โปรดรับยารักษาโรคขาดธรรมชาติที่ ‘บ้านป่า เนเจอร์สคูล’
11 เมษายน 2565
196
“สำหรับผมโรคขาดธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่คนพยายามหาศัพท์มานิยามบางอาการกัน ธรรมชาติจริงๆ คือตั้งแต่รอบบ้าน ขาดธรรมชาติไม่ได้แปลว่าต้องไปเขาใหญ่ ถามว่าอยู่แต่บ้านขาดธรรมชาติไหม ถ้าคุณไม่สนใจดอกเข็มที่คุณปลูกไว้ ไม่สนใจแมลงที่ซ่อนตัวอยู่ในต้นไม้มากมาย ความไม่สนใจนั้นจะทำให้คุณขาด และถ้าถามต่อว่า ขาดแล้วต้องมาหาผม ไปเดินป่ากับผมไหม ไม่จำเป็น”
แม้ ‘ครูเกรียง’ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ครูใหญ่จากโรงเรียนบ้านป่า เนเจอร์ สคูล (@Banpa Nature School) โรงเรียนที่สอนวิชาเกี่ยวกับธรรมชาติให้กับเด็กและครอบครัว จะบอกกับพวกเราเช่นนั้น แต่ยอดจองหลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้เต็มอย่างรวดเร็วในเวลาระดับวินาที
เพราะกลัวว่าเด็กๆ จะเติบโตมากับโรคขาดธรรมชาติหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้ และเอาเข้าจริงแล้วโรคขาดธรรมชาติมีจริงหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ มีการเรียนรู้เกิดขึ้นที่นี่มากมาย และไม่ใช่การเรียนรู้แบบจำชื่อต้นไม้ หรือชื่อแมลง
ลูกศิษย์บ้านป่า เนเจอร์สคูล ออกจากป่าพร้อมกับการจดจำว่าสิ่งที่เขาสัมผัสได้ในป่านั้นเป็นเพื่อน เป็นมิตร เป็นพี่น้องที่ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน
ไม่เพียงแต่เฉพาะเด็กๆ เท่านั้นที่มาเรียนรู้ที่นี่ คุณพ่อคุณแม่ที่มาเฝ้าลูกก็ได้ซึมซับเอาวิธีคิด วิธีมองโลกของครูเกรียง ครูที่มีอัตราเกิดขึ้นและดับลงของความโกรธเป็นหน่วยวินาทีเช่นเดียวกับยอดจอง
ธรรมชาติให้อะไรกับครูเกรียง และครูเกรียงจะถ่ายทอดการเรียนรู้อะไรให้กับเด็กๆ และครอบครัว คำตอบอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
โปรดรับยารักษาโรคขาดธรรมชาติได้ในบรรทัดถัดจากนี้ไป
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูเกรียงสนใจเรื่องธรรมชาติ
จริงๆ มันเคลื่อนไปตามจังหวะของชีวิต ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่เคยหลุดออกจากชีวิตผม ไม่ว่าจะไปเป็นพนักงานบริษัท ไปเป็นนักเขียน สุดท้ายมาเป็นครู ทุกอย่างก็ยังเกาะอยู่กับเรื่องนี้
ผมเคยทำงานเป็นพนักงานในโรงงานอยู่ในบริษัท แต่รู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันมีเวลาน้อย กว่าจะได้เดินทางก็ต้องรอเสาร์อาทิตย์ ผมเลยพยายามดิ้นรนเอาตัวเองไปอยู่ในอาชีพที่มีโอกาสเดินทางได้มากขึ้น ตอนนั้นนิตยสารถ่ายภาพเปิดให้คนไปทดสอบกล้อง ผมก็สมัครไป เขาไม่ได้จำกัดว่าจะต้องถ่ายอะไร คนอื่นเลือกถ่ายคน ถ่ายแฟชัน ถ่ายเมือง แต่ผมถ่ายเรื่องเดียวคือเรื่องธรรมชาติ แล้วก็ทำอย่างนั้นเรื่อยมา
