลงได้ แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องอธิบายกระบวนการเล่น ไปจนถึงชวนคุยเนื้อหาของเกมเพื่อสร้างความเข้าใจให้เด็ก ๆ ก่อน เช่น ทำไมเกมนี้ถึงมีการโกหกกัน และทำไปเพื่ออะไร และอาจเปรียบเทียบว่าหากโกหกกันในชีวิตจริงอาจเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
“หากผู้เล่นมีความเข้าใจตัวเกมอย่างลึกซึ้ง เกมจะนำพาผู้เล่นไปค้นพบทักษะต่าง ๆ และพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้” เทอร์โบเล่า
ประสบการณ์ที่เราเองก็เป็นเจ้าของได้
เพื่อตอบคำถามที่ว่าบอร์ดเกมมีกระบวนการสร้างอย่างไร เทอร์โบได้ใช้เลนส์ของนักออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้อธิบายให้ฟังว่า บอร์ดเกมคือแบบจำลองที่ถอดออกมาจากชีวิตจริงอีกที ตัวอย่างเช่น “ลูกเต๋า” มีที่มาจากเกมบันไดงู มีจุดตั้งต้นมาจากความต้องการจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาและการเวียนว่ายตายเกิด ให้คนในยุคหนึ่งเกิดความเชื่อว่า ‘มนุษย์ถูกกำหนดโดยโชคชะตา’ จึงมีการใช้ลูกเต๋าเพื่อเสี่ยงทายชะตาของผู้เล่นเกม
“ดังนั้น เมื่อผู้สร้างเกมมองเรื่องนั้น ๆ ในชีวิตจริงเป็นอย่างไร ก็จะมำมุมมองนั้นมาถ่ายทอดลงในเกม แล้วตัดทอนรายละเอียดบางอย่างเพื่อความสะดวกของผู้เล่น บอร์ดเกมจะเปิดพื้นที่ให้คนได้ค้นพบตัวตนหรือทักษะต่าง ๆ ผ่านการเล่นเกม หรือการเข้าไปสู่โลกจำลองนี้ด้วยกัน เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์การเรียนรู้โดยตรง ที่มีแต่คุณเท่านั้นที่จะค้นพบและสามารถเป็นเจ้าของได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกให้เราต้องรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้”
เล่นอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้
หลักการเล่นบอร์ดเกมให้เกิดการเรียนรู้ เริ่มจากการเลือกเกมให้สอดคล้องไปกับทักษะที่ผู้เล่นจะได้รับ “วิธีการเลือกเกมมี 2 แบบ อย่างแรก ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ให้ชัดเจนว่าอยากได้ทักษะอะไร แล้วเลือกเกมที่ส่งเสริมทักษะนั้น ๆ มาลองเล่นดู ส่วนอย่างที่สอง สมมติว่าเรามีเกมอยู่แล้ว ก็ลองเล่นเกมที่มี แล้ววิเคราะห์ดูว่า เกมนี้ให้ทักษะอะไร และนำพาเราไปสู่การเรียนรู้อะไร”
เทอร์โบได้นำ ‘12 ทักษะชีวิตที่จำเป็น’ (The 12 Core Life Skills) ของ UNICEF มาเป็นเป้าหมายของการพัฒนาแนวทางที่จะทำให้การเรียนรู้ระหว่างการเล่นบอร์ดเกม สามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาทักษะชีวิตได้ โดยให้ผู้เล่นลองสังเกตตนเองดูว่า ได้ใช้ทักษะชีวิต 12 ด้านไหนบ้างระหว่างเล่นเกม
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เล่นบอร์ดเกม Chinatown ร่วมกัน โดยผู้เล่นแต่ละคนจะสวมบทเป็นชาวจีนที่ย้ายมาตั้งรกรากใน Chinatown และต้องซื้อที่ดินเพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง ผู้เล่นจึงจำเป็นต้องเจรจาต่อรองโฉนดธุรกิจร้านค้ากับผู้เล่นคนอื่น ๆ เทอร์โบสร้างเงื่อนไขเพิ่มด้วยการกำหนดระยะการเล่นต่อรอบเพียง 15 นาที และให้ผู้เล่นจับคู่สร้างทีมเพื่อแลกเปลี่ยนธุรกิจกับฝ่ายตรงข้าม
