“ไปจับฉลามกันไหมคะ”
เสียงประกาศเชิญชวนของพี่ๆ ทีมงาน บริเวณลานสานฝัน เล่นเอาสมาชิก TK park ตัวน้อย ที่กำลังเดินผ่าน หยุดชะงัก หันหน้าไปมองบ่อน้ำจำลองระบบนิเวศใต้ท้องทะเลไทยกันเสียยกใหญ่ ต่างคนต่างจ้องมองสัตว์ทะเล ด้วยแววตาเป็นประกาย แล้วชี้ชวนคุณพ่อ คุณแม่ มองสัตว์ทะเลด้วยความตื่นเต้น
เมื่อวันเสาร์ที่ 25 และวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555 อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยกโลกใต้ท้องทะเล มาไว้ในนิทรรศการ ‘ไขความลับแห่งท้องทะเล Expose a secret of the ocean’ ที่ขนเอาโลกแห่งความลับของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องทะเล ทั้งที่มองด้วยสายตาไม่เห็น และมองเห็น แถมยังสัมผัสได้ มาให้สมาชิก TK park ร่วมไขความลับด้วยกัน
ถึงตัวเล็ก แต่ยิ่งใหญ่ในทะเล
เริ่มต้นกันที่ฐานแรก ‘ถึงตัวเล็ก แต่ยิ่งใหญ่ในทะเล’ พาไปรู้จัก ‘แพลงก์ตอน (Plankton)’ สิ่งมีชีวิตที่ล่องลอยตามกระแสน้ำในท้องทะเล ส่วนมากมีขนาดเล็ก เคลื่อนที่เองไม่ได้ หรือเคลื่อนได้เพียงเล็กน้อย มี 2 ประเภทด้วยกัน คือแพลงก์ตอนพืช และแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งแพลงก์ตอนพืชจะมีจำนวนมากที่สุดในท้องทะเล สามารถสร้างสารอาหารเองได้ด้วยการสังเคราะห์แสง จึงมีบทบาทเป็นผู้ผลิตอาหารขั้นต้น และยังเป็นอาหารให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์ มีขนาดเซลล์เดียวไปจนถึงกลุ่มที่มีหลายเซลล์ มีทั้งแพลงก์ตอนถาวร และแพลงก์ตอนชั่วคราว หมายถึง ช่วงหนึ่งของชีวิตเป็นแพลงก์ตอน เช่น กุ้งมังกร หอยนางรม และแมงกะพรุน เป็นต้น ซึ่งในฐานนี้จะมีกล้องจุลทรรศน์ให้สมาชิกทีเคพาร์ค ลองส่องกล้องดูแพลงก์ตอน สิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และมองเห็นแต่ไม่ชัดนัก
ผศ.ดร.สมถวิล จริตควร อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของแพลงก์ตอนว่า “แพลงก์ตอนตัวจิ๋วๆ ที่เราเห็น มีประโยชน์ในท้องทะเลมาก เช่น แพลงก์ตอนพืชเป็นผู้ผลิตอาหาร คอยสังเคราะห์แสง เป็นอาหารให้สัตว์ทะเล แถมยังมีส่วนช่วยโลกลดภาวะโลกร้อน เพราะขั้นตอนการสังเคราะห์แสง แพลงก์ตอนจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในท้องทะเล เป็นหนึ่งในกระบวนการสังเคราะห์ เมื่อได้อาหารออกมา ก็จะมีปลาสวยงามต่างๆ เช่น ปลาการ์ตูน มาคอยกิน”
ถึงอย่างนั้น ใช่ว่าแพลงก์ตอนจะมีประโยชน์เพียงอย่างเดียว แพลงก์ตอนบางชนิดก็ให้โทษเหมือนกัน ถ้ามีจำนวนมากเกินไป ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้แพลงก์ตอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นเพราะสารอาหารจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล มีแร่ธาตุที่เป็นของโปรดของแพลงก์ตอนชนิดนั้นๆ พอดี หรือมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ให้มันเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ก็ล้วนเป็นสาเหตุให้แพลงก์ตอนบางชนิด มีจำนวนมากขึ้น
ข้างๆ กัน ยังมีอุปกรณ์จับแพลงก์ตอน เรียกว่า ถุงเก็บแพลงก์ตอน (Plankton Net) ที่ใช้ในการเก็บแพลงก์ตอนทั้งแนวดิ่งและแนวราบ แถมยังมีตะแกรงร่อน (Sieve) เอาไว้เก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดินอีกด้วย
รู้จักแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ผ่านกล้องจุลทรรศน์
