อยากมีหนังสือสักเล่มต้องทำอะไรบ้าง
ทุกวันนี้การนำเสนองานเขียนออกสู่สายตาผู้อ่านไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะมีพื้นที่สื่อออนไลน์มากมายทั้งเฟซบุ๊ก บล็อก แอพพลิเคชั่น รวมถึงเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์หลายแห่งที่เริ่มเจาะตลาดออนไลน์ จึงเปิดกว้างให้นักเขียนหน้าใหม่ไฟแรงสามารถนำผลงานไปเผยแพร่ได้ แต่หากต้องการยืนยันการมีอยู่ของผลงานเขียนในรูปแบบที่จับต้องได้ การตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่นักเขียนหลายคนอยากพิชิต
ค่ายอบรมแจ้งเกิดวรรณกรรม TK Young Writer 2016 จึงชวนยู - กตัญญู สว่างศรี บรรณาธิการสัมภาษณ์นิตยสาร GM นักเขียนสายห้าวที่เคยผ่านประสบการณ์เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเองภายใต้ชื่อสำนักพิมพ์นกเค้า และพี่เต้ - จิราภรณ์ วิหวา ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นนักเขียนขี้อายและไม่บู๊เท่าสายห้าว ส่วนใหญ่จึงเลือกทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์เป็นหลัก มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อแนะนำแนวทางให้น้องๆ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ได้เข้าใจความแตกต่างรวมถึงข้อดีข้อด้อยของแต่ละวิธีการพาหนังสือไปสู่ผู้อ่าน
ความห้าวในวัยหนุ่มที่คุ้มค่า
ยู - กตัญญู สว่างศรี เล่าว่าเขาเคยเป็น a team junior นักศึกษาฝึกงานของนิตยสาร a day ที่มีทักษะในการเขียนอ่อนด้อยที่สุดในบรรดาเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหมด หลังจบโครงการจึงพยายามหาวรรณกรรมระดับโลกที่ได้รับรางวัลมาอ่านเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มหลงใหลงานวรรณกรรมมากขึ้น เขาจึงตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าอยากมีงานเขียนลงช่อการะเกด นิตยสารเรื่องสั้นคุณภาพที่คนในแวดวงวรรณกรรมยอมรับให้ได้ เวลาผ่านไปสามปี เรื่องสั้นชื่อ ความทรงจำ ก็สอบผ่านสมความตั้งใจ แต่ยูยังอยากพิสูจน์ตัวเองให้มากขึ้นไปอีก ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้นคอลัมน์ อยู่กับกู๋ ที่เขาเขียนลงนิตยสาร Happening มาอย่างต่อเนื่องได้รวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กพอดี แต่ยังมีบางองค์ประกอบที่นักเขียนหนุ่มรู้สึกอยากปรับให้ถูกใจตัวเองมากยิ่งขึ้น สองปัจจัยนี้จึงนำมาสู่การตัดสินใจก่อตั้งสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นด้วยตัวเอง
“ผมไม่มีความรู้เลยนะครับ แต่ผมอยากมีหนังสือสักเล่มที่เป็นของตัวเองทุกกระเบียดนิ้ว อยากเห็นอาร์ตเวิร์กทุกอย่างที่เป็นตัวตนของเรา ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย” รวมเรื่องสั้น คำสาป คือหนังสือเล่มที่ว่านั้น ซึ่งในครั้งแรกตีพิมพ์เพียง100 เล่มเท่านั้น ด้วยรูปแบบการ Print On Demand โดยใช้เงินทุนราวหมื่นกว่าบาท
หลังจากมีหนังสืออยู่ในมือแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการขายด้วยตัวเอง เพราะหนังสือมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะใช้บริการสายส่ง เขาเลือกใช้วิธีตระเวนไปตามบูธที่เน้นหนังสือแนววรรณกรรมในงานสัปดาห์หนังสือ อาศัยความกล้าเข้าไปแนะนำตัวและฝากขายหนังสือกับรุ่นพี่ร่วมวงการน้ำหมึกที่ไม่รู้จักแบบซื่อๆ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีทีเดียว เมื่อหนังสือล็อตแรกขายหมดเกลี้ยง เขาจึงตัดสินใจพิมพ์เพิ่มอีก 1,500 เล่ม และเข้าไปคุยกับสายส่งเพื่อหาช่องทางเผยแพร่ผลงานไปสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น
“ทุกกระบวนการที่ลงมือทำมันเหนื่อยมาก ต่อรองราคาก็ต้องทำ ใบเสนอราคาก็ต้องทำส่งโรงพิมพ์ ถ้าคุณไม่มีแรง ไม่มีความต้องการมากพอ อาจจะไม่ไหว และผลตอบแทนที่ได้รับมันก็ไม่ใช่เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่จะมีความสุขมากเมื่อเห็นลูกของเราเติบโตและได้รับการพูดถึง มันคือความอิ่มเอมแบบที่คนวัยหนุ่มควรได้รับเมื่อทุ่มเทให้กับอะไรบางอย่าง ผมว่ามันเป็นความห้าวที่คุ้มค่า ผมไม่แน่ใจว่ามันเหมาะสมกับยุคสมัยนี้แค่ไหน ทุกวันนี้คุณอาจจะปล่อยของด้วยวิธีอื่นก็ได้ แต่ในยุคสมัยผมหนังสือเป็นอะไรที่ยังเท่อยู่”
