ในช่วงราว 2 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าอาจเป็นหนึ่งในช่วงที่ท้าทายที่สุดสำหรับพ่อแม่มือใหม่ก็ว่าได้ วิกฤตการณ์ Covid-19 ที่กินเวลายาวนานต่อเนื่องนานนับปีไม่เพียงแต่ทำให้วิถีชีวิตของคนทำงานหลายๆ คนเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังรวมไปถึงเด็กๆ ที่ถูกตัดขาดจากสังคมแวดล้อมในวัยเรียนรู้ เมื่อรวมเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมโลกยิ่งทำให้การดูแลเด็กๆ เป็นเรื่องที่ยากขึ้นเพราะไม่เพียงแต่พ่อแม่ต้องทำหน้าที่แทนครูและเพื่อน ช่วยเติมเต็มสังคมที่ขาดหายไปของลูก แต่ยังต้องรับมือกับปัญทางสุขภาพจิต ความโดดเดี่ยว และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของเด็กๆ อีกด้วย ในวันนี้เราจึงอยากพาคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ไปเรียนรู้ถึงเทรนด์การเลี้ยงลูกที่ตอบโจทย์โลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง อะไรที่ควรทำ และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง เรารวมไว้ให้แล้ว
ควรทำ: พูดคุยเรื่องบาดแผลทางใจกับลูก
ช่วงวัยเด็กเป็นวัยที่พัฒนาการและการเรียนรู้ทางอารมณ์กำลังเติบโต ในขณะเดียวกันก็มีความเปราะบางและมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่มากระทบต่ำ เด็กๆ อาจสูญเสีย Self-esteem จากคำพูดหรือการกระทำที่มากระทบ ถูก Bully จากเพื่อน คนรอบตัว หรือคนในโซเชียลมีเดียได้ง่าย ตลอดจนถูกทำร้ายทางอารมณ์จากคนในครอบครัว ทำให้เกิดเป็นบาดแผลที่ฝังแน่นในใจยากรักษา
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เด็กๆ ต้องหยุดไปโรงเรียนและใช้ชีวิตโดยขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็อาจสร้างบาดแผลจากความเครียดและความโดดเดี่ยวให้พวกเขาได้เช่นกัน การแก้ปัญหาให้กับเด็กๆ จึงไม่ใช่การบอกให้พวกเขาอดทนหรือพยายามใช้ชีวิตให้มีความสุข แต่เป็นการนำปัญหาเหล่านั้นมาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและหาวิธีแก้ร่วมกัน เพื่อไม่ให้บาดแผลเหล่านั้นขยายใหญ่กลายเป็นปมภายในใจของเด็กๆ
ควรทำ: ให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ปลอดภัย
เป็นเรื่องปกติที่เด็กยุคนี้จะใช้เวลาบนโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากขึ้น นอกจากการควบคุมให้เด็กๆ ใช้เวลาอย่างเหมาะสมแล้ว อีกหนึ่งหัวข้อที่สำคัญไม่แพ้กันคือการทำให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา
ความปลอดภัยที่หมายถึงปลอดภัยจากภัยภายนอก และปลอดภัยจากการถูกลิดรอนสิทธิ์ แทนที่จะห้ามไม่ให้พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียโดยสิ้นเชิง การสอนให้พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างปลอดภัย ไม่หลงไปกับคำชักชวนที่ไม่เหมาะสมหรือการคุกคามจากมิจฉาชีพดูจะช่วยป้องกันอันตรายให้พวกเขาได้มากกว่า ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเด็กๆ ด้วย โดยการไม่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวบนโซเชียลโดยไม่ขออนุญาต เพราะนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับเด็กๆ แล้วยังทำให้พวกเขาหมดความเชื่อใจในตัวผู้ปกครองเช่นกัน
ควรทำ: มอบของขวัญที่มีคุณค่าไม่ใช่มูลค่า
สำหรับบ้านที่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก พ่อแม่หลายคนเลือกจะชดเชยช่วงเวลาเหล่านั้นด้วยของขวัญชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องเกมราคาแพง เพราะคิดว่าของขวัญที่มีราคามากจะช่วยทดแทนความรู้สึกของเด็กๆ ได้ ในความเป็นจริงเด็กวัยที่ยังไม่โตมากนัก พวกเขาไม่เข้าใจถึง ‘มูลค่า’ ของสิ่งของ แต่พวกเขาเข้าใจถึง ‘คุณค่า’ ได้จากบริบทแวดล้อม
ลองเปลี่ยนจากของขวัญที่มีราคามาเป็นประสบการณ์ดีๆ ให้กับพวกเขากันดีกว่า โดยอาจเป็นเพียงกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว หรือการไปเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ ในวันหยุด นอกจากจะทำให้พวกเขารับรู้ถึงความรักจากครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้เขามีพัฒนาการทางอารมณ์ในเชิงบวกอีกด้วย
ควรทำ: ปรับทัศนคติเรื่องความเป็นกลางทางเพศ
เทรนด์ความเป็นกลางทางเพศ หรือ Gender neutral เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศในช่วงหลายปีมานี้ โดยเป็นแนวคิดที่ดีที่ควรจะรับมาปรับใช้ในไทยเช่นกัน
