ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วกับโครงการ TK Young Writer 2011 หรือ IBook 3 ที่สานฝันให้น้องๆ เยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน ซึ่งในปีนี้ได้เปลี่ยนหัวข้อในการอบรมไปสู่การทำงานนิตยสารออนไลน์ เพื่อก้าวขึ้นมาสู่แวดวงนิตยสาร สำหรับอุทยานการเรียนรู้ TK park เองก็มีนิตยสารออนไลน์อย่าง Read Me คอยเป็นพื้นที่ให้กับนักเขียนรุ่นใหม่อยู่แล้ว โดยน้องๆ ไอบุ๊กรุ่นที่ 3 นี้จะได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของนิตยสารออนไลน์เล่มนี้ในอนาคต
หลังจากที่ทีมงานได้เปิดรับสมัคร โดยให้น้องๆ ส่งผลงานเขียนในหัวข้อ “คลิก ท้า กล้า ฝันบนโลกออนไลน์” ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทางทีมงานจึงคัดเลือกให้เหลือเพียง 100 ชิ้น เพื่อเปิดทางให้เจ้าของผลงานเข้าร่วมอบรมกับบรรณาธิการมืออาชีพในรอบแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
น้องๆ จึงได้รับโอกาสและบ่มเพาะความรู้เรื่องการทำนิตยสารจากบรรณาธิการรุ่นใหญ่อย่าง พี่ต้อ - บินหลา สันกาลาคีรี เจ้าของผลงานซีไรต์ประเภทเรื่องสั้น เจ้าหงิญ และล่าสุดกับบทบาทบรรณาธิการนิตยสาร Writer ที่เพิ่งกลับหวนคืนแผงหนังสือเมื่อไม่นานมานี้เอง
ฝึกการสังเกต
เริ่มต้นด้วยการอบรมสไตล์พี่ต้อที่ให้ฝึกการสังเกต โดยให้น้องๆ หยิบห่อขนมคนละชิ้นที่วางอยู่ในถาดและนอกถาด เพื่อฝึกให้สังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์อย่างละเอียด แล้วให้พูดบรรยายว่ามีสิ่งใดที่น่าสนใจบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองการสังเกตและสามารถบรรยายได้ดี
จากกรณีนี้พี่ต้อได้กล่าวว่าสิ่งสำคัญของการเป็นนักเขียนคือต้องคิดให้มากจนเป็นเรื่องปกติ เพราะสิ่งที่จะเขียน 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ คือพยายามมองความปกติให้ละเอียด เพื่อจะได้พบกับความไม่ปกติ จึงจะสามารถนำเสนอได้
พี่ต้อเปรียบเทียบหลักศิลาจารึกกับอีบุ๊ก
ต่อด้วยการให้นิยามของ อีบุ๊ก (E-book) ที่นับวันจะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อวางการหนังสือมากขึ้นทุกที พี่ต้อได้หยิบหลักศิลาจารึกของจริงขึ้นมาโชว์ เพื่อเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกับอีบุ๊กอย่างไร เรียกเสียงหัวเราะของนักเขียนรุ่นใหม่ได้มากทีเดียว
ซึ่งความแตกต่างที่ว่าไม่ใช่แค่เพียงอีบุ๊กไม่ต้องใช้กระดาษเท่านั้น แต่สามารถไปถึงได้รวดเร็วกว่า เพราะสสารเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบพลังงาน พี่ต้อจึงเล่าต่อว่าการทำงานนิตยสารแต่ละฉบับต้องใช้เวลา 20 วันในการทำเนื้อหา อีก 7 วันในการทำรูปเล่ม อีก 7 วันในการเข้าโรงพิมพ์ และอีก 5 วันสำหรับการจัดจำหน่าย แต่ถ้าทำอีบุ๊กจะตัดช่วงเวลา 7 วันและ 5 วันหลังออกไปได้เลย ทันทีที่ทำเสร็จผู้อ่านก็สามารถอ่านได้ทันที ไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม ความเร็วตรงนี้เองที่เป็นหัวใจในการเอาชนะสื่อกระดาษแบบเก่าได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นสื่อในรูปแบบไหน หัวใจของมันก็คือความเป็นหนังสือนั่นเอง ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเขียนใส่กระดาษแล้วเปลืองกระดาษ แต่จะน่าเสียดาษกระดาษถ้างานไม่ดี เพราะฉะนั้นควรทำงานให้เหมือนว่าจะพิมพ์ใส่กระดาษ และในโลกของอีบุ๊กมีหนังสืออยู่ไม่จำกัด ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำจะเข้าไปอยู่ในนั้น จึงต้องทำให้มีความหมายโดดเด่นมากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ
หัวใจของความเป็นหนังสือที่ว่าจำเป็นต้องเขียนให้ออกมามีคุณค่า ซึ่งขึ้นอยู่กับเนื้อหาและวิธีการ อันสัมพันธ์กับทัศนคติที่มีต่อชีวิตโดยรวมและต่อวิชาชีพการเขียน จึงจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝันเป็นอย่างมาก พี่ต้อยกตัวอย่างเจ้าชายสิทธัตถะที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่พร้อมทุกอย่าง แต่ท่านไม่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นอยู่คือทางออกแห่งทุกข์ เจ้าชายจึงใช้จินตนาการหาศาสนาใหม่ หาความเชื่อใหม่จนกระทั่งพบหรือการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง ในขณะที่ไอสไตน์เป็นคนที่มีความรู้มาก ก็ได้ใช้จินตนาการฉีกกรอบความรู้ของตนเองออกไป จนพบความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน จินตนาการจึงจำเป็นในการพัฒนาความรู้ให้ไปสูงกว่าขั้นที่มีอยู่ ก่อนจะใช้ความรู้ที่มีมาตรวจความถูกต้องของสิ่งที่เขียนไปแล้วอีกครั้ง
หลังจากที่มีทัศนคติที่ดีแล้ว หลักการต่อมาพี่ต้อได้ให้บัญญัติ 10 ประการของคนที่อยากเป็นนักเขียน โดยรวมจากประสบการณ์ของพี่ต้อเองมาถ่ายทอดให้น้องๆ นักเขียนรุ่นใหม่ได้ฟังกันคือ
1. ออกกำลังกาย เพราะนักเขียนทำงานหนัก สมองล้า ยิ่งถ้าแก่แล้วสุขภาพไม่ดี สมองก็จะแย่ตาม อีกอย่างคือทำให้เราเป็นคนมีวินัยในตัวเอง ซึ่งการเป็นนักเขียนต้องอยู่คนเดียวได้และอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงได้ เมื่อใดที่ปราศจากวินัยก็จะเป็นนักเขียนที่จะไม่มีโอกาสได้เขียน ฝันว่าอยากทำแต่ทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถควบคุมตนเองได้
2. เข้าห้องเรียนอย่างน้อย 3 วิชา คือวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ สองวิชานี้ครูไทยสอนผิดมาตลอดที่ให้ท่องจำ แต่ไม่ได้สอนว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกับมนุษย์ ถ้าเข้าใจศาสตร์เรื่องนี้เราจะสามารถสร้างตัวละครที่มีชีวิตมีเลือดเนื้อขึ้นมาได้ ส่วนอีกวิชาคือภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นกุญแจไขความรู้อื่นๆ นอกจากภาษาตัวเองได้ เพราะการอ่านงานเขียนจากต้นฉบับจะได้อะไรมากกว่าฉบับแปล
3. ซื้อพจนานุกรม คำศัพท์ต่างๆ เราไม่มีทางรู้หมด การเปิดพจนานุกรมจึงช่วยได้
4. การอ่าน ไม่มีใครเป็นนักเขียนได้โดยไม่อ่านหนังสือ แต่ถ้าอยากจะเป็นนักเขียนก็ต้องมีการอ่านแบบนักเขียน โดยการอ่านแบบ 3 ระดับ คืออ่านเอาสนุก อ่านแล้วคุยกับตัวเองวิจารณ์ว่าเป็นอย่างไร และอ่านวิเคราะห์แบบนักเขียน เพื่อศึกษาวิธีการเขียน เพราะการเขียนไมได้มีรูปแบบตายตัว จึงสามารถศึกษาได้จากการอ่าน
5. เสพศิลปะ ในการเขียนหนังสือต้องใช้ศิลปะอีกแขนงหนึ่งมาอธิบายศิลปะอีกแขนงหนึ่ง อย่างการเลือกฉากในหนังมาบรรยายว่าจะเขียนออกมาอย่างไร ซึ่งการเชื่อมศิลปะเข้ากับแขนงอื่นสามารถแก้ปัญหาเรื่องการเขียนได้ คือสามารถคิดที่จะเขียนอะไรได้มากขึ้น เพราะเวลาเขียน คนอ่านจะเห็นภาพ ไม่ได้เห็นตัวอักษร
