nanglen band วงดนตรีบรรเลงชีวิต
“เพลงของวงนั่งเล่นเป็นเพลงเพ่งเรื่องชีวิต พูดถึงความจริงที่อยู่บนโลกใบนี้ เราอยากทำเพลงที่ตัว A ใหญ่กว่า ตัว C อยากเน้นเรื่องศิลปะ ทำให้เพลงมันมีคุณค่ามากกว่าแค่ประโลมใจ”
ประโยคข้างต้นเป็นคำจำกัดความของวงดนตรีระดับตำนาน ที่เกิดจากกลุ่มนักดนตรีผู้คว่ำหวอดให้วงการเพลงไทย มากว่า 30 ปี ประพันธ์เพลงมากกว่าพันเพลง พวกเขารวมตัวกันในฐานะของวงดนตรีชื่อว่า ‘นั่งเล่น’ และผลิตบทเพลงเนื้อหาแฝงปรัชญาสอนใจ ชวนมองโลกในแง่ทุกข์ให้เป็นสุข ตามแบบฉบับของพวกเขา เช่น สายลม, ดอกไม้ในที่ลับตา, ใจคน, รักใหญ่กว่าโลกทั้งใบ และอีกมากมาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพลงอะไร ก็ล้วนแต่ปลุกพลังอะไรบางอย่างให้กับคนฟังได้อย่างน่าประหลาด
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงจัดกิจกรรม TK Music Ed. 2016: นั่งฟัง นั่งคุยกับวงนั่งเล่น ชวนสมาชิกและผู้สนใจกิจกรรมมาร่วมปล่อยอารมณ์ชิลๆ กับการแสดงดนตรีแสนสบาย แฝงด้วยเนื้อหาลึกซึ้งกินใจ ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2559 ห้อง Learning Auditorium อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8
วงนั่งเล่นมีสมาชิกทั้งหมด 9 คน เริ่มจาก เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์ (นักร้องนำ) เจ้าของบทเพลงดังมากมาย อาทิ ใช่เลย, ขอให้เหมือนเดิม, เล่าสู่กันฟัง เป็นต้น ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์ (กีต้าร์โปร่ง) ผู้ควบคุมการผลิตผลงานเพลงของศิลปินมาหลายรุ่นต่อหลายรุ่น ตั้งแต่ ชรัส เฟื่องอารมย์, ปั่น ไพบูลย์เกียรติ, ปุ๊ อัญชลี, ลานนา ตามด้วย พง-อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา (คีย์บอร์ด) อดีตหัวหน้าวงพลอย และโปรดิวเซอร์ให้กับ ตู่-นันทิดา, ตุ๊ก-วิยะดา, ต่าย-เพ็ญพักตร์ จนไปถึง กบ แท่ง มอส สมาชิกคนต่อมา ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ (กีต้าร์อะคูสติก) เจ้าของผลงานเพลง อย่ายอมแพ้, รักเธอจริงๆ, ใจเอย, รักเธอนิรันดร์ ฯลฯ ตามด้วยนักร้องเก่าอย่าง ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์ (กลอง) และตำแหน่งกลองอีกคนคือ ตุ๋ย-พรเทพ สุวรรณะบุณย์ ต่อด้วย แตน-เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (คีย์บอร์ด) ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดัง อย่าง ปาฏิหาริย์, คนไม่มีวาสนา, A tu Corazon เป็นต้น เก่ง-เทอดไทย ทองนาค (กีต้าร์ไฟฟ้า) ผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินชื่อดัง เช่น เจ เจตริน, แดน-บีม, ไชน่า ดอลล์ และ โอ-ศราวุธ ฤทธิ์นันท์ (เบส) Sound engineer ให้กับ แคล, ลานนา, พั้นช์ เป็นต้น
กิจกรรมนั่งฟัง นั่งคุยกับวงนั่งเล่น เปิดด้วยบทเพลง ความสุขไม่ใช่นก ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีนัยยะถึงเรื่องความทุกข์ ความสุข ว่ามีเกิดขึ้นมาแล้วก็หายไป อยากซื้อก็ไม่มีขายและไม่ได้ยั่งยืน ต่อด้วยเพลง Dream บทเพลงแฝงข้อคิดเรื่องการตามหาความฝันของตัวเองให้เจอและทำให้มันจริง และเพลง สิ่งที่เป็นกับสิ่งที่เห็น โดย เป๋า-กมลศักดิ์ เป็นตัวแทนของวงเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการแต่งเพลงให้ฟังว่า
