
แม้เราอยู่ในยุคดิจิทัลแล้ว แต่ภาพจำของผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมยังคงถูกพูดในบริบทเชิงลบอยู่เสมอ เช่น เด็กติดเกมจะเสียอนาคต หรือการเล่นเกมเป็นสิ่งที่เสียเวลา ไร้สาระ ภาพลักษณ์ของผู้ชอบเล่นเกมจึงมักพ่วงมาด้วย ‘เด็กติดเกมเป็นพวกหัวรุนแรง’
นักวิจัยจากหลายสถาบันในหลายประเทศต่างบอกถึงประโยชน์ของเกมในเชิงเดียวกันว่า เกมที่มีคุณภาพมีส่วนช่วยพัฒนาทั้งระบบความคิดและระดับสมองของมนุษย์ แม้กระทั่งเกมที่ดูมีเนื้อหารุนแรงอย่างเกมต่อสู้ ก็ยังช่วยในเรื่องทักษะการคิดและวางแผนไปตามสถานการณ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาวงการเกมได้ขยายกว้างมากขึ้น เกิดศัพท์อย่าง’ เกมเมอร์’ ที่หมายถึงผู้เล่นเกม ไปจนถึงผู้ที่เล่นอย่างจริงจัง วงการสตรีมเมอร์ก็ถือกำเนิดขึ้นตามมาอีกที เมื่อผู้เล่นเกมถ่ายทอดสดโชว์การเล่นตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อความบันเทิง จนกลายเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ จากการมีผู้ชมติดตามอยู่เรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังเกิดกีฬา E-Sport อธิบายให้เข้าใจง่าย ก็คือ การจัดการแข่งขันกีฬาที่มีผู้เข้าแข่งขัน 2 ฝั่ง ส่วนกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันก็คือเกมออนไลน์นั่นเอง ในปัจจุบัน E-Sport ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยม และเป็นที่พูดถึงมากในหมู่ผู้เล่นเกม
หากพูดถึงนักกีฬา E-Sport คนไทยที่มีฝีมือการเล่นเกมอันเก่งกาจจนเป็นที่เลื่องลือ เชื่อว่าต้องนึกถึง บุ๊ค - นพรุจ เหมภมร นักกีฬา E-Sport ดีกรีเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 30 จากประเทศฟิลิปปินส์, แชมป์เกม TEKKEN Online Challenge และยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์ EVO (Evolution Championship Series) งานแข่งเกมต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แต่เชื่อไหมว่า เขาไม่ได้เป็นเด็กที่โตมากับการเล่นเกมทั้งวันอย่างที่หลายคนคิด วันนี้บุ๊คจะมาเผยชีวิตและมุมมองการเป็นนักกีฬา E-Sport รวมทั้งบอกเคล็ดลับว่าเขามีวิธีการฝึกปรือฝีมืออย่างไรด้วย

ถ้าให้นึกถึงเกมที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ คงหนีไม่พ้น ROV หนึ่งในเกมที่นิยมเล่นกัน แต่หากย้อนกลับไปในยุคสมัยของบุ๊คเอง วิถีวิ่งเข้าร้านเกม หยอดเหรียญเล่นเกมตามตู้เกมใกล้โรงภาพยนตร์กับเพื่อนๆ ถือเป็นไลฟ์สไตล์คนรักเกมที่นิยมมากในยุคนั้น และ TEKKEN ก็เป็นหนึ่งในเกมที่นิยมในหมู่ตู้เกมด้วย
เกม TEKKEN ถือเป็นเกมประจำยุค 90 แม้ว่ากระแสของเกมนี้จะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในปัจจุบัน พร้อมการแข่งขันเกมที่น่าจับตามอง ส่วนใครที่ยังไม่คุ้นหูหรือยังไม่รู้จักเกมนี้ เราจะมาแนะนำให้รู้จัก
TEKKEN เริ่มแรกมาในรูปแบบเกมตู้และเครื่องเล่นเพลย์สเตชันสัญชาติญี่ปุ่น เป็นเกมต่อสู้ 3 มิติที่มีเหล่าตัวละครเท่ๆ มากด้วยความสามารถในการต่อสู้ที่ไม่ซ้ำกันจากทุกมุมโลก ในการเล่นให้เราเลือกมา 1 ตัวให้เป็นตัวแทนต่อสู้ แลกหมัดซ้ายทะลุหมัดขวากับฝ่ายตรงข้าม เพื่อชิงรางวัลใหญ่จากไซบัคซี หรือผู้จัดการแข่งขัน TEKKEN โดยมีเนื้อเรื่องสนุก เข้มข้น ชวนให้ติดตามตลอดทั้งเรื่อง ปัจจุบัน TEKKEN มาถึงชุดที่ 7 เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้น ด้วยการเล่นในระบบ XBox One และคอมพิวเตอร์นั่นเอง

