บนโลกใบใหม่ที่มีความแตกต่างทางความคิด และความหลากหลายทางเพศ การยอมรับและสร้างความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่คนในสังคมกำลังค่อยๆ ก้าวผ่านความเชื่อในแบบเดิม ที่จำกัดเพศสภาพแค่ชาย – หญิง แน่นอนว่าการสร้างความเท่าเทียมในเชิงกฎหมาย มีการเรียกร้องให้แก้ไขอย่างมากในไทย และเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ อุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดกิจกรรมเสวนา JOURNEY TO FIND YOURSELF : Gender Equality เปิดเวทีแลกเปลี่ยนกับวิทยากร ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนโลกบนความหลากหลายทางเพศ อันได้แก่ บอส - นฤเบศ กูโน ผู้กำกับ, โอ๊ต - พัฒนพงศ์ มณเฑียร ศิลปินและนักเขียน, เมล - เมลดา ฉัตรวิสสุตา ผู้ก่อตั้งเพจ That Mad Woman และ พรีส - ณฐกมล ศิวะศิลป สมาชิกกลุ่ม Non-Binary Thailand
โอ๊ต - พัฒนพงศ์ มณเฑียร
การนิยามตัวตนทางเพศมีความสำคัญอย่างไร
โอ๊ต : ถ้ามองในโลกอุดมคติ ที่มีการยอมรับเพศสภาพที่มีความหลากหลาย จะเป็นสังคมที่มีความเข้าใจว่า เพศไม่ได้มีแค่ชาย-หญิง หรือเพศกำเนิดที่เกิดมาแล้วมีอวัยวะเพศนั้น และไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพียงแต่อาจมีปัญหาตอนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ที่ไม่น่าจะมีความสำคัญในโลกอุดมคติ แต่ในโลกความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะมักจะแบ่งเรื่องเพศเป็นแค่ 2 ฝั่ง ไม่ขาวก็ดำ ที่จะมองเรื่องนี้เป็นแบบเส้นตรง แต่ในความคิดเราเรื่องเพศมันเป็นวงกลม ที่ไปได้ทุกทิศทาง และมีความหลากหลายมากกว่าเดิม
สิ่งนี้จึงทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในเพศสภาพที่สังคมกำหนด มักจะมีปัญหา จนเกิดความทุกข์ในเพศของตนเอง เพราะในความเป็นจริง การจะออกจากบ้านแต่ละครั้ง ก็มีความทุกข์ว่าจะต้องแต่งตัวอย่างไร หรือจะคุยกับคนอื่นก็ต้องเลือกว่าจะพูด “ครับ” หรือ “คะ” ซึ่งการพูดส่งผลต่อทัศนคติของคู่สนทนา นี่จึงเป็นสิ่งที่กดทับทำให้คนที่มีเพศสภาพที่หลากหลายไม่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่
แต่ถ้าเราเข้าใจว่า มันเกิดปัญหากับคนกลุ่มนี้ จึงจำเป็นจะต้องแสดงออก เพื่อให้สังคมเข้าใจ และเปิดพื้นที่ของคนที่มีเพศหลากหลายให้ได้แสดงออก และรับสิทธิทางสังคมที่เท่าเทียม ดังนั้นสังคมจะต้องแก้ไข เพราะมีเด็กหลายคนติดป้ายไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเป็น ดังนั้นเราจึงต้องสร้างเยอะๆ เพื่อให้เขารู้ว่าป้ายมันสร้างใหม่ได้ ไม่ได้จำกัดว่าแค่ชาย-หญิง โดยสิ่งนี้ไม่ใช่กรอบในชีวิตคุณ แต่เป็นการอธิบายตัวตนของคุณมากกว่า
พรีส - ณฐกมล ศิวะศิลป
