สำรวจแนวคิดและการออกแบบ ‘สองห้องสมุดออสซี่ สี่ห้องสมุดจีน’
17 มกราคม 2561
603
พื้นที่ (space) และบริการ (service) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะการให้บริการของห้องสมุดย่อมขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะ และการจัดการพื้นที่ การพัฒนาห้องสมุดในอนาคตจึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่กายภาพควบคู่กันไปด้วย
อาคารห้องสมุดควรสะท้อนทัศนะด้านความหลากหลาย ทางเลือก และความแตกต่าง ซึ่งสร้างขึ้นจากความเชื่อและคุณค่าที่ห้องสมุดมีต่อชุมชนและสังคม การออกแบบตกแต่งภายในไม่ควรเป็นไปเพียงเพื่อความสวยงาม แต่ควรคำนึงถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานและประสิทธิภาพในการใช้งาน
บทความชิ้นนี้นำเสนอกรณีศึกษาของห้องสมุดในประเทศออสเตรเลียและจีน ที่มีความน่าสนใจและเอกลักษณ์แตกต่างกัน โมเดลห้องสมุดในเขตเมืองและชานเมืองของออสเตรเลียมุ่งเน้นความเป็นศูนย์กลางชุมชน จึงออกแบบสถาปัตยกรรมให้ตอบสนองและดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้บริการห้องสมุด มิใช่เพียงสำหรับกิจกรรมด้านการอ่านแต่ยังเป็นพื้นที่พบปะทางสังคมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และอีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามให้บริการเชิงรุกไปยังผู้คนที่อยู่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นการเปิดห้องสมุดสาขา ห้องสมุดเคลื่อนที่ บริการจัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ฯลฯ
ในขณะที่สถาปัตยกรรมในเมืองใหญ่ของจีนมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก ด้วยรูปทรงแปลกใหม่และวัสดุที่ทันสมัย เพื่อสื่อถึงอำนาจ ความก้าวหน้า และศักยภาพของรัฐบาล แต่บางครั้งอาจมองข้ามเรื่องการใช้ประโยชน์ภายในอาคาร อย่างไรก็ตาม ห้องสมุดบางแห่งยังคงมีจุดยืนในการรักษาเอกลักษณ์ที่สัมพันธ์กับคุณค่าดั้งเดิมของโลกตะวันออก และบางแห่งก็พยายามหาจุดสมดุลระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับกระแสความทันสมัย
ห้องสมุดเครจีเบิร์น (Craigieburn Library), รัฐวิกตอเรีย, ออสเตรเลีย
ห้องสมุดในดวงใจของชุมชน
ห้องสมุดเครกีเบิร์นตั้งอยู่ในเมืองฮิวม์ เมืองใหญ่ทางตอนเหนือของเมลเบิร์น ชุมชนขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับความต้องการห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ และพื้นที่พบปะ ท้องถิ่นจึงสร้างศูนย์การเรียนรู้โลกฮิวม์ (The Hume Global Learning Centre) ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ให้บริการประชาชนของเมือง หอศิลป์ ศูนย์ฝึกอบรมศิลปะ หอประชุม และห้องสมุด รวมอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นอาคารให้บริการสาธารณะที่ทันมัย ก้าวหน้า และมีการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ฟรานซิส-จอห์น มอร์เฮน โธร์ป (Francis-John Morehen Thorp) สถาปนิกผู้ออกแบบ เลือกใช้ดินอัดแข็งนำมาทำเป็นผนังประกอบกับโครงเหล็กมวลเบาและไม้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างผืนดินและอาคาร ภายนอกมีสนามหญ้าสำหรับให้ผู้คนทำกิจกรรม การออกแบบแตกแต่งภายในก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นมิตร และยั่งยืน หลังคาทำเป็นบานเกล็ดเพื่อใช้แสงสว่างจากธรรมชาติในปริมาณที่สบายตา