- จุดเริ่มต้นของนักกีฬา E-Sport
บุ๊คเริ่มเล่นเกม TEKKEN เพราะเป็นเกมที่มีภาพสวย เล่นสนุก และยังได้เจอเพื่อนๆ ส่วนทักษะฝีมือการเล่นนั้น บุ๊คบอกว่า มาจากการมีงบการเล่นจำกัด “การเล่นเกมตู้ต้องหยอดเหรียญเล่น ถ้าชนะจึงได้เล่นต่อ แต่ถ้าแพ้ ต้องหยอดเหรียญเพิ่มแล้วยังต้องเริ่มเกมใหม่ ทำให้ต้องเล่นให้ชนะ ต้องพัฒนาฝีมือการเล่น จะได้ไม่เสียเงินเยอะ สถิติในการ์ดของเรา ก่อนที่จะแพ้ 100 ครั้ง ต้องชนะ 1000 ครั้งก่อน” ทักษะการเล่นของเขาจึงเริ่มต้นจากจุดนั้น
บุ๊คตามดูคลิปการเล่นของคนอื่นๆ พร้อมฝึกฝนการเล่นของตัวเอง สะสมความสามารถด้วยการไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผลงานวัดความสามารถของเขา กระทั่งมีคนเห็นแววชวนให้ลงแข่ง เวทีแรกของเขาไม่ธรรมดา เพราะต้องแข่งกับแชมป์ประเทศไทย แม้ผลการแข่งจะไม่พลิกความคาดหมาย แต่ความพ่ายแพ้ที่บุ๊คได้รับกลับเป็นความท้าทายและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้เขาอยากพัฒนาการเล่นเกมของตัวเองต่อไป
จากนั้นบุ๊คสะสมการเล่นมาเรื่อยๆ จนได้ลงแข่ง TEKKEN 7 ในปี 2015 ที่ต่างประเทศ (ในขณะนั้นเกมซีรีย์นี้ยังไม่เข้าเมืองไทย) เขามีเวลาไม่ถึง 5 วันในการฝึกฝนก่อนลงแข่งจริง เมื่อถึงวันแข่งขัน แม้จะได้อันดับที่ 16 แต่ด้วยความสามารถในการเล่นเกม ในที่สุด เขาตัดสินใจผันตัวมาเป็นนักกีฬา E-Sport เต็มตัว

- เล่นเกมอย่างไรให้ได้คุณภาพ
เคล็ดลับการเล่นเกมของบุ๊ค จะเล่นอย่างไรให้เก่งขึ้น ฝึกฝนอย่างไรให้เชี่ยวชาญมากพอ บุ๊คเผยเคล็ดลับแรกของการเริ่มต้นเล่นไว้ว่า “เกมที่มีตัวละครหลายตัว ถ้าเรารู้จักและฝึกเล่นทุกตัว จะเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตัวละคร นี่แหละคือความได้เปรียบกว่าคนอื่น ส่วนการฝึกฝนเกม เมื่อรู้แล้วว่าอยากเล่นเกมไหนจริงจัง แนะนำให้พยายามจับกลุ่มกับเพื่อนที่เล่นจริงจังเหมือนกัน เพื่อส่งเสริมทักษะการเล่นให้ไปได้ไกลซึ่งกันและกัน”
สิ่งที่ควรทำในลำดับต่อไปคือ ศึกษาการเล่นผ่านการดูรายการแข่งขันเกม อาจเป็นวิดีโอบันทึกการแข่งขันในYouTube หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยให้สังเกตว่า ใช้เทคนิคอะไร คิดอย่างไร โฟกัสที่อะไร ตีความจากการเล่นของผู้แข่งขัน จากนั้นลองดึงมาใช้กับการเล่นของตัวเอง หรือเล่นกับเพื่อนๆ เพื่อฝึกฝนพัฒนาการเล่นของตนเองอยู่เสมอ
“เพื่อนที่เล่นด้วยก็สำคัญ ควรหาเพื่อนที่จริงจังกับการเล่นไปด้วยกัน รวมทีมกันเลย แล้วจะพากันต่อยอดไปสู่จุดนั้นได้ ถ้ามีโอกาสลงแข่ง ก็ลงสนามเลย เพื่อสร้างผลงานให้ตัวเอง ถ้าฝีมือเราเข้าขั้นจริง จะมีแมวมองที่เห็นศักยภาพ แล้วชักชวนเราเป็นนักกีฬาเอง แต่เราต้องมุ่งมั่นและเล่นได้ดีก่อนนะ ซึ่งถ้าเราสนุกไปกับเกม มุ่งมั่นตั้งใจ คอนเน็กชันจะมาหาเราเอง”

