เด็กรุ่นใหม่อาจงุนงงสงสัยเมื่อได้ยินเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อนหากอยากดูการ์ตูนเรื่องโปรดจะต้องตื่นแต่เช้า หรือยอมนอนดึกเพื่อรอเวลารับชมรายการที่ตนเองชื่นชอบ เรื่องราวแสนธรรมดาเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องเกินจินตนาการสำหรับคนที่เติบโตมาในโลกยุคใหม่ ยุคที่เพียงมีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็สามารถรับชมได้ทุกรายการในโลก ใช่แต่เพียงรายการจากสื่อยักษ์ใหญ่เท่านั้น รายการอินดี้ รายการสอนเทคนิคการแต่งหน้าจากคนธรรมดา การเข้าไปดูเกมใหม่ๆ จากนักเล่นเกมผ่านเว็บไซต์สตรีม แม้แต่รายการที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย เพียงแค่ไลฟ์สดให้รับชมชีวิตประจำวันแสนธรรมดาก็ยังปราฏว่ามีผู้เข้าชมนับล้านๆ คน ไม่ว่ารสนิยมของเราจะเฉพาะทางแค่ไหน โลกอินเทอร์เน็ตจะพาเราไปพบกับรายการที่ถูกใจเราเสมอ หรือถ้ายังไม่ถูกใจเสียที เราก็สามารถ “สร้าง” รายการของตัวเองได้อย่างง่ายดายด้วยโทรศัพท์เครื่องเดียวกันนั้นเอง
นี่คือโลกที่เรียกว่ายุคแห่ง “ครีเอเตอร์” ที่คนธรรมดาสามารถสร้าง “คอนเทนต์” หรือเรื่องราวต่าง ๆ และ “แชร์” เรื่องราวเหล่านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีอยู่อย่างมากมาย และถ้าเกิดเรื่องราวเหล่านั้น “โดนใจ” ก็เตรียมตัวเป็นคนดังและสร้างรายได้จากความปังได้เลย นับเป็นเทรนด์ธุรกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจนักสร้างสรรค์” หรือ Creator Economy ที่กำลังกลายเป็นอนาคตใหม่ของธุรกิจและความบันเทิงในยุคปัจจุบัน
กว่าจะมาเป็นเศรษฐกิจนักสร้างสรรค์
เอริค เฟรย์แท็ก ผู้บริหารจาก Streamlabs เว็บสตรีมชื่อดังกล่าวว่า ในอดีตเราเคยมีรายการเพียงสิบรายการสำหรับผู้ชมนับพันล้านคน แต่ในยุคของเศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ เรามีรายการพันล้านรายการเพื่อผู้ชมพันล้านคน ผู้คนในอดีตเคยรับชมรายการโทรทัศน์ตามตารางเวลา แนวทางการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ ถูกควบคุมโดยบรรณาธิการ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่สร้างโดยสตูดิโอที่มีเพียงหยิบมือ แต่โลกของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีได้มอบอำนาจให้คนธรรมดาได้สร้างและเสพผลงานตามรสนิยมและความถนัดของพวกเขาเอง
ย้อนกลับไปเพียงสองทศวรรษ ในยุคนั้นคงไม่มีใครคิดว่าเราจะสามารถหาเลี้ยงชีพได้จากการนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือสร้างรายได้มหาศาลจากการทำวิดีโอตลกๆ ในสวนหลังบ้านของตัวเอง การที่ผู้คนส่วนใหญ่สนใจเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไร้สาระเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะในอดีตรายการตลกบันเทิงเบาสมองต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นรายการที่ได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว เพียงแต่การอยู่รอดของรายการเหล่านี้ในอดีตนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย เช่น ต้นทุนการผลิต การสนับสนุนของสปอนเซอร์รายใหญ่ การควบคุมทิศทางของรายการจากทีมงานจำนวนมาก หากมีสิ่งใดสะดุดเพียงนิดเดียว รายการเหล่านี้ก็ล้มไม่เป็นท่า
ทว่าในปัจจุบัน “ครีเอเตอร์” หรือผู้สร้างสรรค์งานเพียงหนึ่งคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้ต้นทุนการผลิตเพียงโทรศัพท์หนึ่งเครื่องก็สามารถสร้าง “คอนเทนต์” หรือรายการที่ได้รับความนิยมได้ นอกจากนี้แล้ว ปัจจัยการอยู่รอดของครีเอเตอร์ยังถูกลดทอนให้ง่ายดายขึ้น เช่น บางรายการได้รับการสนับสนุนจาก “แฟน” หรือผู้ชมที่ชื่นชอบรายการและ “บริจาค” หรือมอบทุนสนับสนุนคอนเทนต์ให้ครีเอเตอร์โดยตรง ไม่ต้องรอการสนับสนุนของสปอนเซอร์รายใหญ่อีกต่อไป ทิศทางของคอนเทนต์ถูกกำหนดโดยครีเอเตอร์คนเดียวหรือทีมงานกลุ่มเล็กๆ จึงมีความชัดเจนและเฉพาะทาง ดึงดูดผู้ที่สนใจในคอนเทนต์เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องปรับรูปแบบรายการเพื่อเอาใจสปอนเซอร์รายใหญ่ ทำให้ผู้สร้างและผู้ชมคอนเทนต์รู้สึกถึงความเป็นอิสระอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ผู้ทรงอิทธิพลหรือ Influencer ในยุคปัจจุบัน จึงไม่ใช่ดาราภาพยนตร์ชื่อเสียงโด่งดังอีกต่อไป แต่เป็นวัยรุ่นหรือคนอายุยี่สิบกว่าๆ ที่ทำวิดีโอตลกๆ และเผยแพร่ผ่าน Youtube นักเล่นเกมที่ "สตรีม" หรือถ่ายทอดสดการเล่นเกมของตัวเองผ่านเว็บไซต์ โดยผู้ชมสามารถพูดคุยกับนักเล่นเกมได้ตลอดทั้งคืน หรือเด็กวัยรุ่นที่ร้องเพลงลิปซิงค์กับคลิปวิดีโอโปรดบนแพลตฟอร์ม TikTok โดยผู้ชมอาจจะหัวเราะสนุกสนานไปกับเนื้อหาหรือจะลิปซิงค์แข่งกับเจ้าของคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มเดียวกันก็ยังได้ คอนเทนต์หรือเนื้อหาของรายการจึงไม่มีข้อจำกัดเหมือนในอดีต เพราะผู้ชมรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ตามผังรายการ แต่สามารถเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจได้โดยตรง และยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ “พิเศษ” กับผู้สร้างคอนเทนต์ได้ จึงทำให้มีทั้งความสนุกและความผูกพันกับรายการหรือผู้สร้างคอนเทนต์ดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น
เศรษฐกิจโฉมใหม่ ยุคสมัยแห่งครีเอเตอร์
หากในอดีต ดาราสร้างรายได้มหาศาลจากต้นทุนความเป็น “คนดัง” ได้ฉันใด ต้นทุนความดังของครีเอเตอร์ผู้สร้างคอนเทนต์ยอดนิยมก็นำมาสร้างรายได้มหาศาลได้ไม่ต่างกัน
ต้นทุนความดังของครีเอเตอร์ที่สามารถพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่มีที่มาจากหลายปัจจัย จากการสำรวจของเว็บไซต์ Statista พบว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากกว่า 6 พันล้านคน และเกือบ 4 พันล้านคนใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แถมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ยังเปิดให้ใช้งานได้ฟรี ทำให้ความสนใจของผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนจากสื่อบันเทิงดั้งเดิม อย่างโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ มาสู่การใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน คอนเทนต์ครีเอเตอร์จึงดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วไปมากยิ่งกว่าดาราดังในจอทีวีไปแล้ว
เมื่อความสนใจของสี่พันล้านคนทั่วโลกมารวมกันอยู่ที่ครีเอเตอร์ ก็ไม่แปลกที่เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากโฆษณาและสปอนเซอร์รายใหญ่จะไหลเข้ามายังธุรกิจนี้เช่นกัน ทั้งในรูปแบบของจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลาในการโฆษณาสินค้าจากครีเอเตอร์ การสนับสนุนสินค้าให้ครีเอเตอร์รีวิว หรือการทุ่มทุนเพื่อ “สร้าง” ครีเอเตอร์ของสินค้าตัวเองขึ้นมาแข่งขันกับคนอื่น ๆ ในวงการเดียวกัน และด้วยความที่ครีเอเตอร์กับผู้ชมมีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดนี่เอง ทำให้ครีเอเตอร์รู้ว่าจะเจาะกลุ่มเป้าหมายของตนเองได้อย่างไร และจะโฆษณาสินค้าอย่างไรให้ผู้ชมไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียดโฆษณามากจนเกินไป
ธุรกิจนักสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การ “เปลี่ยนตัวดารา” จากหน้าจอโทรทัศน์เป็นหน้าจอออนไลน์ แล้วรอเม็ดเงินสนับสนุนจากธุรกิจอื่นดังที่เคยเป็นมาเท่านั้น แต่การเป็นครีเอเตอร์ยังทำให้มีโอกาสต่อยอดคอนเทนต์ของตนไปในทิศทางอื่น ๆ ได้อย่างไม่จำกัด เช่น การต่อยอดธุรกิจจากคอนเทนต์ของตัวเองเพื่อเป็นผู้ประกอบการในสิ่งที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญได้ เช่น เอ็มมา แชมเบอร์เลน ยูทูปเบอร์ชื่อดังที่สร้างชื่อเสียงจากการทำวีล็อก (Vlog) เกี่ยวกับกาแฟเย็นที่เธอชื่นชอบ ทำให้มียอดผู้ติดตามเธอเป็นจำนวนมากจนกระทั่งเธอตัดสินใจสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาและได้รับการสนับสนุนจากผู้ติดตามช่องวีล็อกของเธออย่างต่อเนื่อง