ผมว่ามันเป็นบรรยากาศในธรรมชาตินะครับที่ทำให้ผมชอบ สักปี 28 หรือ 29 ผมก็เริ่มเข้าป่าด้วยการอยากเป็นผู้พิชิตเหมือนคนอื่นๆ ตอนนั้นป่าเริ่มเปิดให้คนกลุ่มเล็กๆ ลุยๆ เข้าไปเดินได้ ผมก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ไปเขาสูงที่สุด ไปน้ำตกที่ใหญ่ที่สุด เดิน 3 วัน 3 คืนแบบไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ใจมีแต่อยากไป อยากเป็นผู้พิชิต
แต่ทำอย่างนั้นไปจนถึงจุดหนึ่งที่ผมคิดว่า เฮ้ย ทำไมเราละเลยเรื่องระหว่างทางไปเยอะมาก เราไปเดินป่าเนี่ย เราไม่รู้อะไรเลย อย่างผีเสื้อ คนทั่วไปจะต้องคิดว่าผีเสื้อมันต้องอยู่ไกลเราใช่ไหม แต่เวลาผมถ่ายรูปผีเสื้อ คนจะชอบถามว่าทำไมถ่ายได้ใกล้จัง จริงๆ ถ้ารู้จักผีเสื้อ จะรู้ว่ามันอยู่ใกล้มาก พอเรารู้จัก เรียนรู้ ค้นคว้าไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งชอบ ยิ่งสนใจเรื่องราวของธรรมชาติ ยิ่งสนใจความเป็นผู้พิชิตที่เคยเป็นก็ลดลงไป ไม่รู้เหมือนกันว่าชอบตั้งแต่เมื่อไร แต่รู้อีกทีก็ถอนตัวไม่ขึ้น ให้ไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ต้องเข้าป่าเลย คงไม่ได้ (หัวเราะ)
ครูเกรียงบอกว่าไม่ได้เรียนมาทางนี้ ครูเกรียงเรียนรู้เรื่องธรรมชาติจากที่ไหน แล้วมาเป็นครูสอนธรรมชาติได้อย่างไร
บังเอิญมีผีเสื้อมาเกาะมือ (ยิ้ม) ผมถ่ายรูปผีเสื้อตัวนั้น แล้วอยากรู้จักชื่อ ก็เริ่มไปค้นคว้า ย้อนไปตอนนั้นไม่มีข้อมูลเลย ตำราผีเสื้อไทยไม่มีเลย พอเราหาข้อมูลจากหนังสือไม่ได้ หาไม่ได้ก็ต้องไปหาตัวบุคคล ไปหาผู้เชี่ยวชาญก็ไปพบกับอาจารย์ของผมคนหนึ่ง คืออาจารย์จารุจินต์ (จารุจินต์ นภีตะภัฏ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ)
ผมพูดได้ว่าผมเจอครูที่ดีที่เขาเปิดความรู้ที่เขามีให้ทุกอย่าง ผมไม่ได้เรียนมาด้านนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องธรรมชาติหรือชีววิทยาเลย แต่อาจารย์ของผมเขาเปิดใจมาก ตอนนั้นอาจารย์เป็นผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อาจารย์ถามว่าอยากรู้เรื่องนี้ใช่ไหม เดี๋ยวส่งไปเรียนกับอาจารย์อีกคนหนึ่ง แล้วผมก็ถูกส่งไปเรียนรู้และไปฝึกฝนกับอาจารย์ที่ม.เกษตรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง เป็นหลักสูตรเข้มข้นแบบรวบรัด คนอื่นเขาเรียนกัน 3-4 ปี ผมเรียนอาทิตย์เดียว