พรีส : ถ้ามองป้ายของตนเอง จะเป็นแบบ Interface คือบุคคลที่มีเพศสภาพทางชีวภาพ ไม่ตรงหรือผสมผสาน เช่น มีทั้งความเป็นชายและหญิง ซึ่งคำว่า Interface มีความหมายเสมือนร่มที่มีขนาดใหญ่มาก โดยเราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่อยู่ใต้ร่มคันนี้ ซึ่งการไม่ระบุ อัตลักษณ์ จะเป็นการดึงความเป็นมนุษย์ขึ้นมา การออกมาเรียกร้องของคนกลุ่มนี้ ก็เพื่อบางสิ่งที่เขายังได้รับไม่เท่าเทียม หรือยังได้สิทธิไม่เท่าเทียมกับเพศชาย-หญิง ดังนั้นสิทธิบางอย่างก็อยากให้คนอื่นๆ รับรู้และฟังเสียงพวกเขาบ้าง
บอส - นฤเบศ กูโน
บอส : ตัวเราเองผ่านความเจ็บปวดที่สังคมกดทับ ซึ่งความจริงเรื่องเพศมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น เราเกิดมา 29 ปี เปลี่ยนรสนิยมมาหลายนิยาม ซึ่งจะเหมือนกับช่วงเวลานึงอาจชอบสีชมพู พอเวลาผ่านไป เราอาจชอบอีกสี โดยนิยามเหล่านี้เปลี่ยนไปตามความสมัครใจ และสิทธิของคนนั้น แต่ถ้าตอนนี้ใครที่ยังนิยามตัวเองไม่ได้ ไม่เป็นอะไร เพราะจริงๆ แล้วเขาอาจจะหาอยู่ว่าตัวเองชอบสีอะไร แต่ในคนที่ชัดเจนแล้วสามารถเต็มที่ได้เลย และเราสนับสนุนให้มีความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคม
เมล - เมลดา ฉัตรวิสสุตา
เมล : สิ่งที่ LGBTQ ต้องเจอในสังคม คือการมองและกำหนดความหมายว่า คนเป็นชายหรือหญิงต้องมีลักษณะทางเพศบางอย่าง จึงทำให้เกิดแรงกดดัน ที่ไม่สามารถแสดงออกตัวตนที่แท้จริงออกมาได้อย่างอิสระ และส่งผลต่อสภาพจิตใจ แต่สิ่งที่ต้องการคือ ไม่อยากให้ยึดติดกับ label แต่ต้องยอมรับและเคารพกันในเพศสภาพที่แตกต่างกันมากขึ้น
มายาคติทางภาษา มันทำร้ายหรือส่งผลต่อการจำกัดอัตลักษณ์ของเราหรือไม่
โอ๊ต : ภาษามีผลต่อการจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะวัฒนธรรมบางชาติก็มีผลมากกว่าของไทย เช่น ฝรั่งเศส ที่ทุกคำจะต้องมีตัวแทนความหมายของเพศ ดังนั้นภาษาจึงมีผลอย่างมากต่อการเลือกเพศ ซึ่งในมุมมองยังคิดว่าภาษาไทยยังเป็นคำกลางๆ แต่ในทางกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ. ชีวิตคู่ ที่กำหนดคำว่าสามี-ภรรยา แต่เราต้องการเปลี่ยนเป็นคำว่า บุคคลกับบุคคล ซึ่งจะมีความหมายว่า สามีไม่ต้องเป็นผู้ชายที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิง แต่เป็นบุคคลกับบุคคลก็ได้ สิ่งนี้กฎหมายไม่ได้รับรอง ทั้งที่จริงมีหลายคนที่เจอปัญหากับสิ่งนี้มาก ในการที่ไม่สามารถตัดสินใจทางการแพทย์แทนคู่ชีวิตได้ หรือไม่สามารถมีสิทธิในทรัพย์สินของอีกฝ่ายได้ ทั้งที่อยู่กินด้วยกันมานาน สิ่งนี้ทำให้พวกเราไม่สามารถวางแผนชีวิตคู่ได้ เพราะภาษาที่ระบุไว้ในทางกฎหมาย
พรีส : ที่ผ่านมามีความพยายามแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเปลี่ยนจากคำว่าชาย-หญิง เป็นบุคคล แต่คำว่าคู่สมรสยังใช้เหมือนเดิม โดยชายและหญิงสมรสกัน จึงเป็นคู่สมรส เช่นเดียวกับผู้หญิงแต่งงานกันก็เป็นคู่สมรส ดังนั้นการระบุอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนนั้นมาก และในเชิงภาษาที่ผ่านมาคนไทยยังค่อนข้างมีมารยาทน้อย ถ้าเทียบกับชาวต่างชาติ ที่บางคนจะถามก่อนเลยว่า คุณสบายใจที่จะให้เรียกสรรพนามคุณว่าอย่างไร ตั้งแต่แรกเริ่มสนทนา