ความสำเร็จจากการทำงานหนักในครั้งนั้น นอกจากจะทำให้ยูได้สัมผัสถึงมิตรภาพจากรุ่นพี่ในวงการน้ำหมึกหลายคนที่ช่วยเหลือเรื่องการกระจายผลงานไปสู่ผู้อ่านแล้ว การประกาศตัวให้ผู้ติดตามผลงานรู้ว่า กตัญญู สว่างศรี เอาจริงเอาจังกับเส้นทางนี้ขนาดไหน และนำพาเขามาถึงจุดที่ยืนหยัดอยู่ในวงการได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ออกรบในสวนอักษรพร้อมกองหนุน
หากไม่ต้องการปะทะกับผู้คนและปัญหามากมายที่ยากจะหลีกเลี่ยงในการจัดพิมพ์หนังสือเอง การส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่นักเขียนส่วนใหญ่นิยมทำ แต่หนทางนี้ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ พี่เต้ - จิราภรณ์ วิหวา ผู้เคยผ่านการออกหนังสือร่วมกับสำนักพิมพ์หลายแห่ง แนะนำว่าสองเรื่องหลักๆ ที่นักเขียนหน้าใหม่ควรรู้ก่อนต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์คือ
หนึ่ง ต้องรู้ว่าต้นฉบับของเราเหมาะกับผู้อ่านแบบไหน ซึ่งการเหมาะกับผู้อ่านแบบไหน ก็เท่ากับเหมาะกับสำนักพิมพ์แบบไหนด้วย เพราะสำนักพิมพ์แต่ละแห่งมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน
สอง ต้องรู้ขนบและวิธีการทำงานของสำนักพิมพ์ บางสำนักพิมพ์อาจปล่อยให้เราเขียนจนเสร็จเลย แล้วค่อยมาทำงานด้วยกันตอนท้าย แต่บางสำนักพิมพ์ยังไม่ต้องส่งต้นฉบับมาทั้งหมดก็ได้ ช่วยขายไอเดียมาก่อน หรือมาพร้อมต้นฉบับก็ได้ และในแง่การตลาดก็ต้องอธิบายได้ว่าจุดขายของหนังสือเล่มนี้คืออะไร เพราะตอนนี้การแข่งขันสูงมาก เช่น ถ้าอยากเขียนบันทึกการเดินทางก็ต้องหาวิธีเขียนยังไงให้ไม่เหมือนชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมก็ยังต้องมีจุดเด่นบางอย่างที่ชวนให้พูดถึง
การทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ นอกจากจะได้ความอุ่นใจ เพราะมีทีมงานมืออาชีพช่วยดูแลทุกกระบวนการของการทำหนังสือตั้งแต่การพัฒนาต้นฉบับ จัดรูปเล่ม ไปจนถึงการตลาด การขาย หรือแม้กระทั่งส่งหนังสือไปให้สื่อต่างๆ รีวิว ข้อดีอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ การมีบรรณาธิการคอยช่วยขัดเกลาต้นฉบับและให้ความคิดเห็นในบางจุดที่นักเขียนอาจมองข้ามไป
“สำหรับคนที่อยากทำหนังสือเองแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้หาบรรณาธิการที่เราพึงใจ บรรณาธิการจะมาเติมบางอย่างที่เรามองไม่เห็นจากการทำงานคนเดียว ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพี่บรรณาธิการใหญ่โตเท่านั้น แต่อาจเป็นใครสักคนที่เราไว้วางใจว่าเขาจะเห็นหนังสือของเราในภาพรวมและพร้อมวิจารณ์งานนี้ให้ การทำงานกับบรรณาธิการช่วยพัฒนางานได้มากขึ้น เพราะบรรณาธิการก็คือคนอ่านคนแรก”
นอกจากนี้พี่เต้ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า “บางคนอาจจะไม่ได้เสนอต้นฉบับกับบรรณาธิการโดยตรง แต่เรียกร้องความสนใจด้วยการมีแฟนเพจจำนวนมาก หรือเป็นเน็ตไอดอลที่มีมุมมองน่าสนใจบางอย่าง หลายๆ คนก็มักจะมีสำนักพิมพ์มาติดต่อเอง บางสำนักพิมพ์คิดคอนเซ็ปต์ให้ด้วยซ้ำว่ามาออกหนังสือทำนองนี้กันไหม หรืออาจมีทางเลือกอื่นๆ เช่น คิดไอเดียแล้วเอาไปเสนอขายในเว็บไซต์ afterword เพื่อให้คนอ่านที่สนใจมาร่วมระดมทุนกับเรา”
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเลือกเดินเส้นทางใดก็ตาม ทางเลือกนั้นย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย นักเขียนที่พิมพ์เองขายเองแล้วเผชิญความผิดหวังจนเลิกเขียนหนังสือไปก็มีไม่น้อย นักเขียนที่ส่งต้นฉบับไม่เข้าตาบรรณาธิการสักทีก็มีมากมายมหาศาล ถนนสายนี้ยังคงเปิดรับผู้กล้าหน้าใหม่ที่อยากก้าวเข้ามาพิสูจน์ตัวเองเสมอ แต่จะพิสูจน์สำเร็จหรือไม่คุณภาพงานเขียนของคุณเองเท่านั้นที่ตอบได้
สุธาสินี เลิศวัชระสารกุล