ผมก็เป็นหนึ่งคนที่อาจารย์ผลักดันให้สื่อสาร ให้พูด ส่งต่อคุณค่าที่ได้รับให้กับคนอื่นๆ อาจารย์ไม่อยู่แล้วผมก็ต้องส่งต่อข้อมูล ผมถือว่าเป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ของผม
แล้วตอนนี้ครูเกรียงทำอะไรอยู่บ้าง
ทำอะไรดี ทำหลายอย่างมาก (หัวเราะ) ก่อนหน้านี้เป็นนักเขียน เขียนคู่มือศึกษาธรรมชาติ (คู่มือผีเสื้อ, คู่มือแมลง สำนักพิมพ์สารคดี) และเคยเขียนเล่าเรื่องธรรมชาติให้เด็กๆ อ่านในหนังสือพิมพ์ เขียนอยู่ปีหนึ่งมีสำนักพิมพ์มาขอรวมเล่ม เลยเป็นที่มาของคู่มือผู้ปกครองพาเด็กไปเรียนรู้ธรรมชาติ เช่น ไปแก่งกระจานจะเรียนรู้เรื่องอะไร ไปเขาใหญ่ไปดูอะไรได้บ้าง ตอนนั้นเราทำก็เพื่อหารายได้เป็นค่าฟิล์มกับค่าเดินทาง
ถามว่ามีกำไรจากการเขียนหนังสือไหม… แทบจะไม่มีเลย แต่มาถึงตอนนี้ ผมมองว่าได้กำไรมหาศาลเลยจากที่ลงทุนไปตอนนั้น เพราะทุกอย่างที่ผมสอนเด็กในวันนี้มาจากประสบการณ์ตรงนั้นเกือบทั้งหมด
ส่วนเรื่องการสอน ตอนนี้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย แล้วก็ทำหลักสูตรธรรมชาติตั้งแต่อนุบาลไปถึงมัธยมต้น คือสมัยก่อนตอนที่โรงเรียน (บ้านป่า เนเจอร์สคูล) ยังอยู่ที่เก่าที่อ.บ้านนา มีนักเรียนโฮมสคูลกลุ่มหนึ่งพยายามหาพื้นที่เรียนรู้นอกเมือง แบบใกล้ป่านิดหนึ่งแต่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ผมเริ่มสอนกลุ่มนั้น แล้วก็เริ่มสร้างบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่งเพื่อให้เป็นที่เรียนรู้ของเด็กๆ เป็นบ้านที่ทำด้วยตัวเองด้วยนะครับ ไม่ได้มีช่าง ผมไม่มีเงินเยอะที่จะสร้าง ค่อยๆ ทำไป ใช้เวลาปีหนึ่งถึงจะเสร็จ พอเสร็จทางด่วนก็ประกาศว่าจะขอเวนคืนพื้นที่ตรงนั้น
จริงๆ ที่บ้านนา ผมไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่ ตอนนั้นเปิดหลักสูตรเล็กๆ รับเด็กทีละ 14-15 คน แต่พอรวมพ่อแม่ก็กลายเป็น 40 คน ก็ไม่ได้คิดว่าคนจะสนใจเยอะ แต่มากันเยอะมาก ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจนะว่าทำไมคนเยอะจัง เพราะเราไม่ค่อยได้ประกาศ มีเพียงคุณพ่อคุณแม่บอกต่อๆ กันมา ทุกวันนี้เด็กนักเรียนก็มาจากทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต มหาสารคาม อำนาจเจริญ มาจากทั่วประเทศเลยก็ว่าได้
ได้ยินมาจากหลายครอบครัวว่าอัตราการลงทะเบียนของคอร์สครูเกรียงวัดกันเป็นวินาที ตอนนี้อยู่ที่กี่วินาทีแล้ว
ในไลน์ตอนนี้ก็ประมาณ 1-2 วินาที เมื่อก่อนผมจะโดนโวยมากเลยครับ คือผมอยากโพสต์ตอนไหนผมก็โพสต์ ผมตื่นตอนตีห้า ผมก็โพสต์ตอนตีห้า คนตื่นมา 6 โมงเช้า ก็อ้าว เต็มแล้วเหรอ เลยมีคนมาถามผมว่าผมตื่นกี่โมง เขาจะได้ตื่นมาจอง ตอนหลังผมเลยต้องเปลี่ยนระบบเป็นบอกว่าจะเปิดรับเวลาเที่ยง แล้วก็บอกล่วงหน้าสักอาทิตย์หนึ่ง แต่แม่ๆ ก็บอกอีกว่า ไม่เป็นอันทำงาน ไม่เป็นอันกินข้าว ขับรถอยู่ก็ต้องจอดเพื่อจอง
