ขึ้นชื่อว่าคนรักหนังสือ ไม่ว่าใครก็คงอยากซื้อหนังสือเล่มใหม่ของนักเขียนคนโปรดเก็บไว้ให้เต็มห้อง จน “กองดอง” ของหนอนหนังสือบางคนท่วมหัว สุดท้ายมิวายจะต้อง “เคลียร์” หนังสือเล่มเก่าออกเพื่อต้อนรับกองดองล็อตใหม่ที่ถาโถมเข้ามาทุกเทศกาลงานหนังสือ นอกจากจะกลายเป็นเรื่อง “สิ้นเปลือง” เงินในกระเป๋า (อันฟีบแฟบ) ของเราแล้ว บางทียังทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรโลกโดยไม่ตั้งใจอีกด้วยวันนี้พี่ ๆ TK Park มีมุมมองต่อรูปแบบของการแบ่งปันหนังสือ ที่เรียกเท่ๆ ได้ว่าเป็นการใช้งานแบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกในตอนนี้มาเล่าให้ฟัง
แบ่งปันเรื่องราวสุดฮิต คืนชีวิตให้หนังสือ
“เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) คือแนวคิดว่าเราต้องใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับการใช้ทรัพยากรการผลิตที่สูญเสียไป เมื่อนำมาใช้พิจารณาหนังสือก็จะพบว่า หนังสือหนึ่งเล่มที่เราซื้อมา เราอาจได้อ่านเพียงหนึ่งหรือสองครั้ง หรืออาจแบ่งปันให้เพื่อนในกลุ่มได้อ่านสักสองสามคน เท่ากับว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มเดียวได้โลดแล่นในจินตนาการของผู้อ่านไม่ถึงสิบครั้งเท่านั้นก่อนจะกลับไปนอนหงอยเหงาในชั้นหนังสือให้ฝุ่นเกาะหนาเตอะ หรือรอวันถูกขายเลหลัง กลายเป็น “สินค้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” (single use items)
แต่หากเป็นหนังสือที่วางอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุด มีผู้ยืมอ่านไปแล้วนับร้อยนับพันคน ก็เท่ากับว่าหนังสือเล่มนั้นได้ทำหน้าที่อย่างคุ้มค่าทุกแผ่นกระดาษและทุกหยดหมึกที่พิมพ์ออกมา เข้ากับนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า สิ่งของนั้นถูกใช้งานจนเกิดความคุ้มค่าสูงสุดต่อต้นทุนการผลิต แถมยังทำให้หนังสือเล่มนั้นไม่เหงา เพราะมีหนอนหนังสือแวะเวียนมาทักทายไม่ขาดสายอีกด้วย ดังเช่นห้องสมุด TK Park ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2555-2564) หนังสือ 1 เล่ม มีจำนวนการยืมสูงถึง 150 ครั้ง
หนังสือหนึ่งเล่มใช้ทรัพยากรการผลิตมากกว่าที่คิด
บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า หนังสือแค่เล่มเดียวจะสิ้นเปลืองทรัพยากรการผลิตมากแค่ไหนกัน หากเราเคยดูหรือเคยอ่าน The Story of Stuff เรื่องเล่าของข้าวของ (ผู้เขียน : Annie Leonard ผู้แปล : พลอยแสง เอกญาติ) จะพบว่ากว่าจะมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่มนั้นต้องใช้ทรัพยากรและผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมมากมาย แม้จะบอกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นแล้ว หนังสือสิ้นเปลืองแค่กระดาษเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว กระดาษที่ใช้ทำหนังสือนั้นมาจากป่าที่ปลูกขึ้นเฉพาะสำหรับทำกระดาษ ซึ่งส่วนมากเป็นพืชเชิงเดี่ยว ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ซ้ำพื้นที่ป่ากระดาษยังรุกรานพื้นที่ป่าจริง ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น ๆ ด้วย กระบวนการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เราคิด
อีบุ๊กอาจยังไม่ใช่คำตอบของเศรษฐกิจหมุนเวียน
นักอ่านสายไอทีอาจเสนอไอเดียเด็ดว่าเราก็เปลี่ยนหนังสือกระดาษเป็น E-book ให้หมดเสียเลยสิ ยิ่งสมัยนี้การแสดงผลในเครื่องอ่านอีบุ๊กแทบจะไม่ต่างจากการอ่านกระดาษแล้ว แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินมากพอจะถอยเครื่องอ่านเหล่านี้มาใช้ แถมกว่าจะผลิตเครื่องอ่านอีบุ๊กขึ้นมาสักเครื่องก็ต้องใช้แร่สำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หายาก และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียออกมามากมาย กว่าจะใช้งานถึงจุด “คุ้มค่า” ก็ไม่แน่ว่าเจ้าเครื่องนั้นอาจพังเสียก่อน กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ลำบากสิ่งแวดล้อมไปอีก
สบายตา สบายใจ ไม่ต้องหาที่เก็บ