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยการสร้าง UI (User Interface) ที่ใช้งานง่าย สามารถดูคอนเทนต์ กดเข้าไปซื้อสินค้าที่ครีเอเตอร์รีวิว หรือสนับสนุนผู้จัดทำได้อย่างง่ายดายเพียงทัชปุ่มเดียวบนหน้าจอเท่านั้น แต่ละแพลตฟอร์มมีความเหมาะสมกับเนื้อหาหลากหลายรูปแบบ เช่น Mixer และ Twitch เหมาะสำหรับสตรีมเมอร์หรือการถ่ายทอดสดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นเกม การร้องเพลง YouTube และ TikTok สำหรับผู้ต้องการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์หรือเรื่องราวสั้น ๆ Upwork และแพลตฟอร์มการเขียนอื่นๆ สำหรับนักเขียนอิสระ Tumblr และ WordPress เหมาะสำหรับบล็อกเกอร์ในการบอกเล่าแบ่งปันประสบการณ์ หรือหากครีเอเตอร์ถนัดการถ่ายภาพ Instagram และ Pinterest ก็เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในการเผยแพร่ผลงาน
นอกจากนี้แล้ว โซเชียลมีเดียยังมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่รองรับการเติบโตของผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น TikTok เริ่มมีฟีเจอร์ Duet หรือ Instagram เพิ่งเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า Collab เพื่อให้ครีเอเตอร์ชื่อดังหลาย ๆ คนที่สร้างคอนเทนต์แนวเดียวกันได้ร่วมสร้างคอนเทนต์ด้วยกันเพื่อขยายฐานของผู้ชมให้มากขึ้นไปอีก
ปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึงและส่งผลลบต่อแทบทุกธุรกิจคือการระบาดของ Covid-19 ทว่าการระบาดของโรคนี้กลับส่งผลในเชิงบวกสำหรับธุรกิจนักสร้างสรรค์ เพราะเมื่อโลกเปลี่ยนการเรียนหรือการทำงานเป็นรูปแบบการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้คนอาศัยอยู่ในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ผู้คนเริ่มค้นหาคอนเทนต์ในการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ เช่น การทำอาหาร การทำขนม การแต่งหน้า การฝึกฝนอาชีพที่สองเพื่อเพิ่มรายได้ขณะอยู่ที่บ้านมากขึ้น
ลองคิดดูอีกที หนทางครีเอเตอร์นี้อาจไม่ง่าย
“ยุคสมัยแห่ง Creator Economy” ฟังดูยิ่งใหญ่และเข้าถึงง่าย แถมด้วยเรื่องเล่าความสำเร็จจาก “รุ่นพี่” ครีเอเตอร์มากมายที่กลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืนจากการสร้างคอนเทนต์ที่โดนใจ จนดูเหมือนว่าใครก็เป็นครีเอเตอร์สร้างคอนเทนต์ให้โด่งดังได้ แต่เมื่อธุรกิจนักสร้างสรรค์คอนเทนต์กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เปรียบเสมือน “ยุคตื่นทอง” ในดินแดนอเมริกาที่ไม่ว่าใครก็พร้อมจะออกไปเผชิญโชค เราอาจจะเป็นคนหนึ่งที่รีบตีตั๋วเครื่องบินเดินทางไปแสวงหาโอกาสดินแดนแห่งใหม่ เพื่อพบว่าคนอีกนับล้านกำลังขุดทองอยู่ที่นี่พร้อมกับเครื่องมือและเงินทุนที่ครบครันมากกว่า หนทางนี้จึงอาจไม่ง่ายอย่างที่ฝัน
แต่ไม่ว่าหนทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือขวากหนาม ก็ยังมีคนอีกจำนวนมหาศาลที่พร้อมจะกระโจนเข้ามาในวงการนี้อย่างไม่ขาดสาย เพราะการเป็นครีเอเตอร์มีข้อดีคือการมีอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่มีเจ้านายคอยชี้นิ้วสั่ง ไม่มีการแทรกแซงจากนโยบายของบริษัท การประสบความสำเร็จมีเพียงแค่ความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ในคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอเท่านั้น ความอิสระของการเป็นครีเอเตอร์ไม่เพียงแค่สามารถทำงานได้ทุกช่วงเวลาของวันเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานได้จากทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบนรถไฟ รถบัส หรือแม้แต่ในห้องนอน