สตรีนิยม (Feminism) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ดำเนินมายาวนาน แต่ในสังคมร่วมสมัย การเคลื่อนไหวเพื่อแสวงหาความเท่าเทียมทางเพศนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทโลกและตอบสนองต่อข้อถกเถียงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบัน สตรีนิยมขยายขอบเขตออกไปยังแง่มุมต่าง ๆ ทั้งที่วกกลับมายังเรื่องพื้นฐานอย่างวิถีชีวิตประจำวัน และรุกคืบไปตั้งคำถามถึงสังคมในระดับโครงสร้างและฐานคิดที่เผยออกมาเป็นความอยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม
ในปี 2024 นี้ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ประมวลคำศัพท์ห้าคำที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญภายในแวดวงสตรีนิยมมาเรียบเรียงไว้ แต่ละคำเหล่านี้เน้นย้ำถึงความหลากหลายของขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก และชี้ว่าบางปัญหานั้นเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างยิ่งจนเราไม่ควรมองข้าม ลองมาสำรวจคำศัพท์ทั้ง 5 เหล่านี้ไปด้วยกัน เพื่อให้เราเข้าใจสตรีนิยมในบริบทร่วมสมัยอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
1. วัฒนธรรมการกิน (Diet Culture) ว่าด้วยแรงกดดันและมาตรฐานทางสังคมเกี่ยวกับเรือนร่างของผู้หญิง การควบคุมอาหาร การรักษารูปลักษณ์ และการลดน้ำหนัก ทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้หญิงเกิดความไม่มั่นใจ ความเครียด ความกังวล และความรู้สึกไม่ดีต่อการกินอาหาร วัฒนธรรมนี้ส่งผลกระทบต่อไปในอีกหลายด้าน แม้แต่ในหมู่ผู้หญิงด้วยกันเอง เช่น ทำให้เกิดความนิยมในมาตรฐานความงามที่ไม่อิงกับความจริง การให้คุณค่ากับรูปร่างผอมเพรียวที่อาจไม่ถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา รวมถึงความคาดหวังต่อตนเองที่ไม่สมเหตุสมผล และอาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพ วัฒนธรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ความไม่พอใจต่อร่างกายตนเอง และปัญหาสุขภาพจิต การต่อสู้กับวัฒนธรรมการกินเหล่านี้ในสตรีนิยมร่วมสมัย จึงเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจด้านสุขภาพที่ถูกต้อง การรักษาสุขภาพจิตที่ดีและการรื้อฟื้นความพึงพอใจในตนเอง
2. ความจนประจำเดือน (Period Poverty) หมายถึงการที่ผู้หญิงหรือผู้มีประจำเดือนขาดแคลนผลิตภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยที่เหมาะสม รวมถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีประจำเดือนและการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยเฉพาะต่อผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี เพราะประจำเดือนกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจ การจัดสรรเวลาและทรัพยากร ทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงโอกาสยิ่งออกห่างจากคนกลุ่มอื่น ๆ โดยสถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ยังสร้างอุปสรรคในด้านการศึกษา การเข้าทำงาน การลาระหว่างทำงาน และโอกาสการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพื่อต่อยอดโอกาสพัฒนาตนเองและพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เนื่องจากความไม่สะดวกและความอับอายที่อาจเกิดขึ้น แนวร่วมที่พยายามจัดการกับปัญหาความจนประจำเดือน จึงมุ่งไปที่ภารกิจสร้างความเท่าเทียมและการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานทางสุขภาพสำหรับทุกคน ทั้งการจัดหาผลิตภัณฑ์สำหรับประจำเดือนฟรี หรือมีราคาที่เอื้อมถึงได้ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย และการส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับการมีประจำเดือนในแง่บวกและเปิดกว้างมากขึ้น
