
“โมชิ โมชิ สวัสดีค่ะ มาพบกับ Neatto Chan...” เสียงหวานกล่าวคำทักทายแรกหากเพื่อนๆ ใครสายอนิเมะ ชอบเล่น TikTok จะต้องเคยพบเคยได้ยิน ‘Neatto.Chan สาวเสิร์ฟอนิเมะ’ ของ นีท – เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ กันบ้างล่ะ ที่จริงแล้วเธอคือนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ที่ทั้งทำงานในโรงเรียน เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ ด้วยการนำอนิเมะมาผสมกับศาสตร์จิตวิทยาเล่าผ่าน TikTok ชวนคนมาทำความเข้าใจตัวละครพร้อมค้นหาความใจดีผ่านการ์ตูน จัดทำชมรม Anime Club ในโรงเรียนและกิจกรรมเวิร์กช็อปให้เด็กๆ ทำความเข้าใจ ยอมรับความหลากหลายและความแตกต่าง
วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ มาฟังแนวคิดผ่านสิ่งที่เธอทำกัน รับรองว่าสนุก เปิดโลก จนอยากหยิบการ์ตูนเรื่องโปรดมาขอร่วมทำเวิร์กช็อปเธอบ้างเลยล่ะ

มองจิตวิทยาผ่านอนิเมะ กับ TikTok ชื่อ Neatto.Chan สาวเสิร์ฟอนิเมะ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....
เป็นที่รู้กันว่าการ์ตูนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หนึ่งในนั้นคือการมีฉากต่อสู้ หรือการใช้ความรุนแรงที่ทำให้เด็กๆ อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ นีทผู้สวมแว่นนักจิตวิทยายกงานวิจัยขึ้นมาพูดคุย แม้วิจัยชิ้นนี้พูดถึงเกม แต่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับการดูการ์ตูนอนิเมะได้ “จริงๆ มันไม่ใช่แค่เกมที่จะพาเด็กๆ ไปสู่ความก้าวร้าว ยังมีตัวแปรสำคัญที่เข้ามาอธิบายเรื่องของการทำยังไงให้การเล่นเกมไม่นำไปสู่ความก้าวร้าว นั่นคือ อัตลักษณ์ทางศีลธรรม (Moral Identity) และ ความสามารถในการเรียนรู้และความเข้าใจ (Cognitive Abilities) หากเราสร้างการพูดคุยให้คนดูเข้าใจตัวการ์ตูน เข้าใจว่าอันไหนคือจุดบวกและจุดลบ สิ่งใดควร ไม่ควร มันก็จะเกิดประโยชน์”
นีทผู้หลงใหลในการ์ตูนอนิเมะ เธอเชื่อว่า การหยิบยกขึ้นมาพูดคุยจะสร้างความเข้าใจที่ดีได้ “ครั้งหนึ่งมีอนิเมะเรื่องหนึ่งที่ดังมากๆ อย่างเรื่อง โตเกียว รีเวนเจอร์ส อนิเมะสายโชเน็นหรือการ์ตูนสำหรับวัยรุ่นที่เคยเกิดกระแสต่อต้านทางสังคมในญี่ปุ่นอยู่พักใหญ่ เพราะมีธีมหลักคือ ‘นักเลง’ ซึ่งหากถอดความเป็นอนิเมะเรื่องนี้จริงๆ เนื้อเรื่องเน้นความสามัคคี ความพยายามและมิตรภาพ”
เรื่องราวของอนิเมะ กล่าวถึงพระเอก ‘ทาเคมิจิ ฮานางากิ’ ผู้มีความสามารถพิเศษในการย้อนกลับ เขาย้อนกลับไปช่วยเหลือแฟนสมัยมัธยมต้น เพราะเธอกำลังจะตายในอนาคต “ในมุมมองของความเป็นนักเลง เขาจะมีความพยายามซ่อนอยู่ พระเอกคิดว่าตนเป็น Loser มี Keyword ที่พระเอกพูดไว้ว่า เพราะแพ้ครั้งเดียว ฉันเลยหนีมาตลอดชีวิต ถึงเวลาแล้วที่ฉันจะต้องเผชิญหน้ากับชีวิต การย้อนเวลากลับไปช่วยแฟนของเขา จึงเป็นเหมือนความพยายามที่จะเผชิญหน้ากับชีวิต เมสเสจนี้ทำให้เรามองเห็นว่า แม้การ์ตูนจะมีธีมน่ากลัว แต่มันจะมีสิ่งดีๆ หรือความใจดีซ่อนอยู่ในนั้น”
