เราเชื่อเสมอมาว่าเด็กควรจะแบ่งเวลา “เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น” และพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ต้องการให้เด็ก ๆ ไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้อย่างจริงจัง แล้วค่อยกลับมาเล่นสนุกที่บ้าน แต่ผลการวิจัยล่าสุดกลับพบว่า play-based learning หรือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเล่นช่วยให้เด็กปฐมวัยพัฒนาความรู้ได้ดีกว่าการสอนตามตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์และทักษะทางด้านการคิดเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งรอบตัว หรือมิติสัมพันธ์
เอริกา คริสตาคิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยยืนยันว่า การเรียนกับเล่นนั้นไม่ควรแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แม้ว่าห้องเรียนอนุบาลและประถมจะแบ่งเวลานั่งเรียนในห้องมากกว่าการเล่น แต่ในความเป็นจริง สิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมใช้การเล่นเสริมสร้างพัฒนาการที่จะส่งผลไปตลอดชีวิต
“เด็กที่ได้เรียนผ่านการเล่น และสมองที่กำลังพัฒนามีโอกาสเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อุดมด้วยภาษา ได้รับการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูอย่างไม่เร่งรีบ จะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่า และมีทักษะทางอารมณ์และสังคมที่เข้มแข็งกว่า สร้างความสัมพันธ์เชิงลึกได้ดีกว่า” เอริกากล่าวในบทสัมภาษณ์กับเอดูโทเปียในปี 2019
ออกนอกกรอบ
เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก การกักขังพวกเขาไว้ในห้องเรียนที่ไม่มีความสุขสนุกสนาน เต็มไปด้วยตารางสอนและกิจวัตร สวนกับความต้องการและคุณค่าของวัยเด็ก ทว่าโรงเรียนมักจะจัดตารางสอนเน้นวิชาการเหมือนกันไปหมด แม้แต่ครูชั้นอนุบาลก็ยังถูกดดดันให้ทำตามแนวทางให้เด็กนั่งเรียนและสอนเน้นให้เด็กทำได้ตามที่พ่อแม่และครูใหญ่ต้องการ
ผลการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์วิเคราะห์ผลการวิจัยนับสิบปีเกี่ยวกับ “การเล่นแบบมีผู้ชี้นำ” หรือ “เรียนจากการเล่น” สรุปได้ว่ามีผลเชิงบวกในการเสริมสร้างทักษะทางคณิตศาสตร์, วางแนวทางความรู้ และการเปลี่ยนกิจกรรมของเด็กจากรูปแบบเดิมที่นั่งอยู่ในห้องเรียนให้ครูสอนอย่างจริงจัง
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า “ในการนิยามการเล่นใหม่ ตามระดับความเป็นอิสระของเด็กกับการชี้นำของผู้ใหญ่ พบว่าการเล่นแบบมีผู้ชี้นำ ถือเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างการเล่นอิสระกับการถูกควบคุมโดยตรง” และการเล่นแบบมีผู้ชี้แนะ ก็ทำให้เด็กเรียนรู้ได้เข้มข้นลึกซึ้งขึ้น เพราะเด็กจะได้ทั้งความสนุกสนาน มีแรงผลักดันจากการเล่นที่เด็กได้ทำกิจกรรม โดยมีผู้ใหญ่ช่วยชี้แนะและสนับสนุน ขยายขอบเขตในการเรียนให้กว้างไกลเกินขอบเขตที่เด็กจะทำได้ตามลำพัง