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแพลงก์ตอน
รู้ไหมคะว่า ทุกครั้งที่เราไปเที่ยวทะเล แล้วสำลักน้ำทะเลเข้าไป เจ้าแพลงก์ตอนตัวจิ๋วๆ ก็หายวับเข้าไปอยู่ในท้องเราด้วย แต่ไม่ต้องตกอกตกใจไป เพราะแพลงก์ตอนตัวจิ๋วๆ นี้ไม่มีอันตรายกับร่างกายของคนเรา นอกจากทำให้สมาชิกทีเคพาร์ค ที่ได้มาส่องกล้องจุลทรรศน์ เห็นหน้าเห็นตาเจ้าแพลงก์ตอนชัดๆ แล้วร้องตกใจ เท่านั้นเอง
สืบเสาะหาสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล
หลังจากรู้จักแพลงก์ตอนกันไปแล้ว เราก็ไปตามหาสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลกันต่อเลย กับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นทะเล เราเรียกสัตว์พวกนี้ว่า ‘เบนโทส (Benthos)’ ความพิเศษของมันคือ บางชนิดก็อาศัยอยู่บนพื้นทะเล เรียกว่าพวกคืบคลาน เช่น ปูม้า กั้ง และดาวทะเล ส่วนบางชนิดก็ขุดรูหรือฝังตัวอยู่ใต้ทะเล เช่น ปูก้ามดาบ และไส้เดือนทะเล และพวกที่เกาะกับที่ จะดำรงชีวิตด้วยการเกาะวัตถุต่างๆ ในทะเล เช่น ก้อนหิน เปลือกหอย ปะการัง ได้แก่ ดอกไม้ทะเล เพรียง และปะการัง เป็นต้น
สัตว์ทะเลที่ยกมาให้ได้ชมกัน ก็ได้แก่ ดาวมงกุฎหนาม ในกลุ่มดาวทะเล ลักษณะตัวมีหนามอยู่รายรอบ ส่วนที่เราเห็นเป็นจุดๆ จะเป็นเท้าช่วยในการเคลื่อนที่ ชอบกินปะการังเป็นอาหาร หอยแครง หอยหนามหรือหอยก้างปลา แมงดา หอยจอบที่ฝังตัวในดินเลน ฟองน้ำครก ที่นำมาขัดตัวได้ และปากกาทะเล สัตว์ทะเลหายาก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี ‘ปะการัง’ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือปะการังแข็งและปะการังอ่อน เราสังเกตเห็นง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นปะการังแข็ง จะเห็นโครงสร้างหินปูนชัดเจน ส่วนปะการังอ่อน จะมีลักษณะอ่อนนิ่ม ยืดหยุ่น โครงสร้างหินปูนจะเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งสมาชิกทีเคพาร์ค ต่างก็ได้ลองจับปะการังแข็ง และมองปะการังอ่อน ที่อยู่ขวดโหลแก้วอย่างชัดเจน
ผศ.ดร.วิภูษิต มัณฑะจิตร รองหัวหน้าภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความรู้เรื่องความสำคัญของปะการังว่า “ปะการังเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด ถ้าปะการังเกิดการฟอกขาว อาจเกิดจากกรณีอุณหภูมิที่ร้อนเกินไป ปะการังก็จะแยกตัว ขับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในปะการังอย่างสาหร่ายออกมา ถ้าไม่มีปะการัง สัตว์ทะเลก็จะไม่มีบ้านให้อาศัย”
สมาชิก TK park ตัวน้อย สัมผัสปะการังแข็ง ด้วยความสนใจ
Touch Pool
ฐานสุดท้าย เราไปรู้จัก ‘บ่อน้ำจำลองระบบนิเวศ’ บ่อน้ำที่พาสัตว์ทะเลนานาชนิด มารวมตัวกัน เพื่อสมาชิกทีเคพาร์คเท่านั้นที่จะได้สัมผัสสัตว์ทะเลอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ฉลามกบ ปลาดาวทะเล หนอนท่อ ปลาสลิดทะเล ปลาผีเสื้อ ปลาการ์ตูนหรือปลานีโม่ ปลาโนรี ปูแมงมุม แมงดาทะเล และดาวเปราะ พวกนี้อาศัยอยู่ตามแนวปะการังหรือดอกไม้ทะเล เพราะมีที่ป้องกันภัยเยอะ
ในฐานนี้จะมีพี่ๆ นักศึกษาจากภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คอยจับมือสมาชิกตัวน้อยของทีเคพาร์ค ให้สัมผัสสัตว์ทะเลที่พวกเขาอยากรู้จัก ตัวที่นิยมก็คือ ฉลามกบ หนอนท่อ แมงดาทะเล และดาวเปราะ ซึ่งน้องๆ ต่างก็ระมัดระวังในการจับสัตว์ทะเลเป็นอย่างมาก เพราะกลัวพวกเขาเจ็บนั่นเอง แถมยังได้รับความรู้เรื่องอาหารการกินของสัตว์ทะเลเหล่านี้ ว่าฉลามกบ สามารถอาศัยอยู่กับสัตว์ทะเลอื่นๆ ได้ เพราะมันเลือกกินเฉพาะปลาทะเลตัวเล็กๆ บางชนิด เท่านั้น ที่สำคัญฉลามกบ ไม่กัดคนนะคะ