ก็กลายเป็นสถานที่สรรสร้างคอนเทนต์คุณภาพได้ไม่ต่างจากในสตูดิโอ นอกจากนี้ การสร้างคอนเทนต์จากสิ่งที่รักและแปรเปลี่ยนเป็นรายได้ก็นับเป็นข้อดีที่ดึงดูดให้ผู้คนกลายเป็นครีเอเตอร์มากขึ้น บางคนรักการเล่นเกม รักการแต่งหน้า หลงใหลในกลิ่นกาแฟจนอดไม่ได้ที่จะแชร์กิจกรรมที่ตนเองหลงรักทางโลกออนไลน์ ยิ่งคอนเทนต์มีคุณภาพและเต็มไปด้วยความรักในสิ่งที่ทำมากเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าผู้ชมจะตอบรับกับคอนเทนต์ดังกล่าวมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การได้ทำงานอย่างอิสระในสิ่งที่ตนเองรักก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ขวากหนามแรกหากคิดจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็คือจำนวนผู้ติดตามในแพลตฟอร์ม ยอดวิว ยอดสนับสนุน ยอดบริจาค ทั้งหมดนี้มีผลต่อการเติบโตและการคงอยู่ของช่องที่เราสร้างขึ้นทั้งสิ้น หากมีฐานผู้ติดตามไม่มากเท่าที่ควร คอนเทนต์ที่เราสร้างขึ้นก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงกิจกรรมยามว่าง ยากจะต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้
การได้เม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนจากธุรกิจโฆษณา แง่หนึ่งคือการทำให้ครีเอเตอร์มีโอกาสทำคอนเทนต์ต่อไป แต่ชื่อของธุรกิจโฆษณาก็บอกชัดอยู่แล้วว่าต้องการโฆษณาเพื่อขายสินค้า ซึ่งครีเอเตอร์อาจต้องเปลี่ยนแนวเนื้อหาของช่องตามสปอนเซอร์ที่เข้ามา หากทำได้อย่างมีศิลปะก็ย่อมทำให้ช่องของครีเอเตอร์เติบโตมากขึ้น มีรายได้ในการทำคอนเทนต์มากขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชมรู้สึกว่าเป็นการ “ยัดเยียด” จนเกินไป การเข้ามาของโฆษณาจึงอาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้สูญเสียผู้ติดตามคอนเทนต์ได้
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในแง่หนึ่งนั้นช่วยในการเติบโตของครีเอเตอร์ แต่เมื่อผู้คนมหาศาลเริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ อัลกอริทึมของสื่อโซเชียลมีเดียหลักๆ เช่น Facebook หรือ Youtube อาจเกิดข้อจำกัดในการนำเสนอครีเอเตอร์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีจำนวนครีเอเตอร์ในแนวเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางฝั่งผู้ชมก็ค้นหาครีเอเตอร์ที่ตนเองชอบได้ยากขึ้น และที่สำคัญคือระบบการซื้อโฆษณาของสื่อโซเชียลมีเดีย หากใครทุนหนากว่าก็ย่อมจะยอมจ่ายเงินเพื่อให้คอนเทนต์ของตัวเองอยู่ในการค้นหาลำดับต้น ๆ ขณะที่ครีเอเตอร์หน้าใหม่ยากที่จะโด่งดังในแพลตฟอร์มที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ได้
อนาคตก้าวต่อไปของวงการครีเอเตอร์
ปัจจุบันมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์และผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจนักสร้างสรรค์มากกว่า 50 ล้านคนที่กำลังขับเคลื่อนเทรนด์ใหม่ของโลกนี้ โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดในธุรกิจนี้ถึง 104.2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2565 มีการประเมินกันว่าแพลตฟอร์มดั้งเดิมของครีเอเตอร์อย่าง Youtube จะสร้างรายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้จากครีเอเตอร์อิสระ ยังไม่นับรวมถึงแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่กำลังโด่งดังแซงหน้ารุ่นพี่อย่าง Instagram Reels, Snapchat และ TikTok ที่กำลังสร้างฐานผู้ชมรุ่นใหม่ ๆ มากมายมหาศาล หรือแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ที่กำลังสร้างโลกเสมือนใบใหม่อย่าง Meta Platforms โดยเสนอเงินจำนวนมหาศาลให้นักดนตรีและคนดังเพื่อจัดเซสชันการแสดงสดเสมือนจริงบนแพลตฟอร์ม Meta ซึ่งนี่อาจเป็นธุรกิจที่จะเกิดขึ้นมาในวงการครีเอเตอร์ที่ล้ำขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
