ในแต่ละวันเราใช้เวลากับการตามหาตัวตนอยู่หรือเปล่า
ทุกวันนี้เราค้นพบตัวตนแล้วหรือยัง และตัวตนนั้นเป็นสิ่งที่ถาวรหรือเปลี่ยนแปลงได้
การมีอัตลักษณ์หรือตัวตนสำคัญมากแค่ไหน ทุกคนจำเป็นต้องตามหาหรือเปล่า และทุกวันนี้เราเจอตัวตนจริง ๆ ของเราแล้วหรือยัง
คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้คนมากมาย อุทยานการเรียนรู้ เปิดวงเสวนาออนไลน์ Journey to Find Yourself ในหัวข้อ Identity Crisis ที่ว่าด้วยเส้นทางการแสวงหาตัวตน และการค้นหาความหมายเพื่อให้เข้าใจความเป็นตัวเอง วงเสวนาร่วมด้วย พี่หนุ่ม - โตมร ศุขปรีชา นักเขียนชื่อดัง และตำแหน่งปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เมษ์ – เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท LUKKID ฮ่องเต้ – กนต์ธร เตโชฬาร ศิลปินอิสระ และเจ้าของเพจ Art of Hongtae และมาย-กษิรา พรนภดล Creative Strategy Director ของ The Matter
พี่หนุ่ม - โตมร ศุขปรีชา
อัตลักษณ์คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร
โตมร: Identity หรือ อัตลักษณ์ คือ ‘ตัวตน’ ของคนคนหนึ่ง แต่อัตลักษณ์ก็มีความคลุมเครือว่าเป็นสิ่งที่มีจริงหรือไม่ เช่น ความเป็นผู้หญิง ความรวย ความจน เป็นนิยามที่ใครสักคนสร้างขึ้นมาว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้หรือเปล่า และจริงๆ เราต้องเป็นแบบที่เขาบอกไว้ไหม
สิ่งที่ถูกนิยามไว้แล้ว ด้านหนึ่งอาจจะจริง แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะไม่ใช่ เพราะตัวตนจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องผ่านด่านต่างๆ ทั้งความเป็นชาติ วัฒนธรรม เพศ ศาสนา ด่านเหล่านี้คือมิติที่ค่อยๆ ฝังอยู่ในตัวเรา และสามารถเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ อัตลักษณ์คืออะไรจึงเป็นเรื่องที่ตอบลำบาก เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้
เมษ์ – เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล CEO บริษัท LUKKID
เมษ์: อัตลักษณ์ในบางมิติเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ณ เวลานั้น แต่สิ่งรอบข้างทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนแต่งงาน สิ่งที่เมษ์คิดว่าเป็นตัวตนของเราคือเรื่องการทำงาน แต่พอแต่งงานมีลูก มิติเรื่องลูกก็จะเด่นชัดขึ้นมามากกว่าเรื่องการทำงาน อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราให้คุณค่า
มาย: สมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงไวมาก สังคมกำหนดให้เราต้องดูดี ต้องสมบูรณ์แบบ แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าอัตลักษณ์ที่เราเลือก คนอื่นพอใจหรือเปล่า จะเป็นไปตามที่สังคมกำลังนิยมอยู่ไหม อัตลักษณ์ที่เราพยายามเลือกกับสังคมที่อยากให้เราเป็นอาจเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน
ฮ่องเต้: ผมรู้สึกว่าคนมองการมีอัตลักษณ์เป็น 'ภาระที่ต้องสร้าง' เพื่อให้ตัวเองได้ทำมาหากิน เมื่อไรที่มีคนพูดว่าคุณมีสไตล์ นี่คือสไตล์คุณนะ เราจะรู้สึกดีว่าเรามีอัตลักษณ์แล้ว อย่างการวาดรูปที่คุณคิดว่าทั้งประเทศมีสไตล์แบบเราคนเดียวเท่านั้น ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีสไตล์นี้อีกเป็นร้อยคนในโลก เมื่อสุดท้ายสไตล์เราไปเหมือนกับคนอื่น คำถามคือสำคัญไหมว่าเราจะซ้ำกับใคร เพราะถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจซ้ำกับใคร แต่บังเอิญว่าไปซ้ำกับคนอื่น ไม่ได้แปลว่าคุณไม่มีอัตลักษณ์ คุณไม่จำเป็นต้องไปเครียดกับมัน เพราะอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างโดยสิ่งแวดล้อม
ผมไม่เคยนิยามงานของตัวเองได้เลยว่าเป็นสไตล์ไหน แต่ผมรับรู้อัตลักษณ์ตัวเองจากคนอื่นที่บอกเรา ผมไม่กลัวที่จะสร้างอัตลักษณ์จากคำบอกเล่า เพราะรู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์ มันก็ทำให้เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน
ฮ่องเต้ – กนต์ธร เตโชฬาร
จำเป็นไหมที่ต้องมีภาพของตัวตนในฝัน แล้วจุดสิ้นสุดของการตามหาตัวตนอยู่ตรงไหน
ฮ่องเต้: ภาพของตัวตนในฝัน เหมือนการสร้างเป้าหมายให้ชีวิตตัวเอง บางคนอาจต้องมีไอดอลไว้ยึดเหนี่ยว แต่สำหรับตัวผมคิดว่าไม่จำเป็น ทุกวันนี้เด็กคิดว่าต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนไปเลย แต่จริงๆ แล้วเราไม่ต้องรีบเร่งขนาดนั้น ลองค้นหาไปเรื่อยๆ ว่าเราเก่งด้านไหน ถ้าไม่เก่งด้านนี้ ไปทำด้านอื่นก็ได้
โตมร: ผมเคยดูสารคดีเรื่องหนึ่ง ที่เล่าชีวประวัติของ นาโอมิ โอซากะ (นักเทนนิสอาชีพชาวญี่ปุ่น) เขาเล่นเทนนิสตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นนักเทนนิสตั้งแต่เขายังไม่เกิดมาเลย แรกๆ เขารู้สึกไม่ชอบมัน แต่ต้องทำเพื่อพ่อแม่ สุดท้ายสิ่งที่การเล่นเทนนิสกลายเป็นตัวตนของเขา ความฝันของเขาคืออยากเป็นนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก
คนที่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรชัดเจนตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องดี ตอนเด็กๆ นาโอมิเขาไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากเป็นอะไร เขาถูกปลูกฝังจากครอบครัวให้เป็นนักเทนนิส และเขาก็เกิดชอบกีฬาชนิดนี้ขึ้นมาจริงๆ ภาพของตัวตนในฝันจึงเป็นเรื่องที่ตอบยาก ขึ้นอยู่กับจังหวะ โอกาส ซึ่งพ่อแม่ลองสังเกตความชอบของลูกแล้วสนับสนุนสิ่งนั้นตั้งแต่เขายังเล็กได้ ถ้ายังไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ค้นหาต่อไป แต่ถ้ารู้ก็จะดีกว่าเพราะจำเป็นสำหรับบางความฝันที่ต้องฝึกทักษะตั้งแต่เด็ก
