
คงไม่เกินเลยนักที่จะกล่าวว่า การอ่านทำให้เกิดการเรียนรู้ เสริมสร้างจินตนาการ ซึ่งสามารถเริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด ด้วยการที่พ่อแม่อ่านนิทานให้เด็กฟัง จะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านภาษา จินตนาการและสมาธิ ไปจนสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็กในอนาคตได้ แต่ขณะเดียวกันก็นับว่าเป็นความท้าทายของผู้แต่งนิทานกลุ่มหนังสือที่เหมาะกับอายุผู้อ่านนับแต่แรกเกิด ให้ออกมาสนุกสนาน เพลิดเพลิน สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของเด็กๆ ได้ด้วยเช่นกัน
บทความนี้จึงจะพาไปเรียนรู้เทคนิควิธีการในการทำนิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก และแนวทางใหม่ๆ ที่จะทำให้นิทานภาพเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของเด็กๆ จาก อาจารย์คาซุฮิโกะ โตโยต้า (Kazuhiko Toyota) นักเขียน นักวาดภาพประกอบ มากด้วยประสบการณ์การทำนิทานภาพสำหรับเด็กเล็กมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี สร้างผลงานนิทานภาพที่ได้รับรางวัลและความนิยมมาอย่างยาวนาน และผลงานยังคงติดอันดับหนังสือขายดีตลอดกาลในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมีผลงานแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่ม อาทิ มอม่อนจัง เตาะแตะ, มอม่อนจัง ปู๊นปู๊น และ มอม่อนจัง ชูวว์ เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของนิทานภาพ ซีรีย์มอม่อนจัง
เมื่อครั้งสำนักพิมพ์โดชินฉะ (Doshinsha) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ต้องการขยายหนังสือกลุ่มเด็กเล็ก ตั้งแต่ 0 ขวบขึ้นไป ก็ได้เชิญชวนอาจารย์คาซุฮิโกะให้มาร่วมงานนี้
“หลังจากการเชิญของสำนักพิมพ์ ก็ได้คิดโครงเครื่องไว้แต่แรกว่าอยากขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของตัวเรื่อง ให้สามารถเล่นได้หลายอย่างมากขึ้นโดยไม่ต้องจำกัดว่าอายุเท่านี้ ต้องทำได้แค่นี้ เลยคิดสร้างคาแรคเตอร์ มอม่อนจัง ขึ้นมา และไม่ได้ระบุอายุและเพศของมอม่อนจัง แต่สามารถจำกัดความได้ว่า มอม่อนจัง เป็นซุปเปอร์เด็กทารก เหมือนซุปเปอร์แมน โดยมอม่อนจังอาจทำอะไรได้หลายอย่างที่เด็กทารกอาจจะทำไม่ได้ ซึ่งก่อนจะวาดมอม่อนจังขึ้นมาสมบูรณ์แบบ ต้องผ่านการดราฟดัมมี่ วาดแก้แล้วแก้อีก จนเกิดเป็นนิทานภาพมอม่อนจังในที่สุด”
ระหว่างการเล่าถึงจุดเริ่มต้น อาจารย์ให้ยกตัวอย่างนิทานภาพ มอม่อนจัง เตาะแตะ Dondoco Momon Chan (Momon-chan Let's play) ซึ่งเป็นนิทานภาพ ที่มีภาพประกอบสี่สี น่ารัก ภาพขนาดใหญ่ชัดเจน ตรงตามคุณสมบัติที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด โดยนิทานเล่มนี้จะช่วยสอนเด็กๆ รู้จักการพยายามมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้อาจารย์ยังอธิบายว่า ถึงแม้ซีรีย์มอม่อนจังจะจัดอยู่ในกลุ่มหนังสือเด็กเล็ก แต่ส่วนตัวอาจารย์คิดว่าประมาณ 7 เดือนถึงจะอ่านนิทานมอม่อนจังสนุก ตั้งแต่ก่อนเริ่มผลิตผลงาน อาจารย์ได้ศึกษาค้นคว้าว่า ช่วงวัย 7 เดือน เป็นช่วงที่เด็กเริ่มรู้จักตัวตนของหนังสือ เขาจะเริ่มเลียและจับหนังสือ อยากให้พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้เด็กในวัยนี้ฟัง ถึงเด็กจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะจะเป็นการช่วยเชื่อมสายสัมพันธ์ในครอบครัวและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้