สิ่งสำคัญที่นีทพยายามผลักดันคือ Character คุณลักษณะภายในเชิงบวก หรือความใจดีที่จะช่วยให้เราฝ่าฟันกับปัญหาจากเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี ความใจดีที่ว่านั้นประกอบไปด้วย Empathy, Compassion และ Kindness ที่นีทอิงมาจาก Inner Development Goal (IDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย
โดยทางองค์การได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายหลัก 23 สกิล ที่ตั้งใจจะบรรลุให้ได้ภายในเวลา 15 ปี ใน 23 สกิลนั้นแบ่งออกเป็น 5 หมวด คาแรกเตอร์ใจดีที่นีทหยิบยกมา จัดเป็นหนึ่งในนั้น เธอยกมาเพื่อเชื่อมกับการ์ตูน มาสร้างสรรค์เป็นบทเรียนที่สนุกสนาน

การสร้าง TikTok ขึ้นก็เพื่อวิเคราะห์ตัวละครผ่านมุมมองทางจิตวิทยาและพูดคุยถึงการค้นหาความดีใจผ่านตัวละคร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ว่า ทำไมตัวละครถึงมีลักษณะนิสัยแบบนี้ หรือการสร้างความเข้าใจในเรื่องมุมมองชีวิตที่บางครั้ง เราอาจจะต้องล้มก่อนแล้วค่อยลุกขึ้นมาอีกครั้ง “นีทมองว่า การหยิบการ์ตูน มันก็เป็น Pop Culture ที่เรานำสิ่งที่เด็กๆ สนใจมาเล่าผ่านจิตวิทยาเพื่อสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้กับพวกเขาได้”
จริงจังกับการทำ TikTok ทำให้ Japan Anime Movie เข้ามาซัพพอร์ต หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการจัดเวิร์กช็อปผ่านการ์ตูน พอพูดถึงเวิร์กช็อป นีทเล่าว่า เธอใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยามาผสมกับการ์ตูนอย่าง Role Model ตามหลักจิตวิทยาของแบนดูรา มีอยู่ 4 ขั้นตอน มาประกอบการสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้กับเด็กๆ ได้แก่
ขั้นที่ 1: ต้องสนใจสิ่งนั้นๆ อย่างที่นีทเลือกการ์ตูน เพราะเด็กๆ จะให้ความสนใจกับสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อทันที
ขั้นที่ 2: จำได้ เลือกฉากที่ชอบของการ์ตูนเพื่อค้นหาความใจดี ผ่าน 3 องค์ประกอบ : Empathy, Compassion และ Kindness
ขั้นที่ 3: ลงมือทำ เลือก 1 พฤติกรรมต่อการอยากเป็นคนใจดีมากขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แล้วลองแสดงผ่านสถานการณ์
ขั้นที่ 4: การเสริมแรง การที่คนอื่นเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำนั้นมีความหมาย ทำให้รู้สึกดี เพราะได้รับการยอมรับ
หลักการ 4 ขั้นของแบนดูราสามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง นีทเพียงยกคาแรกเตอร์ความดีใจเข้ามา ด้วยความคิดที่ว่า Kindness จะเป็นรากฐานการเริ่มต้นที่ดี เพราะตั้งแต่โควิด นีทมองว่าโลกนี้ช่างโหดร้าย หากว่าทุกคนใจดีต่อกัน โลกนี้ก็จะเป็นสีชมพูและมีความสุขกันมากขึ้น ส่วนการเลือกประเด็นในการ์ตูนอนิเมะ เธอจะดูเพื่อหา Keyword ในนั้น ก่อนจะนำมาต่อยอดหรือการออกแบบเป็นกิจกรรมของเธอ

