‘การเล่น’ เป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน แล้วถ้าหลอมรวมกับ ‘การอ่าน’ จนเกิดเป็นการ ‘อ่านเล่น’ จะเกิดอะไรขึ้น?
ทำอย่างไร...ลูกชอบอ่านโดยไม่ฝืน?
ทำอย่างไร...การอ่านถึงจะสนุก?
มาทำความรู้จักโลกแห่งการอ่านเล่น ผ่านนักสร้างโลกมหัศจรรย์ ครูใบปอ-อ้อมขวัญ เวชยชัย ผู้ก่อตั้ง Cream Bangkok พื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือ นิทาน เรื่องเล่า และกิจกรรมมหัศจรรย์มากมาย ครูแจนแจน-ณฐภัทร อุรุพงศา ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Barefoot Banana หรือ กล้วยเท้าเปล่า ผู้จัดการส่วนตัวคุณปุ๊บปั๊บ-แพะขี้ละเมอ ไอดอลขวัญใจของเด็กๆ ผู้เขียนหนังสือเด็ก เช่น แมวที่ไม่เคยยิ้ม และนักการศึกษาปฐมวัย
สร้างลูกให้รักการอ่าน ตามแบบการอ่านเล่น
ครูแจนแจนเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ‘การเล่น’ เป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวทุกคน ส่วน‘การอ่าน’ ไม่เป็นแบบนั้น ทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วอ่านได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่ต้องส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักวิธีอ่าน ช่วยให้รู้สึกอยากอ่าน จนเพลิดเพลินไปกับการอ่าน
“การอ่านเล่น คือ ผู้อ่านต้องอยากที่จะทำเหมือนการเล่น ผู้อ่านจะอ่านอะไร อ่านหน้าไหน อ่านที่ไหน อ่านกับใคร อ่านท่าไหน เขาเป็นเรื่องคนเลือกทั้งหมดเลย ซึ่งความรู้สึกที่อยากอ่านเล่น อาจไม่ได้มีในตัวทุกคน ต้องฟูมฟักมาตั้งแต่เด็กๆ ผ่านการเล่น”
ครูใบปอเสริมว่า การอ่านสามารถทำให้เป็นธรรมชาติเหมือนการเล่นได้ ถ้ามีมุมมองต่อการอ่านว่าไม่จำเป็นต้องอ่านในหนังสือเท่านั้นนะ แต่ถ้าใช้สายตามองโลกรอบตัว เกิดความสนใจ รับข้อมูล แล้วประมวลผลออกมาก็เกิดการอ่านเล่นได้
“หน้าที่ของพวกเรา คือทำให้การอ่านเชื่อมโยงกับชีวิต เด็กไม่ต้องถือหนังสืออยู่ในมือแล้วเปิดอ่านอยู่เสมอ แต่ถ้าเด็กอยากรู้ สนใจโลกรอบตัว มีเรื่องเล่าของตัวเองที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่ง แล้วด้วยธรรมชาติของเด็กๆ ที่เป็นนักเล่น จะเกิดการผสมผสานด้านการอ่านเข้าไปกับการเล่นได้เอง ดังนั้นมีหลายหนทางที่จะสร้างหัวใจนักอ่านให้เกิดขึ้นในตัว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นระหว่างอ่านหนังสือ การเล่นก่อนอ่าน-หลังอ่านหนังสือ ก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างนักอ่าน”
ผู้ใหญ่ต้องสนุกกับการอ่านก่อน ถึงส่งต่อพลังให้เด็กๆ ได้
ครูแจนแจนเล่าว่า เวลาผู้ใหญ่มองเรื่องการอ่าน มักอยากส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน โดยลืมมองตัวเองว่าสนใจการอ่านหรือเปล่า โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกับเด็กๆ ทั้งผู้ปกครอง หรือคุณครู ดังนั้น ถ้าผู้ใหญ่สนใจการอ่าน ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง อ่านให้เด็กๆ เห็น แล้วเขาจะอยากจะทำในแบบเดียวกัน