จริงๆ ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะผมรับคนไม่เยอะครับ แค่ 16 คน ผมเอาที่เวลาเดินป่าแล้วยังมองเห็นหางแถว เด็กยังอยู่ในสายตา ผมสบตากับเด็กได้ ไม่ใช่เด็กหลุดไปอยู่ข้างหลังแล้วมองไม่เห็น
ครูเกรียงคิดว่าพ่อแม่พาเด็กๆ มาหาครูเกรียงด้วยเหตุผลอะไร
จริงๆ ครูสอนธรรมชาติไม่ได้มีผมคนเดียว มีอีกหลายคน แต่ถามว่าเยอะไหมในประเทศไทย ก็คิดว่าน่าจะมีประมาณสิบคน ทุกคนก็มีเอกลักษณ์ มีสไตล์ มีวิถีทางของตัวเอง บางคนชอบเกมก็จะมีเกม มีสันทนาการ มีละลายพฤติกรรมก่อน ซึ่งผมไม่มี พาเดินป่าดิบๆ เลย แล้วก็สอนแบบดิบๆ ไปตามสภาพ เหนื่อยก็พัก มีทำผิดบ้าง ทำถูกบ้าง มีพ่อแม่พูดถึงทางลบบ้าง เป็นประจำ (หัวเราะ) คือถ้าใครไม่ชอบก็น่าจะเลือกไปกับคนอื่น แต่ผมว่าปริมาณความต้องการมันเยอะขึ้นเยอะ
เวลาเดินป่า ผมไม่ได้มีเป้าให้ต้องไปให้ถึงตรงนั้น ในเวลาเท่านั้น เราเดินไปเรื่อยๆ คุยไปเรื่อยๆ เด็กชอบเรื่องไหนมีคำถามเรื่องไหนเยอะ เราก็จะอยู่ตรงนั้นนาน ผมตอบคำถามทุกคำถามที่เด็กตอบ ถ้าตอบไม่ได้ก็จะขอติดไว้ก่อน ดังนั้นนอกจากเรื่องธรรมชาติทั่วไป ก็จะต้องรู้เรื่องพวกซูเปอร์ฮีโร่ว่าแต่ละคนทำอะไรได้บ้าง ธานอสทำอะไรได้บ้าง เรื่องไดโนเสาร์ก็ด้วย เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้เลย ราพันเซลเป็นยังไง ก็ต้องพอคุยกับเขาได้ พอคุยได้แล้วค่อยดึงกลับมาเรื่องเรา ดังนั้นจะเป็นครูสอนธรรมชาติเด็ก มันไม่ได้แค่รู้เรื่องธรรมชาติ ต้องรู้จักฮีโร่ ต้องรู้จักเจ้าหญิง ต้องอ่านการ์ตูนด้วยนะครับ (หัวเราะ)
หลักสูตรธรรมชาติของบ้านป่า เนเจอร์สคูลคืออะไร
ผมเอาเรื่องสิ่งมีชีวิต 5 อาณาจักร ( (1) แบคทีเรีย (2) โปรโตซัว (3) เห็ดรา (4) พืช (5) สัตว์) มาเป็นแกนกลางในการสอน คือทุกอย่างมันอยู่ใน 5 อาณาจักรนี้ทั้งหมด มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน และทุกอาณาจักร ไม่ได้อยู่แบบตัวใครตัวมัน ก็จะสอนให้เห็นความเชื่อมโยงของทั้งหมด เห็นว่าไอ้นู่นเกี่ยวกับไอ้นี่ เจ้าตัวนี้อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ค่อยๆ เกี่ยวกันไปทีละหน่อย สุดท้ายเห็นภาพรวมทั้งหมดในป่าว่าทุกสิ่งเกี่ยวข้องกัน
