ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ร่วมสร้างสรรค์เครือข่ายสู่เป้าหมายเดียวกัน” ปี 2566 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา TK Park ได้ต้อนรับผู้ปฏิบัติงานจากอุทยานการเรียนรู้และพื้นที่แหล่งเรียนรู้เครือข่ายจากทั่วประเทศอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ด้วยกิจกรรมหลากหลายที่มุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ และหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ TK Park อยากบันทึกเรื่องราวไว้ในปีนี้ คือกิจกรรม TK Talk: เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเครือข่าย ที่ผู้แทนจากเครือข่ายหลายแห่งพากันมาขึ้นเวทีบอกเล่าเรื่องราวที่ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง เพื่อให้เครือข่ายแต่ละแห่งได้เรียนรู้และปรับตัวได้อย่างฉับไว เท่าทันต่อโลกปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตไปพร้อม ๆ กัน
อุทยานการเรียนรู้ยะลา: ร่วมมือกันสร้างสรรค์งานที่ตรงใจ
หัวใจหลักของการปฏิบัติงานที่อุทยานการเรียนรู้ยะลา คือการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายท้องถิ่น โดยบอร์ดบริหารอุทยานการเรียนรู้ยะลา เยาวชน ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ใช้บริการ ต่างร่วมมือกันในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอ่าน การพัฒนาทักษะชีวิต การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม
“เราต้องคิดว่าเราอยากจะทำอะไร อยากจะพูดเรื่องอะไร อยากให้ประชาชนเข้าถึงงานบริการอย่างไร และงานบริการของเราจะตรงใจผู้ใช้บริการได้อย่างไร” คำถามเหล่านี้ของคุณวธนัน ถ้วนถวิล ผู้จัดการอุทยานการเรียนรู้ยะลา ได้นำไปสู่ความพยายามขยายโอกาส ให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม พัฒนาอาชีพได้มากขึ้น และสร้างงานอดิเรกที่ก่อเกิดช่องทางรายได้ให้กับชุมชนได้มากขึ้น เช่น กิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิต ‘TK Young Marketplace เสริมสร้างเยาวชนให้เป็นผู้ประกอบการ’ และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากเยาวชนอย่าง ‘Creative DIY เสื้อผ้ามือสอง’ ที่เป็นการอบรมเรื่องการสร้างแบรนด์และการนำเสื้อผ้าเก่ามาดัดแปลงเป็นสินค้าใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณวธนันยังทิ้งท้ายเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้เพื่อน ๆ จากเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ไว้อีกว่า “ถ้าใครกำลังหมดไฟ กำลังมีคำถามว่า ถ้าถึงทางตันแล้วทำยังไง ให้ลองกลับไปหาเครือข่ายในท้องถิ่น ไปถามเขาว่าอยากทำอะไร อยากได้อะไร ยังไงก็ไม่มีทางตัน เพราะโลกเดินอยู่ตลอดเวลา มันเลยมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาให้เราได้เรียนรู้ต่อยอดอยู่ตลอด หรือกลับไปเอาโครงการเก่ามาทำใหม่ตอนนี้ยังได้ เพราะบริบทสังคม เวลา สภาพแวดล้อม กลุ่มเยาวชนไม่เหมือนเดิม วิธีคิดเราก็ไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ”
อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส: สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำหรับทุกคน
“ทำยังไงให้ TK Park ไม่ใช่แค่พื้นที่หรือตัวอาคาร แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกเวลาที่เขาต้องการ” นี่คือเป้าหมายของอุทยานการเรียนรู้นราธิวาสที่คุณณัฐนันท์ วิภัคจิรานนท์ กล่าวถึง และเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อุทยานการเรียนรู้นราธิวาสจึงนำ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ามาเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน สู่การสร้างคน สร้างกิจกรรม ให้ตอบโจทย์ทักษะชีวิตที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
“เราอยากแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ช่วงนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาบ้านเราเยอะมาก แต่จะทำยังไงให้นักท่องเที่ยวอยู่ในเขตเทศบาลเมืองของเรา ทำยังไงให้เกิดเงินหมุนเวียนที่เมืองของเรา” เมื่อเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ทางอุทยานการเรียนรู้นราธิวาสจึงตั้งใจจัดธีมงาน NARATOUCH โดยชื่อแคมเปญที่ชื่อพ้องเสียงกับหาดนราทัศน์ ชายหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนราธิวาส
“ในงานนี้จะมีทั้งเวิร์กช็อป เสวนา และกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย และเนื่องจากเราเล็งเห็นว่า เยาวชนของเราเข้าถึงแอปพลิเคชัน TikTok ได้ค่อนข้างง่าย เราจึงนำจุดนี้มาคิดต่อว่า…จะทำยังไงให้แอปพลิเคชัน TikTok สามารถสร้างคุณค่าให้คนและเมืองได้ เลยเกิดเป็น Young Creator Local Food Challenge ให้ผู้ใช้ TikTok ที่มียอด Followers ไม่ถึง 500 ไปรีวิวร้านอาหารในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส แล้วติด #NARATOUCH” ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านอาหารในเขตเทศบาลแล้ว ยังมี New TikTokers เกิดขึ้นจากโครงการอีกด้วย ตรงนี้เองทำให้เห็นชัดเจนว่าอุทยานการเรียนรู้นราธิวาสมีจุดแข็งในเรื่องของการผลิตคอนเทนต์และการสื่อสารผ่านออนไลน์ ซึ่งเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
TK Museum Lampang: แหล่งเรียนรู้คู่ศิลปวัฒนธรรม
โจทย์ของอุทยานการเรียนรู้นครลำปาง คือการเชื่อมโยงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สร้างจิตสำนึกถึงรากเหง้าของพื้นที่แหล่งเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ และเป็นเสี้ยวหนึ่งของวิถีชีวิตคนลำปาง TK Museum Lampang จึงสร้างพื้นที่ให้ทุกเพศทุกวัยได้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น กิจกรรม "ภาษิตล้านนา" ให้ผู้เช้าร่วมกิจกรรมทายคำและฝึกอู้กำเมือง และกิจกรรมสอนทำ "ตุงไส้หมู" แบบล้านนา เป็นต้น
นอกจากนี้ TK Museum Lampang ยังเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย เช่น เวิร์กช็อปพับกุหลาบจากใบเตย เวิร์กช็อปทำสายคล้องแมสก์ เวิร์กช็อปเลโก้จากกระดาษ และการแนะนำหนังสือออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนชาวลำปางต่อไป
ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ CIC เทศบาลนครภูเก็ต: แหล่งเรียนรู้กับเทคโนโลยี
คุณวริยา จิณณธนพงษ์ ผู้จัดการศูนย์ CIC เทศบาลนครภูเก็ต ได้พูดถึงความสำคัญของแนวทางการจัดกิจกรรมที่ศูนย์ฯ ไว้ว่า “สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จคือ Work Process และ Teamwork เราต้องฟังเสียงจากคนที่เข้ามาใช้บริการ จากนั้นก็นำมาคิดต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ และต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการสื่อสารในองค์กร พูดคุยรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะนั่นจะส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีม และเป็นพื้นฐานของการเดินหน้าสู่การเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่ดีในอนาคต” ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนถึงแนวปฏิบัติไปสู่เป้าหมายหลักขององค์กร ในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัยที่พร้อมให้ความรู้และคำแนะนำในด้านไอทีและมีการจัดอบรมให้ความรู้เสริมทักษะให้กับประชาชนและเยาวชนอยู่เสมอ
อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี: การจัดทำ School Package
คุณสกนธ์กรณ์ อุทัยรัตน์ จากอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี เล่าถึงปัญหาและแนวทางการจัดทำ School Package ซึ่งเป็นการขมวดรวมชุดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนที่มาเข้าใช้บริการแบบหมู่คณะไว้ว่า “โจทย์ของเราคือ จะดึงเด็ก ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมที่อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีได้อย่างไร เราต้องเป็นจุดแวะก่อนที่เขาจะไปสถานที่อื่นต่อ เพราะปัตตานีมีทั้งแหล่งเรียนรู้โบราณสถานและธรรมชาติมากมาย ซึ่งคำตอบคือ เราต้องดีไซน์กิจกรรมให้น่าสนใจเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของเราเข้ามา เราจึงมีทีมที่คอยซัพพอร์ตกิจกรรมตามช่วงวัยของเด็ก ๆ และรับคนในจำนวนที่เหมาะสมเพื่อจัดกิจกรรมได้อย่างมีคุณภาพ”
ปัจจุบัน อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีให้บริการในรูปแบบ School Package ได้พร้อมกันสูงสุด 120 คน และมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ให้เด็ก ๆ ได้สนุกกับการวาดรูประบายสีและได้ลองเล่นและใช้งานสื่อกิจกรรม โดยหากเป็นเด็ก ๆ ในวัยประถมศึกษา อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะมีห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้บริการด้วย และกิจกรรมสุดท้ายที่เด็ก ๆ จะได้รับความสนุกกลับไปคือห้องชมสารคดี เพราะปัตตานีเป็นจังหวัดที่ไม่มีโรงหนัง การเข้าชมสารคดีจึงเป็นการมอบประสบการณ์ที่ดีกับเด็ก ๆ
อุทยานการเรียนรู้ระยอง: รีวิวหนังสือผ่านคลิปวิดิโอ
เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเข้าใช้บริการอุทยานการเรียนรู้ระยองได้ในช่วงโควิด-19 อุทยานฯ จึงปรับรูปแบบกิจกรรมมาไว้บนเพจ Facebook โดยการ Live พูดคุย รีวิว และแนะนำหนังสือใหม่ ๆ ให้ผู้ใช้บริการ เพื่อให้ข้อมูลว่าขณะนี้มีหนังสืออะไรเข้ามาเพิ่มบ้าง
ต่อมา เมื่อผู้ใช้บริการสามารถใช้งานที่อุทยานการเรียนรู้ระยองได้ตามปกติ กิจกรรมออนไลน์จึงปรับเปลี่ยนเป็นการทำคลิปวีดิโอสั้น เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงกิจกรรม และพัฒนาทักษะของเด็ก ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมให้เยาวชนรักหนังสือและภูมิใจในผลงานตนเองอีกด้วย
อุทยานการเรียนรู้บ้านพรุ: ชวนอ่านหนังสือที่ไม่เคยถูกยืม!
กิจกรรมแนะนำหนังสือผ่านหน้าเพจ Facebook ของอุทยานการเรียนรู้บ้านพรุ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา
อุทยานการเรียนรู้บางพรุได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จัดทำกิจกรรมในรูปแบบ ‘รีวิวหนังสือบนหน้าเพจ Facebook’ โดยบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ในอุทยานฯ ด้วยโจทย์ที่ว่าหนังสือที่เลือกมารีวิวจะต้องเป็นหนังสือที่ไม่เคยมีใครหยิบยืมอ่านมาก่อน เพราะทางอุทยานฯ ต้องการนำเสนอว่าทางเรามีหนังสือชุดนี้อยู่ หากผู้ใช้บริการอยากเปิดใจลองอ่านหนังสือแนวใหม่ ๆ ก็สามารถเข้ามายืมได้ ซึ่งส่วนมากจะทำเป็นโปสเตอร์เพื่อบอกข้อมูลพื้นฐานของหนังสือ เช่น ชื่อเรื่อง ผู้เขียน สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ เนื้อหาโดยสังเขป เป็นต้น
ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีการรีวิวหนังสือไปแล้วกว่า 1,800 เล่ม และผลตอบรับค่อนข้างดี หนังสือบางเล่มที่นำมารีวิวก็มีผู้ใช้บริการหยิบยืมมากขึ้น และยังเป็นการประชาสัมพันธ์อุทยานการเรียนรู้บ้านพรุอีกทางหนึ่งด้วย
อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน: กิจกรรม Summer Course “Back To School”
คุณเอมอร ลิ้มวัฒนา กล่าวถึงโจทย์ของกิจกรรมเปิดประตูสู่โลกการเรียนรู้ ICT Summer Course 2023 ที่ว่า จะเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ ก่อนที่พวกเขาจะกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนได้ทำอย่างไร จึงเป็นที่มาของชื่อกิจกรรม Back To School ที่อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนได้ออกแบบกิจกรรมขึ้นทั้งหมด 5 หัวข้อ ดังนี้
กิจกรรมส่งเสริมเทคโนโลยี การวาดภาพด้วยคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี AR
การอบรมปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยฟื้นคืนชีพสำหรับเด็ก CPR
การให้ความรู้เรื่องการออมเงิน การจดบัญชีรายรับรายจ่าย ผ่านการเล่าโดยหุ่นมือ
การให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการคัดแยกขยะ
