
เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และเราเรียนรู้ได้ทุกสิ่ง วันนี้เรามีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม TK Small Tour เดิน คุย เล่า เรื่องบ้านเก่าย่านปทุมวัน ชมอาคารทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่าง “บ้านพิบูลธรรม” บ้านโบราณที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล โดย บุญศรี โชติวรรณวิวัฒน์ รับหน้าที่เป็นวิทยากรคอยให้ความรู้กับเราในวันนี้
หากใครเคยเวียนมาแถวนี้อยู่บ้าง คงพอเคยเห็นบ้านเก่าสีเหลืองพาสเทลตั้งตระหง่านอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ชวนสะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานการตกแต่งแบบตะวันตกสมัยนิยมช่วงรัชกาลที่ 5 เอาไว้อย่างลงตัว
ขณะเดินชมบ้านก็ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ที่วิทยากรเล่าเสริมอยู่เรื่อยๆ ผู้ฟังอย่างเราเลยได้ทั้งความรู้และความสนุกจากเรื่องเล่าในอดีต ถือเป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่ได้ความประทับใจกลับไปไม่น้อยเลยทีเดียว แต่จะมีเกร็ดอะไรน่ารู้บ้าง เราขออาสาเล่าให้ฟังเลยละกัน!

เดิมชื่อ ‘บ้านนนที’
ทันทีที่ก้าวพ้นประตูเข้ามา วิทยากรก็เริ่มให้ความรู้ว่า บ้านพิบูลธรรม เดิมชื่อว่า ‘บ้านนนที’ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงปี 2240 จนในรัชสมัยต่อมารัชกาลที่ 6 พระราชทานเงินเพื่อก่อสร้างบ้านหลังนี้ให้มีอาคารเพิ่มเติม จะเห็นว่าสไตล์การออกแบบส่วนใหญ่มีความประณีตงดงามด้วยฝีมือสถาปนิกชาวอิตาลี เนื่องจากเป็นยุคที่ไทยกำลังเปิดรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาในหลายๆ ด้าน

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2484 บ้านนนทีถูกระเบิดเสียหายอย่างหนักเกินกว่าจะซ่อมแซม เจ้าของบ้านจึงขายให้รัฐบาล ตอนนั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามได้อนุมัติให้ซื้อไว้ในปี พ.ศ. 2498 และปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมือง และขนานนามใหม่ว่า ‘บ้านพิบูลธรรม’
ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 บ้านหลังนี้ได้รับอนุมัติให้เป็นที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติ และเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สังกัดกระทรวงพลังงานจนถึงปัจจุบัน
จึงนับเป็นบ้านเก่าที่ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และยังเก็บรักษาร่องรอยทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

ที่นี่...บ้านพิบูลธรรม
ด้วยความที่บ้านหลังนี้ได้นายช่างสถาปนิกชาวอิตาลีที่รับราชการในไทยมาช่วยออกแบบ จึงได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมและมีศิลปกรรมงดงามล้ำค่าซ่อนตัวอยู่มากมาย
มีอาคารเก่าแก่แต่แรกสร้างอยู่ 2 หลัง คือ อาคารสำนักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่หลังหน้า ถัดเข้าไปเป็นอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง และศาลาไม้อีก 1 หลัง ทั้งหมดเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น คือลักษณะจะเหมือนปราสาทหรือวิลล่าสวยๆ ตามฝั่งตะวันตก พอได้เดินดูรอบๆ จะเห็นว่าอาคารทั้งสองหลัง ตกแต่งภายในอย่างวิจิตรด้วยไม้แกะลาย ประดับลายปูนปั้นตามผนังห้อง ตอนบนหัวเสา ลูกกรงระเบียง ประตูหน้าต่างเป็นไม้สลักลายแทบทุกบาน ส่วนประติมากรรมรูปวัวหรือพระโคนนทีที่ติดอยู่ด้านบนซุ้มโค้งทางเข้าตึกนั้น นอกจากจะเป็นตราสัญลักษณ์ของเสนาธิการกระทรวงวัง ยังสอดคล้องกับชื่อบ้านอย่าง บ้านนนทิ อีกด้วย


