ในช่วงปีนี้ นวัตกรรมอะไรจะน่าจับตามองและเป็นที่กล่าวถึงไปมากกว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI สำหรับหลาย ๆ คน นี่อาจฟังดูเป็นสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้น เพราะในเวลาเพียงไม่นาน AI ที่พัฒนาโดยผู้พัฒนามากหน้าหลายตาและส่งออกมากให้เราได้ใช้งานในหลายรูปแบบและหลายชื่อ ได้ทำให้ทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่คือสิ่งที่กำลังจะเข้ามาพลิกโฉมวิธีคิดและการทำงานของคนในหลายวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการ “การศึกษา” ที่ดูจะเป็นวงการที่มีแบบแผน รวมถึงเปลี่ยนแปลงได้ช้าและยากกว่าวงการอื่น
TK Park จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักและวิเคราะห์บทบาทของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ในการเสริมสร้างปัญญาอนาคตของมนุษย์ แล้วเฝ้าจับตาดูไปด้วยกันว่า AI จะเข้ามาพลิกโฉมและนำพาเราสู่การศึกษาแห่งอนาคตได้อย่างไร
AI และ Generative AI คืออะไร
สำหรับคำนิยามที่รัดกุมเกี่ยวกับ AI เราอาจย้อนไปดูประโยคง่าย ๆ ที่บริษัทชั้นนำระดับโลกที่นำ AI มาใช้เป็นรายแรก ๆ อย่าง McKinsey ได้ให้ไว้ว่า “ปัญญาประดิษฐ์คือจักรกลที่สามารถรับข้อมูลและติดสินใจได้เหมือนกระบวนการคิดของมนุษย์” ประโยคสั้น ๆ นี้บอกเป็นนัยว่า ความจริง AI อยู่ร่วมกับมนุษย์มานานแล้ว ย้อนไปตั้งแต่เราเริ่มรู้จักกับระบบปฏิบัติการอย่าง Windows หรือเครื่องรุ่นลายครามของแอปเปิ้ลอย่าง Macintosh เพียงแต่ AI ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่อยู่หลังบ้าน และคอยอำนวยความสะดวกให้เราอย่างเงียบ ๆ ในการคัดเลือก แยกแยะข้อมูล และนำเสนอข้อมูลพื้นฐานผ่านการคำนวณหรือที่เรียกว่าอัลกอริทึม (Algorithm) ที่ไม่ได้ซับซ้อนนัก
ดังนั้น AI จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากังวลสักเท่าไรในช่วงแรก เพราะมันอยู่ในระบบปฏิบัติการที่กำหนดกรอบความสามารถไว้ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนจนเข้ามาทดแทนงานที่ต้องรับมือกับประสบการณ์เฉพาะตัวของมนุษย์ได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การพัฒนาทางเทคโนโลยีก็ได้พาเรามาสู่สิ่งที่เรียกว่า “Generative AI” ซึ่ง AI ที่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลใหม่เองได้ อาทิ ChatGPT, Lovo, Copy AI, Compose AI หรือ Bard ซึ่ง AI เหล่านี้สามารถที่จะกลั่นกรองข้อมูลจำนวนมากที่ป้อนเข้ามา หาคำตอบ และสร้างคำตอบใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วกว่าที่มนุษย์ทำได้อย่างมาก
แม้ทั้งหมดนี้จะล้ำหน้าแค่ไหน จุดอ่อนของ AI กลุ่มนี้คือพวกมันยังไม่สามารถกลั่นกรองข้อมูลแบบอื่นนอกจากการรับรู้ผ่านภาษาเท่านั้น แต่เมื่อไม่นานนี้ ผู้พัฒนา ChatGPT ได้เปิดตัว GPT-4 หรือ AI ที่มีศักยภาพแบบ “multimodal” หรือ AI ที่สามารถรับข้อมูลหลากหลายโหมดได้พร้อม ๆ กัน กล่าวคือ สามารถที่จะรับและสังเคราะห์ข้อมูลใหม่ผ่านทั้งภาษาและรูปภาพได้ในคราวเดียว และจุดนี้เองที่ AI ดูเริ่มจะมีศักยภาพใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด และทำให้หลายบริษัทหันมาซุ่มพัฒนา AI ของตัวเองให้เหนือกว่า หรือเทียบเท่า GPT-4 ให้ได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
เมื่อ AI กำลังพลิกโฉมการศึกษา?
ศักยภาพของ AI ที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ว่า “แล้ว AI จะเข้ามาแทนมนุษย์ได้เมื่อไร?” หรือ “AI จะเก่งจนถึงขั้นควบคุมมนุษย์ได้หรือเปล่า?”