เมษ์: เด็กหลายคนกดดันเพราะมีความคาดหวังว่าจะต้องรีบหาตัวตน ซึ่งการเลือกตัวตนของตนเองสำหรับบางคนอาจจำเป็นต้องมีการแนะนำ แต่อีกทางหนึ่งเราอาจทดลองทำหลายๆ อย่างเพื่อค้นหาสิ่งที่ใช่ หรืออาจจะใช้การถามจากคนที่เป็นไอดอลเรา หรือคนที่ทำอาชีพนั้น ถึงวันที่ดีที่สุดของเขาและวันที่แย่ที่สุดของเขา วันที่แย่ที่สุดเรารับได้หรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าเราจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาดี
มาย-กษิรา พรนภดล
มาย: เรามีความคาดหวังว่าฉันจะต้องเก่ง แล้วพอถึงจุดที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง หลายคนอาจคิดว่าฉันเป็นคนที่ห่วย ฉันแก้ไขอะไรไปมันก็ไม่ดีขึ้น วิธีแก้ไขของเราคือการพยายามหางานอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การทำงานประจำให้ชีวิต เพื่อที่จะบอกกับตัวเองว่า ลองอีกสักตั้งสิ ความจริงแล้วเราชอบอะไรกันแน่
บางครั้งเราอาจคิดไม่ให้อภัยตัวเอง โทษตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าเราไม่เก่งพอสำหรับสังคม เราไม่เหมาะสมที่จะอยู่ตรงนี้ มันกลายเป็นว่าเราไม่มีพื้นที่บนโลกใบนี้ ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความจริงแล้วมันไม่เป็นไรเลย สมมติว่าจุดนี้เรายังไม่ได้ดี 100% มันก็เป็นแค่ Milestone อย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพื่อพาให้เราไปเจอตัวเองในที่สุด
เส้นทางในการค้นหาและค้นพบตัวตนของแต่ละคน
มาย: มายพยายามรู้จักตัวเอง อย่างน้อยต้องรู้นิสัยของเรา ทำให้มายรู้ว่าพอเรามีความคิดนี้ต้องแย่แน่นอน ต้องหาวิธีคิดให้เราภูมิใจในตัวเอง มองเส้นทางที่เราเดินว่าเป็นบทเรียนในชีวิต รู้ว่าสิ่งนี้คือข้อเสียของตัวเอง จะปรับปรุงตัวเองได้อย่างไรบ้างเพื่อลดข้อเสียนั้น
มายจะไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว ค้นหาว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราจะไปได้ไกลแค่ไหน เราจะค่อยๆ เจอตัวเองในระหว่างทาง ค้นพบข้อดีของตัวเอง เราไม่ได้บอกว่าเราหาตัวเองเจอแล้วนะ แต่ในระหว่างทางเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าฉันเป็นคนที่มีความอดทนดีนะ ฉันเป็นคนเรียนรู้เร็ว และเมื่อเจอข้อดีเราก็คอยชมตัวเองในระหว่างทางไปด้วย อย่างน้อยเรารู้ว่าเราทำอะไรได้บ้างในระหว่างเส้นทางที่ค้นหาตัวเอง เพื่อทำให้ไม่รู้สึกแย่ว่าทำไมเราไปไม่ถึงจุดนั้นสักที
โตมร: ตอนเด็กๆ สมัยที่เรียนมัธยมปลาย จำได้ว่ามีการสอบเพื่อเป็นแพทย์ชนบท ผมติด 1 ใน 5 คนที่ได้คะแนนสูงสุดของจังหวัด และ 5 คนนี้ได้คะแนนสูงสุดคนละวิชาด้วยนะ ซึ่งตัวผมได้ท็อปวิชาสามัญ 1 ก็คือวิชาสังคมกับภาษาไทย ที่จริงตอนนั้นผมควรคิดได้แล้วว่าเราไม่ได้มาทางสายวิทยาศาสตร์ แต่เราก็ยังเลือกสอบคณะสายวิทย์ และสอบติดคณะวิทยาศาสตร์
พอเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยนอกจากเราจะได้เรียนวิชาคณะตัวเองแล้ว ก็ได้เรียนวิชาของคณะอื่นด้วย ได้เข้าชมรมต่างๆ พบว่ามีสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ ผมจะได้ A วิชานอกคณะ แต่วิชาในคณะคะแนนไม่ดีเลย พอเรียนใกล้จบก็เริ่มคิดแล้วว่าจะทำอะไรต่อ ถ้าเกรดเราออกมาเป็นแบบนี้ พอนึกถึงความถนัดและความชอบของตัวเอง เลยเริ่มทำงานนิตยสารตำแหน่งกองบรรณาธิการตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เรื่องนี้ทำให้คิดว่าถ้าระบบการศึกษาแนะแนวดีพอตั้งแต่แรก เราคงไม่ต้องเรียนคณะวิทยาศาสตร์ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ได้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มีประโยชน์ในการทำงาน
ผมเป็นคนที่เปลี่ยนความชอบตัวเองไปเรื่อยๆ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เจอตัวตนของตัวเอง รู้แค่ว่าพอเจอสิ่งที่ไม่ชอบแล้วจะหยุดทันที เลยต้องสร้างทางเลือกของตัวเองไว้หลายๆ ทาง
ฮ่องเต้: ความที่เราเป็นคนไม่โทษตัวเอง ทำให้เราลองทำมันทุกอย่างเลย เมื่อเรารู้สึกว่าเราชอบอะไรเราจะให้เวลากับมันเยอะมาก ตอนที่ผมเป็นนักพากย์ เป็นช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่สนุกมาก ทำงานทุกวันบางทีก็ต้องอยู่ทั้งวันตั้งแต่เช้าจนดึก แต่ทำแล้วมีความสุขมาก นอกจากนี้ผมก็ได้ทำงานหลายๆ อย่าง คือมีอะไรให้ทำผมทำหมด เป็นอาชีพอิสระ การที่ได้ทดลองทำอะไรหลายอย่าง บางครั้งก็ไม่ได้จะรอดทุกอย่าง เราอาจยอมแพ้บ้างแต่ก็ได้เรียนรู้เพื่อให้มีประสบการณ์
อีกเรื่องหนึ่ง ภาพที่เราคิดว่าถ้าทำเรื่องนี้ออกมาต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้แน่ๆ กับการลงมือทำ พอเกิดขึ้นจริงอาจไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องลงมือทำเลย เราจะสังเกตได้ว่าถ้าเจอสิ่งที่ใช่สำหรับเรา เมื่อเราทำแล้วจะมีความสุข สนุก ภูมิใจ ถ้าไม่สนุกก็แค่หยุด ไปเริ่มหาจุดใหม่ที่ทำให้เราสนุก แต่ถ้าเราเจองานที่ชอบแต่เงินไม่ดี กับงานที่ไม่ชอบแต่ได้เงินเลี้ยงตัวเองได้ ให้ทำทั้งสองอย่างคู่กัน เพื่อให้เราได้อยู่กับสิ่งที่ชอบด้วย และก็ยังมีเงินใช้ แต่ต้องทำอย่างระวังและรอบคอบ
เมษ์: บางครั้งเราชอบตีกรอบชีวิตไว้แค่ลำดับ 1 2 3 4 เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นการจำกัดจุดของตัวเอง ลองคิดให้ไกลกว่านั้น สร้างจุดของตัวเองให้มากขึ้น แล้วออกแบบชีวิตของตัวเองเพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและอิสระมากขึ้น หรือการที่เราเป็นเป็ด เป็นคนที่ทำอะไรได้หลายอย่างแต่ไม่โดดเด่นสักอย่างก็เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งได้เหมือนกันนะ
