
คิดถึงวัยเด็กกันไหม? ถ้าใช่ เรามีเรื่องราวดี ๆ มาฝาก เมื่อ TK Park เปิดพื้นที่ต้อนรับน้อง ๆ นิสิตชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก (Children’s Literature) เพื่อจัดนิทรรศการต้นฉบับวรรณกรรมสำหรับเด็กนิพนธ์ ครั้งที่ 23 ภายใต้ชื่อน่ารัก ๆ อย่าง ‘ช้างป๋อง รอเล่น’ ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานวรรณกรรมและสื่อผสมสำหรับเด็กหลากหลายช่วงวัย ให้ผู้ชมสาธารณะได้ชื่นชมผลงาน พร้อมแนวคิด เรื่องราว และแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังนิสิตผู้สร้างสรรค์งาน พร้อมรื้อฟื้นความทรงจำวัยเด็กไปด้วยกัน ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK Park เมื่อวันที่ 1 - 8 กรกฎาคม 2566

ว่าแต่ว่า สาขาวิชานี้ ที่เขาว่าเป็นสาขาวิชาที่เปิดสอนโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เขาเรียนอะไรกัน? เราลองมาฟังประสบการณ์ตรงในงานเสวนาโดยนิสิตปีสุดท้าย และศิษย์เก่ารุ่นพี่อย่าง ‘พี่เจดีย์ – เจลดา ภูพนานุสรณ์’ นักวาดภาพประกอบผู้อยู่เบื้องหลัง Shooting Board MV เพลง All About That Day และผลงานล่าสุดกับการวาดภาพประกอบปกให้ชุดหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก แม่มดกิกิผจญภัย จากสำนักพิมพ์ Biblio กันเถอะ!

สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก สอนอะไร?
สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก (Children’s Literature) เน้นการสอนการใช้เครื่องมือผลิตสื่อร่วมสมัยสำหรับเด็กและเยาวชน สร้างความเข้าใจพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม ปัญญา ตลอดจนปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เด็กคนหนึ่งสามารถเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตขึ้นไปในสังคม โดยมีเป้าหมายแกนกลางเพื่อสร้างบัณฑิตสู่วงการวรรณกรรมสำหรับเด็ก ดังปรัชญา “การพัฒนาเด็กด้วยวรรณกรรมสำหรับเด็กคือพื้นฐานของการพัฒนาสังคม” และ Programe Learrning Outcome (PLO) ที่ว่า “A creator of children’s content to enhance children development”

4 ปี แห่งการสั่งสมความรู้ สู่นิทรรศการ ‘ช้างป๋อง รอเล่น’
นิทรรศการที่มีคอนเซ็ปต์หลักว่าด้วยเรื่องราวสุดซึ้งของ ‘ช้างป๋อง’ ของเล่นสังกะสีชิ้นโปรดจากความทรงจำวัยเด็ก ซึ่งเป็นมรดกตกทอดตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ จนมาถึงมือของเด็กคนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้เติบโตเกินกว่าจะหยิบของเล่นชิ้นนี้มาเล่น จึงถูกวางแน่นิ่งอยู่บนชั้นหนังสือในห้องนอน จนฝุ่นเกาะมาตัวจนหนาเตอะ แต่เจ้าของก็ไม่หวนกลับมา

ช้างป๋องจึงกระโดดลงจากชั้นหนังสือเพื่อออกตามหาเด็กคนนั้น จนได้มาพบกับสิ่งของ 27 ชิ้นที่สะท้อนประสบการณ์และเส้นทางการเติบโตของเด็กคนนั้น จากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ทว่า ช้างป๋องไม่อาจก้าวข้ามไปไกลกว่าการเป็นของเล่นวัยเด็ก มันจึงหยุดอยู่ในห้วงเวลาแห่งวัยเยาว์ เพื่อ ‘รอเล่น’ กับเด็กผู้เป็นเจ้าของอีกครั้ง
เด็กคนนั้นอาจเหมือนกับตัวเราในตอนนี้ ที่ได้แต่มองย้อนไปในช่วงวัยต่าง ๆ ดังนั้น ด้านหน้าของงานจึงจัดแสดงผลงานนิสิต โดยแบ่งจัดแสดงตามแต่ละช่วงวัย (ตั้งแต่อายุ 3 - 14 ปี) ไล่ตั้งแต่นิทาน หนังสือภาพ บอร์ดเกม แอนิเมชั่นขนาดสั้น สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก วรรณกรรมทั้งแนวเสียดสีสังคม ไปจนถึงสื่อสำหรับเด็กโต ที่กำลังจะก้าวข้ามผ่านวัยเด็ก เราจึงได้ซึมซับบรรยากาศการย้อนวัยไปพร้อม ๆ กับช้างป๋อง และอาจได้พบเจอเด็กน้อยที่นั่งหลบซ่อนอยู่ภายในใจเราอีกครั้งก็ได้

‘วิธีการนำเสนอ’ คือหัวใจการทำสื่อสำหรับเด็ก
หลายคนที่ได้เดินชื่นชมผลงานอาจมีโอกาสได้พูดคุยกับน้อง ๆ นิสิตปีที่ 4 ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานเหล่านี้ และน่าจะได้รับรู้เช่นกันว่าหัวใจสำคัญของการทำงานกับเด็ก ๆ คือ ‘วิธีการนำเสนอ’ เพราะแม้ผลงานทุกชิ้นจะถูกพัฒนาขึ้นจากเค้าโครงเรื่องและแรงบันดาลใจที่หลากหลาย ที่บ้างก็เป็นประสบการณ์ใกล้ตัว ทั้งเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ การถูกกดทับจากสภาพแวดล้อม แต่นิสิตทุกคนต่างเลือกใช้วิธีการบอกเล่าอย่างชาญฉลาด ซึ่งเป็นทักษะวิธีที่คนผลิตสื่อให้เด็กคำนึงถึงอยู่เสมอ จนทำให้เรื่องราวทุกเรื่องเหมาะแก่การทำความเข้าใจของเด็ก ๆ ได้

