กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือที่เรียกกันว่า SE) หมายถึงหน่วยงานธุรกิจที่มิได้มีเป้าหมายสูงสุดในการแสวงหากำไร แต่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืนของสังคม รัฐบาลเคยมีนโยบายส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมโดยได้จัดตั้งหน่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ชื่อว่า สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) เพื่อสร้างปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมกิจการเพื่อสังคม แต่หน่วยงานดังกล่าวเพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนมกราคม 2559 แน่นอนว่าวงการ SE ของไทยที่ยังอยู่ในระยะตั้งไข่จึงตกอยู่ในภาวะที่ต้องช่วยเหลือตัวเองและมองไม่เห็นทิศทางร่วมกันที่เป็นเอกภาพมากนัก
สถาบัน Change Fusion องค์กรที่ทำงานคลุกคลีกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมมานับสิบปี ได้เห็น SE หลายกิจการเติบโตขึ้นจนมั่นคง และรับรู้ถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งกำลังมองหาโอกาสเข้าสู่เส้นทางสายนี้ ที่ผ่านมา Change Fusion พยายามทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ SE ได้ทำงานร่วมกัน และล่าสุดยังสนใจงานด้านการส่งเสริมทักษะไอทีหรือการสร้าง Digital Literacy ให้แก่เด็กและเยาวชนอีกด้วย
ไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion เล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานข้อต่อเชื่อมโยงระหว่างพันธมิตร SE ว่า “ในสมัยก่อนเวลาสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมักจะไม่พบข้อมูลภาษาไทย เราก็อยากจะเห็น content ที่เป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงมีปริมาณมากแต่จะต้องมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ เราจึงริเริ่มให้นักพัฒนาเทคโนโลยีได้มีพื้นที่มาพบปะสังสรรค์กัน มาช่วยกันคิดช่วยกันทำงาน โดยมีการเชื่อมต่อกับหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรด้านการพัฒนาที่เป็นเจ้าของปัญหา เราเห็น open data มากมายของภาครัฐ ซึ่งหากมีการวิเคราะห์ได้ว่าประเด็นปัญหาใดต้องการข้อมูลใดสนับสนุนบ้าง ก็สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่กิดประโยชน์กับสังคม”
แอพพลิเคชั่น DoctorMe ของบริษัทโอเพ่นดรีม หนึ่งในผู้ประกอบการเพื่อสังคมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
รูปแบบกิจกรรมที่ Change Fusion นำมาเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ได้แก่ วงเสวนาแบบ Barcamp ซึ่งผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะเสนอหัวข้อหรือประสบการณ์ที่ตนอยากนำเสนอ แล้วให้ทุกคนช่วยกันโหวตว่าอยากฟังหัวข้อไหน จากนั้นการเสวนาแบบไม่มีพิธีรีตองก็เริ่มต้นขึ้น ด้วยวิธีการเช่นนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือการได้แลกเปลี่ยนบอกเล่าประสบการณ์ระหว่างกันอย่างเป็นกันเอง ได้เปิดรับความคิดใหม่และเกิดมิตรภาพใหม่โดยไม่รู้ตัว อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ Hackathon (hack + marathon) ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยโจทย์ที่กำหนดให้ภายใต้เวลาอันจำกัด เป็นกิจกรรมที่นำไปสู่ผลลัพธ์หลากหลายรูปแบบโดยไม่คาดคิด ทั้งเว็บไซต์ อินโฟกราฟิก แอนิเมชั่น แอพพลิเคชั่น ฯลฯ
บรรยากาศกิจกรรม Thailand Big Data Hackathon 2015
ทักษะ Digital Literacy เป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคต เพราะเทคโนโลยีกำลังมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ Change Fusion เริ่มหันมาสนใจงานส่งเสริมทักษะด้านนี้ โดยได้ร่วมมือกับ NECTEC และ Microsoft Thailand ขับเคลื่อนกิจกรรมของ code.org Thailand ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับเด็ก อย่างไรก็ตามสถานภาพของ code.org Thailand ยังเป็นเพียงความร่วมมือเพื่อจัดอีเว้นท์เป็นครั้งคราวทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น ซึ่งไม่เหมือนโมเดลการทำงานที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ใช้ระบบอาสาสมัครขับเคลื่อนงาน มีพื้นที่เป็นหลักแหล่งในการพบปะกันเป็นระยะๆ และมีความต่อเนื่อง
ไกลก้องเล่าถึงประสบการณ์ใหม่ในการทำกิจกรรมนี้ว่า “เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราพบว่าการสอนตรรกะการทำงานของคอมพิวเตอร์ สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก อาจเริ่มต้นจากการเล่นเกมโดยให้เด็กแรเงาช่องตารางในกระดาษเป็นชุดเงื่อนไขแล้วให้เพื่อนขยับตัวตาม การเรียนเลขฐานสองก็สำคัญเพราะเป็นพื้นฐานของภาษาคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น code.org ยังสร้างโปรแกรมการเรียนรู้เป็นเกมง่ายๆ เช่นการเขียนคำสั่งให้ตัวการ์ตูนเดินขึ้น-ลงบันได หรือเปิดไฟ”
ปัจจุบันมีเยาวชนที่ให้ความสนใจเรียนรู้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น แต่อาจยังมองไม่เห็นเส้นทางที่จะเดินต่อไปในสายอาชีพ ดังนั้น Change Fusion จึงปิดช่องว่างนี้โดยร่วมมือกับบริษัท a-chieve ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่สนใจประเด็นเรื่องการแนะแนวอาชีพให้กับวัยรุ่น เพื่อให้เยาวชนเกิดแนวทางที่ชัดเจนในการเลือกศึกษาต่อ มีกำลังใจในการพัฒนาทักษะที่ตนถนัดอย่างต่อเนื่อง และมองเห็นตลาดแรงงานที่กำลังเปิดรออยู่ในอนาคต
ไกลก้องมองว่าถึงแม้เด็กรุ่นใหม่จะเป็น Digital Native แต่ก็ยังอยู่ในรูปแบบ user หรือผู้ใช้งานอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นถ้าหากโรงเรียนทุกแห่งใน กทม. หรือโรงเรียนของรัฐมีการสอนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก โดยเน้นที่ทักษะการคิดเชิงตรรกะ สอนการเขียนโค้ด และความเข้าใจเบื้องหลังการทำงานของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคนในยุคดิจิทัลให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นได้
“เราเป็นองค์กรเล็กๆ อาจจะเริ่มต้นด้วยการร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนบางแห่งเพื่อทำเป็นโครงการนำร่องให้เห็นเป็นแนวทาง หวังไว้ว่าอย่างน้อยวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ควรจะต้องเป็นวิชาเลือกที่มีอยู่ในทุกโรงเรียน” เขากล่าวทิ้งท้าย
รวบรวม และเก็บความโดย นางทัศนีย์ แซ่ลิ้ม ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พฤศจิกายน 2559