จากการสำรวจของ First Choice เว็บไซต์ชื่อดังพบว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์กลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าดึงดูดที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดยนับตั้งแต่ปี 2560 พบว่าเด็ก 1 ใน 3 คนจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน มีความฝันคือการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ตามความถนัดของตนเอง ขณะที่การวิจัยจาก Lego Foundation พบว่า 58% ของเด็กที่ตอบแบบสำรวจเคยเรียนรู้วิธีการใช้งานโปรแกรมสำหรับสร้างคอนเทนต์ และสามารถสร้างเนื้อหาดิจิทัลได้ด้วยตัวเองผ่านโปรแกรมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนเงินที่อยู่ในเศรษฐกิจของนักสร้างสรรค์คอนเทนต์จะดูมหาศาล และเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็พัฒนามากขึ้นจนดูเหมือนว่าการทำคอนเทนต์ไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่มีความหวังในการต่อยอดคอนเทนต์ของตนในเชิงธุรกิจมากขึ้น แต่หลี่จิน นักวิจัยจาก Harvard Business Review ได้แสดงข้อมูลจำแนกรายได้ของครีเอเตอร์ที่แท้จริงว่ามีเพียงผู้สร้าง 1% ถึง 2% แรกเท่านั้นที่ทำรายได้เป็นจำนวนมากในแพลตฟอร์มหลัก ๆ อย่าง Spotify และ Youtube ขณะที่ครีเอเตอร์รุ่นกลางจนถึงหน้าใหม่หลายล้านคนยังไม่สามารถทำเงินในระดับค่าแรงขั้นต่ำได้ หลี่จินเสนอว่าอนาคตของวงการครีเอเตอร์ขั้นต่อไปจะต้องมุ่งเน้นไปที่การมีกฎหมายควบคุมการผูกขาดธุรกิจนี้ให้มากขึ้นเพื่อกระจายเนื้อหาและการมองเห็นที่เหมาะสมเท่าเทียมกันระหว่างครีเอเตอร์ที่ยึดตลาดนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่นกับครีเอเตอร์หน้าใหม่
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Creator Economy ได้กลายมาเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจและความบันเทิงในยุคปัจจุบัน ขณะที่ธุรกิจแบบเก่าค่อย ๆ ทยอยหายไป ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และปัจจัยใหม่อย่างโรค Covid-19 ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการอาศัยอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งการทำงานและการพักผ่อนมากขึ้น มนุษย์ก็จะสร้างเทคโนโลยี แอปพลิเคชั่น หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อความอำนวยสะดวกในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้วงการครีเอเตอร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและดูเป็นอนาคตที่สดใสและน่าจับตามองของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
รายการอ้างอิง
Alessandro Bogliari. (2021). Four Reasons Why the Creator Economy Is Booming. Retrieved march 25, 2022, from https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2021/11/18/four-reasons-why-the-creator-economy-is-booming/?sh=25d5adad53de
David Hansson. (2021). What Is the Creator Economy? Pros & Cons. Retrieved march 25, 2022, from https://gigapay.co/blog/what-is-the-creator-economy
Katie Jansen. (2021). Why The Creator Economy Is Worth Watching In 2022. Retrieved march 25, 2022, from https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2021/12/29/why-the-creator-economy-is-worth-watching-in-2022/?sh=746e0b05583c
Naimeesha Murthy. (2021). The Continuous Growth And Future Of The Creator Economy. Retrieved march 25, 2022, from https://www.forbes.com/sites/forbesbusinessdevelopmentcouncil/2021/08/30/the-continuous-growth-and-future-of-the-creator-economy/?sh=202e50837c9c
Werner Geyser. (2021). What is the “Creator Economy”?. Retrieved march 25, 2022, from https://influencermarketinghub.com/creator-economy