เพราะโลกของความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ และห้องสมุดก็ไม่จำเป็นต้องเงียบสนิทตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ TK Park จึงไม่เคยปล่อยให้พื้นที่เงียบเหงา ที่ห้องสมุดดนตรี เรามีกิจกรรมและการแสดงดนตรีแนวต่าง ๆ ที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในช่วงสุดสัปดาห์ อย่างงาน K-POP Chamber Music ที่พาเราสำรวจแนวดนตรี K-pop ที่ฮิตติดตลาดอยู่ในปัจจุบัน ไปพร้อม ๆ กับบรรยากาศการฟังดนตรีอย่างเพลิดเพลิน
สหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนที่สรรค์สร้างแนวดนตรีอันหลากหลายให้เฟื่องฟูมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ และด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีการอัดเสียง การบันทึกโทรทัศน์ การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กลุ่มคนหลากหลาย และอิทธิพลด้านการทหารในยุคสงคราม ทำให้ผลผลิตของวัฒนธรรม ‘สไตล์อเมริกัน’ แผ่ขยายไปยังทั่วโลกและปักธงเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้ก่อนใครเพื่อน แนวดนตรี ‘สไตล์อเมริกัน’ ตั้งแต่ยุคดนตรีบลูส์ (Blues) ร็อกแอนด์โรล (Rock and roll) จนกระทั่งวิวัฒนาการมาเป็นดนตรีป็อป (Pop) ซึ่งมีความหมายตรงตามตัว หมายถึงแนวเพลงที่ได้รับความนิยมโดยคนหมู่มาก (pop ย่อมาจากคำเต็มว่า popular) กลายรสนิยมกระแสหลักของคนทั้งโลก
แนวดนตรีสไตล์อเมริกันมีฐานแฟนเพลงและครองตลาดโลกมาตลอดหลายทศวรรษ สหรัฐอเมริกาจึงกลายเป็นเวทีสากลแห่งการประลองความสำเร็จแห่งวงการดนตรี อย่างปรากฏการณ์ ‘British Invasion’ ที่ดนตรีสไตล์อังกฤษซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เข้าตีตลาดเพลงสหรัฐอเมริกาในยุค 1960s เพื่อยกระดับความสำเร็จของตนไปสู่ระดับโลกอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน เกาหลีใต้คือประเทศผู้เล่นสำคัญจากฝั่งเอเชียที่รุกคืบเข้าไปยังตลาดเพลงสหรัฐอเมริกา ด้วยความสำเร็จของเพลงป็อปแบบเฉพาะตัวจนเกิดเป็นชื่อแนวเพลง (genre) ใหม่ขึ้นว่า 'เคป็อป' (K-pop) กลายเป็นปรากฏการณ์ 'K-pop Invasion' ขึ้น ทว่า บทบาทโดดเด่นของวงการเพลงเกาหลีใต้ไม่ได้เกิดในชั่วข้ามคืน แต่มีการริเริ่ม การบุกเบิก การทดลอง และการส่งเสริมให้เติบโตอย่างแข็งแรงมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ
The Kim Sisters ดาวเด่นในยุคสงคราม
ศิลปินชาวเกาหลีผู้เปิดประตูบานแรกสู่สหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาของอุตสาหกรรมดนตรีป็อป คือวงดนตรีสไตล์คันทรีย์ The Kim Sisters ของสามสาวตระกูลคิม ประกอบด้วย Kim Sook-ja (Sue), Kim Ai-ja (Aija) และ Kim Min-ja (Mia) โดยเรื่องราวเริ่มต้นจากการที่นักร้องหญิงชื่อดัง Lee Nan-young ผู้ซึ่งสามีถูกทางการเกาหลีเหนือจับตัวไปและภายหลังถูกสังหารในยุคสงครามเกาหลี (ค.ศ.1950-1953) ทำให้เธอต้องพาลูกสาวทั้งสองคน Sue กับ Aija และ Mia ลูกสาวของพี่ชาย ลี้ภัยมาอยู่ในค่ายทหารของสหรัฐฯ เด็กสาวทั้งสามจึงมีโอกาสได้ฝึกทักษะทางดนตรีแบบอเมริกันและแสดงที่ไนต์คลับในค่ายทหาร จนชื่อเสียงเลื่องลือไปถึง Tom Ball โปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน สามสาวจึงได้เซ็นสัญญาและย้ายไปเป็นศิลปินในสหรัฐฯ The Kim Sisters ได้รับความนิยมอย่างมากจนได้ไปแสดงใน The Ed Sullivan Show รายการโทรทัศน์ชื่อดังที่ศิลปินระดับโลกทุกคนต้องเคยมาเยือน