3. คอนเซนต์ (Consent) หรือการยินยอม คือการสื่อสารอย่างชัดเจนเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจตรงกันว่าแต่ละฝ่ายยินยอมมีส่วนร่วมอย่างเต็มใจหรือว่าปฏิเสธ และการยินยอมไม่ใช่เพียงการตอบรับครั้งแรกเพียงครั้งเดียว แต่ควรจะเกิดขึ้นทุกครั้ง ไม่ว่าจะก่อนและระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศแต่ละครั้ง รวมถึงสามารถถอนความยินยอมได้ทุกเมื่อ หากฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจหรือเปลี่ยนใจ เพราะความสำคัญของการให้ความยินยอมหรือคอนเซนต์ คือการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องขอบเขตส่วนตัวและการมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศโดยที่แต่ละฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน
4. การแบ่งงานบ้าน (The Division of Domestic Labour) หมายถึงการจัดสรรภาระงานบ้านให้กับทุกคนในบ้าน บนฐานคิดที่ทุกคนต่างต้องร่วมรับผิดชอบต่อบ้านและครอบครัวในฐานะสมาชิก การจัดสรรงานเหล่านี้อาจพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น แรงกาย เวลา ความพร้อม ทักษะและความถนัด รวมถึงข้อสรุปจากการเจรจากัน ความเท่าเทียมกันในบริบทนี้จึงเป็นการตอบโต้ต่อปัญหาโครงสร้างทางสังคมและค่านิยมที่มีมายาวนาน ที่มักจะมองว่างานบ้านและการดูแลเรื่องจิปาฐะในครอบครัวเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ โอกาสในการหางานทำ การพัฒนาตนเอง และการแสวงหาคุณค่าและความหมายของชีวิตผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการจัดสรรภาระงานบ้านให้เป็นธรรมมากขึ้น จึงเป็นทั้งการส่งเสริมความเท่าเทียม และแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในครัวเรือน และส่งเสริมสายสัมพันธ์ภายในครอบครัวระยะยาว
5. ความรุนแรงต่อผู้หญิง (Violence Against Women) คือความรุนแรงที่มุ่งเป้าไปยังผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางกายภาพ ทางเพศ ทางอารมณ์ และทางเศรษฐกิจ เป็นความรุนแรงที่อาจแพร่หลายมากในบางสังคม และอาจมีต้นรากจากการปลูกฝังทางวัฒนธรรม การล่วงละเมิดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้หญิง ซึ่งอาจส่งผลลุกลามเกินกว่าระดับบุคคล เพราะผู้หญิงคนหนึ่งอาจมีบทบาทเป็นทั้งแม่ ลูก ผู้ปฏิบัติงาน และเป็นสมาชิกของสถาบันทางสังคมต่าง ๆ การที่ผู้หญิงถูกกระทำด้วยความรุนแรงจึงเป็นการสร้างความกดดันร้าวลึกและเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมาก ดังนั้น ผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อหยุดความรุนแรงต่อเพศหญิงและส่งเสริมให้เกิดการเยียวยาบาดแผลของผู้ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง จึงเห็นว่านี่คือการสู้กับปัญหาที่ต้นตอเพื่อสร้างสังคมบนคุณค่าแบบใหม่อย่างยั่งยืน
ศัพท์ทั้ง 5 คำข้างต้นไม่ใช่แค่เป็นประเด็นพูดคุยกันในระดับวิชาการเท่านั้น แต่ยังอยู่ปรากฏในสื่อสังคม และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป การเรียนรู้ประเด็นเหล่านี้ในเบื้องต้นอาจช่วยให้เราได้มีโอกาสสำรวจสังคมรอบตัวว่ามีอคติทางเพศแฝงอยู่ในจารีตหรือธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่เราอาจไม่เคยตระหนักถึงอยู่หรือไม่ หรือแม้แต่เราเห็นด้วยหรือไม่กับประเด็นที่มีการรณรงค์อยู่ในโลกร่วมสมัยมากเพียงใดและเพราะเหตุใด
เพื่อเป็นการขยายมุมมองเกี่ยวกับสตรีนิยม TK Park คัดสรรหนังสือชุด "Her Story" มาไว้บนชั้นหนังสือแนะนำของเราเพื่อรอให้คุณมาอ่าน คลิกที่นี่↗
อ้างอิง [1], [2], [3], [4], [5]