เด็กต้องรู้ว่าน้ำที่เราเปิดก๊อกจากกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดอะไรมา มีต้นกำเนิดมาจาก นู่น ยอดดอยอินทนนท์ ผ่านแม่น้ำปิง ลงมาถึงเจ้าพระยา แล้วไปคลองประปา สุดท้ายมาถึงบ้านเราได้ยังไง กับเด็กเล็กๆ ผมก็จะพูดสนุกๆ ว่า เวลาเปิดก๊อกน้ำเนี่ย น้ำมาจากอินทนนท์เลยนะ หรือรู้มั้ยน้ำที่เรากินอยู่เนี่ยคือ ‘ฉี่ไดโนเสาร์’ เพราะน้ำในโลกนี้มันไม่ได้ไปไหน มันก็วนอยู่ในนี้ล่ะครับ ฉี่ไดโนเสาร์เมื่อหลายล้านปีก่อน มันกลายเป็นไอ เกิดน้ำ เกิดฝนตก วนอยู่อย่างนี้ ผมก็จะเริ่มต้นสอนเด็กเล็กๆ ว่า รู้ไหมว่าเรากินฉี่ไดโนเสาร์อยู่นะ มันเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ และจริงๆ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของเด็กด้วย เด็กกับไดโนเสาร์เขารู้จักกันดีอยู่แล้ว แม้ว่ามันไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ก็ตาม แต่เด็กรู้จักดีมากเลยครับ โดยเฉพาะเด็กเล็ก
เป้าสุดท้ายของผม คือต้องทำให้เด็กเห็นว่าทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน เห็นว่าตัวเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราเป็นธรรมชาติ และเราเป็นพี่น้องกันกับสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นเมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน นั่นคือบรรพบุรุษที่เรามีร่วมกัน วันนี้เขาเป็นต้นไม้ วันนี้เป็นสัตว์ เป็นช้าง เป็นเสือ ทุกสิ่งเหล่านี้มาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าผมพูดให้มันสวยๆ มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่า “เราเป็นพี่น้องกันทั้งโลกนี้”
มีคำถามไหนที่เด็กถามครูเกรียง แล้วครูรู้สึกว่าตอบยากบ้าง
ไม่มียากนะ มีแต่ตอบหรือไม่ตอบ (หัวเราะ) ตอบไม่ได้ ก็บอกตรงๆ ว่า ‘ไม่รู้’ ขอไปดูก่อน แล้วก็ชวนคุยเรื่องอื่นไป เด็กก็ลืมไปแล้วว่าถามอะไร แต่ว่าเราไม่ลืม ครูก็ต้องมีสัจจะพอสมควรว่าต้องกลับไปค้นมาตอบเด็ก เช่น เรื่องไดโนเสาร์ ถ้าอาร์คีออปเทอริกซ์ (archaeopteryx) ตามตำราว่ามันเป็นต้นกำเนิดของนก มันเริ่มมีขนตั้งแต่เป็นตัวอ่อน เด็กถามว่าก่อนหน้านี้มันต้องมีตัวอื่นมาก่อนสิ ไดโนเสาร์ตัวนี้มันมีขนขึ้นมาตัวเดียวได้ยังไง มันต้องมีตัวที่เกิดก่อนหน้านี้ แล้วตัวก่อนหน้านี้คืออะไร ผมก็ต้องไปหามาว่าคือตัวอะไร
คำถามเด็กมีเยอะมากครับ บางเรื่องผมไม่ค่อยรู้ลึกมากก็พอตอบได้ บางคำถามต้องขอกลับไปค้นก่อน แต่บางคำถาม เขาถามเพียงเพื่อให้เราสนใจ เขา ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่อยากให้เราคุยกับเขา เราก็ต้องคุยกับเขา
พอเด็กเข้าใจว่า ‘เราทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน’ แล้วจะนำพาชีวิตเขาไปสู่อะไร