การผสมผสานองค์ประกอบของการเล่น เช่นความพิศวงสงสัย, การสำรวจ และนักเรียนได้ลงมือทำ เข้ากับบทเรียนที่วางโครงสร้างไว้อย่างหลวม ๆ โดยมีครูสนับสนุนอย่างนุ่มนวล เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับนักเรียน โดยมีผลการวิจัยยืนยันได้ สำหรับเอริกา ข้อสรุปนี้หมายความว่า ประสบการณ์เรียนจากการเล่น ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ “ใช้เวลาอย่างอิสระและเข้าถึงสื่อการเรียนปลายเปิดได้” ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเล่าเรื่องที่ “พรั่งพรู” และมีเวลามากมายที่จะ “เล่นไปเรื่อยด้วยกฎเกณฑ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง”
เล่นอย่างมีเป้าหมาย
ในชั้นเรียนที่อยู่บนพื้นฐานของการเล่น ครูจะวาง “เป้าหมายในการเรียนรู้” ไว้ล่วงหน้าเสมอ ผลการศึกษาของเคมบริดจ์เสนอแนะว่าระหว่างที่เด็กเล่นครูควรจะกำหนดเป้าหมายไว้ในใจและนำทางอย่างนุ่มนวลให้เด็กได้ก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายนั้น โดยไม่ดึงเชือกให้ตึงเกินไป
แมกกี้ ซาบิน คุณครูชั้นประถมบันทึกไว้ว่าครูไม่ควรคาดหวังผลงานจากเด็กแบบเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ในการสอนให้เด็กรู้จักการผสมสีเพื่อสร้างสีใหม่ แทนที่ครูจะบอกเด็กว่าต้องผสมสีอย่างไรและจะได้สีไหนออกมา ครูควรทำให้ดูเป็นตัวอย่างหนึ่งครั้ง แล้วปล่อยให้เด็กเล่นผสมสีในแบบของเขาเอง “ครูควรเตรียมตัวอย่างดี และวางแผนอย่างมีเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ความยืดหยุ่นและแรงบันดาลใจด้วย” ซาบินกล่าว
วิธีหนึ่งที่จะแน่ใจได้ว่านักเรียนเล่นอย่างมีเป้าหมายก็คือจัดห้องเรียนให้มีพื้นที่หรือศูนย์กลางสำหรับสื่อการสอน, เกม หรือวัตถุที่เลือกสรรมาเพื่อให้เด็กสนใจมีส่วนร่วมและเรียนรู้ความหมาย
ตัวอย่างเช่น ซาบินจัดบริเวณหนึ่งในห้องเรียนไว้วาง “ถาดจิปาถะ” ใส่สิ่งของต่าง ๆ
ที่เธอจะใช้ประกอบบทเรียน ถ้าจะเรียนเรื่องธรรมชาติและวัสดุธรรมชาติ ในถาดนี้ก็จะมีก้อนกรวด, ใบไม้ หรือกิ่งไม้ที่เด็กนักเรียนจะฝึกบอกชื่อ หรือนำมาเล่นในรูปแบบต่าง ๆ วัสดุเหล่านี้ใช้ฝึกทักษะคณิตศาสตร์เบื้องต้นผ่านการเล่น เช่นถามเด็กว่ามีกรวดอยู่กี่ก้อน หรือแบ่งให้เพื่อนไปแล้วจะเหลือกี่ก้อนเป็นต้น
ให้ทางเลือกและโอกาสลงมือทำ
ผลการวิจัยชี้ว่า การเล่นเพื่อเรียนรู้อย่างได้ผล ควรให้เด็กรับบทนำและให้ “อิสระและทางเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมการเล่น” อย่างไรก็ตาม การวิจัยพบด้วยว่า ระดับความเป็นอิสระของนักเรียนในสถานการณ์การเรียนรู้ด้วยการเล่นมักจะน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการ "ปลูกฝังพฤติกรรม แรงจูงใจ และความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก"
เพื่อกระตุ้นให้เด็กลงมือทำ เจสสิก้า แอร์โรว์ ครูอนุบาลในนิวแฮมเชียร์มักจะเริ่มวันใหม่ด้วยการปล่อยให้นักเรียนได้มีเวลา 30 – 45 นาทีในการ “เลือก” สำรวจพื้นที่ในห้องเรียนที่มีฐานบล็อก, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ศิลปะ, มุมหนังสือหรือมุมการละคร
สิ่งของที่เด็กได้พบจะเชื่อมโยงกับบทเรียนครั้งก่อน และเข้ากับความสนใจที่เด็กเคยแสดงออก ตัวอย่างเช่น หลังจากอ่านหนังสือเด็กเรื่อง Miss Maple’s Seeds นักเรียนของเจสสิก้าก็สนใจกระบวนการที่นักเขียนสร้างสรรค์หนังสือขึ้นจากจินตนาการ ครูจึงหาวัตถุดิบในการสร้างเรื่องมาใส่ไว้ในฐานศิลปะ ให้เด็ก ๆ ได้แต่งเรื่องของพวกเขาเองพร้อมทั้งฝึกพูด, ฟัง, เขียน ไปด้วยในกระบวนการ
