แม่ของแผ่นดิน...พระมารดาของเจ้าฟ้าสี่พระองค์
“ท่านมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหมายความว่า ท่านเป็น "แม่" ของคนทั้งชาติ แล้วก็เป็นแม่ "ส่วนตัว" ของข้าพเจ้าด้วย”
ข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงความรู้สึกที่มีแด่สมเด็จพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตร เนื่องในวันแม่แห่งชาติ เราจะพาทุกท่านย้อนรำลึกพระจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตร ในฐานะพระมารดาผู้ทรงพระอภิบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พร้อมพระเชษฐภคินีและพระกนิษฐภคินี เมื่อทุกพระองค์ยังทรงพระเยาว์ จนเจ้าฟ้าพระองค์น้อยทั้ง ๔ พระองค์ค่อยทรงเจริญพระชันษา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการที่สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนไทยในปัจจุบัน
ครูคนแรก
“คุณยายเล่าให้ฟังเสมอว่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จแม่กับน้า โปรดปรานการเล่นครูนักเรียนกับเด็กที่บ้าน โดยท่านจะเป็นครูและให้เด็กคนอื่นเป็นนักเรียน สมเด็จแม่ทรงมีวิธีการสอนหนังสือที่ดีอยู่แล้ว เด็กๆ ทั้งหลายจึงชอบเป็นลูกศิษย์ท่านกัน จนกระทั่งน้าร้องไห้เพราะไม่มีใครไปโรงเรียนของน้า ร้อนถึงคุณยายต้องมาเป็นตระลาการตัดสินคดีให้แบ่งเด็กไปเข้าโรงเรียนของน้าบ้าง เมื่อการเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เป็นการยากสำหรับท่านเลยในการที่จะสั่งสอนและสอนหนังสือลูกๆ ด้วยพระองค์เอง”
“ตอนเล็กๆ ท่านสอนให้พับกระดาษ เขียนรูปและทำการฝีมือต่างๆ โดยถือแนวว่าคนเราไม่ควรปล่อยเวลาว่างผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ถ้าเรานั่งดู ทีวี วันเสาร์อาทิตย์เฉยๆ โดยมือไม้ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์เป็นโดนกริ้ว”
พระมารดาผู้ทรงใส่พระทัยเรื่องการศึกษา
“ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง "ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ" แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษให้ท่อง ให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้
นอกจากจะเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้วสมเด็จแม่ยังทรงจัดให้ลูกๆ เรียนพิเศษวิชาต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ทั้งภาษา เลข ดนตรี วาดรูป และแม้ว่าท่านไม่นิยมความฟุ่มเฟือย (ข้าวของทุกอย่างต้องใช้อย่างประหยัด) เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการเล่าเรียน การซื้อหนังสือ ท่านจ่ายอย่างไม่อั้น เพราะวิชาความรู้ทำให้เราสามารถทำงานช่วยคนหมู่มาก ช่วยบ้านเมืองได้ สมบัติใดๆ ย่อมไม่ประเสริฐเท่าการกระทำคุณงามความดี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและวิชาความรู้”
พระมารดาผู้ทรงบ่มเพาะความรักการอ่าน
“ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย นานๆ ทีก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่าหนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่ามันสนุกตื่นเต้นมีรสมีชาติขึ้นมาทันที ท่านจะเน้น ระบายสี หยิบยกจับความที่น่าสนใจขึ้นมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ที่เปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากที่สมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติม แล้วใช้ตอบข้อสอบ หรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ”
“เรื่องนิทานของสมเด็จแม่มีเรื่องที่น่าตื่นเต้น คือเรื่องผี แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มี จ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด”
“เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทย โดยการให้อ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่องคือ พระอภัยมณี อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่นว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอน”
พระมารดาผู้ทรงห่วงใย
“ตอนบ่ายๆ ท่านไล่ให้ลงไปวิ่งเล่นข้างล่าง เพราะเด็กๆ ควรได้อากาศบริสุทธิ์ โตขึ้นท่านจะให้มีหน้าที่ดูแลสนาม ถอนหญ้าแห้วหมู และคอยตัดหญ้ากับต้นข่อยที่ดัดเป็นรูปต่างๆ เป็นการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรกท่านจะได้ดูว่ารับประทานที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะ และประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง หนังสือที่ท่านเอามาเล่าบางทีก็เป็นนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ และความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์”