จะนำไปสู่การที่เด็กทุกคนมองเห็นธรรมชาติไม่ใช่ผู้อื่น แต่เป็นพวกเดียวกันกับเรา ไม่ใช่พวกเธอ ไม่ใช่พวกฉัน ไม่ใช่คนอื่น ดังนั้นไม่ใช่เราจะทำอะไรก็ได้ เราจะตัดต้นไม้ได้ หรือจะไปเหยียบสัตว์ จับสัตว์จับแมลงมาทำร้ายนั้นไม่ได้
เมื่อก่อนมันจะมีคนพูดว่า เราจะอนุรักษ์ต้นไม้ สัตว์ เสือ ช้าง กระทิงไว้ทำไม เอาไว้ให้ลูกหลานดูเหรอ ผมว่ามันไม่ใช่ มันไม่จำเป็นต้องให้ลูกหลานดู แต่ลูกหลานจะรู้ว่า เราเป็นพวกเดียวกัน เราจะรักพวกเดียวกันไหม เราจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเพื่อนที่เป็นต้นไม้ ไม่มีเพื่อนที่เป็นเสือ ไม่มีเพื่อนที่เป็นยุง เราอยู่ไม่ได้นะ
ด้วยตรรกะ ด้วยเหตุผล ถ้าเด็กเขาโตขึ้นจากประสบการณ์ที่เขาได้มาเรียนรู้แบบนี้ วันหนึ่งเขาจะเชื่อมโยงได้เอง แล้วเขาจะมองเห็นว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนั้น เราไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ เหมือนต้นไม้ในป่ามันไม่สามารถอยู่ตามลำพังเพียงต้นเดียว ต้องมีเพื่อน ทุกคนต้องมีเพื่อน การพึ่งพาอาศัยในธรรมชาติ คือการใช้ศักยภาพของแต่ละสิ่งมาเชื่อมโยงกัน
มันก็มีเหมือนกันที่คนถามว่า เด็กเล็กๆ ก็ยังชอบธรรมชาติอยู่ แต่พอขึ้นมัธยม เขาห่างออกจากธรรมชาติ แบบนั้นการมาเรียนธรรมชาติยังจำเป็นอยู่ไหม สำหรับผม ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมพาเด็กๆ มีประสบการณ์กับธรรมชาติในวันนี้ มันจะติดอยู่ในความทรงจำของเขา เมื่อเขาโตขึ้นไปทำอาชีพการงานอะไรก็แล้วแต่ เขาจะจดจำได้ว่า ป่าและธรรมชาติเป็นเพื่อนของเขา เขาก็จะตัดสินใจอะไรโดยไม่ทำร้ายเพื่อนของเขา หรือมีผลกระทบกับเพื่อนของเขาให้น้อยที่สุด มันจะต่างไปจากคนในปัจจุบันที่ไม่ได้มีประสบการณ์จากเรื่องธรรมชาติ คนที่โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แล้วมีอาชีพหน้าที่การงานอยู่ในสังคม แล้วเวลามองเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาไม่ได้สนใจว่าธรรมชาติเป็นเพื่อน เขาก็จะมองว่าธรรมชาติเป็นอื่น มองเป็นตัวเงิน ต้องตีค่าเป็นตัวเงินแล้วซื้อขาย
เป้าหมายการสอนของผมไม่ได้เป็นเรื่องความสนุกหรือไม่สนุก ผมไม่ได้คิดว่าหน้าที่ของผมคือการทำให้เด็กสนุก แต่ให้พื้นที่เด็กสร้างความสนุกของตัวเองในธรรมชาติ ปล่อยให้เขาไปสนุกเอง ผมจะไม่ได้มีการจัดกิจกรรม สันทนาการ พาเล่นเกม ผมไม่มีเลย แต่ผมอยากให้เขาได้เจอพื้นที่ที่เขาจะได้สนุกเอง