กิจกรรม ‘รู้ เรียน เล่า ที่นี่แม่ฮ่องสอน เมืองแห่งการเรียนรู้’ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการทำตุงเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของทุกช่วงวัย และสืบสานวัฒนธรรม
ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการทำงานที่ว่า ‘การเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม’ นอกจากนี้ คุณเอมอรยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “ปัจจุบันเรามีการทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ เพราะเราคิดเสมอว่า ถ้าจะให้การเรียนรู้ขยับ เราจะขยับแค่ตรงที่ที่เราอยู่ไม่ได้ แต่ต้องขยับไปพร้อม ๆ กัน”
แหล่งเรียนรู้สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City): ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา
คุณดนย์ ทักศินาวรรณ เลือกหยิบยกประสบการณ์การนำเสนอเมืองฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO Global Network of Learning Cities ว่าจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเมือง มีการส่งเสริมสนับสนุนจากผู้มีที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และผู้คนจากหลากหลายวิชาชีพในท้องถิ่น อีกทั้งยังต้องมีบริบทเมืองที่ตอบโจทย์การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ มีกิจกรรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนเมืองและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ จนบรรลุเป้าหมาย ฉะเชิงเทราจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเมืองอื่น ๆ ในประเทศไทยที่ต้องการมุ่งสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในอนาคต
ในช่วงท้าย อุทยานการเรียนรู้น้องใหม่ที่เปิดให้บริการในปี 2565 - 2566 ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้สุราษฎร์ธานี และอุทยานการเรียนรู้พะเยา ได้ขึ้นเวทีมาเล่าสู่กันฟังกันว่าหลังจากที่ได้เปิดทำการอย่างเป็นทางการแล้ว ผลตอบรับเป็นอย่างไร โดยอุทยานการเรียนรู้สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ตลอดจนปลูกฝังทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 สำหรับคนทุกช่วงวัย และได้เปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 6 เดือน และมีผลตอบรับที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือจำนวนผู้ใช้บริการ 7,596 คน และมีการใช้งานพื้นที่ อาทิ โซนห้องสมุดมีชีวิตที่ให้บริการหนังสือและสื่อการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ห้องสมุดเด็ก ห้องเงียบสำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมาธิในการอ่าน มุม IT ห้องฉายภาพยนตร์ และห้องเรียนรู้อเนกประสงค์สำหรับการจัดประชุม อบรม และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสุราษฎร์มีเรื่องเล่า กิจกรรมตอบคำถามนิทรรศการ กิจกรรมหนังสือเล่มโปรด กิจกรรมวาดภาพระบายสี กิจกรรม DIY ที่คั่นหนังสือ กิจกรรมทัศนศึกษาช่วงปิดภาคเรียน เป็นต้น
คล้ายคลึงกันกับอุทยานการเรียนรู้พะเยา ที่เปิดบริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 โดยอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้ออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัย ภายใต้ความร่วมมือของเทศบาลเมืองพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา ปัจจุบันผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 15,000 คน และมีการใช้งานพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการอ่านหนังสือ การเรียนรู้ด้านไอที การสร้างความสนุกสนานและพักผ่อนหย่อนใจ โดยการชมทัศนีภาพของกว๊านพะเยาที่โซน TK Cafe และมีกิจกรรมเวิร์กช็อปในวันเสาร์ (กิจกรรมสำหรับเด็ก 0-12 ปี) และวันอาทิตย์ (กิจกรรมสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงวัย) ที่ห้องพะเยา Learning City