หนึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อปสุดประทับใจ จากงาน “Play Matters: Circle of Play” ที่ TK Park เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 คือกิจกรรม Turning Trash to Treasured Art ที่ TK Park ชวนพี่เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินหญิงผู้เปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ เนรมิตเศษวัสดุ ตั้งแต่ พลาสติก ฝาขวดน้ำ และขยะอื่น ๆ อีกมากมาย ให้กลายเป็นงานประติมากรรมและของใช้กระจุกกระจิก โดยใช้จินตนาการสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานที่ไม่ซ้ำใคร แล้วมาพูดคุยกันถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนได้ฉุกคิดและหันมาใส่ใจปัญหานี้มากขึ้น
“อยากให้คนที่มาเกิดแรงบันดาลใจว่าของที่บ้านก็มีประโยชน์นะ สามารถนำมา DIY ทำของใช้เองได้ อย่างกระถางต้นไม้ DIY อาจจะกลับไปทำเป็นกิจกรรมยามว่างในครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องซื้อกระถางใบใหม่ก็ได้ ลองทำจากของที่มีอยู่แล้ว เช่น เศษผ้า เศษวัสดุ หลอดกาแฟ ฝาขวดน้ำ หรือลูกปัดแบบต่าง ๆ ทุกอย่างหาได้ง่ายหมดเลย” พี่เอ๋เล่าถึงความตั้งใจในการออกแบบกิจกรรมนี้ให้เราฟัง ก่อนเวิร์กช็อป DIY สุดน่ารักจะเริ่มขึ้น
- เปลี่ยนขยะเป็นศิลปะสุดเก๋
วัสดุเหลือใช้หลากสีสันวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ ดึงดูดความสนใจและสร้างความตื่นตาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่น้อย ซึ่งแค่เห็นก็อดคิดไม่ได้ว่า ในวันนี้ เหล่านักสร้างสรรค์จะประดิษฐ์กระถางสุดเก๋ในแบบฉบับของตัวเองออกมาได้เจ๋งแค่ไหน แต่ก่อนจะไปแปลงโฉมเศษวัสดุให้กลายเป็นงานศิลปะ เรามาพูดคุยกับศิลปินกันก่อนดีกว่าว่า เธอมีมุมมองความคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’
“เราว่าศิลปะนอกจากจะสร้างความจรรโลงใจให้ผู้คนที่มาชมงานแล้ว ศิลปะยังสื่อสารประเด็นยาก ๆ ให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น ประเด็นการจัดการขยะ ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายคนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า การใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ” อย่างที่พี่เอ๋คอยบอกเสมอว่า การใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าปริมาณขยะนั้นมีจำนวนมากแค่ไหน พี่เอ๋จึงลุกขึ้นมาทำหน้าที่เปลี่ยนของเหลือใช้เหล่านั้นให้กลายเป็นงานศิลปะ เพื่อให้ผู้ชมรับรู้ว่า ยิ่งชิ้นงานมีขนาดใหญ่เท่าไร ก็หมายถึงพื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณขยะมากเท่านั้น
สิ่งที่เธอทำมาตลอดคือกระตุ้นสังคมโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง โดยหวังให้ผู้คนหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อม ๆ กับสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ผ่านความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ ภายใต้แบรนด์ WISHULADA
สำหรับกิจกรรมนี้ พี่เอ๋อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า การจัดการขยะไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องยาก จึงตั้งใจนำเสนอแนวทางเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า Zero Waste เป็นเรื่องที่ทุกคนจับต้องได้ เด็ก ๆ เองก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้จึงได้ทั้งความสนุก ความรู้ และแนวทางดี ๆ ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุดกลับไป
“เวิร์กช็อปเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจได้เหมือนกัน เราอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่ต้องเป็นศิลปินก็ได้ คุณจะเป็นใครก็สามารถทำได้ แค่เริ่มจากอะไรง่าย ๆ ใกล้ตัว ถ้าได้มาลองทำจริง ๆ บางคนอาจจะเกิดไอเดียบางอย่างที่อยากกลับไปต่อยอด อาจจุดประกายใหม่ ๆ ในการนำวัสดุเหลือใช้ไปสร้างชิ้นงานในรูปแบบของตัวเอง” เธอพูดถึงข้อดีของการได้ลองเล่นกับวัสดุ
ที่สำคัญคือ เธอจะไม่ปิดกั้นความคิดและจินตนาการของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพราะมองว่าความคิดสร้างสรรค์มักเป็นตัวจุดประกายให้เรากล้าลองและออกนอกกรอบเดิม ๆ “ศิลปะไม่มีกฎเกณฑ์ เราจะให้อิสระในการปล่อยจินตนาการเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกสนุกและมีความสุขไปกับสิ่งตรงหน้า” อย่างที่เธอย้ำกับเราเสมอว่า หลาย ๆ คนสนุกไปกับกิจกรรมนี้เพราะได้ใช้ทั้งความคิด ได้ลงมือทำจริง จึงเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง “ถ้าเป็นเด็ก ๆ จะยิ่งซึมซับได้ง่าย พอเขาเห็นว่าของพวกนี้สามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง เขาจะเริ่มเก็บวัสดุมาทำชิ้นงานที่บ้านจนเป็นนิสัย” สรุปได้ว่า การมีโอกาสลองเล่นกับวัสดุบ่อย ๆ เป็นอีกหนึ่งกระบวนการเสริมสร้างนิสัยที่ยั่งยืนในอนาคต เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับโลกมากขึ้น
หลังจบกิจกรรม พี่เอ๋บอกเราว่า การหันมารักษาสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องทำให้ตัวเองเดือดร้อน และใคร ๆ ก็สามารถทำได้ “บางทีสิ่งเล็กๆ ที่เริ่มจากตัวเราก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เช่น กินข้าวให้หมดจาน ตักอาหารอย่างพอดี ปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้ เป็นแนวทางง่าย ๆ ที่น้อง ๆ ทำได้เลย แค่เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง โลกก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว”
บางครั้งเราอาจมองว่า การใช้ชีวิตโดยรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเรายังติดกับความเคยชินเดิม ๆ แต่ที่จริงแล้ว เราสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันได้เลย
“เราอยากให้ทุกคนสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการบริโภคของตนเอง ใช้อย่างพอดี มีสติในการใช้ การคัดแยกขยะให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อทุกคนเริ่มทำ เมื่อนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ต้องช่วยกันทำ เพราะทุกคนคือพลังเล็กๆ ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในแบบของตัวเอง” พี่เอ๋ยืนยันอย่างมั่นใจ
การได้ลองเล่นกับวัสดุเหลือใช้ในกิจกรรมนี้ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า ‘การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มได้ที่ตัวเรา’ แค่เริ่มจากการเรียนรู้ เข้าใจ และตระหนัก จนกลายเป็นการลงมือทำจริง และเมื่อเราทำสิ่งนี้ซ้ำ ๆ จนกลายเป็นทักษะ เราเองก็อาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากลงมือทำอะไรดี ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
แต่การที่เราจะสามารถทำได้ในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องหาตรงกลางให้เจอ บางทีการเคร่งครัดจนเกินไปอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เพราะแต่ละคนล้วนมีวิถีชีวิตประจำวันที่แตกต่างกันไป “เรามองว่าความยั่งยืนคือต้องหาบาลานซ์ ให้เจอ จริง ๆ เราสามารถสนุกกับมันก็ได้ ถ้าทุกอย่างสมดุล มันจะยั่งยืน”
แค่ลองปรับมุมมอง ลองปรับไลฟ์สไตล์ให้เป็นมิตรกับโลก หันมาใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ด้วยไอเดียรักษ์โลกที่ใคร ๆ ก็สามารถลงมือทีละเล็กน้อยได้ทุกวัน จึงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ทั้งความสนุกและไอเดียดี ๆ กลับบ้านไปไม่น้อย