รู้ไหม การเล่นไม่ใช่เรื่องของเด็กเท่านั้น
วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย ก็ยังต้องเล่นอยู่เหมือนกันแล้วทำไมการเล่นถึงเป็นเรื่องของทุกคนและทุกวัย เราจะทำอย่างไรให้สิ่งที่สำคัญอย่างการเล่นยังมีอยู่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นักอำนวยการ “เล่น” 4 คน จาก 4 ด้าน คือ “หมอปู - แพทย์หญิงปุณณดา สุไลมาน” กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชกรรม - จิตเวชเด็กและวัยรุ่น “คุณอ๊อฟ - โกสินทร์ วิระพรสวรรค์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลนทอยส์ จำกัด “คุณต้อง - กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ “ครูก้า - อ.กรองทอง บุญประคอง” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์(ปฐมวัย) และประธานกรรมการบริหารสถานศึกษา โรงเรียนเพลินพัฒนา จะมาร่วมกันค้นหาคำตอบ โดยมี คุณประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของชูใจ กะ กัลยาณมิตร ชวนพูดคุยซักถามว่าทำไมเรื่องเล่นถึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกคน
ทุกช่วงวัยของมนุษย์เกี่ยวข้องกับการเล่นอย่างไรบ้าง
หมอปู เล่าว่าทุกประเทศมีการเล่นและบางอย่างเป็นการเล่นที่คล้ายคลึงกัน เช่น เล่นซ่อนแอบ เล่นไล่จับ เพียงแค่ชื่อหรือสัญลักษณ์ที่ใช้เวลาเล่นแตกต่างกัน และการเล่นไม่ใช่แค่ช่วงวัยเด็กอย่างที่หลายคนคิด แต่การเล่นจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามช่วงวัย เด็กเล็กเริ่มจากเล่นจ้องตา ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ว่ารอบตัวไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเขา แล้วการเล่นก็ค่อยๆ พัฒนาไป เด็กเริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวทำอะไรได้บ้าง สิ่งเหล่านั้นตอบสนองตัวเขาอย่างไร เมื่ออยู่ในวัยประมาณสองขวบเด็กจะเริ่มเชื่อมโยงกับสิ่งรอบข้างหรือนำของรอบตัวมาทดแทน เช่น เล่นสมมติ เล่นพ่อแม่ลูก จากนั้นการเล่นก็ค่อยๆ ซับซ้อนขึ้น มีกฎกติกา ข้อตกลงร่วมกันของแต่ละวัย ไปจนถึงวัยทำงานก็ยังต้องคงมีการเล่นอยู่
“ถ้าทำงานโดยไม่มีความสนุกชีวิตจะเหี่ยวแห้ง ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบจะดึงเวลาเราออกไป แต่เราจะต้องพยายามหาการเล่นที่ทุกคนมีเก็บซ่อนไว้ในตัวเองมาหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา จะเล่นดนตรี หรือร้องเพลงก็ได้ เพื่อให้เรื่องเล่นเป็นแรงผลักดันการทำงานที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวันให้ผ่านไปได้”
ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับการเล่นตั้งแต่เด็ก
ครูก้า เล่าว่า การเล่นคือการเรียนรู้สำหรับเด็ก เป็นการเรียนรู้ที่มีพลัง ไม่น่าเบื่อ เป็นรากของชีวิตที่จะกำหนดทัศนคติของคนคนนั้น และยังเป็นพลังที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิต และวัยเด็กคือวัยที่เต็มไปด้วยความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากที่สุด
“เด็กเป็นช่วงวัยที่อยากลอง การเล่นของเขาเป็นการเรียนรู้ที่สนุก ยิ่งถ้าได้ให้อิสระกับเขา ให้เขาได้ตั้งเป้าหมายด้วยตัวเองว่าอยากเล่นแบบไหน ทดลองอะไร เมื่อเขาได้รับอิสระในการเล่นเขาจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับความไว้วางใจ และมั่นใจในตัวเองว่าเขาสามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเขาไปจนโตและจะกลายเป็นพลังในการทำงาน หรือต่อให้เขาจะพบเจอปัญหา เขาจะมีวิธีจัดการได้”
คุณอ๊อฟ ในฐานะคนทำของเล่นเด็กกล่าวเสริมว่า ของเล่นเป็นสื่อกลางของเด็กกับการเรียนรู้ให้มีความสนุกมากขึ้น
