MadLab – CoderDojo วางรากฐาน Digital Economy ด้วยการสร้างสรรค์ทักษะดิจิทัล
พื้นที่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในแมนเชสเตอร์
ในสังคมอนาคต การเขียนโปรแกรมจะกลายเป็นการรู้หนังสือพื้นฐานด้านที่สี่ (fourth literacy) ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ เหตุก็เพราะการทำความเข้าใจตรรกะที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานในการควบคุมสิ่งเหล่านั้น ทั้งยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับประเด็นระดับโลกและสามารถสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง มีสถิติระบุถึงความขาดแคลนคนที่มีทักษะคอมพิวเตอร์ว่า ทั่วโลกมีความต้องการนักเขียนโปรแกรมถึง 1.4 ล้านอัตรา ในขณะที่มีคนเรียนจบด้านนี้เพียง 4 แสนคน ปัจจุบันมีโรงเรียนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สอนด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
วันนี้ TK park จะพาไปทำความรู้จักกับพื้นที่การเรียนรู้ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกรูปแบบหนึ่งแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ เมืองซึ่งไม่ได้มีชื่อเสียงแค่เรื่องทีมฟุตบอล หรือห้องสมุดสุดทันสมัย แต่ปรารถนาจะเป็นสรวงสวรรค์ของผู้ที่ทำงานด้านธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงดึงดูดแรงงานทักษะสูงในสายงานเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจระยะยาวให้กับเมืองแมนเชสเตอร์ ที่นี่ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านการเรียนรู้ดิจิทัลทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ห้องสมุดเมือง อีกทั้งยังมีองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินไปด้วยพลังจิตอาสาของคนรุ่นใหม่ ดังเช่น MadLab แหล่งบ่มเพาะนักสร้างสรรค์เทคโนโลยีเลือดใหม่ ซึ่งสร้างความเท่าเทียมทางสังคมด้วยการเริ่มต้นสร้างความเท่าเทียมทางเทคโนโลยี และ CoderDojo แมนเชสเตอร์ ที่สอนเรื่องการเขียนโปรแกรมให้กับเด็กตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ ทั้งยังเป็นชุมชนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
MadLab ‘ห้องทดลองของหนุ่มสาวดิจิทัล พื้นที่แห่งความเท่าเทียม’
การเติบโตขึ้นของชุมชนออนไลน์และการแบ่งปันความรู้ในยุคดิจิทัล เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือเป็นคุณค่าสำคัญที่จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงสังคม ในโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยง ทำให้ผู้คนที่มีภูมิหลังและประสบการณ์ที่หลากหลายพบเจอกันง่ายขึ้น ได้ร่วมแก้ไขปัญหา และเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับบรรยากาศการเรียนรู้ของ MadLab หรือ (Manchester Digital Laboratory)
MadLab ตั้งอยู่ในตึกแถว 3 ชั้น แบบเรียบง่าย บริเวณ Northern Quarter ซึ่งเคยเป็นย่านอุตสาหกรรมเก่า
MadLab เป็นองค์กรนวัตกรรมระดับรากหญ้าที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงศิลปะและวัฒนธรรม มุ่งสนับสนุนผู้คนให้เป็นนักสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล (Digital Making) ซึ่งมีนิยามทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และการสร้างสิ่งต่างๆ โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ
ห้องทดลองแห่งนี้เชื่อว่า ทางลัดในการทำความเข้าใจนวัตกรรมเทคโนโลยีในเวลาอันสั้นก็คือ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันผ่านการทดลองและเล่นสนุก MadLab กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะลองเจาะโปรแกรม (Hacking) รื้ออุปกรณ์ดิจิทัลออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำความเข้าใจระบบการทำงานของมัน จากนั้นก็ให้ลองตั้งเป้าหมายและจินตนาการใหม่ โดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนในชุมชน ที่นี่ยังสนับสนุนให้นักสร้างสรรค์ได้มีทักษะและประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือที่จำเป็น เช่น เครื่องเชื่อมโลหะ เครื่องพิมพ์สามมิติ กล้องถ่ายภาพ ซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบ เครื่องตัดเลเซอร์ ฯลฯ
