Playful Learning เป็นหัวใจหลักของความสำเร็จในการศึกษาของฟินแลนด์ หนึ่งในประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก ที่ใช้การเล่นเพื่อเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เล่นเพื่อสำรวจ ทดลอง ค้นหา สนุกสนาน ผ่านจินตนาการ นั่นเพราะการเล่นเป็นเรื่องคู่ขนานไปกับการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยใด
เมื่อการเล่นสำคัญแบบนี้ ลองมารับฟังประสบการณ์ เรียนๆ เล่นๆ จาก ผศ.ดร. ปิยพงษ์ สุเมตติกุล หรือ อาจารย์เอก อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยลาดกระบังและที่ปรึกษาด้านหลักสูตร HEI School Bangkok คุณณฐภัทร อุรุพงศา หรือ คุณครูแจนแจน ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Barefoot Banana ผู้เขียนหนังสือเด็ก และนักการศึกษาปฐมวัย และ คุณพนิตชนก ดำเนินธรรม หรือ คุณแม่นิดนก คุณแม่นักเล่นลูกหนึ่ง นักเขียน โฮสต์รายการพอดแคสต์ The Rookie ว่าโลกของการเรียนเล่นอย่างมีความสุขนั้นเป็นอย่างไร
Playful Learning คืออะไร และสำคัญอย่างไร
Playful Learning เป็นคำที่ไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่เป็นหัวใจของระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าช่วยทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยการเล่นซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์
อาจารย์เอก กล่าวถึง Playful Learning ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ และเขาก็ได้ออกแบบ Playful Learning ในรูปแบบของตัวเองโดยตั้งชื่อว่า PIPO (ปีโป้) เพราะเป็นขนมที่ชอบทาน และเป็นตัวอักษรย่อของการเรียนรู้ คือ PI = Player Interest PO = Plan Objective คือครูผู้สอนและผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กหรือผู้เล่น สนใจจะเล่นอะไร และเมื่อรู้แล้วว่าเขาสนใจสิ่งไหน จะทำสิ่งนั้นให้เกิดการเรียนรู้เรื่องอะไรด้วยวิธีการใด
“ถ้าเรารู้ว่าผู้เล่นสนใจอะไร เราจะบริหารจัดการการเรียนรู้ให้สอดคล้องได้ จะทำให้การเรียนผ่านการเล่นของเขาเกิดความสนุก เช่น จะให้เขาเล่นแบบ Free Play อาจจะหากระดาษให้เขาแผ่นหนึ่ง แล้วให้เขาคิดเองว่าจะทำอะไรต่อ ถ้าเขาเลือกฉีกกระดาษ เราจะเสริมการเรียนรู้เรื่องอะไรจากกระดาษที่ถูกฉีกมาเป็นชิ้นๆ”
ด้านคุณครูแจนแจน ได้กล่าวเสริมการเรียนรู้ว่า อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเล่น และทุกอย่างรอบตัวเป็นของเล่นได้หมด ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่ถูกประดิษฐ์มาเพื่อเป็นของเล่นเท่านั้น การเล่นสามารถเกิดได้ทุกที่ จะเป็นที่บ้าน หรือแม้แต่ที่ทำงานของคุณพ่อคุณแม่ ก็เป็นพื้นที่เล่นเพื่อการเรียนรู้สำหรับลูกได้
ประเด็นนี้ คุณแม่นิดนก ได้เล่าประสบการณ์ในฐานะเป็นคุณแม่ลูกหนึ่งถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกให้เด็กได้เรียนรู้และผู้ปกครองไม่เครียดด้วยการสร้างสมดุลว่า
“เราเป็นแม่ที่อยู่ในยุคที่สังคมให้ความสำคัญกับการเล่น เราเชื่อว่าลูกต้องเล่น ต้องทำกิจกรรม เราก็พาเขาไปทำกิจกรรมต่างๆ พอผ่านมาสักพักก็รู้สึกเหนื่อยที่จะต้องบริหารจัดการเวลาการทำงานกับกิจกรรมของลูก เลยลองผิดลองถูกจนมาพบว่า การจัดห้องใหม่ให้ลูกมีกิจกรรมในมุมของเขา ส่วนเราก็ทำงานในมุมของเรา และเราเลือกวางอะไรที่เขาใช้ได้ เขาเล่นไป เราทำงานไป มีการโต้ตอบการไปมาเพราะลูกจะอยู่ในสายตาเราตลอด กลายเป็นว่าพอสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย เขาเล่นได้ ส่วนเราก็ไม่เครียด
ผู้ใหญ่ควรวางบทบาทอย่างไรในการเล่นของเด็ก
เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองจะเป็นห่วงเด็ก และคอยระมัดระวังการเล่นเพราะกลัวว่าเขาจะตัดสินใจผิดพลาด แต่ความผิดพลาดนี่เองคือการเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป
อาจารย์เอก เล่าถึงทัศนคติของผู้ใหญ่ว่าควรจะต้องลดช่วงวัยให้เพื่อมองในมุมของเด็กมากกว่ามองในมุมของวัยตัวเอง “เราจะตัดสินอะไรต้องมองจากช่วงวัยของเขามากกว่ามุมมองของเรา อะไรก็ได้ที่เขาเล่นแล้วมีความสุข เขาสามารถอยู่ได้ตัวเอง ผู้ใหญ่ไม่ต้องไปตัดสินใจแทนมาก นั่นคือการเล่นที่ถูกต้องสำหรับเด็ก 1-7 ขวบ”
หลังจากที่เขามีความพร้อม มีอิสระทางความคิด เด็กจะตัดสินใจเองได้ เขารู้อะไรควรไม่ควรจากการเล่น หลังจากนั้นสังคมจะค่อยๆ เพิ่มให้เขาเอง เพิ่มสเต็ปการเรียนรู้ เพิ่มความเป็นวิชาการ เรื่องมารยาทสังคม พอเค้าถูกแนะนำด้วยเรื่องพวกนี้ อย่างน้อยเขามีความเข็มแข็งในช่วง 7 ปีแรกจากการเป็นตัวเอง เด็กจะค่อยๆ คัดเลือกอย่างมีวิจารณญาณและเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด เข้าใจในสิ่งที่สังคมคาดหวังจากตัวเขา มันก็จะกลมกล่อมมากกว่าการยัดเยียดตั้งแต่ จนเขาไม่สนุกกับการเรียนรู้ เป็นการสร้างทักษะ Lifelong Learning เพื่อให้เขาเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต และเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สนุกกับชีวิต
คุณครูแจนแจน ได้กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า “บางครั้งเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้แล้ว แต่ผู้ใหญ่นี่แหละที่เข้าไปยุ่มย่ามกับเด็กๆ ไม่ยอมเอาตัวเองออกมา แทนที่จะอยู่ห่างๆ และทำหน้าที่คอยสังเกต กลายเป็นว่าไปเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กหมดสนุก และถ้าไม่มีความสุขสนุกสนาน นั่นไม่ใช่การเรียนรู้จากการเล่น ความยากที่เขาต้องเจอ ความท้าทายเล็กๆ นี่แหละเป็นสิ่งที่คอยฝึกฝนให้เขารู้จักผ่านมันไปให้ได้”
ด้านคุณแม่นิดนก ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของผู้ใหญ่ว่ามีหน้าที่เชื่อใจไม่ใช่สั่งการ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจว่า ไม่ว่าลูกจะเลือกเล่นอะไร เล่นแบบไหน คุณพ่อคุณแม่จะไม่ขัดขวางและคอยสนับสนุน เด็กจะเกิดความรู้สึกได้รับการยอมรับ ต่อไปไม่ว่าคนอื่นจะว่าอะไรเขาก็ตาม หรือเขาตัดสินใจจะทำอะไรที่อาจจะแตกต่างจากคนทั่วไป เขาจะกล้าลงมือทำ เพราะไม่ว่าอย่างไรเขามีคุณพ่อคุณแม่ที่ยอมรับการตัดสินใจของเขา
บทบาทความเป็นครูในโรงเรียนต่างจากผู้ปกครองหรือไม่
อาจารย์เอก ตอบคำถามนี้เป็นคนแรกว่า บทบาทของครูกับผู้ปกครองมีบางอย่างคล้ายกันและมีบางอย่างต่างกัน แต่ถึงอย่างไรนั้นทั้งฟากฝั่งบ้านและฝั่งโรงเรียนจะต้องคอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
“ทั้งบ้านและโรงเรียนต่างสำคัญสำหรับเด็ก เพราะเขาจะต้องเล่นต้องเรียนรู้จากทั้งสองที่ คุณครูจะต้องคิดว่านักเรียนคือลูกหลานของเขา จะต้องทำให้เด็กมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ บางคนชอบด้อยค่าโรงเรียนว่าไม่สำคัญ เด็กเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ แต่เขาอาจลืมไปว่าที่โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมการเล่นการเรียนรู้ได้ดีกว่า เด็กๆ จำเป็นต้องมีทักษะการอยู่ร่วมกัน การเข้าสังคม และครูที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เขามีทักษะเหล่านั้น รวมถึงมีวิธีการสอนที่ไม่ได้ให้เขาท่องจำ เพราะเขาอาจลืมได้ แต่สอนให้เขาเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น ให้โจทย์เขาคิดคำนวณราคาของที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตว่าเป็นเงินเท่าไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องมีส่วนร่วมพาเขาไปทำกิจกรรมด้วย ซึ่งเด็กๆ จะเกิดความสนุก ไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำการบ้านอยู่”