- การเล่นเกมที่ดีต้องรู้ว่าจะได้อะไร
ผู้ที่เล่นเกมระดับขั้นเทพ จำเป็นต้องเล่นเกมทั้งวันทั้งคืนหรือเปล่านะ
บุ๊คส่ายหน้าก่อนขอชี้แจงว่า “ไม่ควรทุ่มเวลากับเกมมากเกินไป ควรมีวันว่างไว้ทำกิจกรรมอื่นบ้าง เพราะชีวิตเรายังมีอย่างอื่นที่ต้องทำ ต้องพบปะผู้คน ต้องใช้ชีวิต ต้องเรียน ต้องทำงาน”
การฝึกฝนของบุ๊คจึงไม่ใช่การเล่นเกมทุกวัน แต่เขาจะใช้ 1 วัน/สัปดาห์สำหรับการเล่นเกม เพื่อฝึกซ้อมการเล่นเกม อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยพัฒนาฝีมือได้เร็วขึ้น คือทุกครั้งที่เล่นเกม ต้องรู้จุดประสงค์ในการเล่น
“ถ้าเรามีเป้าหมายในการเล่นเกม เราต้องรู้จักกำหนดการเล่นของตัวเอง อย่างชั่วโมงนี้จะเล่นเพื่อพัฒนาทักษะไหน ชั่วโมงถัดไปจะโฟกัสเทคนิคอะไร ไปดูการแข่งขันแล้วนำมาฝึกฝน ตรงไหนที่ยังไม่ดี หรือพบจุดที่ต้องแก้ไข ลองคิดใหม่ และแก้ใหม่อีกครั้ง การเล่นเกมแบบนี้จะช่วยให้เราพัฒนาฝีมือไปได้ไกลกว่าเดิม”

เป็นนักกีฬา E-Sport นอกจากการแข่งขันแล้ว ยังมีช่องทางใดที่เพิ่มรายได้ให้กับอาชีพนี้หรือเปล่า หลายคนน่าจะสงสัยและอยากรู้
“รายได้แรกคือเงินที่ได้จากรางวัลการแข่งขัน แล้วก็จากการเล่นเกมให้คนอื่นดู หรือจากยอดคนที่กดติดตามเรา หรือเงินสนับสนุนจากผู้ชม รวมถึงการออกงานอีเวนต์ต่างๆ ยิ่งเราเป็นนักกีฬาในสังกัด ถือเป็นมืออาชีพที่ต้องเล่นจริงจัง จะมีผู้สนับสนุนที่เราต้องทำตามเงื่อนไข เช่น ลงแข่งเพื่อทำผลงานให้ได้ตามที่กำหนด เพราะมีการประเมินผลงานอยู่เสมอ ส่วนเงินเดือนขึ้นอยู่กับประเภทของเกม นอกจากนี้ รายได้อีกทางหนึ่งคือการเปิดสอนการเล่นเกม”
ทั้งนี้ การเป็นนักกีฬา E-Sport เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่เรา เกมทุกเกมมีวันเปิดตัวได้ ก็มีวันปิดตัวได้เช่นกัน บุ๊คเองจึงตระหนักถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ
“วันที่เราเริ่มจริงจังกับ E-Sport ต้องรู้ให้ได้ว่าอยู่จุดไหน ถ้าวันนึงเล่นไม่ไหว จะทำอะไรต่อ เพราะอาชีพนี้มีความเสี่ยงที่ต้องคิดแผนสำรองไว้ แม้วันนี้เราเป็นแชมป์โลกได้เงินล้าน ไม่ได้หมายความว่า ปีหน้าจะได้อีก ต้องคิดว่าจะนำเงินจำนวนไปลงทุนอย่างไร ต้องวางแผนตลอด”
สุดท้ายบุ๊คมีสิ่งที่อยากฝากให้ว่าที่นักกีฬา E-Sport ในอนาคต “การรู้ความสามารถของตัวเองและยอมรับให้ได้ว่าเราอยู่ในจุดไหนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะทำให้สามารถพัฒนาฝีมือได้เร็วขึ้น ทุกคนสามารถเล่นให้เก่งได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักกีฬา E-Sport ได้ หรือหาเงินด้วยอาชีพนี้ได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่ฝึกฝน ต้องมีเป้าหมาย แม้กระทั่งเป็นนักกีฬาแล้ว ยังต้องฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่ตลอด”