อย่างเวลาเข้าป่าไปเจอน้ำตก เขาก็จะเล่นน้ำ แล้วก็ชอบสร้างเขื่อน จินตนาการว่าทำยังไงถึงจะกั้นน้ำได้ พอกั้นแล้วสูงขึ้นไหม… สูงขึ้น แค่นี้พอหรือยัง หรือถ้าเปิดช่องนี้น้ำมันจะไหลไปทางนี้ มันเป็นจินตนาการของเขา ดินเนี่ยบางคนก็ขุดดินกันมันมาก ขุดกันแบบหลุมขนาดนี้นะครับ (ทำมือกว้าง) เจอไม้ท่อนหนึ่งก็ขุดไปพยายามจะให้ทะลุไปอีกด้านหนึ่ง บางคนเล่นโคลนกันในที่หนาวๆ ใส่เสื้อกันหนาวลงไปในโคลนทั้งตัว ถ้าพ่อแม่ปล่อย ผมก็ปล่อยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่มากับผมบ่อยๆ เขาก็จะไม่ค่อยห้าม จะมีเด็กบางรุ่นที่ต้องกินยาโรคสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะกำชับว่าต้องกินยานะ บางทีผมก็บอกว่า อ้าว ลืม พ่อแม่เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวให้ธรรมชาติบำบัด (หัวเราะ)
ทุกวันนี้เรากำลังเป็นโรคขาดธรรมชาติไหม
ต้องเริ่มจากเข้าใจคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ก่อน ธรรมชาติคือตั้งแต่รอบบ้านนะ ธรรมชาติไม่ได้ต้องไปเข้าใจที่เขาใหญ่ หรือต้องไปป่า และไม่ต้องมาหาผมเพื่อไปเดินป่ากัน มันไม่จำเป็นไง ธรรมชาติอยู่รอบตัว ถ้าไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่สนใจดอกเข็มที่คุณปลูกไว้ตรงสวนหน้าบ้าน ไม่สนใจต้นไม้ซึ่งอาจมีแมลงมาซ่อนอยู่มากมาย นั่นคือคุณไม่เรียนรู้จักธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
เหมือนกับถ้าเราไม่รู้จักงูเลยสักตัว พอเราเจองูก็จะตี จะฆ่า ทั้งๆ ที่งูมีพิษมันมีจำนวนน้อยมาก ทำยังไงเราถึงจะรู้ได้ล่ะว่าตัวนี้ควรตีหรือไม่ควรตี เพราะงูมีหน้าที่ของมัน มันช่วยกินแมงมุมบ้าง ช่วยกินแมลงบ้าง มันมีระบบนิเวศอยู่รอบตัวเรา แต่ความไม่เข้าใจธรรมชาติรอบตัวทำให้เราไปแทรกแซง จัดการตามที่เรามองเห็นว่าควรจัดการ อันนั้นสำหรับผมคือโรคขาดธรรมชาติ คือไม่เห็นความสำคัญของธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้า
ที่โรงเรียนของผม เราไม่มีของเล่น ผมตั้งใจไม่มีของเล่น เด็กมาที่นี่ตั้งแต่ 4-5 ขวบแบบไม่มีของเล่น แต่เขาจะหาของเล่นเอง แล้วใช้จินตนาการของเขาสมมติขึ้นมาเองจากอุปกรณ์ที่เป็นธรรมชาติ มีไม้หนึ่งแท่ง จะเป็นอะไรก็ได้สารพัด เขาหาของเล่นได้จากธรรมชาติ เล่นได้ทั้งวัน เล่นวนไป อยู่ๆ เอาใบสนมากองรวมกันทำที่นอน ทำเป็นอะไรของเขา นี่คือจุดแรกที่เด็กกับธรรมชาติคอนเนกกัน ถ้าเขาคอนเนกได้ ก็ไม่ขาดหรอกธรรมชาติ
คำว่าครูของ ‘ครูเกรียง’ มีความหมายว่าอย่างไร
คำว่าครูของผม คือการเปิดประตูให้เด็กเห็นว่า โลกนี้มันมีประตูหลายบานที่คุณจะออกไปเจอเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมทำหน้าที่เปิดประตูนะ ชวนเข้าไปแล้วก็เปิดประตูแล้วก็ไปดูว่ามันมีอะไรบ้าง ถามว่าสอนไหม จริงๆ ถ้าพูดแบบภายนอกก็คือสอนนั่นแหละ แต่ในใจผมคิดว่าหน้าที่ของผมคือ ‘เปิดโลก’ ให้เด็กเห็น ให้เขาเห็นเยอะที่สุดแล้วสุดท้ายเขาจะเลือกอะไร มันก็เป็นชีวิตของเขา