พระมารดาผู้ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง
“แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษภาษาไทยกับท่านบ่อยอย่างแต่ก่อน แต่ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ทัศนคติอันเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมาก ยังเป็นครูที่ดีทีเดียว
ถึงแม้ว่าสมเด็จแม่จะทรงมีความคิดต่างๆ มากมาย และทรงบ่นเก่งเมื่อพวกเราทำผิด (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร) ก็ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางที่จะยอมรับฟังความคิดของลูกๆ จริงอยู่ท่านไม่พอพระทัยถ้าเรา "เถียง" แต่ถ้าเป็นการ "ออกความเห็น" อย่างสุภาพก็ไม่ทรงว่าอะไรจะดีพระทัยเสียอีก ว่าเรารู้จักคิดเหตุผล”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตร
ในหนังสือ “สี่เจ้าฟ้า” โดย ลาวัณย์ โชตามระ ได้บอกเล่าช่วงเวลาที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระเยาว์ว่า พระองค์ทรงได้รับการอบรมให้รู้จักอดทนมาตั้งแต่พระชันษายังน้อย เพราะเป็น "ฟ้าชาย" องค์เดียวที่แวดล้อมไปด้วยหมู่สตรี เมื่อเสด็จกลับจากโรงเรียนแล้ว ก่อนจะเสด็จเข้าบรรทมตอนหัวค่ำ ทูลกระหม่อมฟ้าชาย (พระอิสริยยศในขณะนั้น) จะต้องเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตรกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเพื่อรับพระบรมราโชวาท และทรงสวดมนต์ก่อน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะทรงได้รับสมุดรายงานการศึกษาของทูลกระหม่อมทุกพระองค์และทรงตรวจตราอย่างถี่ถ้วนทุกครั้ง ทรงเล่นกับทูลกระหม่อมทุกพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันก็จะพระราชทานความรู้ไปด้วย หลังการรับพระบรมราโชวาท ทูลกระหม่อมฟ้าชายมักทรงรำพึงว่า “การเป็นเจ้าฟ้านี่ช่างลำบากเหลือเกิน จะทำอะไรก็ต้องระวังความรู้สึกของคนไปหมด ทำตามพระทัยไม่ได้”
แม้จะดูเป็นเรื่องเข้มงวดสำหรับเจ้าฟ้าพระองค์น้อย แต่ผลที่ทรงได้รับจากการอภิบาลเช่นนี้ ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีพระอุปนิสัยอ่อนหวานเป็นพิเศษกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เวลาเข้าเฝ้าฯ มักกราบบังคมทูลเสมอว่า "ชายตามกลิ่นน้ำอบแม่ได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน" หรือเมื่อทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ความตอนหนึ่งว่า
“เมื่อสิบสองมกราหนึ่งห้าลูกคราคลาด ต้องนิราศจากไปไกลหนักหนา
จำใจจากแม่พ่อคลอน้ำตา นึกขึ้นมาคราใดใจอาวรณ์
ลูกจากไปครานี้มีจิตมั่น จะขยันและทำตามคำพร่ำสอน
ถึงลำบากอย่างไรไม่อุทธรณ์ สู้ทุกตอนตามประสงค์จำนงใจ
“วันอากาศแจ่มใสใจลูกสู้ วันฝนพรูหิมะแฉะแย่สับสน
มันหนาวเหน็บน่าเบื่อเหลือจะทน ทุกข์ระคนใจเศร้าเคล้าน้ำตา
หวังสี่ปีข้างหน้าถ้าโชคช่วย อาจอำนวยให้สำเร็จการศึกษา
คงได้รับยศศักดิ์ปริญญา ดังเจตนาแม่พ่อผู้รอคอยฯ"
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงดูแลพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ทรงให้ความสำคัญกับการรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบ มาโดยตลอดทรงเป็นต้นแบบการทรงงาน อันส่งผลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักถึงพระราชภาระที่ต้องทรงอุทิศพระวรกายเพื่อช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า
“... เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขเท่าไร เราต้องรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ... ข้อสำคัญเป็นคนดีให้รู้จักเสียสละ ยิ่งเกิดมาในตำแหน่งลูกของประมุขแล้วก็ยิ่งต้องเสียสละมากขึ้น ต้องทั้งเรียนและต้องทั้งทำงานไปด้วย และก็ต้องพยายามทำให้ได้ดี”
ที่มา
- เฉลิมพระเกียรติและรวมพระราชนิพนธ์ (พ.ศ. 2510-2520) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2521.
- โอภาส เสวิกุล (2545) "50 พรรษา เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร" กรุงเทพฯ:องค์การค้าของคุรุสภา
- ลาวัณย์ โชตามระ. สี่เจ้าฟ้าฉบับสมบูรณ์. พระนคร : บรรณาการ, ม.ป.ป.