“ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล ชุ่มชื่นฤทัย หวานใดจะปาน...”
สำหรับใครหลายๆ คน คงเคยได้ยินเนื้อเพลงท่อนนี้จากที่ใดสักที่หนึ่ง อาจเป็นวิทยุ อาจเป็นในโทรทัศน์ เพลง ใกล้รุ่ง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ลำดับที่ 4 จากจำนวนทั้งหมด 45 บทเพลง ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวไทย
บทเพลงเหล่านี้เองได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน รวมไปถึงนักเขียนสาวนามปากกา อิสย่าห์ ผู้เขียนนิยายเรื่อง หัวใจใกล้รุ่ง จากนวนิยายชุด ลูกไม้ของพ่อ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช โดยภายในชุดประกอบไปด้วยนิยายจำนวน 5 เรื่องคือ ใต้ร่มใบภักดิ์, ลูกหนี้ที่รัก, แสงดาวกลางใจ, ในม่านเมฆ และ หัวใจใกล้รุ่ง โดยนวนิยายชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2554 ก่อนจะได้ก้าวมาเป็นละครจอแก้วภายในอีกสองปีต่อมา ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมเป็นอย่างมาก
ลองไปสัมผัสเรื่องราวความประทับใจของนักเขียนคนไทยคนหนึ่งมีต่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ จนสามารถนำมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้อย่างกลมกล่อม จนทำให้ใครหลายคนอยากเปิดฟังเพลงพระราชนิพนธ์และอ่านนวนิยายเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน
รู้สึกอย่างไรที่ได้นำเรื่องราวของพระองค์มาแต่งเป็นนิยาย
ทั้งปลาบปลื้มและกังวลไปพร้อมกัน ปลาบปลื้มเพราะนี่ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่เราได้รับเกียรติถวายงานในรูปแบบหนึ่งแก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ทั้งแก่ตัวนักเขียนเองและครอบครัว ส่วนที่กังวล ก็เพราะเกรงว่าจะเขียนงานชิ้นนี้ออกมาได้ไม่ดีพอ แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้างและที่สำคัญคือการได้รับแรงบันดาลใจที่มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทำให้การทำงานชิ้นนี้ผ่านพ้นไปด้วยดีและราบรื่น
หัวใจใกล้รุ่ง ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
แรงบันดาลใจสำคัญคือบทเพลงพระราชนิพนธ์ เพราะเรื่อง หัวใจใกล้รุ่ง เป็นการเดินเรื่องโดยนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาเชื่อมโยงต่อกันเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง โดยเนื้อเรื่องแต่ละช่วงแต่ละตอนก็จะมีเนื้อหาอิงกับเรื่องราวและอารมณ์ในแต่ละบทเพลงที่เรียงร้อยกันไป ดังนั้นถ้าได้ฟังเพลงก่อนหรือฟังขณะอ่านไปด้วย ก็จะเข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น
ทำไมถึงเลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นโจทย์ในการแต่ง ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เป็นโครงการหลวง
เป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว เลยคิดว่าบทเพลงพระราชนิพนธ์น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ อย่างที่ทราบกันว่าในหลวงทรงมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพหลายด้านมาก ซึ่งอีกสี่เล่มจะนำเสนอพระปรีชาสามารถในด้านการทรงงานด้านต่างๆ ตั้งแต่ ฝนหลวง ทฤษฎีพอเพียง น้ำมันไบโอดีเซล โครงการปลูกพืชเมืองหนาว จึงคิดว่าน่าจะมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ด้วย เพราะพระองค์ทรงโปรดดนตรีเป็นอย่างมากและทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่ทั่วโลกต่างยกย่อง
เหตุผลที่เลือกเพลง ใกล้รุ่ง เพราะอะไร มีความประทับใจส่วนตัวไหม
ที่เลือกเพลง ใกล้รุ่ง นอกจากความชอบส่วนตัวแล้ว ทั้งความหมายในเนื้อเพลงและท่วงทำนอง สื่อถึงความสุขสดใส ฟังทีไรก็ต้องยิ้มและอยากฮัมเพลงตามทุกครั้ง เลยคิดว่าเพลงนี้น่าจะสื่อถึงความสุขและความหวังได้ดี ส่วนเพลงอื่นๆ ไม่ว่าจะยามเย็น อาทิตย์อับแสง ภิรมย์รัก หรืออีกหลายๆ บทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็เพิ่งจะได้ฟังตอนกำลังจะเขียนนิยายเรื่องนี้ ทำให้พบว่าแต่ละเพลงมีความไพเราะอย่างมาก มีทั้งความหวานจับใจ ซาบซึ้ง โรแมนติก หมองเศร้า และฮึกเหิม ทั้งหมดทั้งมวลถือเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีแก่เราในการเรียงร้อยเรื่องราวในนิยายผ่านบทเพลง
อยากให้เล่าถึงความประทับใจระหว่างที่เขียนนิยายเรื่องนี้
มีความประทับใจเยอะมาก ตั้งแต่การนั่งฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์หลายสิบเพลงอยู่หลายเที่ยว หลายเพลงไม่เคยฟังมาก่อน แล้วก็เพิ่งรู้ว่าเพราะจับใจขนาดนี้ ทำไมก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้เลย แล้วยิ่งได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาในหลายๆ บทเพลง ก็ยิ่งประทับใจ และยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งค้นพบว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักดนตรีที่มีพระอัจฉริยภาพสูงส่งมาก ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ทรงเป็นอัครศิลปินอย่างแท้จริง และที่มากกว่าประทับใจ คือความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีพระราชาที่เป็นคีตกวีและนักดนตรีที่เปี่ยมพระปรีชาสามารถ คงมีประเทศไทยประเทศเดียวที่มีพระราชาที่พระราชนิพนธ์บทเพลงเพื่อมอบให้ประชาชนของพระองค์มากมายแบบนี้
เรื่อง: ลักษิกร กรทรวง, รุจรวี นาเอก
ติดตามอ่าน Read Me Vol 40: ต้นไม้ของพ่อ ต้นไม้ของเรา ที่จะพาทุกคนไปสำรวจผลจากต้นไม้ของพ่อที่แตกเมล็ดเติบโตขึ้นในหัวใจของชาวไทยเป็นแรงบันดาลใจให้เราสืบสานปณิธานของพ่อต่อไป อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://readme.tkpark.or.th