แรงบันดาลใจการแต่งนิทานภาพ
ก่อนเป็นนักเขียนนิทานภาพสำหรับเด็ก อาจารย์คาซุฮิโกะ เคยทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาก่อน แต่อาจารย์รู้สึกว่างานวาดภาพประกอบ วาดเท่าไหร่ก็เป็นเพียงหน้าหนึ่งในนิตยสาร และก็ไม่รู้ว่าคนอ่านหรือคนที่ได้เห็นภาพรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นช่วงที่อาจารย์รู้สึกว่างานวาดภาพประกอบไม่สนุกแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะหันอาชีพตัวเองไปทางไหน
“ช่วงที่หันหาอาชีพใหม่ๆ เป็นจังหวะที่ลูกสาวเกิดมาพอดี และโดยส่วนตัวเล่านิทานให้ลูกฟังอยู่แล้ว เลยคิดว่าน่าจะทำนิทานภาพสำหรับเด็กเล็กได้ เพราะนิทานภาพนั้นประกอบไปด้วยคำสั้นๆ ภาพวาดก็ใหญ่ๆ ก็น่าจะไม่ยากเท่าไหร่ แต่ก็เพิ่งมารู้สึกทีหลังว่าไม่ง่าย ตอนแรกก็เริ่มจากทำนิทานภาพทำมือ เอาไปอ่านให้ลูกฟัง พอลูกฟังคงเอาใจพ่อปรบมือบอกว่าสนุก เลยเริ่มเอาผลงานตัวเองไปเสนอสำนักพิมพ์ ตอนนั้นก็คิดว่าคงขายได้เลย แต่อันนั้นคือความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะจริงๆ แล้วการทำนิทานภาพนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้..มีคนที่วาดภาพเก่งมากมายบนโลกใบนี้แต่ภาพในนิทานภาพสำหรับเด็ก ไม่เกี่ยวกับว่าวาดเก่งหรือไม่เก่ง เพราะหนังสือแต่ละหน้ามีการร้อยเรียงต่อกัน เพราะฉะนั้นต่างกับการวาดภาพช็อตเดียวที่เป็นภาพประกอบตามสิ่งพิมพ์ การวาดภาพในหนังสือนิทานสำหรับเด็ก จึงต้องมีการวางโครงเรื่อง วาภาพให้ต่อเนื่อง ถ้าภาพและประโยคในนิทานภาพไม่ประสานเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง ก็คิดว่าเนื้อหาที่เราสื่อก็จะสื่อไม่ถึงคนทั่วไป”
ด้วยการที่อาจารย์ทำงานเกี่ยวกับหนังสือภาพสำหรับเด็กเล็ก สถานที่อาจารย์ให้ความสำคัญและทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการผลิตนิทานภาพ คือ เนอสเซอรี่ สถานที่เลี้ยงเด็กเล็ก โดยอาจารย์คาซุฮิโกะ เล่าว่ามักได้เดินทางไปตามเนอสเซอรี่ สถานที่เลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลและชั้นประถมในญี่ปุ่น เพื่อเล่านิทานออกเสียงอยู่บ่อยๆ
“ในฐานะนักเขียนสำหรับเด็กเล็ก การเรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ ได้เห็นอารมณ์ของเด็ก ณ ปัจจุบัน เป็นเรื่องสำคัญมาก ระหว่างที่ทำงานหรือระหว่างที่คิดเรื่องก็พยายามหาเวลาไปที่เนอสเซอรี่ ไปเล่านิทานเสมอ ซึ่งทุกครั้งก็จะได้รับแรงบันดาลใจดีๆ กลับมาเพื่อสร้างงานต่อไป”

กระบวนการทำนิทานภาพ และความท้าทายของการทำนิทานภาพ
อาจารย์คาซุฮิโกะ เล่าถึงกระบวนการทำนิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก ที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองให้ฟังว่า เริ่มจากการสเก็ตภาพก่อน จากนั้นก็เริ่มวางโครงภาพ ดูความเคลื่อนไหว การร้อยเรียงของรูปภาพก่อน แล้วก็นำไอเดียเหล่านั้นมาวางเป็นรูปเล่มจำลอง และด้วยเทคนิควาดภาพส่วนใหญ่ของอาจารย์จะใช้เป็นสีเทียนและสีไม้ ซึ่งอาจารย์ก็มีความใส่ใจในกระบวนการพิมพ์ว่า หากเป็นกระบวนการพิมพ์ที่ปกติเป็นสี่สี อาจจะไม่ได้สีและรูปแบบตามที่ตัวเองร่างไว้ ดังนั้นก่อนส่งโรงพิมพ์อาจารย์จึงทำการเลือกสีจากคู่มือแล้วเขียนระบุไว้ก่อนส่งโรงพิมพ์อย่างละเอียด เพื่อให้ซีรีย์มอม่อนจังออกมาสมบูรณ์แบบ