ห้องสมุดเครจีเบิร์น ได้รับรางวัล “ห้องสมุดสาธารณะนานาชาติ” ประจำปี 2014 จากองค์กรทางวัฒนธรรมของเดนมาร์ก เป็นรางวัลที่มอบให้กับการออกแบบห้องสมุดแห่งอนาคต คณะกรรมการตัดสินลงความเห็นว่าห้องสมุดแห่งนี้มีความโดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรมที่แข็งแกร่ง น่าจดจำ และมีมาตรฐานสูง เพื่อดำเนินบทบาทในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ให้ความรู้สึกไม่เป็นทางการ และยึดสัดส่วนที่สอดคล้องกับสรีระของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับความหลากหลายและการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย
ไม่เพียงแต่ความเป็นเลิศด้านการออกแบบ ห้องสมุดเครจีเบิร์นยังให้บริการแก่ชุมชนอย่างยอดเยี่ยม จนกระทั่งได้รับการโหวตให้เป็นห้องสมุดที่ชาวออสเตรเลียชื่นชอบด้วยคะแนนกว่า 30,000 เสียงจากทั่วประเทศ มีสถิติผู้ใช้บริการต่อปีประมาณ 5.3 แสนคน และการยืมหนังสือมากกว่า 9.9 แสนรายการต่อปี
ห้องสมุดยังได้รับสถานะ eSmart เป็นแห่งแรกของออสเตรเลีย การรับรองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้านไซเบอร์และลดการรังแกข่มเหงในโลกออนไลน์ (cyberbullying) ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หมายความว่าเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสามารถให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ปลอดภัย และรับผิดชอบ
เมาท์แกมเบียร์ (Mount Gambier Library), รัฐเซาท์ออสเตรเลีย, ออสเตรเลีย
ศูนย์กลางของการพบปะและการมีปฏิสัมพันธ์
ปี 2014 ห้องสมุดเมาท์แกมเบียร์จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนครั้งใหญ่ เพื่อศึกษาความต้องการของผู้ใช้บริการในอนาคต ทั้งด้านการบริการ กิจกรรม และประสบการณ์ที่ได้รับในปัจจุบัน แล้วนำไปปรับปรุงพัฒนาห้องสมุดขนานใหญ่ อ้างอิงโมเดลห้องสมุดซึ่งเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติหลายแห่ง อาทิ ห้องสมุด Dokk1 ในอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก และห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดจากภาคส่วนที่กว้างขวางและไม่หยุดยั้ง ทำให้ปัจจุบันห้องสมุดเมาท์แกมเบียร์มีเสน่ห์ น่าใช้บริการ และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน
ห้องสมุดแห่งนี้นิยามตัวเองว่าเป็น “สถานที่ของเรา” ซึ่งเป็นมิตรและพร้อมสนับสนุนผู้ใช้บริการ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ Jim Crowford Award ด้านนวัตกรรมห้องสมุด แนวทางในการออกแบบมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกลุ่มอายุต่างๆ ในชุมชนที่มีความหลากหลาย ห้องสมุดได้สร้างวัฒนธรรม “แล้วพบกันที่ห้องสมุด” ซึ่งอยู่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วเมือง ลักษณะของอาคารใหม่และการตกแต่งภายในสะท้อนถึงธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคที่ตั้งเมือง สโลแกนของห้องสมุดก็คือ “การเรียนรู้ ความเชื่อมโยง การค้นหา” เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตที่สร้างสรรค์และเปี่ยมด้วยปัญญา
โดยทั่วไปแล้วห้องสมุดในออสเตรเลียตระหนักและมีแนวทางการให้บริการที่ครอบคลุมความต้องการของผู้คนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา โดยมีบรรณารักษ์ที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีคอยดูแลให้ความช่วยเหลือในการเรียนรู้และจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเล่านิทาน การเล่นสนุกๆ การอ่านเขียนเบื้องต้น รวมทั้งกิจกรรมทางสังคม สำหรับห้องสมุดที่อยู่ในเมืองหรือชานเมือง พ่อแม่มักพาเด็กๆ ไปใช้บริการห้องสมุดหลังจากมื้อเย็นในชุดนอนรองเท้าเตะ เพื่อยืมหนังสือ เล่านิทาน และเล่นก่อนนอน