มีพ่อแม่บางคนถามผมเหมือนกัน ไม่ได้อยากให้ลูกเป็นนักชีววิทยา ไม่ได้อยากให้เป็นผู้พิทักษ์ป่าหรือทำงานอุทยาน จะให้มาอยู่เขาใหญ่ทำไมตั้งอาทิตย์หนึ่ง เปล่าเลย ผมไม่ได้สอนให้เด็กมีอาชีพที่เกี่ยวกับป่า ผมเปิดประตูให้เห็นว่าโลกที่มันอยู่ข้างนอกนี่มันอยู่กันยังไง สิ่งมีชีวิตที่เรามองเห็นทั่วๆ ไปมันอยู่กันยังไง
เมื่อประตูธรรมชาติของเขาเปิด พอกลับไปบ้านเขาก็จะเริ่มมองเห็นสิ่งที่มันอยู่ในบ้านมากขึ้น เห็นแมงมุม เห็นมดที่อยู่รอบบ้านไป เห็นกิ้งก่าที่อยู่ในต้นไม้ข้างบ้าน เขาก็จะสังเกตไปทั่ว ถ้าเด็กเขาสนใจเขาก็จะเริ่มมองหา ถ้ายิ่งหาก็ยิ่งเจอครับ มันก็จะเจอนู่นนี่นั่นเยอะขึ้น เพียงแต่ว่าผู้ใหญ่หรือพ่อแม่จะสนใจหยุดดูกับเขาไหม เพราะประตูของเด็กเปิดแล้ว เขาก็อยากให้ประตูของพ่อแม่เปิดด้วย
ทุกอย่างบนโลกนี้มันไม่ได้เรียนรู้โดยการอ่าน การจำ การมองเห็นเพียงอย่างเดียว เด็กบางคนไม่ได้เกิดมาเพื่ออ่านแล้วจำ กระบวนการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคน ว้าว เมื่อได้เอาตัวมาอยู่ในธรรมชาติ ได้สัมผัส ได้เห็น ได้เล่นด้วยตัวเอง ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมชอบเข้าป่า ชอบธรรมชาติ แล้วพอได้พาเด็กๆ เข้าป่า เห็นเด็ก ‘ว้าว’ กับเรื่องนู้นเรื่องนี้ ตื่นเต้นว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ๆ เหรอ แค่นี้ผมก็มีความสุข นั่นคือความเป็นครูสำหรับผม
แล้วธรรมชาติสอนอะไรครูเกรียงบ้าง
เยอะเลยครับ (ยิ้ม) อันแรกผมมองว่าธรรมชาติช่วยให้อ่อนโยน ทำให้เราใจเย็นขึ้น นิ่งขึ้น แล้วมองเห็น ถ้าพูดแบบเท่ๆ เหมือนเห็นสัจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันคือกระบวนการของชีวิต ผมบอกเด็กตลอด เวลาเด็กถามว่าต้นไม้ใหญ่ล้มยังไง ผมก็จะบอกว่า มันก็ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนชีวิตเรานี่แหละ เกิดมาก็มีเจ็บ มีเจ็บด้วยอะไรบ้าง ก็ไปเพิ่มเอาว่าต้นไม้เวลาที่มันโดนทำร้ายแบบไหนบ้าง แล้วพอต้นไม้มันต้องแก่สุดท้ายมันก็ตาย เหมือนกันคือสัจธรรมที่มันอยู่ในธรรมชาติ
อันที่สองก็คือเราไม่อาจอยู่คนเดียวได้ในโลกนี้ เราต้องพึ่งพาทุกอย่างที่มันอยู่ในโลกนี้ด้วยกันทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่ผมได้จากธรรมชาติ สองข้อแค่นั้นแหละไม่ได้อะไรเยอะหรอก อ๋อ แล้วก็ไม่กลัวผี (หัวเราะ)
บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Learning Designer โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ Deep Academy |