เจสสิก้าบันทึกไว้ว่า การทำหนังสือของพวกเขายังนำไปสู่การเรียนรู้ในสาขาอื่น ๆ เช่นเด็กคนหนึ่งสร้างหนังสือตัวเลข และเมื่อให้เพื่อน ๆ ในชั้นดู หนังสือตัวเลขก็ได้รับความนิยม เพื่อนหลายคนนำตารางตัวเลขไปสร้างหนังสือของตัวเองที่ช่วยในการนับและจดจำตัวเลขจำนวนมาก
“เมื่อนักเรียนของฉันได้รับประสบการณ์เรียนรู้ผ่านการเล่น พวกเขามีสมาธิมากขึ้น, มีแรงผลักดันและมีเป้าหมาย” เจสสิก้าบันทึกไว้ “ที่สำคัญ พวกเขามีความสุขกว่าเดิม การนำวิธีเรียนรู้จากการเล่นเข้ามาในห้องเรียนของฉันช่วยเสริมสร้างสมดุล, ทำให้เรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้ง และช่วยให้สังคมห้องเรียนของเรากลายเป็นสถานที่ซึ่งเราได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน”
เมื่อไหร่ที่ครูควรเข้าไปช่วย
ขณะที่เด็กเล่น ครูควรสังเกตอย่างใกล้ชิดเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่นักเรียนเรียนรู้ และใช้คำถามปลายเปิด คำใบ้ และการกระตุ้นเตือนเพื่อผลักดันอย่างนุ่มนวล และจุดประกายการคิดเชิงลึก ครูควรเข้าไปช่วย "เมื่อเด็กพบว่ากิจกรรมยากเกินไปหรือง่ายเกินไป" เพื่อให้ "พวกเขาเรียนรู้ได้เรียนรู้มากขึ้นกว่าที่จะได้จากการเล่นอิสระธรรมดา" นักวิจัยกล่าว
ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กเล่นกับบล็อก ครูอาจใช้คำถามปลายเปิดเพื่อสนับสนุนให้แก้ปัญหาทำนายเหตุการณ์ หรือสร้างสมมุติฐานก็ได้
วินนี่ โอ’เลียรี่ ครูอาวุโสและผู้จัดการหลักสูตรที่เอ็ดเมนตัมกล่าวว่า ครูสร้างการับรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์มาตรฐานได้ด้วยคำถามง่าย ๆ เช่น “สงสัยจังว่าหอคอยนี้จะสูงได้แค่ไหน” หรือ “จะต้องใช้บล็อกกี่ชิ้นถึงจะก่อหอคอยให้สูงเท่าที่เพื่อนทำไว้ได้” คำถามธรรมดาอาจกระตุ้นการฝึกจดจำข้อมูลและรูปทรง, วัตถุ หรือสี ดังที่วินนี่เสนอแนะว่า ระหว่างเกมโกฟิช ครูอาจจะตั้งคำถาม “เฮ้! ใครเป็นที่สี่เมื่อรอบที่แล้ว” หรือในเกมอูโน่ ก็อาจจะถามว่า “อืม ต้องเติมไพ่สีอะไรใส่กองกลาง” เกมที่ต้องใช้กลยุทธ์ เช่นหมากรุก หรือทิคแทคโท ช่วยให้เด็กได้คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามวัตถุประสงค์และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ในเกม ครูอาจลองตั้งคำถามว่า “จะต้องทำอย่างไรจึงจะชนะ” อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนให้ใช้กลยุทธ์อย่างระมัดระวัง อย่าให้คำถามและคำใบ้กลายเป็นชี้นำ
เอริกาก็บอกเอดูโธเปียเช่นกันว่า เธอมักจะโค้ชให้คุณครูระวัง “คำถามตรวจสอบ” เช่น “แอปเปิ้ลนี้สีอะไร” หรือ “เธอวาดรูปอะไรอยู่” คำถามที่เหมาะสมกว่าคือ “เล่าเรื่องรูปวาดของหนูให้ครูฟังหน่อยสิ”
“คำตอบปลายเปิดจะส่งเสริมการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและเป็นธรรมชาติ” เอริกาสรุป.
ที่มา
https://www.edutopia.org/article/young-kids-power-play-based-learning/?fbclid=IwAR2BQ0loDs0-bqlAm40Z1PMx1L7UxthODGrK3zcjHJ3j84pbH0GZHXHR2gg
https://www.gowriensw.com.au/blog/what-is-play-based-learning