6. เดินทาง ไม่ได้หมายความว่าแค่การออกจากบ้าน แต่หมายถึงการไปยังสถานที่ที่แปลกจากชีวิตปกติ ให้ได้เห็นบางสิ่งและเกิดความคิดใหม่ๆ เพราะการหาประเด็นการเขียนในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว การเดินทางจึงช่วยได้
7. ศึกษาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใหญ่ของนักเขียนไทยที่ขาดกันมากที่สุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกของตนเอง แต่ในความเป็นจริงนักเขียนจะเขียนหนังสือไม่ได้ ถ้าไม่เห็นใจคนอื่น จึงควรเริ่มต้นด้วยการสนใจสิ่งแวดล้อมและต้องไม่เป็นแบบผิวเผินด้วย
8. ฝึกเขียน เมื่อสมัยอดีตอำนาจอยู่ในมือคนที่มีปากกา แต่ปัจจุบันทุกคนมีปากกา แต่ถ้าไม่พลังในการใช้ก็ไม่มีอำนาจ ซึ่งพลังนี้มาจากการฝึกเขียนนั่นเอง
9. รักใครสักคน พลังของงานเขียนเกิดจากอารมณ์ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ตามด้วย ไม่ว่าอารมณ์ไหนก็ตามสามารถส่งพลังได้หมด แต่อารมณ์รักยั่งยืนที่สุด ซึ่งจะทำให้ค้นพบความละเอียดภายในและสามารถส่งต่อไปในงานเขียนได้
10. ใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวันในรอบปีทบทวนตนเอง เพราะการเขียนส่งผลต่อคนอื่นมาก เราจึงต้องตระหนักถึงตนเองให้มากที่สุด
แบ่งปันเรื่องเล่าหลังรับประทานอาหาร
หลังจากที่รับประทานอาหารกลางวันกันเสร็จ พี่ต้อก็ให้น้องๆ เล่าว่า ขณะไปรับประทานอาหารได้พบเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง เพื่อดูการช่างสังเกตและการเลือกมุมมาเล่าของน้องๆ ซึ่งแต่ละคนก็พบเหตุการณ์ทั้งน่าสนใจและไม่น่าสนใจแตกต่างกันไป สะท้อนให้เห็นความสามารถในการเล่าเรื่องที่มีผลต่อการเขียนจริง
มาถึงช่วงสุดท้ายของการอบรมของพี่ต้อ ที่บรรยายให้น้องๆ ได้รู้จักงานเขียนประเภทต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในนิตยสารทั่วไป ประกอบไปด้วยประเภทเรื่องแต่ง มีเรื่องสั้น นิยาย และบทกวี ส่วนประเภทที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง มีสารคดี บทความ บทสัมภาษณ์ และข่าว พี่ต้อได้ถามความเห็นว่าใครอยากเขียนงานประเภทไหนมากที่สุดและเพราะอะไร จากคำตอบก็แสดงให้เห็นถึงความถนัดอันหลากหลายของน้องๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานเป็นทีมของนิตยสารเป็นอย่างมาก
พี่ตั้มและพี่อ้อกับดิจิทัลแม็กกาซีน
พักจากความรู้เรื่องการเป็นนักเขียนแบบเข้มข้นในช่วงแรก และเปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อวงการนิตยสารกันบ้าง กับการอบรมในช่วงหลังจากทีมงานของนิตยสาร Mars อย่าง พี่อ้อ - เพ็ญนภา อุตตะมัง หัวหน้ากองบรรณาธิการ และ พี่ตั้ม - ภานรินทร์ ดาบเพ็ชร์ นักเขียน ที่จะมาแบ่งปันในหัวข้อสื่อดิจิตอลกับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์
พี่ตั้มเริ่มต้นเกริ่นถึงความแตกต่างของ อีแมกกาซีน (E-magazine) กับ ดิจิตอลแม็กกาซีน (Digital magazine) ว่ามีความแตกต่างกันตรงที่ดิจิทัลแม็กกาซีนสามารถใส่ลูกเล่นต่างๆ อย่างคลิปวิดีโอลงไปได้ แต่อีแม็กกาซีนจะสามารถอ่านได้อย่างเดียวเหมือนหนังสือปกติ ซึ่งดิจิตอลแมกกาซีน คือนิตยสารยุคใหม่ที่สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้มากกว่า และได้ประสบการณ์ร่วมในการอ่านมากขึ้น มีความสะดวกสบายเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในสมัยนี้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีพวกแท็ปเล็ตพีซีที่เข้ามามีอิทธิพล จึงเกิดการอ่านหนังสือในรูปแบบใหม่นี้ขึ้น ที่มีความสะดวกรวดเร็วตรงที่ไม่ต้องออกไปซื้อเอง สามารถดาวน์โหลดอ่านได้ทันที