นักสะสม “กองดอง” คงพอจะนึกออกว่า กองภูเขาหนังสือที่รีบคว้ามาจากงานเทศกาลหนังสือนั้นกินพื้นที่ในบ้านมากแค่ไหน บางคนเก็บในชั้นหนังสือไม่พอก็ต้องยกไปวางบนตู้ โต๊ะ เตียง จนแทบจะพลิกตัวนอนไม่ได้เพราะติดกองหนังสือ บางคนอาจเลยเถิดไปถึงการซื้อตู้หนังสือเพิ่มหรือต่อเติมห้องสำหรับเก็บหนังสือใหม่ ยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรอื่น ๆ มากขึ้นอีก อย่าลืมว่าบ้านที่รกด้วยกองหนังสือ ไม่เพียงส่งผลต่อการใช้ชีวิต แต่ยังส่งผลทำให้จิตใจไม่ปลอดโปร่งอีกด้วย จะดีกว่าไหมถ้าเรา “เปลี่ยน” ความคิด “ปล่อย” ความต้องการครอบครองหนังสือหลาย ๆ เล่มไป เลือกเฉพาะเล่มที่ทัชหัวใจเก็บไว้พอประมาณ เล่มที่เหลือถ้าอยากอ่านก็เพียงแค่เดินไปหยิบยืมจากห้องสมุดใกล้บ้านมาชดเชยในวันที่คิดถึง
การยืมทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืนกว่าการซื้อ
เมื่อคิดในแง่ของเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว หนังสือหนึ่งเล่มในห้องสมุดอาจสร้างประโยชน์ได้มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับทรัพยากรการผลิตที่เสียไป เพราะหนังสือได้เปลี่ยนสภาพจาก สินค้าที่ใช้ครั้งเดียว หรือ ใช้ไม่กี่ครั้งโดยคนๆเดียว มาเป็นสินค้าที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง หนังสือที่มีต้นทุนการผลิตเล่มละ 100-200 บาท อาจทำให้คนอ่านได้สนุกกับเรื่องราวมากกว่าหนึ่งร้อยหรือหนึ่งพันคน เท่ากับว่าทรัพยากรของโลกที่ใช้สร้างความสุขผ่านตัวหนังสือต่อหนึ่งคนยิ่งลดน้อยลงไป นอกจากจะประหยัดทรัพยากรโลกแล้วก็ยังช่วยประหยัดทรัพยากรในกระเป๋าเงินใบน้อยของเราอีกด้วย เช่น หากเราเป็นสมาชิก TK Park เสียค่าสมาชิกเพียงปีละ 100-200 บาท หากได้อ่านหนังสือสักปีละ 50 เล่ม ก็เท่ากับว่าเราเสียเงินไปกับความเพลิดเพลินผ่านตัวหนังสือเพียงเล่มละ 2-4 บาทเท่านั้นเอง
แชร์หนังสือร่วมกัน สรรสร้างจิตสาธารณะ
หนอนหนังสือบางคนอาจรักหนังสือยิ่งชีพ ริ้นไม่ให้ไต่ ร่องรอยอะไรก็ไม่ให้มี แต่บางคนก็ชอบขีดเขียนความคิดลงในหนังสือ หรือบางครั้งก็พกเข้าไปในห้องน้ำ วางในที่ที่ไม่ควรวาง เผลอทำน้ำหกเลอะเทอะ พับมุมพับหน้าจนหนังสือยับเยิน ทั้งหมดนี้คงไม่เป็นไรหากหนังสือเล่มนั้นเป็นสมบัติส่วนตัวของแต่ละคน แต่หากเป็นหนังสือของห้องสมุดซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวม คนที่ยืมหนังสือต่อจากนักอ่านคนนั้นเห็นสภาพหนังสือที่เหมือนผ่านสงครามมาคงต้องใจสลาย
ดังนั้นการหันมาอ่านหนังสือ “ร่วมกัน” ในห้องสมุดแทนการซื้อหนังสือเป็นสมบัติส่วนตัวนับเป็นการฝึกฝนจิตสาธารณะให้เรารู้จักรักและถนอมหนังสือมากขึ้น เพื่อให้หนังสือหนึ่งเล่มมีอายุการใช้งานจนถึงจุดที่คุ้มค่าตามหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะหากเราคืนหนังสือกลับไปในสภาพยับเยิน สิ่งที่ต้องเสียไม่ใช่แค่ค่าปรับเท่านั้น แต่คือการสิ้นเปลืองทรัพยากรการฟื้นฟูหนังสือให้กลับมามีสภาพดังเดิม หรืออาจจะต้องซื้อเล่มใหม่ ซึ่งหมายถึงต้องผ่านกระบวนการผลิตหนังสือเล่มใหม่เพื่อมาทดแทนเล่มเดิมที่อาจต้องนำไปทำลายทิ้ง
ในยุคสมัยที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทั้งสภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะล้นโลก นักอ่านอย่างเราก็คงไม่พ้นต้องรับผลกระทบในอนาคต จะดีกว่าไหมถ้าจะมาร่วมสร้างโลกที่น่าอยู่ตั้งแต่วันนี้ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพียงแค่หยิบบัตรห้องสมุดใกล้บ้าน เลือกหยิบยืมหนังสือที่วางเหงาอยู่บนชั้นหนังสือมานาน ก็ช่วยให้หนังสือเล่มหนึ่งได้ฟื้นคืนชีวิตและโลดแล่นในจินตนาการอย่างคุ้มค่าที่ได้เกิดมา (ผลิตมา) เป็นหนังสือแล้ว
รายการอ้างอิง
Romee. (2018). Circular Economy: The Book Library. Retrieved February 9, 2022, from https://www.whenateengoesgreen.com/circular-economy-the-book-library/?
Younghee Noh. (2016). A Study on Applying the Sharing Economy to Libraries. Retrieved February 9, 2022, from https://www.researchgate.net/publication/309819556_A_Study_on_Applying_the_Sharing_Economy_to_Libraries