บทบาทของบรรณารักษ์ที่คนทั่วไปคุ้นเคยหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลและจัดระบบหนังสือภายในห้องสมุด และให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามาใช้งาน แต่ในยุคดิจิทัลรูปลักษณ์ของความรู้กำลังเปลี่ยนแปลงจากหนังสือไปสู่รูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อีบุ๊ค ออดิโอบุ๊ค รูปภาพ วิดีโอ เกม บล็อก แอพพลิเคชั่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ ฯลฯ บทบาทของบรรณารักษ์จึงมีแนวโน้มว่าจะต้องปรับเปลี่ยนไป รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องมีทักษะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโลกความรู้ในอนาคตด้วย
กว่า 20 ปีแล้ว คำว่า Cybrarian ได้ถูกบัญญัติขึ้น เพื่อใช้อธิบายคุณลักษณะของบรรณารักษ์ที่ควรจะเป็น โดยมีนิยามว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศและมีความรู้เฉพาะทางในการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ บรรณารักษ์ในอนาคตจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาดิจิทัล มีความสามารถในการดัดแปลงและส่งต่อเนื้อหาเพื่อนำพาความรู้เหล่านั้นไปให้ถึงมือของกลุ่มเป้าหมายด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ หรือเรียกได้ว่าเป็น Digital Media Specialist
กระนั้นก็ดี ถึงแม้บรรณารักษ์จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมที่กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วแล้ว ก็ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกที่ทุกคนมีอำนาจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองเช่นทุกวันนี้ ห้องสมุดก็จะตายไปในที่สุด และบรรณารักษ์ก็จะกลายเป็นอาชีพที่หมดความจำเป็นไปตามยุคสมัย แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้กลับแย้งว่าอนาคตของวิชาชีพบรรณารักษ์คงไม่ได้ลดความสำคัญหรือถึงกับสูญสลายไป เนื่องจากเทคโนโลยีและความรู้ในโลกดิจิทัลยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่การให้บริการของห้องสมุดและบรรณารักษ์ได้อย่างสมบูรณ์ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
- ใช่ว่าอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลไปเสียทุกอย่าง ความรู้ในโลกดิจิทัลมักเป็นความรู้ที่ร่วมสมัย แต่ความรู้เฉพาะทาง หรือเอกสารโบราณส่วนใหญ่ไม่สามารถสืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต แม้ Google Book จะพยายามนำหนังสือนับล้านเล่มมาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล แต่ก็ประสบปัญหาว่ามีหนังสืออีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์
- ห้องสมุดดิจิทัลไม่ได้หมายถึงอินเทอร์เน็ต อาจจะจริงที่เราสามารถค้นหาหนังสือ วารสาร เอกสาร งานวิจัยหรือรายงานได้ทางฐานข้อมูลออนไลน์ แต่บ่อยครั้งการเข้าถึงข้อมูลในระดับที่ลึกขึ้นยังจำเป็นต้องลงทะเบียนเข้าใช้ หรือต้องขอเข้าไปสืบค้นใช้งานที่ห้องสมุด
- ความรู้ในอินเทอร์เน็ตอาจไม่ใช่ของฟรี ข้อมูลเฉพาะด้านบางอย่างไม่อนุญาตให้ดาวน์โหลดไปใช้งานฟรี แต่จำเป็นจะต้องจ่ายเงินให้กับสถาบันการศึกษาที่เป็นเจ้าของข้อมูล การติดต่อกับห้องสมุดโดยตรงอาจสะดวกกว่า
- อินเทอร์เน็ตอาจเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด แต่ไม่สามารถแทนที่ห้องสมุด ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมีความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่ำกว่าห้องสมุด เป็นเหมือนกับการเลือกสุ่มความเห็นสาธารณะ หรือการรวบรวมข้อเท็จจริงแบบเร็วๆ เท่านั้น
- ห้องสมุดและบรรณารักษ์สามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้ ผลการวิจัยจากห้องสมุดโรงเรียนของรัฐอิลลินอยส์ระบุว่า ห้องสมุดที่มีหนังสือดี (well-staffed) และมีระบบจัดเก็บที่ดี (well-stocked) สามารถช่วยเพิ่มคะแนนสอบของนักเรียนได้อย่างชัดเจน
- ห้องสมุดไม่ได้เป็นเพียงที่เก็บหนังสือ แต่ยังมีความรู้ที่ถูกเก็บไว้ในลักษณะอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้บริการในห้องสมุด หรือแนะนำโดยบรรณารักษ์
