ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโคโรนาหรือ Covid-19 แน่นอนว่าหลายๆ คนกำลังเจอกับปัญหารุมเร้ามากมายที่ส่งผลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบในแง่ลบหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ท่ามกลางวิกฤติที่ใหญ่และยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
และต้องยอมรับว่าแม้จะเป็นคนที่เตรียมพร้อมมาดีแล้ว หากมีความรับผิดชอบล้นมือ หรือเป็นเสาหลักของครอบครัวในด้านต่างๆ หนทางการแก้ปัญหาท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ดูจะเป็นการเสาะหาแสงสว่างที่ริบหรี่เสียจนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน อย่างไรก็ดี ในบทความชิ้นนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกุญแจสู่ทางออกของทุกปัญหาหรือ “Growth Mindset” ด้วยสิ่งนี้ไม่ว่าปัญหาจะเล็กหรือใหญ่ จะหนักหนาแค่ไหนก็รับรองได้เลยว่าคุณและคนรอบข้างจะผ่านไปได้อย่างแน่นอน
Growth Mindset คืออะไร?
กล่าวโดยภาพรวม Growth Mindset คือรูปแบบวิธีคิดที่ส่งผลเชิงจิตวิทยารูปแบบหนึ่ง โดยเริ่มต้นจากการทดลองโดย ดร. แครอล เว็ก นักจิตวิทยาการศึกษาผู้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง Mindset: The New Psychology of Success ซึ่งในการทดลองของ ดร. เว็ก เธอแบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มี Growth Mindset หรือนักเรียนที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เต็มไปด้วยความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะพัฒนาตนเองผ่านอุปสรรคต่างๆ กับพวกที่มีลักษณะทางความคิดแบบ Fixed Mindset หรือนักเรียนที่ไม่พร้อมเผชิญกับปัญหา มองว่าทุกปัญหายากที่จะแก้ไข และสถาวะแวดล้อมเงื่อนไขต่างๆ นั้นยากที่จะทำให้ดีขึ้นได้
เมื่อแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่มแล้ว ดร. เว็ก จึงสรุปผลการทดลองจากคะแนนสอบและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กทั้งสองกลุ่มในด้านต่างๆ ซึ่ง ดร. เว็ก พบว่าเด็กกลุ่มที่มี Growth Mindset นั้นมีผลการเรียนดีกว่ากลุ่มที่มี Fixed Mindset อย่างชัดเจน จากผลการทดลองนี้ ต่อมาจึงมีการพัฒนาการทดลองเกี่ยวกับทัศนคติหรือ Mindset ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ส่งผลต่อการทำวิจัยเรื่องความแตกต่างทางบุคลิกภาพ และปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของบุคคลในเวลาต่อมา
พลิกวิกฤติด้วย Growth Mindset
ในบทความความ ดร. ทาลิทา คาลิทซ์ ได้นิยามแนวคิด Growth Mindset เอาไว้อย่างสั้นว่า “เป็นวิธีการมองโลกที่ให้ความสำคัญไปที่ศักยภาพ การเปลี่ยนแปลง และความเป็นไปได้” จากตรงนี้ เมื่อมาปรับใช้กับสถานการณ์วิกฤติ คนที่มี Growth Mindset จะคิดว่า ในวิกฤติย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ และทำให้เราพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นคนที่ดีขึ้น หรือ “ไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน นี่คือสิ่งปกติที่จะต้องเกิดขึ้น ฉันคือคนที่พร้อมจะปรับตัวและผ่านมันไปให้ได้” จากหลักคิดแบบนี้ เราจึงเห็นองค์กรชั้นนำในประเทศไทยจากหลากหลายแวดวงต่างพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความยากลำบากในสถานการณ์ครั้งนี้ อาทิ การปรับใช้กลยุทธ์ Leapfrog Goal Set ของนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ที่ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายรูปแบบให้ให้กับพนักงานโดยใช้เวลาดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้สั้นลงและมองว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นใน “New Normal” คือความท้าทาย โดยนรสิทธิ์กล่าวว่า “การปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นวิธีคิดที่ยืดหยุ่นแบบ Growth Mindset อย่างแท้จริง เพราะเราต้องการให้สินค้าอุปโภคบริโภคเข้าถึงคนในช่วง New Normal เราจึงต่อยอดและพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มอย่าง “FindFood และ MyShop ที่ใช้ร่วมกับฟังก์ชั่น Line OA เพื่อทำให้ทุกอย่างเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น” ทั้งนี้ บริการอย่าง FindFood จะเน้นไม่ที่การให้บริการแก่เกษตรกรในต่างจังหวัดเป็นหลัก เพียงแค่เพิ่มเพื่อนมาที่ @findfood19 เกษตรกรก็สามารถเสนอขายสินค้าของตัวเองได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง การันตีด้วยยอดขายกว่าสองหมื่นกิโลกรัมทันทีที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