ดังนั้นในช่วงค่ำห้องสมุดเมาท์แกมเบียร์จึงเป็นพื้นที่ที่สามซึ่งผู้คนมารวมตัวและมีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ ห้องสมุดได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนและสถานประกอบการเพื่อเติมเต็มกิจกรรมให้มีความอบอุ่นและน่าสนใจยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่แสดงถึงคุณค่าที่ห้องสมุดมีต่อชุมชนอย่างชัดเจนคือ ชุมชนคุ้นเคยและนิยมไปห้องสมุดเพื่อขอใช้บริการห้องประชุมเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ เช่น การประชุมขององค์กรชุมชน การเรียนการสอน การอภิปราย และการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรม ห้องสมุดมิได้จำกัดตัวเองอยู่หลังรั้วกำแพงจนเข้าถึงยากดังเช่นองค์กรด้านความรู้อื่นๆ เช่นมหาวิทยาลัย
ในบริบทของออสเตรเลีย ห้องสมุดมิได้เป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับหน่วยงานของรัฐหรือถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากผู้กำหนดนโยบายทางการเมือง นั่นหมายความว่าห้องสมุดมีอิสระค่อนข้างมากในการดำเนินงาน กิจกรรมที่มีเนื้อหาก้าวหน้าจึงมักเกิดขึ้นโดยห้องสมุด เช่น การจัดอภิปรายเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประเด็นการเมืองที่เข้มข้นของออสเตรเลีย หรือการจัดเทศกาลนักเขียนแห่งเมืองบริสเบน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานถึง 30,000 คน อาจกล่าวได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาห้องสมุดในออสเตรเลียมีบทบาททางสังคมเพิ่มสูงขึ้น และอัตราการเข้าใช้บริการก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
แนวทางการให้บริการของห้องสมุดออสเตรเลียมิได้เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่อดีต ทว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางแนวความคิด จนกระทั่งตกผลึกและคลี่คลายกลายเป็นโมเดลห้องสมุดที่มีความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแนบแน่น ด้วยการเปิดพื้นที่อิสระให้กับกิจกรรมทางสังคม โดยไม่กีดกันจำแนกกลุ่มและชนชั้น เกิดเป็นความร่วมมือสร้างสรรค์กิจกรรมทางวัฒนธรรม การเรียนรู้ และการแบ่งปัน
ห้องสมุดออร์โดส (The Library of Ordos), จีน
โอกาสที่มาพร้อมกับปัญหา
ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เมืองออร์โดส เขตมองโกเลียใน เป็นเมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และแร่เหล็ก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและมี GDP เป็นอันดับสองรองจากเซี่ยงไฮ้ ประชากรประมาณ 1.3 ล้านคนมีระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่มีมาตรฐาน รวมทั้งเกิดเศรษฐีใหม่และอภิสิทธิชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจีนจึงทุ่มงบประมาณเพื่ออภิมหาโครงการที่ออร์โดส โดยกำหนดให้แขวงกังบาชิเป็นย่านวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่เปรียบเสมือน “อัญมณีแห่งอนาคต” ด้วยการสร้างแลนด์มาร์คสำคัญเช่น พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา ห้องสมุด อาคารที่พักอาศัย ฯลฯ ซึ่งได้รับการออกแบบให้ทันสมัยและอลังการ โดยคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ห้องสมุดออร์โดสมีพื้นที่ 32,000 ตารางเมตร เป็นสถาปัตยกรรมที่ดูซับซ้อนและมีเอกลักษณ์คล้ายกับหนังสือหลายเล่มวางเรียงกัน แต่กลับมีความไม่ลงตัวบางอย่างระหว่างอาคารขนาดใหญ่กับการออกแบบ ซึ่งด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งความยากลำบากในการบริหารจัดการ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับการหาทางออกใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์
เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบให้แปลกใหม่ พื้นที่และวัสดุจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อความสวยงามแต่ไร้ประโยชน์ เส้นทางเดินที่ซับซ้อนเป็นสิ่งท้าทายที่จะหาวิธีสร้างความชัดเจนให้กับผู้เยี่ยมชม แผนผังที่ไม่มีรูปแบบตายตัวเปิดโอกาสสำหรับความยืดหยุ่นในการจัดวางวัตถุและจัดกิจกรรม มีการศึกษาว่า ผู้ใช้บริการของห้องสมุดออร์โดสต้องการพื้นที่ที่ผสมผสานทั้งการทำงานแบบเดี่ยวและการทำงานเป็นกลุ่ม พื้นที่สำหรับการทำงานและพื้นที่ทางสังคมมีความทับซ้อนกันอย่างแยกกันไม่ออก และเป็นจุดเริ่มต้นของห้องสมุดในการประยุกต์สิ่งใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น
ห้องสมุดออร์โดสดูเหมือนจะมีพื้นที่สำหรับให้บริการหนังสือไม่เพียงพอ ทว่านำมาซึ่งการสนับสนุนการเรียนรู้ทางสังคมโดยมีอินเทอร์เน็ตเป็นฐาน ปัจจุบันห้องโถงจึงไม่ได้ถูกแวดล้อมไปด้วยกองหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับนั่งทำงานแบบกึ่งทางการหรือจะเป็นส่วนตัวก็ได้
แต่เป็นเพราะแนวทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการคอร์รัปชั่น ส่งผลให้ยุคทองแห่งโมเดิร์นมองโกเลียเหลือเพียงตำนานในระยะเวลาอันสั้น ช่างภาพชื่อดังรายหนึ่งได้เดินทางไปยังอาณาจักรแห่งการเรียนรู้ที่กังบาชิเมื่อปี 2016 แล้วกลับพบว่าย่านธุรกิจและการศึกษาแทบจะกลายเป็นป่าช้าไปเสียแล้ว สิ่งก่อสร้างใหญ่โตหลายแห่งถูกทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ หรือไม่ก็ขาดการดูแลจนไม่น่าเข้าใช้บริการ นักลงทุนจำนวนมากย้ายออกจากพื้นที่ ปัจจุบันเมืองออร์โดสมีประชากรลดลงจากเดิมมากกว่าครึ่งเหลือเพียง 5.8 แสนคน นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่โตที่ลงทุนกันไปก่อนหน้า
ห้องสมุดเทียนจิน (Tianjin Library), จีน
การแบ่งสัดส่วนพื้นที่อย่างชัดเจน
ห้องสมุดเทียนจิน ตั้งอยู่ในย่านวัฒนธรรมของเมืองเทียนจินริมบึงขนาดใหญ่ มีทางเดินเชื่อมกับอาคารศูนย์ศิลปะและอาคารพิพิธภัณฑ์ ระหว่างอาคารเป็นพื้นที่ว่างเหมาะสำหรับสำหรับรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสังคมจีนไม่ค่อยมีพื้นที่ที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ห้องสมุดออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น ริเก็น ยามาโมโตะ (Riken Yamamoto) นับเป็นห้องสมุดขนาดยักษ์ชนิดที่ไม่อาจพบเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่ใช้สอยถึง 55,000 ตารางเมตร จุหนังสือถึง 5 ล้านเล่ม เอกลักษณ์ของห้องสมุดแห่งนี้คือการสร้างกำแพงแบ่งพื้นที่ออกเป็นกล่องๆ ตามประโยชน์ในการใช้งานอย่างเป็นสัดเป็นส่วน แต่ละกล่องมีเส้นทางการเข้าถึงไม่เหมือนกัน ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่แก่ผู้ใช้บริการ ห้องสมุดมีทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นยังประกอบด้วยชั้นลอยเล็กใหญ่ รวมทั้งสิ้นเป็น 10 ชั้น มีบันไดเชื่อมถึงกันเรียงวนอย่างเป็นระเบียบไม่สับสน ทำให้ภาพรวมภายในอาคารดูกลมกลืนกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน
วัสดุหลักทำจากหินอ่อนและกระจก ในเวลากลางวันแสงจากธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาภายในห้องอ่านหนังสือผ่านช่องว่างระหว่างแผ่นบานเกล็ดหินอ่อน ส่วนยามค่ำคืนแสงจากดวงไฟที่สาดส่องภายนอกดูงดงามน่ามอง การออกแบบและตกแต่งภายในเน้นใช้โทนสีขาวเพียงสีเดียวเพื่อคุมให้เกิดมุมมองทางสายตาที่โปร่งและสว่าง
กลางห้องโถงมีเคาน์เตอร์ให้บริการรูปวงกลมตั้งอยู่โดดเด่น ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความรู้สึกใกล้ชิด เข้าถึงได้ และบรรณารักษ์มองเห็นความเป็นไปโดยรอบห้องสมุด ผู้ใช้บริการบางคนเปรียบเปรยโถงแห่งนี้ว่าเป็น “ความวุ่นวายที่งดงามเหมือนภาพศิลปะ” จากห้องโถงมีทางเชื่อมไปยังทิศเหนือและทิศใต้ของอาคาร ปีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือหรือทำงาน ซึ่งมีบรรยากาศค่อนข้างจริงจังและเงียบสงบ ส่วนอีกปีกหนึ่งเป็นพื้นที่ลำลองแบบกึ่งเปิด ให้ความรู้สึกสบายๆ สามารถใช้สำหรับการพบปะ พูดคุย หรือทำงานแบบกลุ่ม
ชั้นถัดๆ ไปรายรอบด้วยระเบียงหนังสือ สีสันละลานตาของหนังสือปริมาณมหาศาลตัดกับโทนสีขาวของอาคารอย่างชัดเจน กลายเป็นจุดดึงดูดสายตาให้ผู้ใช้บริการอยากเดินขึ้นไปสำรวจชั้นถัดๆ ไป ภายในห้องสมุดมีเจ้าหน้าที่ให้บริการตามจุดต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น เคาน์เตอร์ให้บริการ ห้องนิทรรศการ ห้องอ่านหนังสือ และโรงอาหาร
อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการออกแบบพื้นที่ให้เป็นสัดเป็นส่วนคล้ายอยู่ในกล่องก็มีจุดอ่อนบางด้าน เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่มีหน้าต่างเลยทำให้เกิดความรู้สึกชวนอึดอัด ระเบียงบางด้านถูกเงาของกล่องบางกล่องปกคลุม แม้จะมีแสงไฟส่องแต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกวังเวงน่าหดหู่ ไม่สว่างสดใสเหมือนกับบริเวณอื่นๆ
อนึ่ง เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2017 เมืองเทียนจินได้เปิดตัวห้องสมุดแห่งใหม่ล่าสุดชื่อ ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ (Tianjin Binhai Library) ออกแบบโดยบริษัท MVRDV สัญชาติดัทช์ ซึ่งได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดแห่งอนาคตและสวยที่สุดในประเทศจีน โดยเฉพาะภายในพื้นที่ห้องโถงขนาดมหึมา ซึ่งมีชั้นหนังสือเส้นสายเรียวโค้งสูงจรดเพดาน และห้องประชุมรูปทรงกลมขนาดยักษ์โดดเด่นอยู่ตรงกลาง จนทำให้ห้องสมุดแห่งนี้ถูกเรียกขานว่า The Eye
ทว่า ด้วยการก่อสร้างที่เร่งรีบคือใช้เวลาเพียง 3 ปี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนแบบ ที่สำคัญคือเดิมทีนั้นจะมีห้องซึ่งซ่อนบันไดอยู่ด้านหลังของชั้นหนังสือ เพื่อที่จะให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงหนังสือแต่ละเล่มบนชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปได้ แต่ทางผู้ว่าจ้างขอให้ตัดห้องดังกล่าวออกไป โดยชั้นหนังสือที่ดูเหมือนมีหนังสืออัดแน่นเรียงรายสวยงามเต็มผนังนั้น ที่แท้คือแผ่นอะลูมิเนียมสกรีนเป็นรูปสันหนังสือเพื่อหลอกตา การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าโถงดังกล่าวมีหนังสืออยู่เพียงเฉพาะบนชั้นหนังสือที่สามารถเลือกหยิบได้ถึง ขณะที่หนังสือส่วนใหญ่ยังคงจัดเก็บไว้ที่ห้องอื่นซึ่งมีลักษณะไม่ต่างไปจากห้องสมุดแบบเดิม
คลิกเพื่อรับชมวิดีทัศน์ ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่
ห้องสมุดสถาบันศิลปกรรมเสฉวน
(Sichuan Fine Arts Institute Library of Haxi), จีน
ความลงตัวของแนวทางดั้งเดิมและกระแสสมัยใหม่