การหาตัวตน อาจหมายถึงการที่เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ถ้าการหาคำตอบทำให้คิดเยอะมากจนไม่รู้จะทำอะไรก็ไม่ต้องหาก็ได้ ลองใช้คำว่า ‘ช่างมัน’ บ้าง จะทำให้ชีวิตกล้าลองอะไรมากขึ้น ถ้ามัวแต่คิดมากว่า ทำแบบนั้น ทำแบบนี้ จะดีไหม จะเป็นตัวฉันหรือเปล่า คนอื่นจะชอบไหมนะ แล้วมันทำให้เราคิดอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้ลงมือทำ ก็บอกตัวเองว่า ‘ช่างมัน’ ไม่ต้องหาคำตอบ ลงมือทำเลย มันจะยิ่งทำให้ตัวเราชัดขึ้น เพราะสิ่งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้หรือมีข้อมูลในการตัดสินใจที่เพิ่มขึ้น หลายครั้งเราอาจจะคิดเยอะไป ซึ่งจริงๆ อัตลักษณ์อาจไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ หรือถ้ามีอัตลักษณ์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้เหมือนกัน
วิกฤติการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย
มาย: วัยของมายเป็นช่วงที่มีการเปรียบเทียบกันมาก เพื่อนวัยเดียวกันประสบความสำเร็จแล้ว ทั้งการทำงาน การแต่งงานมีครอบครัว ขณะที่ตัวเรายังไม่ไปถึงจุดนั้นเลย
การเปลี่ยนมุมมอง เอาตัวเองมองอีกด้าน การค้นหาจุดต่างๆ ไปเรื่อยๆ เราจะค้นพบตัวเองในที่สุด มายเลยจะค่อยๆ บอกกับตัวเองเรื่อยๆ ว่า เส้นทางความสำเร็จและจุดที่ประสบความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะใช้เวลานาน บางคนความสำเร็จอาจจะมาในรูปแบบอื่นที่ต่างกับเพื่อน ไม่ต้องรู้สึกแย่ถ้าเราไม่เหมือนเพื่อนเพราะความสำเร็จของทุกคนไม่เหมือนกัน
เมษ์: ถ้าเรานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ในจุดที่ผลไม้ต้องหล่นใส่หัวเราแน่ๆ ถ้าเราไม่ย้ายที่นั่งยังไงเราก็ต้องเจ็บตัว บางครั้งเรากำลังมองปัญหาที่แก้ไม่ได้อยู่หรือเปล่า เราลองออกมาเพื่อให้ปัญหาที่แก้ไม่ได้กลายเป็นปัญหาที่แก้ได้ไหม
ก่อนแต่งงานเมษ์อยากท่องเที่ยวทั่วโลก อยากประสบความสำเร็จในการทำงาน เปิดบริษัทที่ต่างประเทศ แต่พอเราแต่งงานมีลูก เราไม่สามารถไปได้สุดในสิ่งที่เราต้องการก่อนหน้านั้นได้ เรามีงาน และเรามีลูก เราต้องคิดแล้วว่าจะทำงานยังไงให้มีความสุขและดูแลลูกได้ เลยมาถอดรหัสตัวเองว่าทำไมอยากท่องโลกล่ะ มันทำให้เรารู้สึกดีใช่ไหม ทำสิ่งอื่นที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบเดียวกันได้หรือเปล่า ส่วนบริษัทไม่จำเป็นต้องมีสาขาต่างประเทศก็ได้ เป็นบริษัทในประเทศไทยแต่เรามีเวลาดูแลลูกดีกว่า
ลองเปลี่ยนประโยคปัญหาให้เป็นประโยคคำถาม คำตอบจะมาเมื่อตั้งคำถามกับมัน อย่าปิดตาย เพื่อชีวิตจะได้ไปต่อ พยายามตั้งคำถามใหม่ๆ กับตัวเอง หรือให้คนรอบตัวช่วยตั้งคำถามให้กับเราก็ได้ การออกแบบชีวิตไม่จำเป็นต้องคิดเองคนเดียว คนรอบตัวช่วยเราได้
ฮ่องเต้: บางครั้งการหาทางออกให้ชีวิตตัวเอง ถึงแม้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่แค่ได้คิดหาวิธีก็ทำให้เราเป็นคนคิดอะไรได้มากขึ้น อย่างผมกับแฟนเคยคิดกันเรื่องย้ายประเทศ ซึ่งมันก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงหรอก แต่แค่คิดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง มีขั้นตอนอะไร แค่นี้ก็สนุกแล้วนะ เป็นวิธีให้สมองเราได้ฝึกคิด