ส่วน Myshop เป็นโปรแกรมที่จะเข้ามาจัดการออร์เดอร์ของธุรกิจรายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเพิ่มฟังก์ชันให้ร้านค้าต่างๆ ที่มี Line Official Account สามารถจัดเก็บข้อมูลลูกค้าและสินค้าของตัวเองได้ อีกทั้งเปิดให้ลูกค้าชำระเงินผ่านหน้าร้านได้ทันที หมดปัญหาเรื่องความยุ่งยากและลดขั้นตอนการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ไปพร้อมกัน
แต่อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์หรือวิธีคิดแบบนี้จะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กับการสร้างความเชื่อใจกับผู้คน จึงทำให้เกิดเป็นแนวคิดเรื่อง Trust และ Extreme Ownership ที่นรสิทธิ์บอกว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน และร่วมมือกันสู่เป้าหมายร่วมขององค์กร
ฝึก Growth Mindset แบบง่ายๆ
จากตัวอย่างข้างต้น แม้การใช้ Growth Mindset จะเห็นเป็นรูปธรรมผ่านความสำเร็จขององค์กร แต่ดร. ทาลิทา คาลิทซ์ แนะนำว่า การปรับใช้ Growth Mindset สามารถเริ่มต้นจากตัวเราง่ายๆ ด้วย 3 ขั้นตอนต่อไปนี้
1. ยอมรับปัจจุบันก่อนเสมอและเปลี่ยนเป็นพลัง ขั้นแรกของการใช้ Growth Mindset จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและไม่วิ่งหนีปัญหา แต่สิ่งนี้ก็เป็นขั้นที่ยากที่สุดเช่นกัน เพราะเราต้องยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดทั้งที่คุมได้และคุมไม่ได้ และขณะเดียวกันก็ต้องสื่อสารกับตัวเองว่าจะผ่านสิ่งต่างๆ ไปได้ โดย ดร. ทาลิทา คาลิทซ์ แนะนำในเบื้องต้ต้นว่าต้องอาศัยการสื่อสารกับตัวเองบ่อยๆ เท่าที่ทำได้เพื่อสร้างความมั่นใจขึ้นมา
2. จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเรา สิ่งที่ทุกคนทำได้ต่อมาคือการวิเคราะห์จุดเด่นของตัวเองเพื่อที่จะทุ่มพลังงานทั้งหมดลงไปแก้ปัญหา ในแง่นี้ต้องอาศัยการรู้ตัวว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน และจะทำอย่างไร เมื่อคิดออกแล้วก็พยายามใช้ทรพยากรจำกัดเท่าที่มีอยู่เพื่อลุยกับสิ่งที่เจอตรงหน้าโดยตัดความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่แน่นอนออกไป
3. ปรับสิ่งที่มีเข้ากับแง่บวกของปัญหา เมื่อพบสิ่งที่ถนัดแล้ว การมองด้านบวกของปัญหาจะทำให้ก้าวข้ามวิกฤตได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาน้อยลง จริงอยู่ว่าการยอมรับเป็นขั้นแรกของการใช้แนวคิดนี้ แต่ในเหตุการณ์แย่ๆ ย่อมมีแง่บวกอยู่เสมอ การโฟกัสไปที่แง่บวกจะทำให้ประหยัดพลังงานและต่อสู้กับทุกอย่างได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
หากคุณทำตามขั้นตอนทั้งหมดนี้ได้ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะจนมุมกับวิกฤติใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในขณะนี้และในอนาคตแล้วล่ะ เพราะไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะคาดเดาไม่ได้หรือร้ายแรงสักเพียงใด คุณก็จะผ่านพ้นไปได้ อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งที่หนักแน่นให้แก่คนรอบข้างที่คุณห่วงใยได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://forbesthailand.com/news/it/ฝ่าวิกฤตด้วยแนวคิด-growth-mindset-แบ.html
2. https://www.up.ac.za/coronavirus-updates/article/2885560/-how-to-practise-a-growth-mindset-during-the-covid-19-crisis
3. https://thegrowthmaster.com/blog/how-to-shift-yourself-to-have-growth-mindset