หากใครเคยอ่านนิทานไทยสมัยก่อน น่าจะสังเกตได้ถึงวิธีการนำเสนอเรื่องราวที่ชี้นำผู้อ่านไปสู่บทสรุปที่ตรงไปตรงมา ซึ่งอาจทำให้กระบวนการฝึกคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และการเปิดการรับรู้แง่มุมอันหลากหลายของเด็กพัฒนาได้ไม่เต็มที่
“หนังสือที่ดีเขาต้องมอบประสบการณ์ที่เราอาจไม่ได้พบเจอด้วยตนเอง แต่หนังสือให้มันกับเราได้ผ่านเรื่องราวที่ชวนจินตนาการ ไปสู่การได้ลองคิดทำความเข้าใจแง่มุมเหล่านั้นด้วยตนเอง ถ้าเด็กได้เลือกหนังสือตามความชอบ ได้อ่านหนังสือภาพเยอะ ๆ แม้ว่าเล่มนั้นจะมีภาพที่น่ากลัว เด็กจะรับรู้เทสต์ศิลปะได้เองว่า มันมีหลายแบบนะ ไปจนถึงสร้างความเข้าใจในเรื่องละเอียดอ่อนได้ เจรู้สึกว่า หนังสือที่ดีจะสอนให้เรารู้จักตนเอง มองโลกในแง่ดี และมองมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง” พี่เจดีย์ยกสื่อหนังสือสำหรับเด็กมาเล่าถึงมุมมองต่อการนำเสนอที่ดีให้ฟัง
ในขณะเดียวกัน ต้นหลิว หนึ่งในนิสิตปีที่ 4 กล่าวเสริมอีกด้วยว่า “ในต่างประเทศเด็ก ๆ จะอ่านเนื้อหาที่มีความเข้มข้นมาตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเด็กจะเรียนรู้ไม่ได้ ความจริงพ่อแม่สามารถอ่านและอธิบายให้ลูกฟังถึงการกระทำของตัวละครในเล่มไปพร้อม ๆ กันได้โดยที่ไม่ต้องปกป้องลูกมากเกินไป ว่าตัวละครนี้ทำแบบนี้ ลูกอย่าไปทำตามนะ แต่ควรอธิบายที่มาของการเลือกกระทำแบบนั้น และมันส่งผลอย่างไร โดยยกประสบการณ์ใกล้ตัวมาเปรียบเทียบให้เด็กมองเห็นเหตุผล เขาจะได้ค่อย ๆ เห็นภาพหลาย ๆ ด้านมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองก็ได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนั้นเหมือนกัน เพราะวรรณกรรมหลายเรื่องแม้จะบอกว่าสำหรับเด็ก แต่ที่จริงเขาแฝงอะไรบางอย่าง เพราะต้องการจะบอกผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน”

วัยเด็กคือช่วงเวลาสำคัญของการเติบโต
ความตั้งใจที่พี่เจดีย์และนิสิตสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กอยากบอกกับผู้เข้าชมงานก็คือ ทุกคนควรให้ความสำคัญกับ ‘วัยเด็ก’ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง ๆ ให้กลายเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ตัวผลงานที่จัดแสดงก็สะท้อนให้เราเห็นไปในทางเดียวกันว่า สาขาวิชานี้ได้บ่มเพาะผู้เรียนให้มีหัวใจที่แผ่กว้าง โอบรับบริบททางสังคมที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปโดยตลอด และพิจารณาการกระทำของมนุษย์อย่างเข้าอกเข้าใจ
“เราได้เรียนรู้จิตวิทยาของคนทั่วไปด้วยว่า บุคคลนี้ที่โตมาเป็นคนแบบนี้ อาจสืบเนื่องมาจากวัยเด็กที่เขาอาจจะมีปัญหาหรือขาดอะไรบางอย่าง เป็นผลให้เขาเติบโตมามีลักษณะนิสัยแบบนั้น เอกนี้ทำให้เราเกิด empathy ที่สามารถคุยกับใครสักคนโดยเข้าใจจิตใจของเขาได้อย่างถ่องแท้” ต้นหลิวเล่าถึงสิ่งที่สาขาวิชานี้พร่ำสอนมาตลอด 4 ปี
บทสรุปของนิทรรศการนี้ลงเอยด้วยเรื่องราวที่ว่า ช้างป๋องยังคงยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองตัวเลือก ว่าจะ ‘รอเล่น’ อยู่ในเพียงความทรงจำ หรือ ‘ปล่อย’ ให้ตัวเองได้เติบโตไปพร้อมกับเจ้าของของมัน ช้างป๋องเปิดโอกาสให้เพื่อน ๆ ที่มาชมนิทรรศการได้เข้ามาช่วยตัดสินเส้นทางของมัน
และไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหนก็ไม่มีถูกไม่มีผิด การเลือกมองย้อนไปในอดีตอาจทำให้เราได้มองเห็นทุกชิ้นส่วนของชีวิตได้ชัดเจนขึ้น และขณะเดียวกัน การเลือกก้าวไปข้างหน้าก็เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้โลกใบมุมมองใหม่เพื่อทำความเข้าใจตัวเราในด้านอื่น ๆ ที่เราอาจไม่เคยพบมาก่อนเช่นกัน
