รายงานผลการสำรวจเรื่อง ‘เหตุแห่งทุกข์ที่นำไปสู่ความสิ้นหวังในการปฏิบัติหน้าที่ของครูไทย’ ของศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครู เมื่อปี 2556 ระบุว่า ครูไทยมีความทุกข์จากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการทำงาน ชีวิต ส่วนตัว สุขภาพ ความเชื่อและศาสนา โดยครูจำนวนมากมีความรู้สึก ‘ท้อแท้’ มากกว่า ‘สิ้นหวัง’ นั่นคือยังอยู่ในวิสัยที่สามารถคลี่คลายความรู้สึกท้อแท้ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง
แต่ถ้าหากว่าปัญหาที่รุมเร้าครูนั้นส่งผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อชีวิตการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่เปรียบเป็นอนาคตสังคม คงไม่มีใครอยากให้ครูทำงานด้วยความทุกข์ หรือเผชิญกับปัญหาหนักอกโดยไม่มีที่พึ่งพา
เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘อะไรอะไรก็ครู’ เป็นช่องทางหนึ่งที่ครูไทยใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมทั้งระบายความรู้สึกและปัญหาที่อยากหาทางออก เพจนี้ริเริ่มโดยครูพันธุ์ใหม่ ศุภวัจน์ พรมตัน หรือ ครูมะนาว ผู้ซึ่งเฝ้าสังเกตทุกข์สุขของครูผ่านปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์
มุมมองความคิดเห็นของเขาเป็นเสมือนเสียงสะท้อนจากจุดเล็กๆ ของคนในวิชาชีพครู ที่อาจทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาซึ่งใหญ่กว่าและยังคงอยู่ในระบบการศึกษาไทย แล้วจะไม่แปลกใจว่า... คนเป็นครูนั้นเป็นอะไรอะไรที่มากกว่าครู!
เพจเยียวยาจิตใจ
ด้วยนิสัยรักการเขียนและมีงานอดิเรกที่ชื่นชอบหลายอย่าง ทั้งการถ่ายภาพ การเล่นดนตรี และการอ่านหนังสือ ประจวบเหมาะกับการเกิดขึ้นของเฟซบุ๊ก ครูมะนาวจึงเปิดเพจเพื่อสื่อสารความคิดและประสบการณ์ของตนไปยังเพื่อนฝูงและผู้อยู่ในวิชาชีพเดียวกัน เริ่มต้นจากเพจ ‘ครูบ้านดอย’ เมื่อครั้งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านดอย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย และต่อมาเมื่อได้มาสอนที่โรงเรียนนครวิทยาคม อำเภอพาน ก็ได้เปิดเพจ ‘อะไรอะไรก็ครู’ ขึ้นมาแทน
“ผมอยากจะเขียนเรื่องธรรมดาทั่วไป ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างสามารถนำมาใช้สอนใจหรือเป็นครูให้กับตัวเราได้ เลยตั้งชื่อว่า ‘อะไรอะไรก็ครู’ ไม่ได้ตั้งใจให้มีความหมายเชิงบ่นในทำนองว่าอะไรๆ ก็ครู เพจนี้แตกต่างจากเพจอื่นตรงที่ไม่ได้เน้นการแชร์ข่าวสารการศึกษา แต่นำเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมาบอกเล่า มีทั้งเรื่องบันเทิงบ้างมีสาระบ้าง อาจจะแซวหรือจิกกัดนโยบายนิดๆ หน่อยๆ แต่โดยภาพรวมผมพยายามจะทำให้เป็นพื้นที่ที่ครูเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
“เรื่องที่น่าแปลกคือ เวลาที่ผมนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป ครูที่เข้ามาอ่านมักมาคอมเมนต์ว่า ‘นึกว่าเราเป็นคนเดียว’ หรือ ‘ที่โรงเรียนเป็นเหมือนกันเลย’ หรือ ‘เหมือนแอดมินมานั่งอยู่ในใจเลย’ คือเป็นเรื่องที่เขาอยากพูดมานานแล้วแต่ไม่ได้พูดออกมา เพราะไม่มีพื้นที่ให้สื่อสาร เพจนี้จึงเป็นเหมือนชุมชนที่ช่วยเยียวยาจิตใจของกันและกัน เป็นที่ที่พูดแล้วมีคนฟังและเข้าใจแบบเดียวกัน”
ปัญหาหนักอกครูไทย