ชมรม Anime Club พื้นที่แห่งการแก้ปัญหาและการสร้างความเข้าใจความหลากหลาย
นักจิตวิทยาสาวคนนี้ยังใช้ความหลงใหลในการ์ตูนจัดตั้งชมรม Anime Club ในรั้วโรงเรียน และต่อยอดมาเป็นเวิร์กช็อปนอกสถานที่เพื่อให้เข้าถึงคนอื่นๆ ด้วย โดยเป้าหมายของ Anime Club คือ เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และการยอมรับความหลากหลายรวมถึงความคิดต่างในพื้นฐานแห่งการสร้างความเข้าใจ
“ในกิจกรรมเราจะชวนเด็กๆ ป.4 - 6 มาเล่นเกม รู้จักตัวละครไหนเป็นคนดีใจ ในเบื้องต้นตัวละครนี้ใจดีอย่างไร อาจสังเกตจากรอยยิ้มหรือการช่วยเหลือคนอื่น หรือใครเป็นคนที่ร้องไห้บ่อยๆ ใครเป็นคนไม่ยอมแพ้ เราจะเอาเรื่องพวกนี้มาสอนเด็กๆ อีกทั้งทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เราต้องสอนให้พวกเขาเข้าใจ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร ในชมรมนีทเลยจะไม่กำหนดว่าวันนี้จะทำอะไร แต่จะให้เด็กๆ ลิสต์มาว่าอยากทำอะไร แล้วมาโหวตกัน”
แน่นอนว่าการโหวต ผลที่ออกจะต้องเป็นเสียงส่วนมากชนะเสียงส่วนน้อย สิ่งสำคัญที่นีทมุ่งสอนไม่ใช่เรื่องของการโหวตชนะ แต่เธอสอดแทรกบทเรียนความหลากหลายด้วยการไม่ลืมที่จะให้เสียงส่วนน้อยได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมได้อย่างมีความสุขด้วย
สมมติว่าในกิจกรรมนั้นเสียงโหวตส่วนใหญ่ออกมาว่า ‘วันนี้เราจะมาแต่งหน้าคัพเค้กกัน’ เพราะเสียงส่วนมากมาจากเด็กผู้หญิง แน่นอนว่าเด็กผู้ชายบางคนอาจจะไม่ได้สนใจอยากเข้าร่วมมากเท่าไหร่ หน้าที่ของเธอคือ หาสิ่งที่ทุกคนจะสามารถอยู่ในเหตุการณ์นี้ได้อย่างมีความสุข “เราก็จะแบ่ง Role กัน ใครอยากทำคัพเค้กยกมือ ใครไม่อยากทำ งั้นอยากถ่ายรูปไหม หรือช่วยเก็บของไหม เราไม่เข้าไปบังคับเด็กแต่จะเน้นคุยกันแบบพี่น้อง เราจะมีความสุขกับกฎนี้ได้เพียงแต่คุณต้องดีไซน์ในข้อจำกัดนี้ มันจะช่วยให้เด็กพยายามเข้าใจความหลากหลาย แล้วยอมรับ หาทางออกหรือ Solution ที่เราจะมีความสุขกับเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ แต่ถ้าหนีมันไม่ได้จะทำอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นการฝึกสกิลน้องๆ ให้อยากครีเอทีฟกับสิ่งนั้นๆ เพื่ออยู่กับสิ่งที่ชอบ"
นอกจากนี้ เธอยังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในพื้นที่ห้องกิจกรรมด้วย “กิจกรรมแต่งหน้าคัพเค้ก แน่นอนว่าเด็กผู้ชายบางคนคงไม่ชอบ เราก็จะเข้าไปชวนๆ เช่น ขอกิจกรรมให้เพื่อนผู้ชายด้วยได้ไหมสักหนึ่งอย่าง เราจะใส่เรื่องของ Empathy เข้าไป การที่เราต้องเปิดใจในการทำกิจกรรมที่อาจจะไม่ได้ชอบมาก นั่นก็คือคุณได้ Open Minded แล้วนะ สกิลนี้สำคัญมากๆ เพราะมันจะเป็นหนทางไปสู่การเรียนรู้โลกใหม่ มุมมองใหม่”

การ์ตูนคือสิ่งยึดเหนี่ยว และความฝัน
ฟังนีทเล่าถึงงานของเธอด้วยแววตาเป็นประกาย เราเลยถามถึง Passion เธอเล่าว่า มันเริ่มต้นขึ้นช่วงวัยเรียนมัธยม การเรียนในครั้งนั้นเชื่อว่า เพื่อนๆ หลายคนอาจหาจุดยึดเหนี่ยวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในยามที่ท้อแท้ สำหรับนีทนั่นคือการ์ตูนอนิเมะ คำคมต่างๆ หรือพฤติกรรมจากการ์ตูนที่ทำให้เธอรู้สึกว่า ทุกๆ อย่างสามารถก้าวผ่านไปได้ และเพราะเติบโตมากับไฮไลท์การ์ตูน 9 ซึ่งออกอากาศทุกเช้าวันเสาร์และวันอาทิตย์ทางช่อง 9 นีทจึงมองว่าตอนจบของการ์ตูนทุกเรื่องมักจะบอกกับคนดูว่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร การ์ตูนในสายตาเธอเปรียบเสมือนหนังสือ How to ให้ได้ค้นหาคำตอบ หาเพื่อน หรือหาบางอย่างจากการ์ตูน
จากความชอบการ์ตูน หล่อหลอมกลายมาเป็นความฝัน เธอเริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับการ์ตูนที่อินลงนิตยสารเล่มโปรด และอีกครั้งกับการเขียนบทความในหัวข้อเรื่อง ‘เสรีภาพ สันติภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร’ ที่เธอถอดบทเรียนมาจากการ์ตูนที่ดูเช่นกัน เพื่อลงหนังสืออนิแมกซ์ ทว่าช่วงเรียนจบ ความฝันเรื่องการ์ตูนเริ่มแผ่วเบา แต่นีทย้ำว่า มันไม่เคยจางหายไปจากใจ เพียงแค่รอเวลาให้เปล่งแสงอีกครั้ง
การทำ TikTok ทำให้ภาพฝันเรื่องการ์ตูนของเธอกลับมามีพลังอีกครั้ง “พอเป็นนักจิตวิทยา เรารู้เทคนิค รู้วิธีการพัฒนาเด็ก เราจะเสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กอย่างไรให้ดีขึ้น เราเลยใช้ศาสตร์จิตวิทยาที่เรียน มาผสมกับพลังความฝันเรื่องการ์ตูน ให้ออกมาเป็น 1 เวิร์กช็อปที่ดีต่อใจเรา แล้วก็ดีต่อใจคนอื่นๆ ด้วย”
ที่เธอทำไม่อาจเรียกว่าเป็นงานอีกต่อไป แต่เป็นการได้ลงมือทำตามความฝัน นีทบอกจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจน ต่อการจัดเวิร์กช็อป หากเธอเป็นแม่งานเอง หรือได้ทำกับ IDG ของประเทศไทยโดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า Anime Character Park เธอจะไม่เก็บเงิน เพราะต้องการเข้าถึงทุกคนให้มาจอยกิจกรรมของเธอได้อย่างมีความสุข ส่วนอีกหนึ่งความตั้งใจที่เธอกำลังมุ่งหน้าต่อไป คือการมุ่งหวังที่จะพาเวิร์กช็อปของเธอไปจัดตามภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศไทย “แม้ว่ากิจกรรมของเราอาจไม่ได้เปลี่ยนทุกคนได้ แต่เราคิดว่า คลื่นลูกเล็กๆ ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าวันนี้มีเด็ก 20-30 คนมาพัฒนาทักษะและสกิลกับเรา จาก 1 แล้วไป 2 3 เรื่อยๆ มันก็จะขยายวงกว้างขึ้น”

“เราคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะมีความสุขมากขึ้นด้วยคาแรกเตอร์ของเรา หรือสิ่งสำคัญของเรา เราไม่อยากให้ทุกคนเรียนรู้ด้วยการถูกบังคับ เพรามันสามารถเรียนรู้ผ่านเรื่องสนุกๆ หรือเรื่องที่เราชอบได้อย่างที่นีททำอยู่ตอนนี้ นี่ยังคงเป็น Keyword ที่เราอยากทำ หากอินในสิ่งที่ชอบก็เรียนรู้จากมันเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีมากๆ เลยสิ”
ติดตามนักจิตวิทยาสาวคนนี้ได้ที่ TikTok : Neatto.Chan สาวเสิร์ฟอนิเมะ และ Facebook Page : นีท-Child & Teen Expert