“เด็กเป็นวัยที่เห็นอะไรก็นำมาทำเป็นของเล่นได้ เคยมีงานวิจัยทดลองให้ผ้าผืนหนึ่งกับเด็ก เขาจะนำไปเล่นอะไรต่อได้เยอะมาก เพราะจินตนาการเขาไม่มีขีดจำกัด คนรอบข้างอย่าไปจำกัดพวกเขาว่าเล่นแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้”
ด้านคุณต้อง ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ ได้เล่าถึงพื้นที่สำหรับการเล่นและเรียนรู้ของประเทศไทยในปัจจุบันว่ายังมีไม่มากพอ ทั้งที่เป็นพื้นที่สำคัญมากสำหรับทุกคนโดยเฉพาะเด็ก เพราะการอยู่บ้านหรือโรงเรียนอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาได้รับไอเดียใหม่ๆ พื้นที่แห่งการเล่นจึงเป็นตัวช่วยสำคัญของคนทุกช่วงวัย
“TK Park เป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย มีบ่อบอลสำหรับเด็ก มีแซนบ็อกสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนผู้สูงอายุ ที่นี่เป็นทั้งที่นัดพบและทำกิจกรรม อย่างการฟังเสวนา หรือการอบรมแต่งภาพที่ผู้สูงวัยยุคนี้อยากเรียนรู้ จะเห็นได้ว่าคนทุกวัยยังต้องการเล่นและการเรียนรู้อยู่ แค่มีวิธีการที่ต่างกันออกไป”
หากไม่มีการเล่น หรือเป็นการเล่นที่มีการควบคุม จะส่งผลกับคนเล่นอย่างไร
ในมุมมองของครูก้า การห้ามไม่ให้เล่น อย่างเช่น พ่อแม่คอยควบคุมการเล่นของลูก จำกัดว่าเล่นได้แค่ไหน จะทำให้ลูกไม่กล้าทดลอง เพราะการห้ามเป็นการสร้างบรรยากาศไม่ปลอดภัยสำหรับเขา ทำให้เขาไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวจะเกิดอันตราย ส่งผลให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กล้าตัดสินใจได้“
การเป็นนักเล่นทำให้เด็กเติบโตไปเป็นคนที่ทำอะไรสำเร็จ เป็นคนขี้สงสัย กล้าตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการวิ่งตามโลก แต่สนุกกับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา ครูเคยเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมลูกเพราะความเป็นห่วง พอเขาจะต่อเลโก้ เราก็คอยไปช่วยเพราะกลัวเขาต่อไม่เหมือนตัวอย่างข้างกล่อง เขาเลยไม่มั่นใจที่จะต่อด้วยตัวเอง เริ่มไม่สนุก เราไม่รู้ตัวเลยว่าเข้าไปเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ของลูก ถ้าลองให้เขาได้ทำเอง เขาจะรู้สึกมั่นใจว่าตัวเองผ่านแต่ละด่านไปได้ไม่มีอะไรยาก พอเติบโตไปเขาก็จะผ่านปัญหาอุปสรรคได้ด้วยตัวเอง”
หมอปู กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยประสบการณ์งานจิตเวชเด็กและวัยรุ่นว่า หลายครั้งพ่อแม่เข้ามาปรึกษาเรื่องการสร้างความมั่นใจให้กับลูก ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากความเป็นห่วงของพ่อแม่เองที่อยากให้ลูกทำอย่างถูกต้อง กลายเป็นการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์แทนที่จะเป็นกระบวนการ
“ช่วงที่เด็กๆ เล่น พวกเขากำลังสร้างจินตนาการ แต่พอผู้ใหญ่แทรกความคิดเข้าไป จินตนาการของเขาจะหยุดลง ไม่กล้าคิดไม่กล้าตัดสินใจในแบบของตัวเอง อย่างเช่น ถ้าลูกกำลังวาดรูป เขาอยากระบายผมเป็นสีชมพู เราไปห้ามว่าไม่ได้นะ ผมต้องสีดำ จินตนาการของเขาก็จะถูกจำกัดแล้ว”
ครูก้า กล่าวเสริมถึงเหตุผลว่าทำไมการเล่นจึงเป็นเรื่องใหญ่ นั่นเพราะการเล่นเป็นการซักซ้อมการใช้ชีวิต พอเปิดโอกาสให้เขาได้เล่น พาไปเจอเพื่อนใหม่ๆ เด็กเขาจะเรียนรู้การรวมกลุ่มเล่นด้วยกัน มีกิจกรรมร่วมกัน รู้จักการบริหารจัดการ การยอมรับ ให้อภัย และความรับผิดชอบ เป็นการซักซ้อมและเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตในสังคม
การเล่นเกมจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นการเล่นหรือไม่
คุณอ๊อฟ เล่าถึงประสบการณ์ในการผลิตของเล่นเด็กว่าได้ให้ความสำคัญกับเด็กโดยเฉพาะวัยแรกเกิดถึงห้าขวบ เพราะเป็นวัยที่ควรเล่นสิ่งที่จับต้องได้และต้องอยู่ห่างไกลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก
“โชคดีที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เข้าใจว่าการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ เล่นแท็บเล็ต ทำให้เกิดโทษกับพวกเขา มีงานวิจัยมากมายออกมารองรับว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งเรื่องสมาธิ สายตา ช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงนั้นเด็กอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก แทบไม่ได้ออกไปเจอใคร ทำให้เขาเริ่มไม่คุ้นชินเวลาเจอผู้คน ไม่กล้าคุย ไม่กล้าสบตา ขาดทักษะทางสังคม เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ลูกเล่นแท็บเล็ตจะต้องอยู่ในวัยที่เหมาะสม และต้องตั้งกติกาด้วยว่าเล่นได้มากน้อยแค่ไหน”
ครูก้า ได้กล่าวเสริมถึงของเล่นที่จับต้องได้ว่ามีประโยชน์กับเด็กอย่างมาก เช่น การเล่นต่อบล็อกเพราะพวกเขาได้คิด ค้นหา เป็นการพัฒนาทักษะการใช้สมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions (EF) เพราะเขาต้องคิดว่าจะต่ออย่างไร จะเลือกชิ้นไหน เกิดการคิดวิเคราะห์กับสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้ ต่างจากแท็บเล็ตที่ไม่มีข้อมูลให้คิดวิเคราะห์มาก ทำให้เด็กขาดความละเอียดในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งหมอปูได้เสริมต่อว่า นอกจากการคิดวิเคราะห์ที่ขาดหายไปแล้ว การที่เด็กไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะไม่ได้รับการฝึกฝน ทำให้เป็นคนไม่คล่องแคล่ว
ด้านคุณต้อง ได้เสริมถึงกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ TK Park ว่า เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัยได้เข้าไปค้นหาสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง เปรียบได้กับซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและหลากหลาย ทั้งเรื่องดนตรี กีฬา เทคโนโลยี ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะทำให้ทุกคนมีความเป็น Creator ไม่ได้เป็นแค่ User ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ว่าถ้าจะไปถึงเป้าหมายจะต้องทำอะไรบ้าง แต่พื้นที่แห่งนี้เป็นอิสระทางความคิด ทุกคนสร้างสรรค์และวางเป้าหมายของตัวเองได้
ช่วงการเล่นที่เหมาะสมคือช่วงไหน
หมอปู ได้อธิบายช่วงการเล่นของเด็กแต่ละวัย เริ่มจากเด็กแรกเกิดถึง 18 เดือนที่ไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ เป็นวัยที่จะต้องเล่นผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหรือการหยิบจับของเล่น ส่วนวัย 2-5 ขวบ ไม่ควรอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง สำหรับวัย 5-10 ขวบ ใช้เวลาอยู่หน้าจอได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน
“เด็กก่อนวัยเรียนเป็นช่วงที่สมองพัฒนาสูงสุด เวลาผ่านไปแล้วเราเรียกกลับคืนมาไม่ได้ พวกเขาต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น ทดลอง หยิบจับตามธรรมชาติ พอเติบโตขึ้นก็จะมีการเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งจะต้องจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสมและมีขอบเขต”
ครูก้า กล่าวเสริมเรื่องการศึกษาของประเทศไทยว่าระบบการศึกษาเดิมมีความเข้าใจแบบหนึ่งซึ่งเป็นความหวังดีอยากให้เด็กมีความรู้ จึงเน้นเรื่องการเรียนมากกว่าการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันการศึกษาก้าวไปไกลกว่าเดิม การทำเรื่องเรียนให้เป็นเรื่องเล่นกลายเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรการเรียนจึงจะมีพลัง เด็กมีโอกาสตั้งโจทย์ ตั้งเป้าหมายด้วยตัวเอง“
การเล่นไม่ได้หมายความว่าต้องออกไปเตะบอล อย่างถ้าสอนวิชาเลข ก็ให้โจทย์เขาไปเลย 20 ข้อ แล้วให้เด็กเลือกทำมา 10 ข้อ เขาจะเกิดความสนุก แล้วอาจจะทำมาเกิน 10 ข้อด้วย เพราะวิธีการนี้ไปเล่นกับพลังข้างในตัวเขา”