เรื่องน่ารู้ แต่งแต้มสีให้น้ำทะเล
สงสัยไหมเอ่ย ทำไมน้ำทะเลใน ‘บ่อจำลองระบบนิเวศ’ ถึงเป็นสีขาว แต่น้ำทะเลในมหาสมุทรกลับเป็นสีคราม หรือสีฟ้าผสมสีเขียว นั่นเป็นเพราะ หลักการทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ‘การกระเจิงของแสง (Scattering)’ หมายความว่า เรามองเห็นสีของน้ำทะเล จากการสะท้อนของแสงที่ไปกระทบกับวัตถุ น้ำทะเลมีความสามารถในการดูดกลืนแสงขาว (Visible light) ได้ดีในช่วงที่ความยาวคลื่นสูง แสงสีแดงจนถึงสีเหลืองจึงถูกดูดกลืนเข้าไปด้วย แล้วปล่อยสีเขียว น้ำเงิน และม่วง ออกมา เราก็เลยมองเห็นน้ำทะเลในมหาสมุทร เป็นสีคราม นั่นเอง
ปั้นดินไทยให้เป็นสัตว์โลก
กิจกรรมสุดท้ายที่มีสมาชิกตัวน้อย รอต่อแถวเข้าคิวกันก็คือกิจกรรมปั้นดินไทย จากยางพารา ผลิตผลจากงานวิจัยของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้แก่ เพนกวิน ปู ปลาหมึก ปลาโลมา ฉลาม หอย เป็นต้น ซึ่งในกิจกรรมนี้น้องๆ ต่างมะรุมมะตุ้ม ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาได้สัมผัสดินไทย แล้วปั้นออกมาเป็นรูปสัตว์ตามที่คุณครูคอยสอน แถมยังได้สังเกตลักษณะของสัตว์ต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
เด็กๆ สนุกสนานกับการปั้นดินไทย ให้เป็นรูปสัตว์ที่ชื่นชอบ เช่น ปลาหมึก ปู และเพนกวิน เป็นต้น
คุณสุชาดา ลีลานุสมาน และลูกชายวัย 6 ขวบ น้องธันน์ เด็กชายกนกพล ลีลานุสมาน ก็เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่คุณแม่พาลูกชายตัวน้อย เข้ามาร่วมกิจกรรม โดยในช่วงแรกน้องธันน์รอต่อคิวปั้นดินไทยเป็นรูปสัตว์ พอมีผลงานเป็นของตัวเองแล้ว ก็ไปสนใจบ่อจำลองระบบนิเวศ เอื้อมมือไปสัมผัสฉลามกบ ด้วยท่าทางกล้าๆ กลัวๆ แต่ไม่ถอยหนี
คุณสุชาดา กล่าวว่า “น้องธันน์เขาชอบสัตว์ทะเลอยู่แล้ว พอเห็นว่ามีกิจกรรมก็พาเข้ามาดู กิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะทำให้เด็กๆ ได้เห็นของจริง เห็นเป็น 3 มิติ ซึ่งถ้าเห็นแค่ในหนังสือ เด็กก็จะจำไม่ค่อยได้ แต่พอได้มาเห็นของจริง ได้มาสัมผัส รู้ว่าสัตว์ตัวนี้มีลักษณะยังไง ผิวเป็นยังไง เขาก็จะจำได้มากกว่า”
น้องธันน์ปิดท้ายหลังไปลองจับตัวฉลามกบและแมงดาว่า “ชอบฉลามกบมาก ตัวมันนิ่มๆ แต่แมงดา ตัวจะแข็งๆ” น้องธันน์พูดด้วยสีหน้าอายๆ แต่แววตามีความสุข
น้องธันน์กำลังมีความสุขกับการลองจับฉลามกบ ด้วยความตั้งใจ
ปิดท้ายกิจกรรม น้องธันน์และเพื่อนๆ สมาชิกตัวน้อยอีกหลายคน ได้มีโอกาสนำแพลงก์ตอนพืช ที่มีโอกาสใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูหน้าตาพวกมันไปแล้วนั้น มาเทเป็นอาหารให้สัตว์ทะเล มื้อเย็นนี้สัตว์ทะเลอิ่ม อร่อย ทุกตัวค่ะ
เรียกได้ว่า นิทรรศการ ‘ไขความลับแห่งท้องทะเล Expose a secret of the ocean’ สมาชิกทีเคพาร์ค ได้ไขความข้องใจเรื่องโลกใต้ทะเล จนเข้าใจและรู้จักกับเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากขึ้น ใครสนใจ อยากรู้เรื่องราวใต้ท้องทะเลเพิ่มเติม แวะเข้ามาอ่านหนังสือ และดูภาพสวยงามในโลกใต้ท้องทะเลกันได้ที่ อุทยานการเรียนรู้ TK park นะคะ
กมลพร สุนทรสีมะ