คุณแม่นิดนก ได้กล่าวเสริมว่า“พ่อแม่จะต้องทำงานร่วมกับโรงเรียนโดยตลอด เรามีหน้าที่ต่อยอด ไม่ใช่ส่งให้ครูไปแล้วก็จบ แต่เราต้องรักษาสามเหลี่ยมสัมพันธ์ คือ โรงเรียน บ้าน เด็ก ไว้ให้ได้ และที่สำคัญคือเมื่อเราเลือกโรงเรียนให้ลูกแล้ว เราจะต้องเชื่อใจในโรงเรียน เชื่อมั่นในตัวครู ปล่อยให้เขาสอนลูกเราในแบบของเขา ส่วนผู้ปกครองอย่างเรามีหน้าที่คอยสังเกต บันทึกผล และรายงานให้คุณครูทราบ”
Free Play และ Structured Play คืออะไร สำคัญแค่ไหน
การเรียนรู้ผ่านการเล่น มีทั้ง Free Play และ Structured Play ซึ่ง Free Play เป็นการเล่นอย่างอิสระ ซึ่งเป็นคำที่เข้าใจได้ง่าย แต่ Structured Play ซึ่งเป็นการเล่นแบบมีแบบแผน อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าคืออะไ
อาจารย์เอก อธิบายเรื่อง Structured Play ว่าเป็นการเล่นที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้แล้วว่าจะให้เขาเรียนรู้เรื่องอะไร แล้วสอดแทรกสิ่งนั้นเข้าไประหว่างการเล่นของเขา
“สมัยนี้โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนไว้มาก ซึ่ง Structured Play ก็เป็นระบบการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่จะสอดแทรกเข้าไปอย่างแนบเนียนระหว่างที่เด็กกำลังเล่น จนเขาไม่รู้สึกว่ากำลังเรียนอยู่ โดยจะต้องใช้ความสนใจของเด็กเป็นตัวนำ เช่น เด็กอาจจะสนใจเล่นลูกบอล เราอาจจะเสริมกิจกรรมอื่นเข้าไป โดยครูผู้สอนจะต้องดูว่าจังหวะไหนที่ควรแทรกความรู้ แต่เด็กจะยังคงมีอิสระอยู่ในกิจกรรมนั้น เช่น ถ้าเด็กคนหนึ่งอยากเรียงบอลตามขนาด อีกคนอยากจับกลุ่มลูกบอลตามสี ก็ให้อิสระตามความสนใจของเขา”
ด้านคุณครูแจนแจน ได้กล่าวเพิ่มเติมเรื่องนี้ว่าคุณครูอาจเสริม Structured Play ระหว่างกิจกรรม Free Play ได้ เช่น ถ้าเด็กพับกระดาษคุณครูอาจจะแทรกเรื่องคำศัพท์เข้าไป ทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะด้านภาษาแบบไม่ยัดเยียดให้ท่องจำ
สนับสนุนอย่างไร ให้พ่อแม่เข้าใจ Playful Learning
คุณแม่นิดนก เล่าว่าตนเองเติบโตมาแบบมีกรอบบางอย่างที่เคยทำตอนเด็ก แล้วเกิดความรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเท่าเพื่อน ได้คะแนนน้อย เช่น ระบายสี ก็ไม่ได้ทำอีกเลยจนกระทั่งต้องมาระบายสีกับลูก ซึ่งทำโดยไม่มีคะแนน ไม่มีโจทย์ กลับทำออกมาได้ดี จนทำลายกำแพงความคิดที่มีมาตลอดว่าตัวเองไม่มีความสามารถด้านศิลปะออกไปได้
“เมื่อการเล่นไม่มีกรอบ ได้ทดลองทำ จะทำให้เรียนรู้ได้ไกลกว่า เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องให้อิสระกับเด็ก คอยเฝ้ามองเขาเล่น ชวนคุยชวนตั้งคำถาม ทำให้สิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องสนุกเขาจะรู้สึกสนุก และอาจจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เราคิดไว้ หรือแม้แต่วัยเราเองก็ยังต้องการการเล่น บางครั้งเราหยุดจากการทำงาน ออกไปเล่นกับเด็กๆ เราก็มีความสุขแล้ว เป็นการเล่นเพื่ออยู่รอด”
ด้านอาจารย์เอกได้กล่าวถึงการเล่นว่าจะมีวิธีการให้เขาเรียนรู้อย่างไรก็ได้ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุข
“การเล่นของมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ไม่ว่าจะเปิดเพลง พูดคุย มีวิธีการเรียนรู้มากมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือเขาต้องมีความสุขกับการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูจะต้องปรับวิธีการสอนเด็กให้เขารู้สึกสนุก เขาจะเห็นคุณค่าของความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น”
สำหรับคุณครูแจนแจน มีมุมมองเช่นเดียวกันว่าการเล่นเป็นเรื่องของคนทุกวัย วิธีการเล่นจะต้องเหมาะสมกับแต่ละคน และสังคมจำเป็นต้องให้ความสำคัญ อย่ามองว่าโตแล้วไม่ควรเล่น อยากให้ทุกคนลองได้เล่น หาวิธีเล่นที่เหมาะสมกับตัวเรา อย่าคิดว่าเด็กเท่านั้นถึงจะเล่นได้ เพราะการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตนั่นเอง