เรียนรู้ภาษาต่างประเทศช่วยชะลอความชราได้
เคยรู้สึกว่าอยากจะเรียนภาษาต่างประเทศ แต่รู้สึกว่าสายเกินไปหรือไม่? ลองคิดใหม่ดู เพราะการเรียนภาษาใหม่ๆในวันนี้อาจให้ผลตอบรับที่คุ้มค่ากว่าที่คิด
การได้เรียนรู้ภาษาใหม่ๆไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้นหรือช่วยให้ชมภาพยนตร์ต่างประเทศโดยไม่ต้องดูคำบรรยายแปลได้ดีขึ้น แต่นักวิจัยได้ยืนยันแล้วว่ามันยังมีผลดีต่อสมองของเราและช่วยให้ความคิดปราดเปรื่องอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าใดก็ตาม
การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเอดินบะระเปิดเผยว่าคนที่พูดได้มากกว่า 2 ภาษาขึ้นไป แม้กระทั่งในกลุ่มที่เพิ่งเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถลดภาวะความเสื่อมของสมองอันมีสาเหตุมาจากความชราได้
งานวิจัยชิ้นนี้อ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ทั้งหมด 835 รายที่เกิดและเติบโตในเมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ กลุ่มผู้ใช้เหล่านี้เคยเข้าร่วมการทดสอบเพื่อวัดระดับสติปัญญา (Intelligence Test) ในปี 1947 เมืองอายุ 11 ปี และกลับมาวัดอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัย 70 ในระหว่างปี 2008 ถึง 2010 ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่เรียนภาษาต่างประเทศมากกว่า 2 ภาษาขึ้นไปยังคงระดับสติปัญญาไว้ในระดับเดิมได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อสอบวัดสติปัญญาทั่วไปและข้อสอบวัดทักษะการอ่าน
ผลทดสอบจะยิ่งชัดเจนขึ้นจากกลุ่มที่เรียนภาษาต่างประเทศเมื่ออายุยังน้อย หรือแม้ในช่วงต่อๆ มาในชีวิต จริงอยู่ว่าการเรียนภาษาต่างประเทศจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากผู้เรียนยิ่งอายุน้อย แต่งานวิจัยนี้ยืนยันชัดว่าไม่เคยสายเกินไปที่จะเริ่มต้นพัฒนาระดับสติปัญญาของเราและความแข็งแรงของสมอง
นักวิจัยยังสังเกตเห็นถึงรูปแบบของพัฒนาการในเพ่งความสนใจและระดับความคล่องในการใช้ภาษาว่าไม่ใช่ทักษะที่กำหนดด้วยสติปัญญาตั้งแต่แรกเกิด
สถาบันชราภาพแห่งสหราชอาณาจักร (Age UK) กล่าวสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนในสหราชอาณาจักรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปถูกประเมินว่าตกอยู่ในภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นการค้นพบว่าอะไรที่มีอิทธิพลต่อภาวะดังกล่าวในผู้สูงอายุจะสามารถช่วยให้คำแนะนำทางสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง งานวิจัยชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นอีกก้าวที่จะทำให้เราพบวิธีในการรักษาเสถียรภาพของสมองไว้ได้เมื่ออายุมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยมากมายรับรองว่าการพูดได้สองภาษาขึ้นไปมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยตัดสินใจ, พัฒนาความจำ และช่วยกระตุ้นให้มีความคิดเชิงวิพากษ์ งานวิจัยในปี 2013 พบว่าผู้ป่วยที่สามารถพูดได้สองภาษาขึ้นไปช่วยชะลอการแสดงอาการป่วยไข้ได้เฉลี่ยถึง 4.5 ปีมากกว่าผู้ที่สามารถพูดได้เพียงภาษาเดียว ความแตกต่างของตัวเลขอายุที่ผู้ป่วยจะแสดงอาการไม่ได้พบแค่เพียงในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ แต่พบได้ในผู้ป่วยจากอาการสมองเสื่อมที่มีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ อีกด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ความสามารถในการพูดได้หลายภาษาเกี่ยวโยงกับการฝึกสมองโดยตรง เพราะการเรียนภาษาเป็นรูปแบบหนึ่งของการลับเชาว์สมอง งานวิจัยเผยว่าผู้ที่พูดได้สองภาษาขึ้นไปโต้ตอบ “เสียง” ได้ดีกว่า จากการทดลองนักเรียน 48 ราย พบว่าผู้ที่พูดแต่ภาษาอังกฤษกับผู้ที่เรียนภาษาต่างประเทศโต้ตอบกับเสียงในรูปแบบที่แตกต่างกัน เมื่อให้อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนคุยกันเสียงดังมากมาย นักเรียนกลุ่มที่พูดได้สองภาษาจะสามารถปรับหูตัวเองจนหาข้อมูลที่ต้องการพบและกันข้อมูลที่ไม่สำคัญออกไปได้
แล้วภาษาจะช่วยป้องกันสมองของเราได้อย่างไรบ้าง? ทฤษฎีที่สำคัญอ้างชัดว่าคนที่เรียนหลายภาษาสามารถนึกตัวเลือกคำศัพท์ได้หลากหลาย ก่อนที่จะเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดได้ และนั่นก็ถือเป็นกลไกเบื้องหลังที่ทำให้พวกเขาได้ลับสมองในทุกๆ วัน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเล็งว่าจะเรียนภาษาใหม่ๆ แต่เกรงว่าอาจจะสายเกินไป นี่อาจจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นแล้ว
แหล่งข้อมูล
http://www.lifehack.org/articles/lifestyle/learning-new-language-can-slow-aging.html
แหล่งภาพ
http://www.languagesunited.co.uk/learn-other-languages