ในตัวของเรายังมีตัวตนในด้านอื่นๆ ซ่อนอยู่อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่กำลังรอให้เราเข้าไปทำความรู้จักให้มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับใครหลายคน แต่ก็ยังมีคนอีกมากมายที่อาจยังไม่รู้ว่าจะทำความรู้จัก หรือรับมือกับตัวตนอันหลากหลายที่ซ่อนอยู่ข้างในตัวเราอย่างไรดี
เก็บความสงสัยไว้ และอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะเราเติบโตและเปลี่ยนไปในทุกวัน การเรียนรู้ตัวเองจึงอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต และถึงจะดูเป็นหนทางที่ยาวไกล แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการทำความรู้จัก ‘ตัวตนของเราในวันนี้’ ลองสำรวจดูว่าเราในวันนี้รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร เพราะเมื่อรู้จักตัวตนของเราในวันนี้มากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การค้นพบตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายในจักรวาลใบใหญ่ที่อยู่ข้างในตัวเราอีกมากมาย
TK Park ขอชวนทุกคนมาเรียนรู้ตัวตนที่หลากหลายของตัวเองผ่านกิจกรรม “Know the Now of Yourself” ที่จะพาทุกคนมุ่งสู่เส้นทางกิจกรรมค้นหาความรู้สึกภายในใจ ผ่านความเข้าใจตัวเองในตอนนี้ ผ่านทฤษฎี Cognitive Function เพื่อพร้อมรับมือกับตัวเราในปัจจุบัน และเป็นตัวเราในวันพรุ่งนี้ที่มีความสุขยิ่งขึ้น !
ถ้าอยากรู้จักตัวเราและหนังสือเพื่อนใหม่แล้ว ก็มาเริ่มต้นเดินทางกันได้เลย!
รู้จัก Cognitive Function เบื้องหลังพื้นฐานบุคลิกของเราทุกคน
ก่อนจะไปทำความรู้จักตัวเอง เราลองมาทำความรู้จักหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ตัวเองกันสักหน่อยนะ แน่นอนว่าวิธีคิดเป็นเรื่องภายในที่จับต้องไม่ได้ แต่มนุษย์เราก็มีวิธีการสื่อสารกับคนอื่น ๆ รอบตัว เพื่อบอกว่าฉันเป็นคนอย่างไร ผ่าน "บุคลิกภาพ" ที่ถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เกิด จนเติบโตขึ้นมา โดยมีสมองเป็นเหมือนศูนย์กลางคอยควบคุมการแสดงออกและการตอบสนองกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเรา
ทฤษฎี Cognitive Functions นี้ถูกคิดค้นโดย คาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่แบ่งการทํางานของสมองตามหน้าที่ไว้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่
1. การรับรู้ (Perceiving Functions) คือรู้จากสิ่งที่จับต้องได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แบบ เป็น “รูปธรรม” (S - sensing) และรู้ผ่านจากเซนส์ หรือการคาดเดาจากประสบการณ์ ผ่าน สิ่งที่เป็น “นามธรรม” (N - iNtuition)
2. การคิด การตัดสินใจ (Judging Functions) คือการเลือกว่าใช้ “เหตุผล” (T -Thinking) หรือ “อารมณ์ความรู้สึก” (F -Feeling) เป็นหลักในการรับมือกับสถานการณ์ใด ๆ ที่ผ่าน เข้ามาในชีวิต โดยจะรับรู้หรือตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม สมองทั้งสองส่วนจะเลือกว่าฉันยึด “โลกภายนอก” (E - extraversion) หรือ“โลกภายใน” (Introversion) เป็นหลัก และสิ่งนี้คือสิ่งที่ทําให้คนเราเป็น คนชอบเข้าสังคม สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรืออาจเป็นคนที่มีความสุขเพียงแค่ได้อยู่กับตัวเอง
อ่านถึงตรงนี้อาจจะคุ้นๆ ว่าสิ่งนี้เหมือนแบบทดสอบตัวหนังสือ 4 ตัวที่บอกว่าเรามีบุคลิก แบบไหน นั่นเป็นเพราะ Cognitive Function เป็นพื้นฐานของการแบ่งบุคลิกภาพแบบ MBTI ยอดฮิตนั่นเอง!
8 บุคลิกภาพ
เชื่อว่าทุกคนคุ้นเคยหรือเคยผ่านตากับการแบ่งบุคลิกภาพในรูปแบบของ MBTI กันอยู่แล้ว แต่เคยสงสัยมั้ยว่า บรรดาบุคลิกภาพทั้งแปดแบบที่ถูกจำแนกออกมานั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละแบบนั้นมีความหมายหรือบ่งบอกคุณลักษณะในตัวเราอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้วแต่ละคนก็จะมีบุคลิกหลายแบบผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเผชิญ โดยลักษณะโดดเด่นของบุคลิกในแบบต่าง ๆ แบ่งออกได้ดังนี้
Ne ไฮเปอร์สุด ๆ ไอเดียพลุ่งพล่านสามพันล้านอย่าง พลังเยอะแบบไม่น่าเชื่อ
Ni มองการณ์ไกล ใฝ่รู้ ข้อมูลแน่น รู้ทันคนอื่นได้อย่างรวดเร็ว เชื่อ sense ตัวเอง
Te ขยันมือเป็นระวิง ชัดเจน ทําตามระเบียบแบบแผนได้เป๊ะสุด
Ti เชื่อมั่นในความคิดตัวเอง พร้อมพุ่งชน แต่บางทีก็แอบผัดวันประกันพรุ่งบ้าง
Fi อ่อนโยน เปราะบาง ต้องการพื้นที่ส่วนตัวสูง
Fe รักการอยู่กับคนอื่น แต่ก็ชอบอยู่กับตัวเอง ให้ความสําคัญกับความสัมพันธ์
Si ใส่ใจรายละเอียด ช่างสังเกต ชอบจดเพื่อจํา ชอบรําลึกอดีต
Se อยู่กับปัจจุบัน แต่ก็เป็นคนเบื่อง่าย ชอบเปลี่ยนอะไรใหม่ไปเรื่อย ๆ
อย่าลืมว่าทุกคนสามารถมีบุคลิกได้ทุกแบบ ดังนั้นบางทีเราอาจจะสามารถเป็นคนที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นก็ได้ อย่าให้การยึดติดว่าเราเป็นคนแบบไหนมาหยุดให้เรากล้าที่จะเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ นะ
How are you today? ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง มาหาหนังสือที่ใช่ตัวเราที่สุดในเวลานี้ไปด้วยกัน
การรู้จักตัวเองมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งสําคัญที่สุดคือการตั้งคำถามกับตัวเองหลังจากที่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองมีมิติที่หลากหลาย ลองถามคำถามง่าย ๆ เหล่านี้กับตัวเองดู เช่น ในวันนี้ ตอนนี้ เราเป็นอย่างไร? รู้สึกแบบไหน? และเราจะรับมือกับตัวตนและสิ่งแวดล้อมที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร?
ลองตั้งต้นที่คำถามเหล่านี้ แล้วคลิกไปเล่นเกม ‘Know the Now of Yourself’ https://bit.ly/3gpX4e0 โดยปลายทางของคำถามเหล่านี้ก็คือเพื่อนร่วมทาง ที่จะร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ออกไปค้นหาตัวตนของเราต่อไป และเพื่อนร่วมทางคนนั้นก็คือ ‘หนังสือ’ นั่นเอง