Seo Taiji & Boys ผู้ปฏิวัติวงการ
หลังยุคของ The Kim Sisters ความโด่งดังระดับสากลของศิลปินเกาหลีใต้ก็เว้นช่วงไปหลายทศวรรษ จนเมื่อวันที่ 11 เมษายน 1992 บอยแบนด์คลื่นลูกใหม่ “Seo Taiji & Boys” นำโดย Seo Taiji และสมาชิกอีกสองคนคือ Yang Hyun-suk กับ Lee Juno ได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในรายการประกวด MBC's Talent Show ทั้งสามขึ้นโชว์เพลง Nan Arayo (I Know) ที่ Seo Taiji ลงมือแต่งและโปรดิวซ์ด้วยตัวเอง
Nan Arayo (I Know) เป็นเพลงสไตล์ Rap/Hip-Hop ปรากฏบนเวทีพร้อมการเต้น B-boy และเสื้อผ้าหน้าผมแบบอเมริกันซึ่งแปลกใหม่ในยุคนั้น (มีการยกให้ Nan Arayo เป็นเพลง rap เพลงแรกของเกาหลีใต้) Seo Taiji & Boys จึงได้คะแนนต่ำสุดในรายการประกวด ทว่ากลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากฝั่งผู้ชม เพลงนี้ทะยานขึ้นอันดับ 1 อย่างรวดเร็วและรั้งตำแหน่งยาวนานถึง 17 สัปดาห์ ส่วนอัลบั้มแรก (ใช้ชื่อเดียวกับวง) ก็ขายได้กว่า 1.5 ล้านก็อปปี้ภายในเดือนเดียว และได้รับรางวัล Golden Disc Awards ในปีเดียวกัน และเมื่อปี 2012 นิตยสาร Spin ยกให้เพลง Nan Arayo ติดหนึ่งใน 21 เพลง K-pop ที่ดีที่สุดตลอดกาล และ 50 เพลงบอยแบนด์ที่ดีที่สุดตลอดกาลของนิตยสาร Rolling Stone ในปี 2015
หลังความสำเร็จท่วมท้นจากอัลบั้มแรก Seo Taiji & Boys ก็ยืนระยะในวงการเพลงอีก 4 ปี ก่อนประกาศยุบวงในปี 1996 แต่ชื่อของ Seo Taiji & Boys ได้กลายเป็นตำนานที่ต้องปรากฏในงานศึกษาประวัติศาสตร์ K-pop ทุกเล่ม เพราะศิลปินวงนี้ได้ช่วยปูทางให้กับศิลปินรุ่นน้องและกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีใต้ในยุคต่อมา
จากวิกฤตเศรษฐกิจ สู่โอกาสของวงการเพลง
หลังยุครุ่งโรจน์ของ Seo Taiji & Boys อดีตนักร้องอย่าง Lee Soo-man ได้เกิดแนวคิดการทำอุตสาหกรรมดนตรีให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม จึงได้ก่อตั้งบริษัทบันเทิงแบบครบวงจร SM Entertainment ขึ้นเมื่อปี 1995 บริษัทเปิดตัวด้วยบอยแบนด์ H.O.T. ที่นำสไตล์เพลงแบบ Seo Taiji & Boys มาพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ตามมาด้วยค่ายเพลงเปิดใหม่อีก 2 ค่าย ได้แก่ YG Entertainment ก่อตั้งเมื่อปี 1996 โดย Yang Hyun-suk อดีตสมาชิก Seo Taiji & Boys และค่าย JYP Entertainment ก่อตั้งเมื่อปี 1997 โดย Park Jin-young ศิลปินและนักแต่งเพลงชื่อดัง