พื้นที่ 14,300 ตารางเมตรของห้องสมุดเสฉวน นับว่าค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน แต่ก็สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ 1,200 ที่นั่ง และหนังสือ 1 ล้านเล่ม อาคารออกแบบโดยยึดภูมิปัญญาของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มีรูปลักษณ์ที่ดูเรียบง่าย ทว่ามีความยืดหยุ่นระดับหนึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็นและความเหมะสม ภายในมีบรรยากาศเหมาะสำหรับอ่านและค้นคว้า มีความผ่อนคลาย และมีสุนทรียะทางศิลปะ
อาคารมีลักษณะยาวเหมือนท่อ หนังสือถูกจัดเรียงไปตามแนวอาคารโดยมีบันไดเชื่อมขึ้นไปชั้นบน หลังคาทรงจั่วกรุด้วยกระจกช่วยให้แสงจากธรรมชาติส่องเข้ามายังอาคารได้อย่างเต็มที่ การออกแบบสถาปัตยกรรมเลือกใช้วัสดุที่ให้ความรู้สึก “หนักแน่น แข็ง และเคร่งขรึม” ไว้ภายนอก แต่เลือกใช้วัสดุที่ “อ่อนโยน ละเอียดอ่อน และสว่าง” ไว้ภายใน สะท้อนถึงสังคมที่มีรากทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ร่วมสมัยที่มีความยืดหยุ่น
อย่างไรก็ตาม สถาปัตยกรรมบริสุทธิ์ซึ่งมุ่งเน้นบรรยากาศที่เงียบสงบ ก็เผชิญกับความท้าทายของโลกสมัยใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ห้องสมุดจำเป็นต้องให้บริการอุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์ อนุญาตให้นักศึกษารุ่นใหม่พูดคุยทำงานกันเป็นกลุ่ม และบางคนอาจง่วนอยู่กับสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าการนั่งครุ่นคิดสิ่งที่ลึกซึ้ง ในขณะที่พื้นที่จัดวางหนังสือยาวขนานไปกับพื้นที่สำหรับทำงาน การอ่านอย่างสงบจึงอาจถูกรบกวนด้วยความเคลื่อนไหวและเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในสังคมตะวันตก ป้าย “โปรดเงียบ” ให้ความรู้สึกน่าขยาด ส่วนในสังคมจีนการปลูกฝังทัศนคติในการเคารพต่อการเรียนรู้และพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ห้องสมุดเสฉวนจึงเป็นตัวอย่างของความพยายามสร้างจุดสมดุลระหว่างความสงบกับความมีชีวิตชีวา ซึ่งทั้งสองลักษณะต่างก็เป็นรูปแบบการแสวงหาความรู้ของโลกยุคปัจจุบัน
ห้องสมุดลี่หยวน (Liyuan Library), จีน
ดุลยภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ห่างออกไปจากใจกลางกรุงปักกิ่งอันแสนวุ่นวายเพียง 2 ชั่วโมง เป็นที่ตั้งของห้องสมุดเล็กๆ ที่ไม่หวั่นไหวไปกับความรีบร้อนของสังคมจีนสมัยใหม่ ลี่ เสี่ยวตง (Li Xiaodong) ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยชิงหวา ปรารถนาจะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนที่เขาเคยร่วมงานด้วย จึงออกแบบพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศเงียบสงบและดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาชนบทของฮ่องกง ราว 4.6 ล้านบาท
ลี่ เสี่ยวตง เจาะจงที่จะไม่สร้างห้องสมุดลี่หยวน (Liyuan Library) ไว้ใจกลางหมู่บ้านแต่เลือกพื้นที่ใกล้ภูเขา เพื่อให้ผู้คนได้เดินดื่มด่ำความงดงามของทิวทัศน์ธรรมชาติจนกระทั่งมาถึงห้องสมุด อาคารชั้นเดียวพื้นที่ใช้สอย 175 ตารางเมตรแทรกอยู่กลางธรรมชาติอย่างถ่อมตัว ถูกออกแบบคล้ายบ้านจีนโบราณในชนบทที่ใช้วัสดุธรรมชาติเพียงไม่กี่ชนิด ผนังด้านนอกอาคารทำจากกิ่งไม้ซึ่งชาวบ้านใช้ก่อไฟทำอาหาร ความคดโค้งตามธรรมชาติช่วยกรองแสงแดดได้อย่างนุ่มนวล ผนังด้านในทำด้วยกระจกสามารถมองออกไปเห็นบรรยากาศโดยรอบ ก่อให้เกิดบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการอ่านหนังสืออย่างสมบูรณ์แบบ