บอส : ภาษามีทั้งการสื่อสารที่เข้าใจและเผลอ บางคำเป็นเป็นเหมือนการเหยียดไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่จริง คนพูดไม่ได้ตั้งใจ เช่นเรานั่งทำงานอยู่ แล้วมีคนนึงเข้ามาทักว่า “แม่สวัสดี” โดยเราไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่เลยหรือ ทั้งที่จริงสิ่งที่คนนั้นพูดคือคำนิยามของเขาเอง ภาษาจึงมีความก่ำกึ่งอย่างมาก ซึ่งจะอยู่กับความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ที่บางครั้งอาจจะเผลอเหยียดคนอื่นได้ เพราะบางคำอาจไม่ตรงกับอัตลักษณ์ของเรา ดังนั้น การจะเรียกสรรพนามอะไรก็ขึ้นอยู่กับความยินยอมของคนที่ถูกเรียก ซึ่งการให้ความเคารพกันก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการถามหรือคุยกันย่อมเป็นทางออกที่ดี
เมล : การที่จะเรียกคนอื่นว่าอะไรเราต้องถามเขาก่อนว่า อยากใช้คำไหน ซึ่งถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มั่นใจ เขาก็สามารถยืนยันตัวตนของตัวเองให้คนอื่นรู้ได้
อะไรเป็นตัวปลดล็อคคน Gen ใหม่ให้เปิดกว้างและยอมรับ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
เมล : อินเทอร์เน็ต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เปิดโลกกว้าง และยอมรับความหลากหลายมากขึ้น โดยเราสามารถเลือกในสิ่งที่เรามองว่ามันน่าจะเชื่อถือได้ และทำให้เราเปิดรับมุมองของความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อมีข้อมูลจะทำให้เข้าใจว่า เรื่องเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหล และส่งผลต่อชีวิตมากๆ ซึ่งตัวเองมองว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ชอบ เพราะจะทำให้มีมีช่องทางค้นหา ตัวตน และแสดงออกทางอัตลักษณ์ที่เป็นให้คนอื่นยอมรับมากขึ้นในเชิงสร้างสรรค์
บอส : ข้อมูลมีความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน เพราะการที่เราเห็นคนที่เป็นตัวอย่าง ที่สร้างความภูมิใจให้เราอยากเปิดเผยตัวตน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายข้อมูลเปิดกว้างมากขึ้น และส่งผลทำให้เราภูมิใจในตัวเองมากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับการมีปฏิสัมพันธ์ที่อยู่รอบตัว เมื่อคนในสังคมมีข้อมูลที่มากขึ้น การปฏิบัติตัวของคนรอบข้างจะดีขึ้น สิ่งนี้ทำให้เรามีอิสระและกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น
สำหรับซีรี่ส์วายในไทยที่กำลังได้รับความนิยม เราไม่ได้มองว่าเป็นบวกหรือลบ เป็นแค่ความนิยมในช่วงเวลานึง แต่ข้อดีของมันท่ามกลางกระแสนิยมคือ คนที่ดูจะได้สนใจในสิ่งที่ถูกต้องด้วย เพราะคนดูบางคนไม่ได้แค่ชอบ แต่ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง สิ่งนี้จึงทำให้คนดูเริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศเป็นวงกว้างมากขึ้นด้วย