ครูใบปอเสริมว่า การอ่านมีพลังงานที่ส่งต่อกันได้ ทุกครั้งที่เล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง แล้วสนุกไปด้วย มันจะออกมาทางแววตา สีหน้า น้ำเสียง ซึ่งทำให้เด็กๆ รับรู้แล้วสนุกกับการอ่านเล่น
“ทำไมทุกคนชอบเล่น ก็เพราะมันสนุก เราทำการอ่านให้สนุกนี่แหละ ถึงสร้างหัวใจการอ่านเล่นได้ ความสนุกไม่ได้เกิดจากการฝืนนะ เด็กๆ เป็นคนละเอียดละอ่อน เขาจับได้เลย เราไม่ต้องกังวลว่าต้องรู้เทคนิค ต้องเล่ายังไง ใช้น้ำเสียงแบบไหน แต่ให้สื่อสารตามความรู้สึกที่มีต่อหนังสือเล่มนั้น ก็จะสื่อให้เด็กๆ รับรู้ได้”
สร้างความรักในการอ่าน เริ่มต้นจากอะไรบ้าง
ครูใบปอเล่าว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องให้ลูกเลือกหนังสือเองก่อน ผ่านการใช้เวลาอยู่ในห้องสมุด หรือร้านหนังสือ เพื่อดูว่า ลูกชอบหนังสือแนวไหน ไม่ได้สังเกตเพื่อให้เฉพาะสิ่งนั้น เช่น ชอบรถ ก็ซื้อแต่รถ แต่สังเกตเพื่อบาลานซ์กับสิ่งที่อยากเลือกให้ลูก และเมื่อเขาได้ใช้เวลาอยู่กับหนังสือ ได้ทำความรู้จักกับหนังสือ ก็จะนำไปสู่การรู้จักหนังสือหลากหลายขึ้น
“มันสำคัญที่เด็กๆ เป็นผู้เลือก เพราะเขาจะได้เจอรักแรกของเขา กับหนังสือเล่มนั้น” ครูใบปอเน้นย้ำว่าอยากให้มีโอกาสนี้เกิดขึ้น
ส่วนครูแจนแจนเล่าเสริมว่า นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญถึงการมีอยู่ของห้องสมุด เพราะยิ่งมีพื้นที่ให้เด็กเลือกหนังสือมากขึ้น เขายิ่งรู้ว่าชอบหรืออยากอ่านอะไร เพราะฉะนั้นการมีอยู่ของห้องสมุด จึงสำคัญกับการสร้างสังคมที่ทุกคนรักการอ่าน
ความตั้งใจของคนสร้างโลกมหัศจรรย์
ครูแจนแจนเล่าถึงความตั้งใจในการทำหนังสือสำหรับเด็กให้ฟังว่า พันธกิจของสำนักพิมพ์ Barefoot Banana คือตั้งใจสร้างหนังสือที่สนุกสนาน ผ่านการคำนึงถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น คำที่ใช้ พยางค์ที่ใช้ ภาพประกอบ จนถึงการนำเล่มตัวอย่าง ไปให้เด็กๆ คอมเมนต์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ จนได้เป็นหนังสือที่มีคุณภาพ
“สิ่งที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า เขามีส่วนร่วมในการทำหนังสือ เพราะเราบอกว่า หนังสือเล่มนี้ยังไม่ออกมาเป็นเล่มๆ เลยนะ บางทีเราเอาต้นฉบับที่นักวาดเพิ่งวาดเสร็จให้เขาดูเลยว่าหน้าตาจะเป็นแบบนี้ พอเย็บเป็นเล่ม ก็จะเข้าสู่ร้านหนังสือและห้องสมุด เด็กๆ จะรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับการทำหนังสือ มันเหมือนการเล่นอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน”
ส่วนครูใบปอ มองในฐานะนักเล่าหนังสือว่า อยากให้ผู้ใหญ่ใช้เวลากับการอ่านหนังสือด้วย เพื่อมองหาไอเดียใหม่ๆ ว่าจะชวนเด็กๆ เล่นระหว่างการอ่านหนังสือได้อย่างไร จะนำมาทำกิจกรรมแบบไหน หรือนำเสนอด้วยเทคนิคแบบใดให้สนุกขึ้น จะได้เกิดเรื่องราวของการเล่นที่นำมาผสมกับการอ่านหนังสือ