ครูมะนาวสังเกตว่าปัญหาส่วนใหญ่ของครูเป็นเรื่องงานที่ไม่เกี่ยวกับการสอนโดยตรง เช่น งานพัสดุ งานธุรการ รวมถึงโครงการมากมายที่เกิดขึ้นตามนโยบายในแต่ละปี บางโรงเรียนมีจำนวนโครงการต่อปีนับร้อยโครงการ ในขณะที่ครูก็จำเป็นต้องรักษาระดับคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของทั้งครูและโรงเรียน
“ครูมีภาระงานหลายด้านเพราะต้องแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ทำให้มีเวลาสอนน้อยลง พอทุกอย่างไม่เป็นไปตามกระบวนการก็เลยต้องหาวิธีลัดด้วยการติว ซึ่งทำให้นักเรียนเหนื่อยล้าเกินไป ที่สำคัญคือ การติวอาจจะช่วยให้เด็กทำข้อสอบได้ แต่ไม่ได้ทำให้การเรียนรู้นั้นยั่งยืน เพราะโอเน็ตไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการให้เด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็น หรือค้นพบตัวเอง
“ด้านหนึ่งผมเข้าใจมุมของคนที่รับผิดชอบนโยบายระดับประเทศ ว่าจำเป็นต้องสร้างเกณฑ์มาวัด เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพียงแต่ต้องพิจารณาถึงเส้นทางก่อนที่จะมาถึงโอเน็ตด้วย ทุกวันนี้ครูเราอยู่กันด้วยความกลัว กลัวว่าคะแนนโอเน็ตจะตกหรือเปล่า”
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้วิจัยเรื่อง กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู[1] ระบุว่า กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ การประเมินจากหน่วยงานภายนอก 43 วัน แต่เสียงสะท้อนที่ไม่ได้อยู่ในงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ การทำงานภายใต้วัฒนธรรมของระบบราชการ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่มีอำนาจการให้คุณให้โทษกับโรงเรียน ทำให้กิจกรรมการตรวจเยี่ยมโรงเรียนกลายเป็นเรื่องการต้อนรับขับสู้ที่สิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและเวลาในการบริหารจัดการโดยไม่จำเป็น
“ผมเคยคุยกับทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินก็บอกว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการต้อนรับ แต่โรงเรียนจัดให้เขาเอง ส่วนฝั่งครูก็บอกว่า บ่อยครั้งที่ในสถานการณ์จริงมักถูกผู้ประเมินถามว่า มีแค่นี้เองหรือ ไม่มีมากกว่านี้หรือ โรงเรียนก็ทำตัวไม่ถูก เลยต้องทำให้ดีที่สุดไว้ก่อน”
โรงเรียนของชุมชน
การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมิได้เป็นเพียงเรื่องการถ่ายทอดวิชาความรู้เท่านั้น แต่เป็นการฟูมฟักนักเรียนเพื่อยกระดับในทุกมิติทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ครูจึงเป็นผู้แบกรับความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ของสังคม ทว่าครูไม่สามารถไปสู่เป้าหมายนั้นโดยลำพัง เพราะต้องการแรงหนุนจากทั้งผู้ปกครองและชุมชนรอบข้าง
“ผมเคยคุยกับเพื่อนบ่อยๆ ว่าจริงๆ แล้วปัญหาการศึกษาของเราคืออะไรกันแน่ แต่หาคำตอบไม่ได้ว่ามาจากวิธีการวัดผล กระบวนการสอน หรือสภาพสังคม ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถใช้นโยบายเดียวทั้งประเทศเพราะแต่ละจุดมีปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรเป็นคนที่อยู่ไม่ห่างจากพื้นที่มากเกินไป อาจเป็นคนในจังหวัดหรือชุมชนนั้นๆ ก็จะยิ่งดี
“ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ Community School คือให้ชุมชนมีบทบาทในการจัดการศึกษา ทุกวันนี้ไทยก็ใช้โมเดลนี้เหมือนกันโดยกำหนดให้มีกรรมการสถานศึกษา ซึ่งคัดเลือกมาจากผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพต่างๆ ในพื้นที่ แต่ในทางปฏิบัติ กรรมการสถานศึกษามักมีบทบาทเพียงแค่ลงนามอนุมัติโครงการต่างๆ เท่านั้นเอง
“ครูสอนดีหรือไม่ดี ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือพ่อแม่และคนในชุมชน ตามตรรกะแล้วชุมชนน่าจะต้องเอาจริงเอาจังกับการประเมินการทำงานของครูและคุณภาพโรงเรียนมากกว่าผู้ประเมินที่มาจากภายนอก ทุกวันนี้ครูถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ให้ดี เป็นผู้พัฒนาเด็กๆ ให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ แต่ลำพังครูคงไม่สามารถแบกรับภาระนี้ไว้คนเดียว ผมอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีบทบาททำงานร่วมกันกับครูด้วย”
ครูดี
ปัจจุบันมีแนวคิดการศึกษาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละสำนักคิดก็มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันออกไป สำหรับครูมะนาวไม่ได้คิดว่ามีคำตอบใดดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว แต่เลือกที่จะไม่ยึดติดรูปแบบการสอนที่ตายตัว แล้วปรับเปลี่ยนวิธีตามคุณลักษณะของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม
“วิธีการต่างๆ ที่ครูมองว่าเหมาะกับการเรียนการสอนยุคใหม่ อาจไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้กับตัวเด็กเลยก็ได้ เพราะธรรมชาติของเด็กมีความหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตอนสอนจะต้องแยกเด็กออกจากกัน ครูควรจัดเด็กให้คละกัน เพื่อพวกเขาจะได้มีโอกาสสัมผัสการเรียนรู้ในแบบอื่นด้วย การเป็นครูจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ สุดท้ายแล้วสิ่งที่วัดผลก็คือการเรียนรู้และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก
“ผมอยากให้ครูนึกถึงหัวใจของการเรียนรู้เป็นหลัก ว่าเราสอนไปเพื่ออะไร เด็กจะได้เรียนรู้อะไร การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นจากอะไร และเขาต้องเจอกับอะไรในอนาคต แล้วทำในสิ่งที่จำเป็นตรงนั้นให้ชัด บางทีเราไปติดอยู่กับวิธีการหรือเปลือกซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ เราไปดูแค่เนื้อหาสาระที่อยู่ในหนังสือแล้วก็สอนตาม”
ความจริงประการหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธคือ ครูก็เป็นปุถุชนที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือต้องการเงินเดือนสูงๆ ในความเห็นของครูมะนาว ความก้าวหน้ากับการเอาใจใส่นักเรียนนั้นมิใช่สิ่งที่แยกขาดจากกันเสียเลยทีเดียว
“ผมพยายามจะเลี่ยงคำว่า ‘อยู่เป็น’ แต่คงเลี่ยงคำนี้ไม่ได้จริงๆ แต่ขอใช้ในความหมายที่ว่าครูยังอยู่ได้โดยที่ยังรักษาอุดมการณ์ตัวเองไว้ ผมคิดว่าเราต้องมองที่ตัวเด็กก่อน อย่าเพิ่งไปมองว่าจะทำผลงาน ผมเชื่อว่า ถ้าเด็กเกิดการเรียนรู้จริงๆ สิ่งที่เป็นผลงานหรืออะไรก็ตามซึ่งดีต่อหน้าที่การงานของเรา มันจะค่อยๆ ตามมาเอง”
ชวนเด็กอ่าน
นอกจากจะเป็นครูสอนภาษาไทยแล้ว ครูมะนาวยังทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดโรงเรียนอีกด้วย เขาได้ริเริ่มกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ดึงความสนใจของนักเรียนเป็นตัวตั้ง เช่น กิจกรรมหน้ากากนักอ่าน ซึ่งได้แนวคิดมาจากรายการประกวดร้องเพลง The Mask Singer จัดคอนเสิร์ต The Soundtrack of Book เพลงรักประกอบหนังสือ โดยให้นักเรียนแนะนำหนังสือเป็นเพลง และ The Voice Reading อ่านจริง ไรจริง ให้นักเรียนมาแข่งอ่านออกเสียง แต่งกลอนอ่านสลับกันเป็นบทสนทนา
“วิธีการของผมคือ ‘แถ’ กิจกรรมให้เข้ากับการอ่าน หรือ ‘แถ’ การอ่านให้เข้ากับกิจกรรม ที่ผ่านมาเคยชวนนักเรียนให้ร่วมกันคิดว่า เขาสนใจอะไรบ้าง และอยากให้ห้องสมุดจัดกิจกรรมอะไร ตอนแรกเด็กๆ ก็ตอบแบบที่เขาเคยเห็น เช่น จัดนิทรรศการ หรือตอบคำถามเกี่ยวกับหนังสือ ผมเลยบอกว่าขอให้ตอบใหม่ เอาแบบที่เขาอยากจะทำจริงๆ เขาก็ไปเขียนออกมาเป็นรายการเลย แล้วผมก็มาเลือกดูว่าอันไหนที่น่าจะโดนใจพวกเขา”
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ครูมะนาวทำงานบรรณารักษ์ เขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนอย่างชัดเจน สถิติการเข้าห้องสมุดและการยืมคืนหนังสือเพิ่มขึ้น และมีนักเรียนมายืมหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนหรืองานที่ครูมอบหมาย
“พอเราไม่บังคับให้เด็กอ่าน เขายิ้มมากขึ้น เขาเห็นว่าการอ่านไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อหรือเรื่องของหนอนหนังสือ ทำให้มีนักอ่านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“และถ้านักเรียนชอบอ่าน เขาจะเขียนได้ดีขึ้น จะมีวิธีการเขียน มีการลำดับความคิด มีการใช้สำนวนภาษาที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะผมสอนภาษาไทยและมีข้อมูลว่านักเรียนคนไหนชอบอ่านหนังสือบ้าง นักอ่านบางคนเขาก็จะมีสำนวนการเขียนหรือวิธีสื่อสารคล้ายหนังสือที่อ่านหลุดออกมา หรือเด็กที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการใช้ชีวิต ผมสังเกตว่าเขาจะมีมุมมองที่น่าสนใจในการทำงานร่วมกับเพื่อน และมักเสนอแนวคิดที่เหนือกว่าเพื่อนไปอีกขั้นหนึ่ง”
ปัญหาห้องสมุดในชนบท
ห้องสมุดโรงเรียนส่วนใหญ่ในชนบทไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำกับห้องสมุดในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทรัพยากรหนังสือ ซึ่งควรมีปริมาณเพียงพอ มีเนื้อหาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความสนใจของนักเรียน
“หนังสือในห้องสมุดโรงเรียนมักจะได้มาจากการบริจาคและไม่ค่อยหลากหลาย เด็กเข้ามาเห็นก็ไม่อยากอ่านแล้ว ผมอยากเสนอให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกันมาร่วมมือกันจัดซื้อหนังสือ เพราะแต่ละแห่งอาจได้งบประมาณมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ถ้านำงบมารวมกันเพื่อจัดซื้อ แล้วทำระบบหมุนเวียนหนังสือ น่าจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้
“ห้องสมุดบางแห่งอาจมีหนังสือดีๆ เยอะ เช่นหนังสือของนักเขียนรางวัลซีไรต์ แต่บรรณารักษ์ต้องเข้าใจว่า วัยรุ่นไม่ได้อยากอ่านหนังสือแบบนี้ตลอด ดังนั้นควรเพิ่มกระบวนการให้เด็กได้มีส่วนร่วม เช่น พาเด็กไปช่วยเลือกและซื้อหนังสือที่เขาอยากอ่าน ไม่ใช่ให้บริการแบบตั้งรับอย่างเดียว”
[1] งานวิจัยนี้ถูกโต้แย้งโดย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ถึงรายละเอียดที่ถูกพาดพิงว่า โรงเรียนใช้เวลากับการประเมินของ สมศ. มากที่สุดคือ 9 วัน โดยชี้แจงว่า น่าจะใช้เวลาเฉลี่ยไม่เกิน 5 ชั่วโมงต่อปี เท่านั้น
ติดตามฟังบทสัมภาษณ์ครูมะนาวแบบเต็มอิ่มได้ที่ TK podcast
http://podcast.tkpark.or.th/suupawatteacher
ที่มาภาพ
https://www.facebook.com/nowopen