ห้องสมุดลี่หยวนสวนทางโดยสิ้นเชิงกับ “เครื่องจักรสำหรับการเรียนรู้” ซึ่งพบเห็นได้ในเมืองหรือมหาวิทยาลัยยุคใหม่ ในขณะที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนอยู่ตลอดเวลา แต่ห้วงเวลาที่อยู่ที่ห้องสมุดแห่งนี้มันอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเท่าใดนัก พื้นที่แต่ละส่วนมีลักษณะการใช้สอยที่แตกต่างกันออกไป แบ่งออกเป็นสัดส่วนโดยการยกระดับพื้นให้สูงต่ำต่างกัน ชั้นหนังสือ โต๊ะ และวัตถุต่างๆ ถูกจัดวางอย่างกลมกลืนและมีขนาดที่สมดุลกัน รูปแบบของทางเข้าจากใต้พื้นดินดูเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยมุมมองทางสายตาที่ซับซ้อนและมีความน่าสนใจ
แม้ว่ารูปลักษณ์อาคารจะดู “โลว์เทค” แต่จริงๆ แล้วผู้ออกแบบตั้งใจทดลองให้ห้องสมุดลี่หยวนมีความผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีอย่างไร้รอยต่อ อาคารมีระบบทำความเย็นโดยดึงอากาศอุณหภูมิต่ำกว่าจากผิวน้ำในสระ นอกจากนี้วัสดุ 99 เปอร์เซ็นต์ของอาคารสามารถนำไปรีไซเคิลได้
ห้องสมุดลี่หยวนให้บริการหนังสือหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวนิยายและกวีนิพนธ์ ใน 2-3 ปีแรกที่เปิดให้บริการมีผู้เยี่ยมชมความงามของห้องสมุดเป็นจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง นอกจากชาวบ้านในท้องถิ่นแล้วยังมีนักท่องเที่ยวจากปักกิ่งและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันห้องสมุดจำกัดจำนวนผู้เยี่ยมชมเพียงรอบละ 40 คน เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมในการอ่านให้แก่ผู้ใช้บริการทุกคน โดยห้องสมุดไม่มีการเก็บค่าเข้าแต่อย่างใด
ผลงานการออกแบบห้องสมุดลี่หยวนของ ลี่ เสี่ยวตง ได้รับรางวัล Moriyama RAIC International Prize ในปี 2014 โดยระบุว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ความเคารพและความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
คลิกเพื่อรับชมวิดีทัศน์ บทสัมภาษณ์ ลี่ เสี่ยวตง สถาปนิกผู้ออกแบบห้องสมุดลี่หยวน
ที่มาเนื้อหา
หนังสือ Better Library and Learning Space: Projects, trends, ideas
http://www.archdaily.com/539349/craigieburn-library-francis-jones-morehen-thorp
https://1001libraries.wordpress.com/2015/01/19/craigieburn-library-hume-victoria-australia/
http://modelprogrammer.slks.dk/en/news-events/library-reviews/craigieburn-library/
https://www.dezeen.com/2016/01/10/ordos-a-failed-utopia-china-raphael-olivier-photo-essay/
http://www.masterplanningthefuture.org/?p=3255
http://fortune.com/2017/11/17/china-library-photos-tianjin-binhai/
https://www.dezeen.com/2014/10/13/li-xiaodong-wins-inaugural-moriyama-prize-liyuan-library/
https://www.theplan.it/eng/webzine/wood-in-architecture/liyuan-library#sthash.NyMJmkvT.dpbs
ที่มาภาพ
http://www.archdaily.com/539349/craigieburn-library-francis-jones-morehen-thorp
http://brownfalconer.com.au/projects/mount-gambier-library/
http://www.abc.net.au/local/photos/2015/03/20/4201750.htm
http://www.taiji-fujimori.com/en/space/tianjin-library/
https://www.youtube.com/watch?v=Z5_mFd-9y1M
https://www.dezeen.com/2014/10/13/li-xiaodong-wins-inaugural-moriyama-prize-liyuan-library/
https://www.theplan.it/eng/webzine/wood-in-architecture/liyuan-library#sthash.NyMJmkvT.dpbs