ปลายปี 1997 เกาหลีใต้ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย จนรัฐบาลต้องกู้เงินจาก IMF และออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อใช้หนี้ หนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมตามแนวคิดของ Lee Soo-man รัฐจึงทุ่มเงิน 1% ของงบประมาณแผ่นดิน ผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงให้ผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมส่งออกไปยังนานาชาติและนำรายได้เข้าประเทศ
จากนโยบายดังกล่าว สามค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ (บิ๊กทรี) แห่งวงการ K-pop ได้แก่ SM, YG และ JYP จึงได้ปลูกปั้นและผลักดันศิลปินอย่างเต็มสูบเพื่อส่งออกสู่ตลาดเพลงนอกประเทศ ทำให้ช่วงทศวรรษ 2000 (ค.ศ. 2000-2009) มีศิลปินเกาหลีจำนวนมากมายที่เป็น multi-functioned artist คือกลุ่มที่มีสมาชิกที่ทำได้ทั้ง ร้อง เต้น และแสดง จนเกิดนิยามขึ้นใหม่ว่า “ไอดอล”
ในยุคนี้ สามค่ายยักษ์ใหญ่ต่างมีไอดอลแถวหน้า เช่น BoA, TVXQ, Super Junior, Girl’s Generation จากค่าย SM Entertainment / Seven, BIGBANG, 2NE1 จาก YG Entertainment / Rain, Wonder Girls, 2PM, จาก JYP Entertainment เป็นต้น และในบางโปรเจกต์ก็มีการออดิชั่นชาวต่างชาติเข้ามาในวง เป็นกลยุทธ์ในการตีตลาดแฟนคลับต่างประเทศด้วย
เมื่อคำว่า K-pop เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากล ก็เป็นโอกาสให้ค่ายเพลงอื่น ๆ สร้างศิลปินไอดอลที่ประสบความสำเร็จตามมาด้วย เช่น KARA, SS501 (DSP Entertainment) / F.T. Island, CNBLUE (FNC Entertainment) / T-ara (MBK Entertainment) / 4Minute (Cube Entertainment) / Brown Eyed Girls (Nega Network) / After School (Pledis Entertainment) / Infinite (Woollim Entertainment) / SISTAR (Starship Entertainment)
โลกหมุนตามจังหวะของ Gangnam Style
หากปลายยุค 90 คือการเริ่มสร้างกองทัพ และทศวรรษ 2000 คือการรุกราน ปี 2012 ก็คือการตีแตกในตลาดเพลงโลกได้สำเร็จ จากศิลปินรุ่นใหญ่นามว่า PSY ที่ปล่อยเพลงใหม่ ชื่อ “Gangnam Style” พุ่งสู่อันดับหนึ่งบนชาร์ตของเกาหลีใต้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม และขึ้นชาร์ตเป็นอันดับหนึ่งในอีก 30 กว่าประเทศภายในสิ้นเดือนตุลาคม จนสื่อต่างชาติหลายสำนักต่างเขียนสกู๊ปถึงกระแสไวรัลบน YouTube ของเพลงนี้อย่างพร้อมเพรียง ราคาหุ้นของบริษัทต้นสังกัด YG Entertainment ก็พุ่งสูงขึ้นกว่า 50% รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศว่า Gangnam Style ได้นำรายได้กว่า 13.4 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับกิจการด้านบันเทิงเกาหลีใต้ ส่วน Guinness World Records ก็ประกาศให้ MV เพลง Gangnam Style เป็นวิดีโอที่มีคนกดไลค์มากที่สุด และมียอดวิวทะลุ 1 พันล้านเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ YouTube ทั้งที่เดิมทีเพลงนี้ไม่ได้มีแผนโปรโมตนอกประเทศ และตัว PSY เองก็ไม่ได้อยู่ในกระแสไอดอล แต่ในยุคที่อินเตอร์เน็ตรวดเร็วจนสามารถเชื่อมโยงทั้งโลกได้แค่ปลายนิ้ว แรงโปรโมตแบบ ‘ปากต่อปาก’ หรือ ‘คลิกต่อคลิก’ ก็ทำให้ท่าเต้นเอกลักษณ์ของเพลงอย่างท่าควบม้า ที่คนสัญชาติใด เพศไหน อายุเท่าไร และแม้แต่ผู้นำจากหลายชาติก็ยังเต้นตามได้ กลายเป็นท่าที่คุ้นเคย PSY ก็กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ออกอีเวนท์และทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก จน Ban Ki-moon อดีตเลขาธิการสหประชาชาติยกย่องให้เพลง Gangnam Style เป็น “พลังเพื่อสันติภาพโลก”
