หากเปรียบช่วงชีวิตวัยเรียนเป็นการตระเวนบินไปทั่วทิศทางเพื่อสะสมความรู้พื้นฐานเพื่อเข้าสู่เส้นทางอาชีพ ภารกิจหนึ่งของอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ผ่านโครงการ "TK Park เปิดตำราวิชาแนะให้แนว" ก็คือการพาเด็ก ๆ และเยาวชนไปลงจอดบนพื้นที่ที่ปลอดภัย ให้แต่ละคนออกเดินทางบนเส้นทางอาชีพของตนเองด้วยความมั่นใจ
ภารกิจนี้จึงนำมาสู่ questionme.tkpark.or.th หรือ QUESTION ME? แพลตฟอร์มที่มุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนที่กำลังตัดสินใจเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา มาค้นหาคำถามที่ช่วยค้นหาความถนัดและเส้นทางชีวิตในอนาคต ภายใต้แนวคิด "เพราะชีวิตมันต้อง KEEP ตั้งคำถาม" โดย TK Park ได้เชิญ ดร.เพิ่มสิทธิ์ นําประสิทธิผล หรือ ดร.ปัง มาเป็นที่ปรึกษาการออกแบบคำถาม ด้วยพื้นฐานทฤษฎีจากหนังสือดังระดับโลก 2 เล่ม คือ Designing Your Life↗ โดย Bill Burnett and Dave Evans และ What Color is Your Parachute? โดย Richard Nelson Bolles
แนวคิดสำคัญที่ทำให้ชุดคำถามบนแพลตฟอร์ม QUESTION ME? แตกต่างจากแบบสอบถามทางจิตวิทยาอื่น ๆ ที่เคยมีมา คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการค้นหาตัวเอง ซึ่งนั่นหมายถึงว่า กระบวนนี้อาจต้องใช้ทั้งเวลาและสรรพกำลัง
หนังสือ What Color is Your Parachute? โดย Richard Nelson Bolles ที่เป็นต้นทางความคิดของชุดคำถามบนแพลตฟอร์มนี้ กล่าวถึงวิธีการหางานแบบ Parachute Approach ซึ่งหมายถึงกระบวนการเลือกงานโดยเริ่มที่การสะท้อนตัวตนและตระหนักถึงศักยภาพที่ตนเองมี แล้วจึงมองออกไปยังตลาดงาน เพื่อค้นหาองค์กร สายงาน และตำแหน่งที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด วิธีนี้เป็นวิธีตรงกันข้ามกับวิธีการหางานโดยทั่วไป ที่องค์กรเป็นฝ่ายกำหนดเนื้องานจากตำแหน่งที่ว่างอยู่ ผู้สมัครทำได้เพียงปรับตัวให้เข้ากับสภาพงาน ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของงานในระยะยาว
แน่นอนว่า วิธีการเล็งเป้าหมายให้มั่นก่อนกระโดดลงไปในโปรแกรมการเรียนหรือสายงานนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจและจัดการกับความกดดันจากปัจจัยรอบตัวได้ เพราะบางครอบครัวมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เครือข่ายคนรู้จัก และการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าวิธีนี้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพียงแต่ต้องการแรงสนับสนุนและการปรับเปลี่ยนบริบทรอบตัวไปพร้อม ๆ กัน เช่น ความเข้าใจและการให้กำลังใจจากครอบครัว ความช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อน และเครือข่ายที่ปรึกษาที่ช่วยแนะนำหนทางที่เป็นไปได้
ในบริบทร่วมสมัย โลกเปลี่ยน งานเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์ของวันนี้จะตอบโจทย์ชีวิตในอนาคตหรือไม่ อาจไม่มีใครตอบได้ การค้นพบตัวตนและเตรียมตัวอย่างไม่รีบร้อนจนเกินไปเพื่อให้บรรลุความพึงพอใจต่ออาชีพการงานของตนเองในระยะยาว จึงเป็นกระบวนการพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การผันตัวไปทำอาชีพอื่น หรือการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงานไปตามบริบทของโลกอนาคตไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่กลับเป็นเรื่องท้าทาย เพราะแต่ละคนได้ตระหนักถึงคุณค่า จุดแข็ง และความสำคัญของตนเองแล้วเป็นทุนเดิม จึงอาจรับความเสี่ยงและยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ได้ดีกว่า
ดังที่กล่าวข้างต้น ไม่ใช่วัยรุ่นทุกคนที่จะสามารถรอหรือจัดการปัจจัยรอบตัวเพื่อสร้างโอกาสในการค้นพบตัวเองได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การสำรวจเพื่อค้นหาและประเมินความพร้อมของตนเองเบื้องต้นด้วยเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงผ่าน QUESTION ME? ก็อาจเป็นการช่วยตั้งหลักอย่างมั่นคง และอย่างน้อยที่สุด เยาวชนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะได้เห็นว่าตนเองไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่เพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันต่างก็กำลังฝ่าฟันจากจุดที่ตนเองอยู่ไปพร้อม ๆ กัน
ท้ายที่สุด การเรียนรู้ของคนเราย่อมไม่ได้สิ้นสุดแค่ในห้องเรียนหรือรั้วมหาวิทยาลัย ความจำเป็นต้องเลือกสาขาวิชาเรียนหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานตามกรอบเวลาที่กำหนดโดยระบบ ซึ่งแม้จะไม่ได้ตรงกับแนวทางที่เหมาะกับตนเองตั้งแต่แรก ก็ยังสามารถกลายเป็นโอกาสในการสะสมทักษะ การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติงานจริง (on-the-job learning) รวมถึงการสร้างสัมพันธ์กับผู้คนและสร้างเครือข่ายจากการทำงาน ก็อาจเป็นการปูทางสู่โอกาสที่จะทำให้แต่ละคนได้เป็นตัวของตัวเอง และค้นพบความสุขในเส้นทางอาชีพในระยะยาวได้เช่นกัน
อ้างอิง [1], [2], [3]