มีคนถามผมว่าถ้าไม่วาดรูปแล้วจะทำอะไรต่อ ผมตอบได้ทันทีเลยว่า “หาอย่างอื่นทำสิ”เรายังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ได้ทำอันนี้แล้วก็หาอย่างอื่นทำ เราต้องลุก ใครลุกเร็ว มีโอกาสในชีวิตมากขึ้น และเราต้องไม่มองตัวเองแย่ ขณะที่เราคิดว่าตัวเองยังไม่ดีพอ เราอาจเป็นไอดอลของใครบางคนอยู่ก็ได้
โตมร: ผมทำงานนิตยสาร เงินเดือนก็จะได้น้อยกว่าเพื่อนที่ทำงานอาชีพอื่นอย่างวิศวกร พวกเขาเงินเดือนสูง ทำงานเก็บเงินแล้วเอาไปเล่นหุ้นจนร่ำรวย เรารู้สึกว่าเราไม่มีทางจะรวยได้เหมือนเขา แต่พวกเขากลับอิจฉาเรา เพื่อนบอกว่าอาชีพของผมคือคนที่กำหนด Agenda ให้กับสังคม สิ่งที่ผมทำส่งผลต่อคนจำนวนมาก เป็นอาชีพที่มีอิทธิพลต่อสังคม แต่อาชีพของเขาทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ละอาชีพจึงมีข้อดีต่างกันไป
ช่วงอายุ 30 ปลายๆ ผมมี Crisis เรื่องการทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ตำแหน่งนี้ไม่ได้ทำแค่งานเขียนอย่างเดียว ต้องดูแลลูกน้อง ต้องพบลูกค้า พอทำงานมานานๆ รู้สึกว่าทุกอย่างวนลูปเดิม เราไม่ตื่นเต้นแล้ว พอทำอาชีพหนึ่งมาจนมั่นคงแต่อาชีพนี้ไม่เติมเต็มเราแล้ว เราจะทำยังไงต่อดี พอจะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้งอีก เพราะอายุมากแล้วที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ แต่สุดท้ายผมก็เลือกที่จะเลิกทำ
เมื่อเราออกมาจาก Comfort Zone เหมือนเราได้เป็นเด็กอีกครั้ง เราไม่มีกรอบเดิมๆ ทำให้เราสามารถพุ่งไปหาสิ่งใหม่ๆ ได้มาก ด้านหนึ่งอาจอันตราย แต่อีกด้านหนึ่งทำให้รู้ว่าเราต้องการอะไรจริงๆ ซึ่งนำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ได้เรื่อยๆ
วิกฤตจะทำให้เกิดตัวตนใหม่ คล้ายกับปูเสฉวนเวลาเปลี่ยนกระดอง ตอนออกมาจะเป็นช่วงที่เปราะบางมาก เราอาจรู้สึกว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ความอ่อนแอนี้เป็นช่วงเวลาที่จะทำให้เรารู้ความต้องการของตัวเอง แล้วพอเราโตจนเข้ากับกระดองใหม่ได้แล้ว แต่รู้สึกว่ากระดองนี้ไม่เหมาะกับเราเท่าไร เราก็ออกมาได้ เพื่อเปลี่ยนกระดองใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้แหละ ที่จะทำให้เราค่อยๆ เติบโตขึ้น และรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราชอบอะไร
4 หนังสือแนะนำให้อ่าน เพื่อการค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง
RANGE: Why Generalists Triumph in a Specialized World หรือ วิชารู้รอบ
ผู้เขียน: David Epstein
ผู้แปล: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
(หนุ่ม - โตมร ศุขปรีชา แนะนำ)