องค์กรแห่งการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างคึกคัก เต็มไปด้วยโปรเจ็กต์และการสนทนา มีผู้เข้ามาใช้บริการกว่า 60 กลุ่ม ภาพบรรยากาศเช่นนี้ได้จุดประกายให้ห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์คิดทบทวนถึงทิศทางของห้องสมุด จนกระทั่งร่วมจับมือกันเป็นภาคีในที่สุด ไม่เพียงแต่บรรณารักษ์จะฝังตัวเข้าไปอยู่ใน MadLab นักสร้างสรรค์จาก MadLab เองก็ได้ก้าวเข้ามาในห้องสมุดด้วย เมื่อคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลได้พบกับคลังภาพประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าเกือบแสนรายการในห้องสมุด ก็เกิดทั้งความประทับใจระคนหงุดหงิดใจ นำมาซึ่งการร่วมพัฒนาฐานข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองให้เป็นระบบ ทันสมัย และน่าสนใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานยังร่วมกันตั้งชมรมนักอ่านวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ (Manchester Sci-Fi Book Club) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีด้วยการส่งเสริมการอ่าน
กิจกรรมการเรียนรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล ที่ MadLab (ซ้าย)
นักพัฒนาจาก MadLab ได้คิดค้น DIYBio ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ระดับยุโรป (ขวา)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันยังคงมีช่องว่างทางเพศในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล คือมีสัดส่วนเพศชายที่ทำงานด้านนี้สูงกว่าผู้หญิงถึง 6 เท่า MadLab จึงร่วมกับห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์ และ Manchester Girl Geeks จัดโครงการส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้กับผู้หญิง เพื่อเพิ่มโอกาสในเส้นทางอาชีพนี้และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นด้วย หลักสูตรเริ่มต้นเมื่อปี 2013 ในห้องสมุด 5 แห่ง เนื้อหาประกอบด้วยเรื่องทักษะไอทีพื้นฐาน โซเชียลมีเดีย การพัฒนาเว็บไซต์เบื้องต้น และการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น เมื่อต้นปี 2015 มีสถิติว่า มีสัดส่วนผู้หญิงเข้ามาใช้บริการ MadLab ประมาณร้อยละ 30
การเรียนรู้ด้านดิจิทัลที่นี่มีบรรยากาศต่างไปจากขนบเดิมๆ ที่มีแต่ “คนผิวขาว ผู้ชาย และวิศวกร” โดยเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมให้กับผู้หญิง ผู้เกษียณอายุ ผู้อพยพ ผู้ที่มองหารายได้เสริม และคุณแม่วัยใส ผู้เข้าอบรมรายหนึ่งกล่าวว่า เธอเข้ามาร่วมโครงการในช่วงที่ชีวิตตกต่ำพอดี คือไม่มีงานและเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอได้พบกับคนฉลาดๆ ในหลักสูตรที่ยอดเยี่ยม ซึ่งได้เสริมพลังให้เกิดความมั่นใจในตนเอง จนในที่สุดเธอได้ทำงานสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน
กิจกรรมเสริมสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ผู้หญิงของเมืองแมนเชสเตอร์
MadLab ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างธุรกิจดิจิทัลกับคนรุ่นใหม่ โดยประสานกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นและเครือข่ายที่มีนักศึกษาเป็นสมาชิกกว่า 2,000 คน ทุกปีจะมีกิจกรรม “วันแห่งพรสวรรค์” ให้หนุ่มสาวกว่า 1,300 คนที่กำลังมองหางาน ได้ทำความรู้จักกับบริษัทและผู้ประกอบการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี และยังจัดตั้ง Manchester Digital Peer Club ให้คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ได้พบปะแลกเปลี่ยนประเด็นระหว่างกัน โดยมีภาคอุตสาหกรรมช่วยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา
CoderDojo ‘เวทย์มนตร์แห่ง coding ที่เรียนรู้ได้ตั้งแต่เด็ก’
ไม่กี่ปีมานี้การเขียนโปรแกรมเริ่มได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จากเรื่องที่เป็นทักษะเฉพาะทางของคนเฉพาะกลุ่ม ขยายออกไปสู่คนทั่วไปรวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย แม้แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาก็ได้วางนโยบายให้สอนการเขียนโค้ดในโรงเรียน ส่วนเอสโทเนียซึ่งแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็เป็นชาติแรกในยุโรปที่ได้วางระบบเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงผ่านสายโทรศัพท์ (DSL) ในทุกโรงเรียน และได้สอนการเขียนโปรแกรมให้กับเด็กตั้งแต่ชั้น ป.1
เมื่อปี 2011 นักเรียนอายุ 18 ปี ชาวไอริชคนหนึ่ง ได้เจาะระบบ iPod Nano ได้สำเร็จ ซึ่งได้สร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการเทคโนโลยีและเด็กรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะเป็นโปรแกรมเมอร์ เหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง CoderDojo ชุมชนอาสาสมัครดิจิทัลเพื่อเด็กและเยาวชนที่กว้างขวางที่สุดในโลก
James Walton เด็กหนุ่มผู้ก่อตั้ง CoderDojo และเป็นไอดอลของโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ (ซ้าย)
สาขาของ CoderDojo ที่มีอยู่กว่า 600 แห่ง ใน 60 ประเทศทั่วโลก (ขวา)
อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่ขานรับแนวคิดของ CoderDojo อย่างเต็มที่ โดยมีสาขาย่อยกว่า 300 แห่ง สำหรับ CoderDojo สาขาแมนเชสเตอร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และปีต่อมาได้ย้ายที่ตั้งไปอยู่ใน Sharp Project เมืองเทคโนโลยีซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการดิจิทัลกว่า 50 ราย นับว่าเป็นการเลือกตำแหน่งที่ตั้งได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะเหล่าผู้มากประสบการณ์ที่เรียกตัวเองว่า SharpFuture ซึ่งทำงานในสายอุตสาหกรรมไอทีได้เป็นกำลังหลักในการจัดกิจกรรม เป็นอาสาสมัครถ่ายถอดความรู้ และเป็นที่ปรึกษาโปรเจ็กต์ให้กับเด็กๆ
ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อที่เด็กจะเรียนรู้เทคโนโลยี มีการค้นพบว่าเกมหรือแอพพลิเคชั่นที่สื่อสารเรื่องภาษาการเขียนโปรแกรมโดยเน้นการมองเห็น (visual) สามารถสอนแนวคิดและตรรกะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ก่อนที่เด็กจะอ่านหนังสือออกเสียอีก CoderDojo มีความเชื่อว่า เด็กควรจะได้รับโอกาสที่จะได้สัมผัสมนต์เสน่ห์ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี นั่นก็คือการเขียนรหัสเพื่อสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา โดยการช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นประสบการณ์ และไม่ละทิ้งสายสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม
ที่นี่มีสมาชิกที่เป็นเด็กและวัยรุ่นกว่า 80 คน ซึ่งมาเล่นเกมและเรียนรู้ที่จะสร้างเกมขึ้นมา เช่น Minecraft และ Angry Birds รวมทั้งการพัฒนาเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ฯลฯ กิจกรรมจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือน ซึ่งมีผู้สำรองที่นั่งจนเต็มหลังจากเปิดแจกบัตรเพียง 2 ชั่วโมง และมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่มีการจัด Tech camp ขึ้นในบริเวณพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม และยังมีหลักสูตรแบบ 1 สัปดาห์ที่ชื่อว่า Fire Tech ซึ่งเดินสายทั่วอังกฤษ
บรรยากาศของ CoderDojo แมนเชสเตอร์
ผู้ปกครองคนหนึ่งสะท้อนพัฒนาการของลูกสาวในวัย 7 ขวบว่า ครอบครัวของเขาไปที่ CoderDojo แมนเชสเตอร์ เพียงเพื่ออยากหากิจกรรมสนุกๆ ให้ลูกทำ แต่คิดไม่ถึงว่าได้ทำให้ตัวเขามองเห็นแง่มุมที่สุดอัศจรรย์ซึ่งแฝงอยู่ในตัวเด็กน้อย Isobel ผู้เริ่มต้นเล่นสนุกด้วยโปรแกรม Scratch กับกลุ่มเพื่อนที่อายุมากกว่า ได้เข้าห้องเรียน ICT เพื่อเรียนรู้ที่จะหาทางแก้ปัญหาที่ค่อยๆ ยากขึ้น โดยมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยง หลังจากนั้นเธอได้เปลี่ยนเป็นเด็กที่กระหายที่จะเรียนรู้และมีวินัยในตนเองสูง ทุกวันเมื่อกลับถึงบ้านไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการขบคิดเพื่อแก้ไขโปรแกรมให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยสื่อบันเทิงก็ไม่อาจดึงความสนใจของเธอไปได้ การทำงานร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ใน CoderDojo จึงเป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปี่ยมด้วยพลัง เด็กๆ ได้รับทักษะที่หลากหลาย ทั้งความสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม การสื่อสาร การร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และความเป็นผู้นำ
Isobel กับเกมลิงที่เธอลงมือวาดตัวการ์ตูนและเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง
กระแสการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กอปรกับการเห็นความสำคัญของการวางรากฐานการศึกษาเพื่อมุ่งสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้รัฐบาลอังกฤษประกาศบังคับใช้หลักสูตรการศึกษาระดับชาติฉบับใหม่เมื่อเดือนกันยายนปี 2014 โดยได้บรรจุวิชาไอซีทีและการเขียนโปรแกรมสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 14 ปี
อย่างไรก็ตาม มีการสำรวจว่าครูส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ไม่มีความสุข และมองไม่เห็นหนทางที่จะพัฒนาการเรียนการสอนแบบใหม่ มีครูเพียง 15% ที่รอบรู้และใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ตัวแทนของรัฐบาลก็ยืนกรานว่า ประเทศอังกฤษไม่สามารถปล่อยให้เวลาสูญเปล่าไปอีก 10 ปี เพราะเมื่อนั้นเด็กอายุ 5 ขวบ ก็กลายเป็นผู้ใหญ่อายุ 16 ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยและนายจ้างต่างก็คาดหวังให้โรงเรียนปูพื้นฐานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น อย่างมากที่สุดครูควรมีเวลาปรับตัวและเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงอีกไม่เกิน 3-4 ปีเท่านั้น
รวบรวม แปล และเก็บความโดย นางสาวทัศนีย์ จันอินทร์ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, กันยายน 2558
แหล่งข้อมูล
แหล่งภาพ