แนวคิดนี้คือการไม่กรอบลูกด้วยเพศที่ถือกำเนิด แต่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้และเลือกเพศด้วยตัวเอง ตัวอย่างของการเลี้ยงลูกภายใต้แนวคิดนี้ เช่น การตั้งชื่อลูกที่ฟังดูไม่ระบุเพศ การไม่ใช้สีฟ้าแทนเด็กชายหรือสีชมพูแทนเด็กหญิง หรือแม้แต่การเปิดโอกาสให้พวกเขาเลือกจะใส่กระโปรงหรือกางเกงได้ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าเด็กๆ อาจจะถูกสังคมส่วนใหญ่มองว่าแปลกแยก ซึ่งพ่อแม่ก็มีหน้าที่ต้องอธิบายและช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้เช่นกัน
ไม่ควรทำ: เป็นผู้ฟังที่แย่
หนึ่งในปัญหาที่พ่อแม่มักจะพบจากลูกวัยหัวเลี้ยวหัวต่อคือพวกเขามักจะรู้สึกว่าเด็กๆ ชอบดื้อและไม่พูดความจริง ในความเป็นจริงแล้วมีหลายครอบครัวที่เด็กๆ ซึมซับพฤติกรรมนั้นมาจากพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้ฟังที่แย่มาก่อน เวลาที่เด็กต้องการพูดคุย ปรึกษา หรืออธิบาย พ่อแม่บางคนมักจะทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย พวกเขาแสร้งทำคล้ายว่ากำลังฟังแต่แท้จริงแล้วกลับไม่ได้เข้าใจถึงสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสารจริงๆ
ยิ่งเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ยิ่งเป็นการบั่นทอนความมั่นใจและ Self-esteem ของเด็กๆ การพูดโดยไม่ถูกรับฟังทำให้พวกเขารู้สึกถูกเพิกเฉย รู้สึกถูกลดทอนความสำคัญ ท้ายที่สุดเด็กๆ ก็จะเกิดความรู้สึกไม่อยากเล่า ไม่อยากบอก จนกลายเป็นการปิดบังหรือโกหกในที่สุด การดูแลลูกในยุคนี้นอกจากพ่อแม่จะเป็นผู้พูดที่ดีแล้วยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดีอีกด้วย เด็กๆ ถึงจะเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและรู้สึกสบายใจที่จะเล่าเรื่องส่วนตัวให้ครอบครัวได้ฟัง
ไม่ควรทำ: การลงโทษด้วยความรุนแรง
แม้จะมีคำกล่าวโบราณประเภทรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี หรือไม้เรียวสร้างคนอะไรทำนองนี้ แต่การศึกษาด้านจิตวิทยาในเด็กตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า นอกจากการลงโทษด้วยการตีหรือทำร้ายร่างกายจะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมเด็กได้แล้ว ยังทำให้เกิดบาดแผลทางใจกับเด็ก รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมของพวกเขาในอนาคต
ทว่านอกจากความรุนแรงทางร่างกายแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักก็คือการลงโทษด้วยความรุนแรงทางจิตใจก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อาทิ การสร้างความอับอายให้เด็ก การดูถูก หรือการทำร้ายจิตใจด้วยวิธีต่างๆ แทนที่จะหาบทลงโทษให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวที่สุด พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กทีละเล็กละน้อยด้วยการพูดคุย การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือแม้แต่การสร้างกฎภายในบ้านร่วมกัน นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้อย่างถูกวิธีแล้ว ยังไม่เป็นการทิ้งบาดแผลให้พวกเขาติดตัวไปในวันข้างหน้าอีกด้วย
ไม่ควรทำ: เลี้ยงลูกออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูอย่างทุกวันนี้ การสื่อสารออนไลน์กลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่ย่นระยะทางระหว่างคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดขึ้น ถึงอย่างนั้นพ่อแม่ควรตอบตัวเองให้ได้ว่าเรากำลังพึ่งพาเทคโนโลยีเกินไปหรือเปล่า
เด็กๆ ในวัยเรียนรู้ยังคงต้องการความใกล้ชิดในชีวิตจริง ต้องการการปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตากันอยู่ อย่างเช่นการเดินทางไปเยี่ยมคุณตาคุณยายที่ต่างจังหวัด หรือการที่พ่อแม่กลับบ้านเร็วขึ้นเพื่อมาส่งลูกเข้านอน ไม่ใช่แค่การทักทายกันผ่านหน้าจอเท่านั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ Covid-19 อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงแล้วก็ถึงเวลาที่พ่อแม่จะต้องทบทวนเรื่องเวลาที่ใช้ร่วมกับลูกแบบเห็นหน้าอย่างจริงจังอีกครั้ง
ข้อมูลอ้างอิง
https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/parenting/moments/parenting-trends-to-embrace-in-2022/photostory/88394252.cms?picid=88394332
https://health.clevelandclinic.org/pediatricians-say-dont-spank-your-kids-heres-why-what-to-do-instead/
https://www.purewow.com/family/parenting-trends-2022