คุณอ๊อฟ เสริมเรื่องนี้ว่าการกำหนดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความสนุกอยู่ในนั้นจะกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้น หรือผู้ใหญ่วัยทำงานก็ทำงานแบบสนุก ทำให้เป็นเรื่องเล่นได้ แต่การเล่นของผู้ใหญ่จะแตกต่างออกไป เช่น เล่นหุ้น เล่นพระเครื่อง หรือเล่นฟุตบอล เล่นดนตรี ก็ถือเป็นการเล่นเหมือนกัน การเล่นแบบนี้จะช่วยเลี้ยงพลังที่อยู่ภายใน และพลังเหล่านี้เองที่ผู้ใหญ่จะนำมาใช้ในการทำงานให้สนุกได้
ด้านครูก้า ได้เพิ่มเติมความสำคัญของการเล่นในวัยผู้ใหญ่ว่า องค์กรต่างๆ สามารถนำการเล่นมาใช้บริหารองค์กรได้ การสร้างบรรยากาศการทำงานให้เหมือนการเล่น จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี รู้สึกปลอดภัย “ถ้าประชุมเราลองให้แต่ละคนโยนความคิดเข้ามา ไม่มีถูกผิด เขาจะรู้สึกสบายใจและกล้าที่จะแสดงความคิดของเขา เป็นการเล่นที่ไม่ใช้อุปกรณ์แบบการเล่นของเด็ก แต่เป็นการจับหัวใจของการเล่นมาใช้ในการทำงานของผู้ใหญ่”
การเล่นบำบัด (Play Therapy) คืออะไร และมีวิธีการบำบัดอย่างไร
หมอปูเล่าประสบการณ์ของเด็กที่ผู้ปกครองพามาพบจิตแพทย์ว่า เด็กเล็กยังถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นภาษาพูดไม่ได้ เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไรนั้นนอกจากจะรับรู้ผ่านทางพ่อแม่แล้ว การเล่นยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถรับรู้เรื่องราว ประสบการณ์ที่ผ่านมาของเด็กคนนั้นได้ และการเล่นยังใช้บำบัดพวกเขาได้ด้วย โดยจะมีกระบวนการช่วยให้เขาทำความเข้าใจกับตัวเองขณะที่เล่นของเล่น และรับรู้ศักยภาพของตัวเอง จนพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้
“เด็กบางคนผ่านประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว เขาจะไม่เข้าหาเรา ไม่ไว้วางใจ การเล่นจะทำให้เขารู้สึกว่าได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เป็นอิสระ โดยมีผู้บำบัดคอยอยู่ข้างๆ เพื่อจะรับรู้และสะท้อนสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมาผ่านการเล่นรูปแบบซ้ำๆ การบำบัดด้วยวิธีนี้จะทำให้เด็กมีพัฒนาการว่าสิ่งที่เขาเผชิญหน้าคืออะไร และเขาจะผ่านสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยวิธีไหน เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ ให้เด็กได้เรียนรู้และปรับพฤติกรรม”
ทำอย่างไรเพื่อให้การเล่นเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม
คุณอ๊อฟ กล่าวถึงความสำคัญของการเล่นเป็นคนแรกว่า ถ้าจะทำให้การเล่นมีความสำคัญในสังคม ต้องเริ่มต้นจากทุกคนที่ต้องเปิดใจเชื่อว่าการเล่นสำคัญ ถ้าคิดว่าเด็กต้องเรียนเท่านั้น การเล่นก็จะเป็นแค่การเล่น ส่วนวิธีการที่จะทำให้เปิดใจได้ คือการพิสูจน์ดูว่าการเล่นสำคัญแค่ไหน ผู้ใหญ่ต้องปรับความคิดเปิดใจยอมให้เด็กได้เล่นและคอยดูอยู่ห่างๆ
ด้านหมอปู มองว่าพ่อแม่เป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก ถ้าลูกเห็นว่าพ่อแม่อยู่ข้างๆ เวลาเขาเล่น เขาจะเกิดความรู้สึกปลอดภัย และรับรู้ได้ว่าตัวเขามีคุณค่า
ส่วนครูก้า มีความเห็นแบบเดียวกันกับคุณอ๊อฟว่า การเล่นจะสำคัญได้ต้องเริ่มต้นจากความเชื่อก่อน ว่าการเล่นคือการเรียนรู้ของมนุษย์ เมื่อเชื่อแล้วต้องปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ แล้วจะพบว่าเด็กทุกคนมีความมหัศจรรย์ซ่อนอยู่ในตัว
สำหรับคุณต้อง ได้กล่าวปิดท้ายว่า เมื่อเชื่อว่าเรื่องเล่นเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ต้องให้เวลากับการเล่นด้วย จัดตารางเล่นคู่กับการจัดตารางเรียน และหาพื้นที่เล่นนอกบ้านนอกโรงเรียนให้กับลูก เพื่อช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น