นักจิตวิทยาการศึกษาอย่าง แอนดรูว์ มาร์ติน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย UNSW ยังมองในแง่บวกว่า แม้เรากำลังอยู่ในจุดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีอยู่ของ AI ได้ คำถามสำคัญที่เราควรตั้งไว้ก่อนคือเราควรจะใช้ AI อย่างไรและมากเพียงใด ในฐานะนักจิตวิทยาที่สนใจด้านการศึกษา แอนดรูว์เสนอว่ามีหลายแง่มุมที่ AI จะสามารถเข้ามาช่วยให้เด็กระดับ K-12 (เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6) สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูผู้สอน
คำถามที่น่าสนใจข้อหนึ่งซึ่งมักถูกหยิบยกมาถามคือ เราสามารถใช้ AI เพื่อพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนได้หรือไม่? ข้อนี้แอนดรูว์เห็นว่า เนื่องจาก AI สามารถคิด วิเคราะห์ และพัฒนาคำถามเพื่อต่อยอดความคิดของเด็ก ๆ ได้ จุดนี้อาจทำให้เด็ก ๆ สามารถนำข้อมูลจาก AI มาโต้ตอบกับครูขณะเรียนหนังสือได้มากขึ้น ซึ่งแม้วิธีการนี้อาจจะยังไม่แพร่หลายในขณะนี้ และเราอาจจะยังหาสมดุลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่เจอ แต่แอนดรูว์มองว่าการใช้ AI ในบริบทของห้องเรียนน่าจะส่งผลในเชิงบวกได้มากกว่าเชิงลบ
AI อาจช่วยพัฒนาเด็กในหลากหลายแง่มุม
ความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับ AI ที่เรามักจะได้ยินหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ คือการที่นักเรียนมักนำ AI ไปใช้เขียนเรียงความส่งอาจารย์เพื่อประหยัดเวลา แต่นักการศึกษาหลายคนมองเรื่องนี้ว่า จุดเริ่มต้นคือมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งมองว่าการใช้ AI ช่วยเรื่องเกี่ยวกับการเรียนเป็นสิ่งผิด
ในทางกลับกัน หากเราเปิดรับ AI เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการศึกษา AI จะสามารถพานักเรียนทุกคนไปได้ไกลกว่าคำถามที่พวกเขาตั้งไว้ในเบื้องต้นได้ เพราะ AI อาจเสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์จากแง่มุมที่รอบด้านกว่าที่นักเรียนจะนึกถึงได้ตั้งแต่คราวแรก และยังนำเสนอข้อมูลที่ผสมผสานระหว่างภาพและตัวอักษรเชิงประจักษ์ จะยังช่วยคัดกรองไอเดียสำคัญในหัวข้อต่าง ๆ อย่างละเอียดเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนพัฒนาประเด็นคำถามให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
ผู้ช่วยคนสำคัญสำหรับการทำงานวิจัย
ในด้านการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ นักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจใช้ AI เพื่อพัฒนากรอบการวิจัยระดับสูงได้ การใช้ AI อาจช่วยพัฒนากรอบการวิจัยใหม่ ๆ ในหลายสาขา เช่น การช่วยตั้งคำถามการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง หรือการพัฒนากระบวนการวิจัยเชิงเปรียบเทียบ เราอาจเห็นโมเดลงานวิจัยใหม่ ๆ ที่นำ AI มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทดสอบกลุ่มตัวอย่างเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้น หรือแม้แต่ใช้ช่วยเก็บและประมวลผลข้อมูลเชิงลึกซึ่งเคยเป็นขั้นตอนที่สิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรสำหรับผู้วิจัยมาก
ออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคล
เด็กที่เคยถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะไม่สามารถเรียนตามเพื่อนในห้องได้ทัน หรือเด็กที่เคยสูญเสียความสนใจในการเรียนเนื่องจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้สำหรับคนหมู่มาก แต่ไม่เหมาะกับเด็กบางคนที่มีความต้องการหรือความสนใจพิเศษ อาจรื้อฟื้นขึ้นได้ด้วยความสามารถของ AI ในการจัดการกับข้อมูลจำนวนมากและวิเคราะห์ออกมาได้อย่างแม่นยำ ความสามารถนี้ทำให้กระบวนการสร้างสื่อการเรียนการสอนและรูปแบบการเรียนรู้กลายเป็นกระบวนการสำหรับผู้เรียนแบบเฉพาะตัวได้ โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากความสนใจเฉพาะตัวของเด็กคนนั้น ๆ รวมถึงยังสามารถทบทวนย้อนหลัง และปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ตลอดเวลา ทำให้กระบวนการการเรียนรู้ยืดหยุ่นไปตามความต้องการของผู้เรียนได้มากขึ้น
จากศักยภาพของ AI ที่เราได้กล่าวถึงข้างต้น ผู้คนในแวดวงการศึกษาหลายคนรวมถึงแอนดรูว์ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องมีแบบแผนการใช้งาน AI ในวงการการศึกษา และการพัฒนาแบบแผนนี้จะยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไปอีกนาน เพราะมีประเด็นปัญหาปลีกย่อยอีกหลายอย่าง อาทิ การให้ทุนการศึกษา เนื่องจาก AI ทำให้พิสูจน์ข้อมูลและความสามารถของแต่ละบุคคลตามที่ระบุไว้ในเอกสารได้ยาก ว่านักเรียนหรือนักวิจัยคนใดต้องการทุนจริง ๆ หรือใช้ AI มาช่วยนำเสนอข้อมูลให้ดูน่าสนใจ หรือเราจะจำกัดความสามารถและขอบเขตของการใช้ AI ในฐานะผู้ช่วยผลิตวิชาการในระดับอุดมศึกษาได้อย่างไร รวมถึง AI จะนำมายกระดับวิธีการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างเท่าเทียมกันโดยแท้จริงได้หรือไม่? ทั้งหมดนี้ยังคงต้องการงานวิจัยหลายสาขาเพื่อช่วยกันหาคำตอบต่อไป
แล้วคุณล่ะ คิดว่า AI จะมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ในอนาคตของมนุษย์หรือไม่ และอย่างไร?
อ้างอิง
https://www.mckinsey.com/featured-insights/mckinsey-explainers/what-is-ai
https://www.gatesnotes.com/The-Age-of-AI-Has-Begun
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/psyched/202305/educational-psychology-meets-generative-ai?fbclid=IwAR0ILPlTnGg4W13LeBzTHG5rO3C0vi4yhrWIVHEqkWNCEQUT7Y
https://a16z.com/2023/02/08/the-future-of-learning-education-knowledge-in-the-age-of-ai/