หนังสือที่อธิบายความเป็น ‘เป็ด’ เพราะคนสมัยนี้รู้สึกว่าตัวเองมีความรู้แบบเป็ดเยอะ คือรู้หลายด้าน แต่ว่าไม่เก่งอะไรเลย หากเราคิดว่า ‘รู้ลึก’ ดีกว่า ‘รู้กว้าง’ หนังสือเล่มนี้จะยกตัวอย่างจากหลากหลายวงการมาบอกว่าบางครั้งการรู้กว้างมันก็อาจจะดีกว่ารู้ลึกได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะให้ดีเราก็ควรรู้ทั้งลึกและกว้าง แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกทุกเรื่อง แต่ก็มีหลายๆ เรื่องที่ต้องรู้กว้างเอาไว้ หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจความเป็นเป็ดว่าดีอย่างไร และอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจตัวเองมากขึ้น
The Power of Now หรือ พลังแห่งจิตปัจจุบัน ทางสู่การตื่นรู้และเยียวยา
ผู้เขียน: Eckhart Tolle
ผู้แปล: พรรณี ชูจิรวงศ์
(เมษ์ - เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล แนะนำ)
หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราเข้าใจได้ว่าการอยู่กับปัจจุบันสำคัญอย่างไร เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณที่เราต้องไหลไปตามความคิดและให้ความสำคัญกับการโฟกัสอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ในมิติที่ว่า ความไม่ชัดเจนที่มันเกิดขึ้นนั้น บางครั้งเพราะเราไปฟังอะไรมากเกินไป เราสนใจแต่เสียงของสังคม เพราะฉะนั้นการโฟกัสที่ตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง ไม่ไหลตามเสียงอื่นๆ จะทำให้เราเห็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ความเป็นตัวเราจะชัดเจนมากขึ้น
They Both Die at the End หรือ โอกาสสุดท้าย, ในวันตายของเรา
ผู้เขียน: Adam Silvera
ผู้แปล: Tulip
(มาย - กษิรา พรนภดล แนะนำ)
เล่มนี้เล่าเรื่องราวของโลกที่มีข้อความส่งมาให้รู้ว่าเราจะตายวันพรุ่งนี้ เมื่อชีวิตเหลือเวลาอีกแค่เพียงวันเดียว เราจะใช้เวลาที่เหลือกับเรื่องอะไร ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วเราอยากจะทำอะไร ตัวตนของเราจริงๆ คืออะไร วันที่เรากำลังจะตายกลายเป็นวันที่เราเห็นตัวเองจริงๆ ซึ่งมันเป็นการตั้งคำถามให้ตัวเองด้วยว่า ถ้าสมมติพรุ่งนี้เราไม่อยู่แล้ว สิ่งสำคัญในชีวิตของเราคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราอยากถูกจดจำจากสังคม
Houses with a Story
ผู้เขียน: Yoshida Seiji
(ฮ่องเต้ - กนต์ธร เตโชฬาร แนะนำ)
หนังสือเล่มนี้นักวาดภาพประกอบออกแบบบ้านจากโลกแห่งความฝันผ่านจินตนาการที่เปลี่ยนเจ้าของบ้านไปเรื่อยๆ การออกแบบบ้านจึงมาจากตัวตนเจ้าของบ้าน ซึ่งมีทั้งผู้หญิงที่เลี้ยงมังกร นักบินอวกาศ เอลฟ์ ซึ่งตัวตนของแต่ละคนก็สะท้อนออกมาผ่านสถาปัตยกรรม ผ่านการออกแบบ ทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละคือความงดงามของการเป็นตัวเองจริงๆ ซึ่งบ้านแต่ละหลังจะมีความเป็นตัวเองอย่างชัดเจนและสวยงามในแบบของมัน และที่สำคัญคือบ้านทุกหลังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นั่นหมายความว่าการเป็นตัวเองก็อยู่ในสังคมได้ คุณไม่ต้องกลัวที่จะเป็นตัวเอง เพราะมันสวยงามในแบบของคุณ