ภายในบ้านมีรายละเอียดต่างๆ ให้ผู้มาเยือนได้หันซ้ายแลขวามองดูสถาปัตยกรรมความงามเล็กใหญ่ที่ซ่อนอยู่ตามตัวอาคารได้อย่างไม่เบื่อ เราชื่นชอบบ้านพิบูลธรรมส่วนตึก 3 ชั้นเป็นพิเศษ เพราะนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกรีไววัล (Classic Revival) ที่เด่นทั้งตัวสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบครบครัน ไม่ว่าจะการแกะสลัก ประติมากรรม ทั้งยังประกอบภาพจิตรกรรมจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ไว้ได้อย่างงดงาม
บริเวณห้องโถงด้านในของอาคารนี้มีความวิจิตรอลังการเป็นอย่างมาก พื้นปูด้วยหินอ่อน เสาเป็นไม้สักสลักลายเถาผลไม้ประดับหัวเสาเหมือนทางกรีกโรมัน มีกระจกบานใหญ่อายุอานามกว่าร้อยปีตั้งอยู่ตรงกลาง เพดานกรุซับด้วยไม้สัก ตกแต่งผนังด้วยลวดลายเครือเถาดอกไม้
เราสะดุดตาที่ลายดอกกุหลาบบนผนัง วิทยากรเลยให้ความรู้ว่า ในแถบกรีกโรมันดอกกุหลาบจะแสดงถึงเกียรติยศ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นดอกไม้ที่มีความสอดคล้องกับวรรณคดีเรื่องมัทนะพาธาหรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ ที่รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยนั่นเอง

ภาพจิตรกรรมหาชมยาก
อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ ภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ที่ปรากฏอยู่ในบ้านพิบูลธรรม ซึ่งเป็นภาพ Fresco หรือการวาดลงบนพื้นผิวปูนที่ยังหมาดๆ ไม่แห้งดี พอเนื้อสีผสมผสานลงไปในเนื้อปูนจะทำให้ภาพที่วาดคงทนถาวรไม่หลุดล่อนง่ายๆ เป็นผลงานของศิลปินชาวอิตาลีชื่อ Carlo Rigoli (คาร์โล ริโกลี) คนเดียวกับที่วาดภาพประดับใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม, วาดภาพเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน, วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดราชาธิวาส และงานสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจุบันภาพวาดมีการซ่อมแซมบำรุงด้วยสีน้ำมันในบางจุด ไม่ใช่ภาพ Fresco ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังคงเห็นถึงความประณีตของศิลปินได้อย่างชัดเจน

และจะเห็นว่า ริโกลีเริ่มใส่ความเป็นบ้านเราเข้าไปแบบเนียนๆ จากทารกฝรั่งตัวขาวติดปีกเหมือนกามเทพปกติ กลับเป็นทารกตัวคล้ำๆ เหมือนเด็กสยาม เพราะเขาคลุกคลีอยู่กับผู้คนในไทยมาหลายปี จนซึมซับและผสมผสานวัฒนธรรมบางอย่างลงไปในชิ้นงาน
เรียกได้ว่า บ้านพิบูลธรรม หรือบ้านสไตล์โคโลเนียลหลังนี้ได้หลอมรวมความเป็นไทยเข้ากับอิทธิพลอันศิวิไลซ์ของตะวันตกไว้อย่างลงตัว โดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นสมุดบันทึกความรุ่งโรจน์ของพระนครในอดีต สะท้อนให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นความละเมียดบรรจงในฝีมือช่าง แต่มากกว่าความงามของสถาปัตยกรรม ก็คงเป็นร่องรอยวิถีชีวิตของผู้คนที่มีคุณค่าและน่าสนใจไม่ต่างกัน