“เพลงเกือบทุกเพลงทำด้วยความเชื่อที่ว่าความทุกข์ ความสุขมันเป็นวัฏจักรวนๆ ไปๆ มาๆ เพียงแต่เราอยากเตือนความจำด้วยการแต่งเป็นเพลงขึ้นมา อย่าง เพลงสิ่งที่เป็นกับสิ่งทีเห็น เป็นเพลงที่ 2 ของวงนั่งเล่น ตอนนั้นเราก็เอาไปคุยกันในวง คุยกับพี่ตุ่น เพราะปกติทุกเพลงของวงนั่งเล่นเกิดจากการพูดคุยเรื่องชีวิตทั่วๆ ไป ไอเดียแรกมันเริ่มจากความคิดที่ว่าในโลกนี้มีอยู่สองสิ่ง คือสิ่งที่เป็นกับสิ่งเห็นเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ เพราะสิ่งที่เป็นอาจจะมองไม่เห็นด้วยตา”
“ถ้าถามว่าทำไมเพลงวงนั่งเล่น อย่างเพลงสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่เห็น ทำไมไม่ปกติ ไม่เอบีหรือเอบีฮุกอะไร ก็ต้องขอเล่าย้อนไปว่า ปกติตอนเราทำงานเป็นคนเบื้องหลังในองค์กรใหญ่ เราต้องยึดสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบ เราแต่งเพลงไปแล้วเขาจะชอบจะฮิตไหม พอมาถึงจุดหนึ่งเราอยากทำงานเพลงที่ออกมาข้างใน โดยต้องคำนึงถึงการตลาด ไม่เอากรอบของดนตรีมากำหนด อย่างเช่นว่า ถ้าเกิดจะให้มันป็อบจะต้องมี ท่อนเอ ท่อนบี ท่อนฮุก ให้ติดหู แต่เพลงนี้เป็นเพลงเล่าเรื่อง ถึงสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่เห็น มีเรื่องราวในตัวเอง เพียงทำให้พอดี ไม่ได้คิดว่าต้องมีกรอบอะไรมาครอบ คือเรารู้สึกพอดีก็จบแค่นั้น” ตุ่น-พนเทพ พูดถึงสไตล์การแต่งเพลงสิ่งที่เป็นกับสิ่งเห็น
ถัดจากช่วงสนทนาสั้นๆ วงนั่งเล่นก็บรรเลงเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม สะท้อนชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เพลงฟ้ายิ่งมืดดาวยิ่งสว่าง, เพราะเธอ, ดอกไม้ในที่ลับตา, คนดีไม่มีวันตาย, สิ่งสมมุติ ซึ่งล้วนแต่เป็นบทเพลงที่สะท้อนความจริงที่มีต่อโลกใบนี้
“ตอนที่เราเข้าวงการเพลงใหม่ อยู่ในบริษัท แน่นอนว่าเขาทำการค้าเพราะเขาลงทุน เขาก็จะบอกเราว่าไม่ทำเพลงที่เป็นศิลปะเพียวๆ นะ เพราะเดี๋ยวขายไม่ได้ แต่จะทำศิลปะเชิงพาณิชย์คือจะเป็นศิลปะก็ได้ แต่ต้องขายได้ เราอยู่ตรงนั้นมาหลายสิบปี จนมาตอนนี้ก็เลยคิดอยากทำเพลงที่เน้นศิลปะมากกว่าการค้า จึงไม่แปลกที่เพลงของวงนั่งเล่นจะไม่ได้เป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และพี่ก็ไม่เชื่อด้วยว่าทำเพลงพวกนี้แล้วจะไม่มีคนฟัง พี่เชื่อว่ายังมีคนชอบเพลงแบบนี้อยู่เยอะ หรือจริงๆ มีคนฟังสัก 5 หรือ 10 คน แต่ตั้งใจฟัง เราก็มีความสุข”
และสุดท้ายก่อนมินิคอนเสิร์ตจะจบ วงนั่งเล่น นำเพลงที่ยังไม่เคยเล่นที่ไหนมาเล่นที่ อุทยานการเรียนรู้ TK park เป็นที่แรกกับเพลง น้ำหวาน ซึ่งเป็นบทเพลงที่เกิดจากการตกตะกอนทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องการทำความดี ที่คนจำนวนมากชอบบ่นว่าทำดีทำไมยังไม่ได้ พวกเขาจึงแต่งเพลงเพื่อสะท้อนว่า จงทำความดีต่อไปเถิด เพราะอย่างไรก็คือความดี พร้อมปิดท้ายด้วยเพลงแรกของวง อย่าง เพลงสายลม อีกหนึ่งเพลงความหมาย ดีๆ ที่ศิลปินระดับตำนานฝากข้อคิดให้ฟังว่า
“ถ้าความทุกข์เข้ามา อย่าไปรังเกียจ คบมันเป็นเพื่อนไปเลย เพราะยังไงก็หนีไม่พ้นอยู่แล้ว ยิ่งท้อใจยิ่งแย่ เอาใจมาร้องเพลงกันดีกว่า”