“ผู้ปกครองจะใช้หนังสือกับเด็กๆ ให้สนุกได้อย่างไร หนึ่งคือ...ต้องให้ตัวเองสนุกก่อน ใช้เวลากับหนังสือเล่มนั้นเยอะๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ว่าจะเล่นอย่างไรกับเรื่องเล่านี้ได้บ้าง สองคือ...เรื่องเล่าไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ ถ้าทำให้เด็กๆ สนุกกับบทสนทนา วันนี้เลิกเรียนเป็นอย่างไร ถามกันและกันว่าวันนี้ไปทำอะไรมา สร้างโลกให้เขาสนุกกับเรื่องเล่าต่างๆ ก็เป็นหัวใจของนักอ่านเหมือนกัน สามคือ...เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมที่จะเล่าเรื่องราวของเขา บางทีเราเอาแต่ชวนอ่านอย่างเดียว โดยลืมเหลือพื้นที่ให้เด็กๆ ได้พูดถึงไอเดีย และสิ่งที่จุดประกายจากเรื่องเล่าด้วย เขาอาจถ่ายทอดออกมาเป็นการวาดเขียน การเล่น ซึ่งเด็กๆ ทำอย่างเป็นธรรมชาติ จึงคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ เหลือพื้นที่เยอะๆ นะ มีพื้นที่สำหรับผู้อ่านด้วย เล่าไป ถามไป คุยไป ฟังความคิดของเขา ให้เขาได้ช่วยเล่า ให้เขาช่วยแสดงความคิดเห็น”
ปิดท้ายด้วยการกระตุกต่อมคิดจากครูใบปอว่า อยากให้ทุกคนมองเห็นหนทางการเล่นที่หลากหลาย โดยให้หนังสือนิทานเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นำมาเล่น ส่วนครูแจนแจน ชวนอ่าน The Rights of the reader ของ Daniel Pennac สิทธิ์ของผู้อ่านทั้ง 10 ข้อ ที่ทำให้รู้ว่า เราจะอ่านอะไรก็ได้ ไม่เห็นต้องกังวลกับสายตาหรือความคิดใคร
“การอ่านมันเป็นอิสระของผู้อ่าน เหมือนการเล่นมาจากผู้เล่น การอ่านเล่น ล้วนมาจากผู้อ่านเล่น 100% เหมือนกัน” ครูแจนแจนแสดงความเห็น
สิทธิ์ของการอ่าน
1. สิทธิ์ที่จะไม่อ่าน อยากมีกองดองกี่กองก็ได้ ซื้อหนังสือเพราะชอบแค่หน้าปกก็ได้
2. สิทธิ์ที่จะอ่านข้าม จะข้ามไปอ่านตอบจบแล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร
3. สิทธิ์ที่จะอ่านหนังสือไม่จบเล่ม ถ้าอ่านแล้วไม่เพลิดเพลิน จะทิ้งไว้ก่อนก็ได้ ไม่ต้องฝืนอ่าน
4. สิทธิ์ในอ่านหนังสือซ้ำ เด็กๆ มักชอบอ่านหนังสือเล่มเดิมเป็น 10 รอบ แต่ทุกครั้งที่กลับมาอ่านซ้ำ มันไม่ได้รู้สึกเหมือนเดิมทุกครั้ง บางครั้งรู้สึกคุ้นเคยเหมือนเจอเพื่อนรักเก่า หรือบางครั้งก็มีคำถามติดอยู่
5. สิทธิ์จะอ่านอะไรก็ได้ ห้องสมุดมีหนังสือจำนวนมาก มีโอกาสเลือกสิ่งที่อยากจะอ่าน
6. สิทธิ์ที่จะอินกับตัวละครในเรื่อง อ่านแล้วจินตนาการว่าฉันเป็นคนนี้
7. สิทธิ์ที่จะอ่านที่ไหนก็ได้ ห้องน้ำ ห้องเรียน ใต้โต๊ะ
8. สิทธิ์ที่จะเปิดไปอ่านตรงไหนก็ได้ บทนี้ฉันชอบ ก็อ่านแต่บทนั้น
9. สิทธิ์ที่จะอ่านออกเสียง ไม่ใช่แค่เด็กที่เพลิดเพลินกับการอ่านออกเสียง ผู้ใหญ่เองก็ชอบด้วย
10. สิทธิ์ที่จะอ่านเงียบๆ กอดหนังสือไว้ในใจ
ที่สำคัญ ต้องไม่ล้อคนที่ไม่อ่านหนังสือ เพราะการล้อคนที่ไม่อ่าน จะทำให้เขาไม่อยากอ่านยิ่งขึ้น