ความสำเร็จของ PSY กับ Gangnam Style ทำให้วัฒนธรรม K-pop ขยายตัวขึ้นอีกหลายเท่า จากเดิมที่เป็นที่รู้จักแค่เฉพาะกลุ่ม จึงถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อศิลปินเกาหลีใต้ในยุคถัดมา
K-pop is World Class
การเจริญเติบโตของ K-pop ปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับ เริ่มจากเป็นฐานเศรษฐกิจในประเทศ จนเกิดทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชีย ขยายไปยังทวีปอื่น ๆ มาปัจจุบันมีศิลปินเกาหลีกลายเป็น headliner ในเทศกาลดนตรีระดับโลก เช่น J-Hope (วง BTS) ในเทศกาล Lollapalooza 2022, Blackpink ในเทศกาล Coachella 2023, Red Velvet ในเทศกาล Primavera Sound 2023 และ New Jeans วงไอดอลกระแสแรง อาจได้เข้าร่วมในเทศกาลดนตรีระดับโลกในปีนี้เช่นกัน
ส่วนต้นสังกัดของ New Jeans อย่าง HYBE Corporation เป็นค่ายเพลงที่สามารถต่อยอดความสำเร็จและนำทัพศิลปิน BTS, TXT, Seventeen, Enhypen, New Jeans ฯลฯ ส่งให้ K-pop ไปเติบโตในระดับโลกได้ในขั้นสูงกว่าจากที่บิ๊กทรีหรือ PSY เคยทำไว้ และนอกจากนี้ ยังมีศิลปินอินดี้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นกระแสรองก็เริ่มน่าจับตามอง โดยเริ่มสร้างฐานแฟนคลับและมีทัวร์คอนเสิร์ตนอกประเทศแล้ว อย่าง Baek Yerin ที่เคยจัดเวิลด์ทัวร์เมื่อปีก่อน แถมมาแสดงที่เมืองไทยถึง 2 ปีซ้อน
และนอกจากวงการเพลง วงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็เจริญก้าวหน้าจนคว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว ส่วนละครซีรีส์ก็เป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มี Netflix จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ คือการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการสร้างความแข็งแรงของอุตสาหกรรมบันเทิงภายในชาติ จนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อระดับสากล และพาประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ข้อมูลจาก
- บทความ K-pop 101 : ประวัติของ K-pop จากเว็บไซต์ ivisitkorea.com
- บทความ K-pop History : จากวัฒนธรรมชายขอบ สู่การครองโลกด้วยเสียงเพลงและท่าเต้น จากเว็บไซต์ unlockmen.com
- บทความ เส้นทางการก่อตัวของ K-Pop สู่ยุคปังทั่วโลก ดูจุดเปลี่ยนเมื่อเกาหลีส่งออกวัฒนธรรมสำเร็จ จากเว็บไซต์ silpa-mag.com
- บทความ 10 ปี กับ 10 สิ่งที่ทำให้ “Gangnam Style” กลายเป็นปรากฏการณ์ ! จากเว็บไซต์ beartai.com
- บทความ K-pop stars headline international music festivals จากเว็บไซต์ koreatimes.co.kr
- เว็บไซต์ wikipedia.org