อย่างซีรี่ส์ชายรักชาย ในประเทศไทยมีหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งบางเรื่องก็ทำขึ้นเพื่อจะให้ผู้หญิงดู ตัวละครก็จะถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนดู หรือบางคอนเทนต์ก็สนับสนุน LGBTQ มาก สำหรับตัวเอง การจะทำซีรี่ส์วาย สักเรื่อง จะต้องคำนึงถึงเรื่องเพศและศิลปะการแสดง ซึ่งถ้านักแสดงคนนั้นเป็นชายที่ชอบผู้หญิง แต่เมื่อเล่นบทเป็นชายรักชาย แล้วแสดงออกในบทที่เป็นชายรักชายได้อย่างสมจริง เราก็จะรู้สึกโอเคกับสิ่งที่นักแสดงเป็น เพราะบทบาทการแสดงไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเพศไหน ซึ่งจากคำถามที่ว่าบทบาทที่แสดงเป็นเกย์ แต่ทำไมใช้นักแสดงชายเล่น เราจึงอยากให้มองว่า การแสดงเป็นศิลปะ ที่คนที่แสดงกำลังแสดงออกในเชิงศิลปะที่มาจากบทบาทนั้น โดยมองข้ามไปเลยว่าในชีวิตจริงคนที่แสดงบทนั้นมีรสนิยมทางเพศอะไร
โอ๊ต : สื่อเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการสื่อสารให้คนเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ อย่างเรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ถือเป็นซีรี่ส์วายที่เป็นหมุดหมายของสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาซีรี่ส์วายส่วนมากมักเล่าถึงความสัมพันธ์แบบชาย-ชาย แต่ไม่ได้นำเสนอประเด็นที่เป็นปัญหา เช่นความสัมพันธ์ในครอบครัว การแต่งงาน ซึ่งรวมถึงตัวนักแสดงด้วยที่ไม่ได้แอบแมน นี่จึงเป็นการเสนอที่สวยงาม และเนื้อเรื่องมันสร้างจุดเปลี่ยน เด็กหลายคนเมื่อดูแล้วรู้สึกอิสระ และไม่ต้องหลบซ่อนตัวตนอีกต่อไป และเขามีไอดอลอย่างที่เด็กยอมรับได้อย่างสวยงาม
ถ้ามองกระแสดารา หรือคนที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศจริง แล้วมาเกาะกระแสนี้ เพื่อหวังการสนับสนุนจากแฟนๆ ตอนนี้ก็มี แต่เรามองว่า แฟนๆ เองก็รู้ว่า ถ้าในระยะยาวหากจับได้ว่าเขาไม่ได้เป็นจริง การสนับสนุนจากแฟนๆ ก็จะลดลง เพราะมีหลายคนที่ออกมาหาประโยชน์จากกระแสการเรียกร้องสิทธิของความหลากหลายทางเพศ
พรีส : ที่ผ่านมามีคำถามว่า เวลานำนักแสดงมาเล่นซีรี่ส์วาย แล้วต้องบอกว่า นักแสดงคนนั้นเป็นผู้ชายที่รักผู้หญิง หรือตัวละครซีรี่ส์วายในต่างประเทศจะมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น นักแสดงที่มีรูปลักษณะที่จะขยายความทำให้คนดูเห็นว่าความหลากหลายทางเพศของตัวเองมีความหมายว่าอย่างไร
การเผชิญหน้ากับการบูลลี่
โอ๊ต : การไม่ให้พื้นที่สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศแสดงออก ถือเป็นการบูลลี่อย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากฝากถึงน้องว่า คนที่บูลลี่เราแรงที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะคำพูดคนอื่นเป็นแค่ “สะเก็ดไฟ” แต่ถ้าใจเราไม่เป็น “ฟืน” ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา ซึ่งถ้าเราเกลียดตัวเองอยู่แล้ว พอคนอื่นพูดอะไรขึ้นมาก็เชื่อแบบเต็มที่ว่าเราเป็นแบบนี้แล้วไม่ควรจะได้ความรัก อันนี้มันเป็นที่ตัวเราเองด้วย เพราะเราโทษสังคมได้ระดับนึง แต่ขณะเดียวกันมันเป็นสิ่งที่เราต้องทำการบ้านกับตัวเองว่า จะทำหรือแก้ยังไง ให้เรารักตัวเองในแบบที่เป็นได้อย่างดีที่สุด