แน่นอนว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และมีผู้เล่นที่ไม่เคยเล่นเกมนี้มาก่อนด้วย ในเกมแรกจึงมีอาการเคอะเขินกันอยู่บ้าง แต่เวลาที่เร่งรีบก็เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้แต่ละคนหยิบทักษะมาใช้โดยไม่รู้ตัว เช่น decision making หรือการตัดสินใจ ความกล้าที่จะคุยกับคนแปลกหน้า ทักษะ problem solving เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และทักษะอื่น ๆ เพื่อให้ได้ครอบครองพื้นที่เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง
“บอร์ดเกมเป็นเกมที่ไม่ได้เน้นแค่ทักษะใดทักษะหนึ่ง เมื่อเล่นไปเรื่อย ๆ คุณจะค้นพบว่า ตนเองขุดอีกหลากหลายทักษะมาใช้ในการเล่น บอร์ดเกมยังทำให้คุณได้รู้จักอีกฝ่ายมากขึ้น จากที่ปกติเราอาจไม่มีเรื่องอะไรให้คุยกันเลย”ดังนั้น หลังจบเกมจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราจะมานั่งถอดบทเรียนการเรียนรู้ หรือ After play ชวนผู้เล่นพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นเกม การถอดบทเรียนนี้ช่วยส่งเสริม critical thinking ทำให้การคิดวิเคราะห์ของเราดีขึ้น
เทอร์โบนำทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning Theory) ของ David A. Kolb มาใช้ถอดบทเรียนใน 4 ขั้นตอน ทฤษฎีดังกล่าวค่อย ๆ พาเราคิดทีละขั้นโดยไม่ต้องเร่งรีบ เพื่อให้สมองได้มีเวลาประมวลผลและตกตะกอน
- ขั้นที่ 1 Concrete Experience: ผู้เล่นได้เข้าไปเล่นบอร์ดเกมแล้วเป็นอย่างไร
- ขั้นที่ 2 Reflective Observation: รู้สึกอย่างไรบ้าง ทำอะไร เห็นอะไรบ้าง
- ขั้นที่ 3 Abstract Conceptualization: ได้บทเรียนอะไร เราได้ฝึกอะไรบ้าง
- ขั้นที่ 4 Active Experimentation: เราสามารถเอาบทเรียนที่ได้ไปใช้จริงในชีวิตได้อย่างไร
ประเมินผลเพื่อพัฒนาศักยภาพต่อไป
การประเมินผลแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก “เล่นจนรู้จัก” คือการเล่นเพื่อให้เรารู้จักและเข้าใจเกมนั้น ๆ จนเริ่มวางแผนเพื่อเชื่อมโยงและปรับแผนเข้าสู่การเล่นในรอบต่อ ๆ ไป ส่วนระยะที่สอง “เล่นจนเข้าใจ” หรือเล่นจนแตกฉานในคอนเซ็ปต์ของเกม จนสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เป็นเบื้องลึกของเกมนั้น ๆ
“เพราะการเล่นเกมนั้น เล่นครั้งเดียวไม่เพียงพอ ต้องเล่นบ่อย ๆ เพื่อให้มองเห็นคอนเซ็ปต์ของเกม ดังนั้น เราต้องประเมินว่าตัวเราอยู่ในระดับไหนแล้ว ลองสังเกตมุมมองของผู้เล่นคนอื่น ๆ แล้วบันทึกการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และนำสิ่งที่ได้มาพูดคุยกันหลังเล่นเกมจบเพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเกมมาใช้ในชีวิตจริง”
สิ่งที่ค้นพบจากการเล่นเกม Chinatown ครั้งแรก คือสกิลการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดให้รู้เท่าทันเกม ได้สังเกตการพูดคุยของผู้เล่นคนอื่น ๆ เพื่อเรียนรู้กลยุทธ์การต่อรองมาใช้กับการเล่นของตัวเองบ้าง เกมนี้ยังทำให้เรากล้าตัดสินใจในเวลาที่จำกัดอย่างไม่ลังเล ซึ่งถ้าเราไม่ลองเล่นเกมนี้ เราก็คงไม่ได้สังเกตเห็นทักษะหรือศักยภาพนี้ที่มีอยู่ในตัวเอง
บอร์ดเกมไม่เคยตัดสินผู้เล่นว่าเล่นแบบไหนคือถูกหรือผิด ทุกการเล่นคือการทดลอง สามารถปรับใช้ในชีวิตจริงได้ อย่างที่เทอร์โบกล่าวไว้ว่า “บอร์ดเกมคือการจำลองประสบการณ์มาให้เราได้ลองผิดลองถูก ลองทำความเข้าใจ ลองจนและลองรวยในเกม นี่แหละคือหัวใจสำคัญของบอร์ดเกม”