
อุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ซึ่งเปิดให้บริการที่ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 กำลังเตรียมการย้ายไปให้บริการที่อาคารแห่งใหม่ บริเวณถนนแหลมสน สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) จึงร่วมประชุมหารือกับเทศบาลนครสงขลา นำโดยนายดนุพล สุนทรัตน์ รองนายกเทศมนตรี เพื่อสนับสนุนกระบวนการเตรียมความพร้อมในการย้ายสถานที่ให้บริการ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568
การประชุมหารือมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นดังนี้
1) การจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็น (Focus Group) จากภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมและบริการที่ต้องการให้มีในอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา ข้อเสนอเกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเสนอรายชื่อภาคส่วนต่าง ๆ ตามหมวดหมู่ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ผู้แทนชุมชน และตัวแทนเด็กและเยาวชน โดยจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่เกิน 50 คน และคาดว่าจะจัดขึ้นในราวปลายเดือนกรกฎาคม 2568
2) การเพิ่มหนังสือและสื่อการเรียนรู้ นอกเหนือจากที่ให้บริการอยู่เดิม เพื่อสนับสนุนการเปิดพื้นที่ให้บริการแห่งใหม่ สอร. จะสนับสนุนหนังสือและสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา โดยเน้นที่หนังสือเด็กและเยาวชน ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก หนังสือที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้นำสื่อการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ต่อไป

3) ความพร้อมด้านบุคลากร เทศบาลฯ แจ้งว่าได้เตรียมบุคลากรที่กองการศึกษาเพื่อมาปฏิบัติงานที่อุทยานการเรียนรู้แห่งใหม่ ซึ่ง สอร. ขอให้พิจารณาความเหมาะสมซึ่งจะขึ้นอยู่กับวันและเวลาในการเปิดให้บริการ รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมกิจกรรม Focus Group ด้วย เพื่อจะได้ทำความรู้จักกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ และข้อเสนอแนะในเรื่องการให้บริการ
4) ความพร้อมด้านพื้นที่ ในขณะนี้พื้นที่อาคารดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ สิ่งที่ต้องจัดทำเพิ่มคืองานปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น การปรับลานกลางแจ้ง (บริเวณน้ำพุปลาโลมา) ให้เป็นลานออกกำลังกาย ลานแสดงออก (ลานสานฝัน) เพื่อเป็นพื้นที่ให้ภาคส่วนต่าง ๆ มาจัดกิจกรรม โดยเทศบาลมีบริการเวทีน๊อคดาวน์และเครื่องเสียงให้บริการ การจัดสวน และการจัดทำป้ายสัญลักษณ์ ซึ่งคาดว่างานดังกล่าวจะแล้วเสร็จสิ้นภายใน 120 วัน
สืบเนื่องจากข้อ 4 ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับกำหนดการเปิดให้บริการ โดยอาจพิจารณาทางเลือก 2 ทาง ได้แก่ 1) เปิดให้บริการอุทยานการเรียนรู้ไปก่อน เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ โดยอาจเป็นการทดลองเปิดให้บริการ (soft opening) หรือ 2) รอให้การจัดภูมิทัศน์ภายนอกแล้วเสร็จและเปิดให้บริการพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เห็นภาพรวมของทั้งบริการและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกอาคารอย่างครบถ้วน ซึ่งผู้บริหารเทศบาลฯ จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาต่อไป