- การเกิดขึ้นของอุปกรณ์สื่อสารไร้สายไม่ใช่จุดจบของห้องสมุดหรือหนังสือ ยังคงมีคนที่นิยมอ่านหนังสือด้วยกระดาษอยู่จำนวนมาก ไม่ต่างจากที่วันนี้การดูรายการสดทางโทรทัศน์ หรือการไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะสามารถดูรายการหรือภาพยนตร์ออนไลน์ย้อนหลังได้
- การเข้าใช้งานห้องสมุดไม่ได้ลดน้อยลงแต่อาจเปลี่ยนเป็นการใช้งานแบบเสมือนจริง เช่น กรณีของหอจดหมายเหตุประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งเคยมีผู้เข้าใช้บริการ 50,000 คนต่อปี เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเมื่อปี 1987 มีคนเข้าห้องสมุดแห่งนี้ลดลงถึงกว่า 40% ดูเหมือนเป็นตัวเลขที่น่าตระหนก แต่จริงๆ แล้วพวกเขาหันมาใช้บริการแบบออนไลน์ถึงกว่า 85,000 คน
- ห้องสมุดทางกายภาพจะปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางวัฒนธรรม รูปแบบวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดเกิดการปรับตัวให้มีลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น ห้องสมุดหลายแห่งเริ่มมีพื้นที่สำหรับการทำงานเป็นกลุ่ม มีมุมกาแฟและขนมสำหรับนั่งพูดคุย และไม่ใช่ห้องสมุดที่ต้องพูดกระซิบอีกต่อไป
- การขจัดห้องสมุดถือเป็นการตัดขาดทางวัฒนธรรม ห้องสมุดไม่ใช่สิ่งล้าสมัย แต่เป็นองค์กรที่หยั่งรากความรู้มาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตเพื่อพาให้สังคมก้าวไปสู่อนาคตอย่างมีทิศทางการออกแบบเว็บไซต์ที่ดีในปัจจุบันก็ใช้โมเดลของห้องสมุดที่ดีมาเป็นแนวทาง
- ความรู้ทางอินเทอร์เน็ตยังไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด เพราะใครจะใส่ข้อมูลอะไรในโลกออนไลน์ก็ได้ อาจมีการปล่อยข่าวลวงหรือปั่นกระแสให้คนเชื่อตามๆ กัน ธรรมชาติของเว็บไซต์และโลกโซเชียลมักมีความอ่อนไหวสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก
- บรรณารักษ์ไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยผู้ดูแลเว็บไซต์ แม้จะมีบทบาทที่คล้ายคลึงกันแต่ความน่าเชื่อถือของบรรณารักษ์ก็ยังคงมีมากกว่าผู้ดูแลเว็บไซต์
- บรรณารักษ์คือผู้ที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต ต้องยอมรับว่าในด้านหนึ่งอินเทอร์เน็ตก็ให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ใช้บริการ มีข้อมูลมากมายที่ไม่ได้อยู่บนชั้นหนังสือ และแต่ละคนก็สามารถใช้เครื่องมือเพื่อค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ทักษะความรู้เรื่องสื่อและการใช้สื่อ (Media Literacy) เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต บรรณารักษ์ควรจะมีบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนี้แก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาที่ครูอาจารย์อาจให้ความใส่ใจกับเรื่องเนื้อหาสาระในรายวิชามากกว่า
- ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลสำหรับการอ้างอิง สิ่งพิมพ์ที่อยู่ในห้องสมุดถูกผลิตขึ้นอย่างมีมาตรฐานและน่าเชื่อถือ จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในเชิงวิชาการ
- ห้องสมุดยังคงเก็บรักษาประสบการณ์ของการอ่านหนังสือ ในขณะที่การค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตจะพบข้อมูลที่ค้นหาได้อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้มองเห็นความรู้แบบแยกส่วน แต่การอ่านหนังสือหนาๆ หรือการค้นหาหนังสือจากชั้นหนังสือจะให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
- ห้องสมุดสามารถช่วยสร้างระบบในการจัดการจดหมายเหตุใหม่ๆ ได้ สำหรับการค้นหาสิ่งพิมพ์ประเภทข่าวหรือวารสารด้วยหัวข้อหรือชื่อผู้เขียนที่เฉพาะเจาะจง ระบบของห้องสมุดสามารถให้ผลการสืบค้นที่แม่นยำกว่าการค้นหาจากเว็บไซต์
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มและดาวน์โหลดหนังสือ “เต็มสิบ” 10 ปีทีเคพาร์ค : 1 ทศวรรษการอ่านของสังคมไทย
แหล่งข้อมูล
- Cybrarian: The Librarian of Future Digital Library โดย Tulima Dey จากเว็บไซต์ www.ijidt.com
- From Librarian to Cybrarian: Evolving Role of the Information Professional โดย Sean Dreilinger จากเว็บไซต์ http://durak.org
- 16 Reasons Why Libraries and Librarians are Still Extremely Important จากเว็บไซต์ www.collegeonline.org