ซีรีย์มอม่อนจัง เป็นนิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก ที่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นอย่างยาวนาน โดยต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นมีทั้งหมด 23 ตอน และกำลังจัดทำตอนที่ 24 เกี่ยวกับมอม่อนจังมีความลับ
ถึงแม้อาจารย์คาซุฮิโกะ จะทำนิทานภาพมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงมองว่างานนี้คือความท้าทายที่ไม่สิ้นสุด “ในโลกนิทานภาพนั้น มีความสนุกและหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นนิภาพความรู้ นิทานภาพสอนเด็กใช้ชีวิต นิทานภาพสายศิลปะ นักเขียนเพียงคนเดียวคงไม่สามารถทำนิทานได้ทุกแนว ซึ่งเราก็มองตัวเองว่าเหมาะเป็นนักเขียนนิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก เพราะเคยมีครึ่งหนึ่งที่นักเขียนนิยายเยาวชนชื่อดังท่านหนึ่งในญี่ปุ่น เคยชื่นชมผลงานของเราไว้ว่า มีลมหายใจที่สอดคล้องกับลมหายใจของเด็กทารก คำนี้เหมือนเป็นใบเบิกทางว่ามาถูกทาง ก็เลยไม่ลังเลอีกแล้วว่าตัวเองต้องจับนิทานภาพในหลายๆ สาย จึงมุ่งเน้นมาที่เด็กเล็ก แต่ว่าความท้าทายปัจจุบัน ก็คือจะทำอย่างไรให้นิทานภาพสำหรับเด็กเล็กมันลึกซึ้ง และทำอย่างไรให้เป็นหนังสือที่จะถูกอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก”
เทคนิคการทำนิทานภาพ
ปัจจุบันนิทานถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ มากมาย อย่างเช่นรูปแบบอีบุ๊ก หรือแอนิเมชัน ซึ่งอาจารย์คาซุฮิโกะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และสนุกสนาน ถึงแม้ตัวเองจะทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็รู้สึกว่าหากเป็นนิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก กระดาษก็ยังเป็นสื่อที่ดีเสมอ
สำหรับการใช้ภาษาในนิทาน อาจารย์คาซุฮิโกะ เล่าถึงเทคนิคส่วนตัวว่า จะเน้นคำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงร้องจากสัตว์ หรือคำที่เด็กๆ ชอบใช้ เช่น เตาะแตะ ปู๊นปู๊น โดยจะคัดเลือกคำพวกเลียนเสียงต่างๆ ก่อนมาผูกเป็นประโยคสั้นๆ ซึ่งอาจารย์เน้นย้ำว่าคำสไตล์อาจารย์เหมาะกับเด็กเล็ก ถ้าเป็นเด็ก 3-4 ขวบ เด็กอ่านออกแล้ว ต้องการประโยคที่ยาวขึ้น ก็ควรเลือกหนังสือที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย เมื่อเขาเติบโต หนังสือก็ควรเติบโตขึ้นตามวัย เช่นเดียวกับเรื่องการใช้สีสัน นิทานภาพมีหลายสไตล์ ไม่อยากให้ยึดติดว่านิทานภาพควรต้องใช้สีอะไรภาพอะไรถึงจะถูกต้อง แต่ถ้าเป็นประเภทที่เหมาะกับการอ่านให้ฟัง เช่น พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง ก็อาจจะเน้นการใช้สีที่ชัดเจน เหมือนอย่างซีรีย์มอม่อนจัง
“ในส่วนเรื่องของการสร้างคาแรคเตอร์ในนิทานภาพ ในฐานะนักเขียนถ้าเรากำหนดคาแรคเตอร์ชัดเจนก็จะทำให้สร้างเรื่องต่อไปได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันการสร้างคาแรคเตอร์อาจไม่ต้องชัดในทันทีก็ได้ บางทีอาจต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ หรือใช้ประสบการณ์ของนักเขียนเองด้วย และถ้าถามว่าคาแรคเตอร์จำเป็นต้องเป็นเด็กดีไหม ไม่จำเป็นต้องเด็กดีเสมอไปก็ได้ แต่ถ้าเป็นเด็กดื้อต้องมีเหตุผลว่าทำไมเขานิสัยไม่ดี ถ้าเราชี้ให้ชัดก็สามารถทำได้”
“โดยส่วนตัวคิดว่าการทำนิทานภาพสำหรับเด็กเล็ก สิ่งสำคัญคือ ระยะห่างระหว่างตัวนักเขียนกับเด็กเล็ก สำหรับคนที่สนใจงานด้านนี้ไม่อยากให้รีบ อยากให้ฝึกฝนการวาดภาพไปก่อน ถ้าเกิดอยากทำผลงานด้านนิภาพสำหรับเด็กเล็กจริง ก็จะได้ผลงานที่ดีและลึกซึ้ง” อาจารย์คาซุฮิโกะ กล่าว