เมล : ที่ผ่านมาเราเคยพยายามลดน้ำหนักอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าถ้าตัวเองไม่ผอมผู้ชายจะไม่สนใจ สิ่งนี้เป็นการบูลลี่ตัวเองอย่างนึง เพราะทุกครั้งที่มองกระจกจะรู้สึกไม่ชอบ และมองว่าตัวเองยังไม่ดีพอสักที จนกลายเป็นว่าเรากลัวการทานอาหารที่ไม่คลีนไปเลย ซึ่งพอมาเห็นสื่อต่างๆ ที่อยู่ในอินสตาแกรม ก็เลยเริ่มหันมาดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีมากขึ้น
บอส : สมัยก่อนเราโดนบูลลี่ โดยที่เขาไม่ได้เข้าใจเราจริงๆ แต่เห็นคำพูดหรือการล้อเลียนนั้นเป็นเรื่องสนุก แต่สิ่งสำคัญคือเสียงในใจของเราจะต้องดังกว่า คำล้อเลียน ซึ่งเราต้องมีความภูมิใจในตัวเอง หากยังหาไม่ได้ควรไปอยู่ในกลุ่มที่เหมือนกับเราและให้กำลังใจกัน หรือมองดูคนที่เป็นแบบอย่างที่จะสร้างความภูมิใจให้กับตัวเราเองได้
พรีส : การยืนยันตัวตนทางเพศที่แตกต่างออกไปต้องใช้ความกล้าหาญทางความคิด และความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมามีน้องๆ หลายคนที่ระบุเพศตัวเองที่นอกเหนือจากชาย-หญิง ซึ่งการมีกลุ่มคนประเภทเดียวกันที่ช่วยกันทำความเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในภาวะที่หลายคนโดนบูลลี่อยู่
เมื่อเราไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่หรือสังคมคาดหวัง เราจะมีวิธีการสื่อสารกับพวกเค้าอย่างไร
บอส : การที่จะไปบอกใครว่าเราเป็นแบบนี้ต้องเริ่มจากความรู้สึกของตัวเอง ว่าเราต้องการบอกคนอื่นหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้ว ณ เวลานั้นอาจยังไม่พร้อม เนื่องจากสังคมกดทับเรา หรือเรายังไม่ภูมิใจในตัวเองมากพอ เราจึงต้องค่อยๆ พัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น แต่เมื่อใดที่เราพร้อมจะบอกกับครอบครัว หรือคนในสังคม สิ่งสำคัญที่สุดคือการพูดความจริง เพราะไม่ว่าเราจะเกิดเป็นอะไร แต่เราโกหกตัวเองไม่ได้ เพราะถ้าวันนึงเราอึดอัดตัวเอง จนสุดท้ายก็โกหกคนอื่นไม่ได้เหมือนกัน
เมล : ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองว่า พร้อมที่จะออกมาเปิดเผยไหม หรือตอนนี้เราค้นหาตัวเองเจอหรือยัง แต่การที่จะไปบอกพ่อแม่ เราก็ต้องดูด้วยว่าเขาพร้อมที่จะรับฟังหรือไม่ เพราะถ้าเขาไม่เปิดใจ ถึงพูดความจริงไปก็อาจจะไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราอึดอัดแต่บอกไม่ได้ ก็อาจจะต้องไปหาคนซัพพอร์ต เพื่อที่เราจะได้มีความรู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้