การทำงานของนักเขียนบนดิจิทัลแม็กกาซีนจะเปลี่ยนไปจากการเขียนในนิตยสารพิมพ์ปกติ เพราะต้องคิดรูปแบบการนำเสนอบนดิจิทัลแม็กกาซีนด้วย ซึ่งอาจจะมีภาพเคลื่อนไหวหรือลูกเล่นสนุกๆ เข้ามา ทำให้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากขึ้น เรื่องเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่นักเขียนรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญ
พี่อ้อก็ได้อธิบายการทำงานของ Mars on iPad ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันหนึ่งสำหรับผู้ใช้งานไอแพด ที่สามารถดาวน์โหลดนิตยสาร Mars ไปอ่านบนไอแพดได้ โดยมีความพิเศษคือเป็นดิจิตอลแม็กกาซีนที่มีลูกเล่นต่างๆ ให้ผู้อ่านสนุกกับการอ่านนิตยสารมากขึ้น อย่างคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ ภาพเบื้องหลังการทำงานต่างๆ โดยมีทีมงานหลักๆ ที่ทำอย่าง บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ ช่างภาพ กราฟิกดีไซน์ และฝ่ายโฆษณา ซึ่งมีการทำงานคล้ายๆ กันกับนิตยสารปกติ แต่มีความแตกต่างที่ช่างวิดีโอ ซึ่งเป็นผู้ถ่ายคลิปวิดีโอต่างๆ เพื่อนำไปประกอบ
ในช่วงสุดท้ายพี่อ้อและพี่ตั้มได้แสดงความเห็นที่น้องๆ หลายคนสงสัยว่า ถึงดิจิตอลแม็กกาซีนจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยอดขายของหนังสือจริงๆ ก็ยังดีอยู่ เพราะเนื้อหาที่เหมาะกับการอ่านจริงๆ ยังคงอยู่ในหนังสือ ส่วนดิจิตอลแม็กกาซีนอาจจะถูกตัดทอนลงไปบ้าง และเสน่ห์การอ่านหนังสือจริงๆ กับดิจิตอลแม็กกาซีนก็มีความแตกต่างกันอยู่ ดิจิตอลแม็กกาซีนไม่ใช่การปฏิวัติสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นการสร้างความหลากหลายและสร้างช่องทางใหม่ในการอ่านให้มากขึ้น
ว่าที่นักเขียนสายเลือดใหม่ของ Read Me
หลังจากที่น้องๆ นักเขียนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานนิตยสารจากบรรณาธิการมืออาชีพกันไปแล้ว ก็มาถึงช่วงแนะนำสิ่งที่น้องๆ จะได้ทำกันจริงๆ บ้าง นั่นคือนิตยสารออนไลน์ Read Me นั่นเอง โดยมีพี่ๆ ไอบุ๊กรุ่น 1 และ 2 มาอธิบายว่าขั้นตอนการทำงาน Read Me เป็นอย่างไร น้องๆ แต่ละคนจะมีบทบาทอะไรบ้าง ซึ่ง Read Me คือการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ทำงานจริงๆ เผยแพร่กันจริงๆ และเป็นการต่อยอดการเรียนรู้หลังจากการอบรม ที่พี่ๆ ไอบุ๊กเชื่อว่าเป็นประสบการณ์การทำงานจริงที่หาไม่ได้จากที่ไหน และที่สำคัญคือเป็นใบเบิกทางชั้นดีในการก้าวเข้าสู่วงการนิตยสารของน้องๆ ในอนาคต
เสร็จสิ้นจากการอบรบในรอบแรกนี้ ทีมงานก็มีโจทย์การบ้านให้น้องๆ กลับไปเขียนมา เพื่อคัดเลือกเข้าสู่รอบ 30 คน ที่จะมาเข้าค่ายอบรมทำนิตยสารกันแบบเข้มข้นอีกครั้ง ในวันที่ 21-24 ตุลาคมนี้ ซึ่งน้องๆ ที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับเงินรางวัลทุนการศึกษาคนละกว่า 5,000 บาท พร้อมได้รับโอกาสที่การทำนิตยสารออนไลน์ Read Me กันจริงๆ อีกด้วย
ต้องมารอดูกันว่าน้องๆ นักเขียนรุ่นใหม่คนไหนจะผ่านเข้ารอบเป็นกองบรรณาธิการเลือดใหม่ของ Read Me
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย