เป็นเรื่องปกติที่นิตยสาร Time หนึ่งในนิตยสารทรงอิทธิพลชื่อดังหัวใหญ่ของโลกจะต้องประกาศรายชื่อ ‘บุคคลแห่งปี’ เมื่อช่วงเวลาสุดท้ายของปีกำลังจะผ่านพ้นไป ทว่าในปี 2006 ปีที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ภาพที่ Time เลือกจะนำมาขึ้นปกและประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญแห่งปีกลับไม่ใช่มหาเศรษฐีผู้ติดอันดับโลก หรือประธานาธิบดีคนดังสักประเทศ
ภาพๆ นั้นกลับเป็นเพียงคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่หน้าจอเป็นกระจก และมีคำว่า YOU เพียงคำเดียวที่เขียนอยู่บนนั้น ซึ่งหมายความถึง “พวกเราทุกคน”
โลกที่ก้าวสู่ยุคข้อมูลโดยไม่ทันตั้งตัว
ก่อนที่ใครจะทันได้รู้สึก โลกใบนี้ก็เปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว มันไม่ได้ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อยเหมือนการเปลี่ยนผ่านเมื่อหลายสิบหลายร้อยปีก่อน เพราะทันทีที่ผู้คนต่างอัพโหลดตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ โลกก็เริ่มขยับเคลื่อนไหวด้วยความไวในระดับเดียวกับการทำงานของสมองกล
นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไม Time จึงยกให้พวกเราทุกคนเป็นบุคคลสำคัญของโลก เพราะโลกใบนี้ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยบุคคลเพียงกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว ขอแค่เพียงคุณมีช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้นำทางด้านข้อมูลได้
ด้วยเหตุนั้นเองประตูของดินแดนที่เรียกว่า Creator Economy หรือเศรษฐกิจครีเอเตอร์จึงถูกแง้มเปิดออก และเศรษฐกิจระบบใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ดินแดนเศรษฐกิจครีเอเตอร์
ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้บริหารและอาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจครีเอเตอร์ หรือ Creator Economy เอาไว้อย่างเข้าใจโดยง่ายว่า คำๆ นี้ถูกพัฒนามาจาก เศรษฐกิจการจ้างงานแบบเป็นครั้งคราว หรือ Gig Economy ซึ่งก็คืองานประเภท พาร์ทไทม์ หรือฟรีแลนซ์
หลังจากที่อาชีพฟรีแลนซ์ได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นงานด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ประกอบกับอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตผลงาน เช่น กล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ มีราคาที่จับต้องได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนจำนวนมากผันตัวไปเป็นครีเอเตอร์หรือนักสร้างสรรค์มือใหม่กันมากขึ้น ในทางเดียวกันผู้ชมก็สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายและหลากหลายมากขึ้นต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ เม็ดเงินที่ไหลเวียนเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งจากการสมัครสมาชิก การสนับสนุนสินค้า ไปจนถึงจากการจ้างงานจากแบรนด์จึงเติบโตเป็นเท่าตัว ทำให้ยุคทองของศรษฐกิจครีเอเตอร์เริ่มต้นขึ้นในชั่วข้ามคืน
การสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด
ในยุคนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักเว็บไซต์ Youtube แพลตฟอร์มวีดีโอที่เปลี่ยนแปลงสื่อทั่วโลกไปโดยสิ้นเชิง ทว่าย้อนกลับไปในปี 2005 Youtube ก็เป็นเพียงโปรเจ็กต์สตาร์ทอัพที่มีผู้ชมเพียงไม่กี่ล้านคนเท่านั้น ในระยะเวลาเพียงสิบกว่าปี Youtube ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาลงทะเบียนกับทางแพลตฟอร์มได้มากถึง 2.6 พันล้านยูสเซอร์ พร้อมกับจำนวนผู้คลิกชมมากกว่าพันล้านชั่วโมงในแต่ละวัน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอันไร้ขีดจำกัดของนักสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลก และนี่ยังคงไม่รวมบรรดาโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีผู้ใช้อีกนับพันล้านคน
การถือกำเนิดขึ้นของเหล่านักสร้างสรรค์เหล่านี้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขนานใหญ่ แม้ดาราและบรรดาเซเลบริตี้ในแวดวงต่างๆ จะยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของคนทั่วไป ทว่าอำนาจเดิมที่เคยมีอยู่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในแวดวงแคบๆ อีกแล้ว หลายครั้งที่คนเลือกจะเชื่อรีวิวเครื่องสำอางของบล็อกเกอร์สักคนมากกว่าการโฆษณาของดารา หรือแม้แต่เลือกจ่ายเงินสนับสนุนช่องนักร้องหน้าใหม่ใน Youtube มากกว่าจะซื้ออัลบั้มของนักร้องชื่อดัง ทำให้โอกาสในการหารายได้ของคนธรรมดาที่มีความชื่นชอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ
วงการเกมกับความท้าทายครั้งใหม่
ในยุครุ่งเรืองของ Creator Economy อย่างปัจจุบัน ถัดจากวงการอาหาร เครื่องสำอาง ท่องเที่ยว และดนตรี ดินแดนแห่งโอกาสที่บริษัทการลงทุนชั้นนำของโลกทำนายว่ากำลังจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของนักลงทุนทุกคนก็คือ ‘วงการเกม’
นักกีฬา E-Sport ทุกวันนี้สามารถสร้างรายได้มหาศาล ในขณะที่นักพัฒนาเกมก็กลายเป็นอาชีพที่ทั่วโลกต่างต้องการตัว Andreessen Horowitz บริษัทลงทุนที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาได้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับเกมโดยยกตัวอย่างเกมฮิตแห่งยุคอย่าง The Sandbox ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ในเวลาเพียงไม่นานหลังเปิดระดมทุน The Sandbox ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงในโลก Metaverse ก็สามารถระดมทุนไปได้มากถึง 93 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บ่งบอกแนวโน้มว่าทั่วทั้งโลกกำลังจับตาและให้ความเชื่อมั่นกับวงการนี้
เช่นเดียวกันกับ Kawaii อีกหนึ่งโปรเจ็กต์สตาร์ทอัพชื่อดังซึ่งกำลังวางแผนจะเปิดตัวโลก Metaverse ที่เน้นด้านอนิเมชั่นเป็นเรื่องแรกในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้เปิดตัว Kawaii Islands เกม Blockchain NFT แนว Simulation ที่มีจุดขายคือภาพกราฟิกสุดแสนน่ารัก ตลอดจนฟีเจอร์สำคัญที่คนทั้งโลกตั้งตารอคอยอย่างการเล่นเกมหรือสร้างคอนเทนต์ในเกมเพื่อหารายได้
โลกจับตาเมื่อแบรนด์ดังตื่นตัว
หากว่าการคาดการณ์ของนักลงทุนยังฟังดูไม่น่าเชื่อถือพอ การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของแบรนด์ดังระดับโลกก็น่าจะทำให้คุณเห็นภาพได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกันของ Roblox แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ชื่อดังกับแบรนด์กีฬาที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง Nike หรือดีลยักษ์ใหญ่ของแบรนด์คู่แข่ง Adidas กับ The Sandbox
แม้ปัจจุบันผู้เล่นจะทำได้เพียงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของ ตัวละคร (Avatar) ด้วยไอเทมจากแบรนด์นั้นๆ และเข้าไปเล่นมินิเกมเพื่อความสนุกสนานก็ตามที ทว่าในอนาคตทางแบรนด์ยังมีแผนงานใหญ่ในการหลอมรวมเอาอีเวนต์จากโลกความเป็นจริงเข้าไปสู่โลก Metaverse ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างรายได้และการมาถึงของเม็ดเงินมหาศาล
เล่ามาถึงจุดนี้คุณคงจะพอจินตนาการได้แล้วว่าความเป็นไปได้ของวงการเกมใน Creator Economyนั้นกว้างใหญ่และยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเล่นเกม นักแคสเกม นักสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม หรือกระทั่งนักวาดภาพ NFT ประตูแห่งโอกาสมากมายก็ต่างเปิดอ้ารอต้อนรับคุณอยู่
อ้างอิง
https://www.valuewalk.com/why-gaming-is-the-next-frontier-for-the-creator-economy
https://techsauce.co/pr-news/kawaii-islands-raises-usd-2m-for-its-anime-metaverse
https://futuretrend.co/creator-economy-future-leader
https://thestandard.co/nike-metaverse-with-nikeland