โอ๊ต : การบอกกับครอบครัว โดยส่วนตัวเราคิดว่าพ่อแม่รู้อยู่แล้ว แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมที่จะบอกไหม หรือพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากเดิมกับครอบครัวหรือเปล่า แต่สิ่งสำคัญเราต้องหันมารับผิดชอบความสุขของเราเองก่อน ซึ่งสังคมที่เอาความสุขของพ่อแม่มาล่ามคอด้วยคำว่ากตัญญู เราคิดว่ามันไม่โอเค ดังนั้นคุณต้องปลดบ่วงของคุณจากความคิดของคนอื่นให้ได้ก่อน อย่าเอาความสุขของเราไปผูกไว้กับเขา
เราจึงอยากแนะนำหนังสือโปรดโอบกอดมนุษย์ลูก โดยคุณวีรพร นิติประภา ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากสำหรับพ่อแม่ หรือใครที่อยากให้ครอบครัวพยายามจูนความคิดเข้ามาให้สอดคล้องกับคนปัจจุบัน
การต่อสู้ในเรื่อง GENDER EQUALITY และอัตลักษณ์ทางเพศ กำลังเดินหน้าไปทางไหน?
พรีส : ตอนนี้มี พ.ร.บ.กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยมีการระบุถึงการห้ามเลือกปฏิบัติ เช่น การปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน ซึ่งถ้าเจอเรื่องเหล่านี้สามารถมาร้องเรียนได้ ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม ส่วนมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ได้ยื่นเรื่องไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัว และส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่มีการร้องเรียนว่า ห้ามไม่ให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกัน ตีความว่ามันขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งนี่คือกระบวนการทางกฎหมายที่กำลังดำเนินการอยู่
ขณะเดียวกันได้ยื่นเรื่องเข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องสมรสเท่าเทียม ซึ่งตอนนี้ยังค้างอยู่ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์เรียกร้องเกี่ยวกับคำนำหน้านาม โดยกลุ่มคนที่เป็น Non-binary ต้องการที่จะมีคำกลาง ที่ไม่ใช่แค่ “นาย” หรือ “นางสาว”
เมล : กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิของคนทุกเพศ แต่ก็ต้องมีความตระหนักรู้ด้วย ซึ่งตอนนี้หลายคนในสังคมมีความรับรู้เรื่องการกดทับในเรื่องเพศมากขึ้น และมีการเรียกร้องที่มากขึ้นในพื้นที่สาธารณะและบนโลกออนไลน์ โดยเป้าหมายที่อยากให้ไปถึงคือ การที่คนในสังคมเคารพและยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยมองที่พื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน โดยไม่ใช่เอาเรื่องเพศมาตีกรอบคุณค่าของคน
โอ๊ต : ถ้าสังคมในรอบตัวคุณยังมีพฤติกรรมที่กดขี่คนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ เราจะต้องให้ความรู้กับคนในสังคมต่อไป ดังนั้นทุกคนจึงต้องออกมาส่งเสียงของตัวเองเพื่อผลักดันให้มีความเท่าเทียม และชาว LGBTQ เราถือว่ามีพลังบางอย่างที่พิเศษกว่าคนอื่น เพราะการที่เรามีแง่มุมทั้งหญิงและชายอยู่ในตัวเรา ในสังคมโบราณเขาเชิดชูเรา แต่ทำไมในยุคนี้โดนกดทั้งศาสนา และปิตาธิปไตย ในสังคมที่มองชายเป็นใหญ่ ซึ่งทุกอย่างกดดันจนพวกเรากลายเป็นสิ่งประหลาด นี่จึงบ่งบอกถึงความกลัวของผู้ชายที่กดเราเอาไว้ในสังคมนี้