ตั้งแต่สมัยก่อนแต่ใดมา มนุษย์ก็มี ‘ดนตรี’ เป็นสิ่งบันเทิงใจอย่างหนึ่ง ที่บรรเลงไปพร้อมๆ กับการดำเนินชีวิตมาเนิ่นนานแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพียงการเล่นดนตรีแบบสดๆ หากจะซึมซับความบันเทิงจากดนตรีก็จำต้องรับฟังในขณะที่เครื่องดนตรีกำลังเล่นอยู่เท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน ก็ได้คิดค้น ‘เครื่องบันทึกเสียง’ ขึ้นมา จึงเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกในการฟังดนตรีของมนุษย์ไปตลอดกาล
อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรม อบรมการใช้ห้องบันทึกเสียงและอุปกรณ์ในการบันทึกเสียงเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การบันทึกเสียงในงานด้านดนตรี โดยมี คุณปิงปอง - ธนาบดี ธรรมสิทธิ์ โปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานคุณภาพของวง TK Band สมาชิกวงไทละเมอและ biscuits มาเป็นวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องการบันทึกเสียงกันในทุกๆ ขั้นตอน ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ รวมไปถึงการบันทึกเสียงแบบใช้งานจริง เพื่อการทำงานในด้านดนตรีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งในวันที่ 3-4 มีนาคม จะเป็นการแนะนำถึงประวัติการบันทึกเสียงและความรู้เบื้องต้นในการบันทึกเสียง ก่อนจะให้ผู้เข้าอบรมลงมือปฏิบัติจริงในสัปดาห์ถัดไป
หน้าตาเครื่องบันทึกเสียงเครื่องแรกของโลก
ในวันแรกของการอบรม คุณปิงปองเริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติของการบันทึกเสียงในยุคแรก ตามที่กล่าวไปข้างต้น ในปี ค.ศ. 1877 ผู้คิดค้น ‘เครื่องบันทึกเสียง’ ได้เป็นคนแรกคือ โทมัส อัลวา เอดิสัน เขาเรียกเครื่องนี้ว่า Phonograph หรือ Talking machine เรียกเป็นภาษาไทยว่า ‘กระบอกเสียง’ มีกลไกลการบันทึกที่ใช้การสั่นสะเทือนของเสียงตอกลงไปบนแผ่นดีบุก หลังจากนั้นเอดิสันจึงคิดค้นการบันทึกเสียงรุ่นใหม่ให้บันทึกลง ‘แผ่นเสียง’ ขนาด 12 และ 14 นิ้ว ได้สำเร็จ จากเดิมที่เป็นการบันทึกเสียงในระบบโมโน คือมีทิศทางเสียงทางเดียว ก็พัฒนาไปสู่ระบบสเตอริโอ คือมีทิศทางเสียงสองทิศทาง ซ้ายและขวา จึงถือเป็นนวัตกรรมในการบันทึกเสียงของมนุษย์ที่ดีที่สุดในยุคนั้นแล้ว
แผ่นเสียง
ในสมัยต้นรัชกาลที่ 8 วงสุนทราภรณ์อัดเสียงที่กรมประชาสัมพันธ์ มีวิธีการบันทึกเสียงคือเอาไมค์มาตั้งแล้วเล่นอัด มีการจัดวางเครื่องเล่นตามตำแหน่งต่างๆ มีนักร้องอยู่หน้าไมโครโฟน เป็นการบันทึกเสียงแบบโมโน ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งเล่นผิดก็ต้องเล่นใหม่ทั้งหมด สมัยก่อนการบันทึกเสียงจึงใช้เวลานานเป็นเดือน ในยุคหลังที่เกิดแผ่นเสียง เนื่องจากแผ่นเสียงมีสองร่องเสียง จึงสามารถแบ่งกันอัดได้ระหว่างนักร้องกับดนตรี เวลาที่ใช้ในการบันทึกเสียงจึงลดน้อยลง
เทปคาสเซ็ท
ในปี ค.ศ. 1935 มนุษย์ก็สามารถคิดค้นการบันทึกเสียงในรูปแบบ ‘ม้วนเทป’ โดยการบันทึกลงบนแถบแม่เหล็ก ก่อนจะพัฒนาเป็น ‘เทปคาสเซ็ท’ ที่มีขนาดเล็กลง เอกลักษณ์ของเทปคือการบันทึกได้สองหน้าด้วยระบบสเตอริโอ มี 4 ร่องเสียง (แทร็ก) บนแถบแม่เหล็กขนาด 50 มม. ในยุคที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลกำลังได้รับความนิยม องค์ประกอบของดนตรีประเภทนี้มี กลอง เบส กีตาร์ และเสียงร้อง จึงมีการแบ่งภาคของดนตรีแยกกันขณะอัด ช่วงหลังจึงมีเทปมาสเตอร์ที่สามารถใช้ได้ด้านเดียว เวลาอัดจะแบ่งทีละแทร็ก ทำให้สามารถจัดระเบียบได้ง่ายมากขึ้น จนกระทั่งเพิ่มปริมาณเป็น 8 แทร็ก 16 แทร็ก และ 24 แทร็กตามลำดับ การบันทึกเสียงด้วยระบบนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การดูแลรักษายาก และมีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ถือเป็นระบบบันทึกเสียงที่ดีที่สุดในยุคหนึ่งและได้รับความนิยมอย่างมากเป็นเวลานาน ห้องบันทึกเสียงในระบบอนาล็อก 24 แทร็กที่ดีที่สุดในประเทศไทยคือ คาราบาวสตูดิโอ ซึ่งปัจจุบันยังสามารถใช้งานได้อยู่
คุณปิงปองเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
หลังจากหมดยุคของการบันทึกเสียงแบบอนาล็อกก็เปลี่ยนไปสู่ยุค ‘ดิจิตอล’ คือการแปรรูปจากตัวเลข 0 กับ 1 เป็นเสียง การบันทึกเสียงแบบนี้สามารถเก็บรักษาได้ง่ายขึ้นและเสียงผิดเพี้ยนได้ยาก แต่ก็มีปัญหาเพราะยังเก็บอยู่ในรูปแบบของเทปแม่เหล็กอยู่ อุปกรณ์ที่ใช้ต่างๆ ภายในห้องอัดจึงมีลักษณ์เป็นฮาร์ดแวร์ที่มีราคาสูงมาก การแปลงสื่อจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอลก็มีราคาสูงมากเช่นกัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงเวลาต่อมา จึงมีการพัฒนาเป็นการบันทึกด้วยระบบดิจิตอลสมบูรณ์แบบ การบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลคือการทำหน้าที่เลียนแบบให้เหมือนที่สุด เป็นการเลียนแบบเสียงในระบบอนาล็อก เช่นเดียวกับการถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอล ในส่วนของฮาร์ดแวร์ก็พัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ในที่สุด แทร็กที่บันทึกก็พัฒนาจนสามารถมีกี่แทร็กก็ได้ ในการบันทึกเสียงสามารถต่อสัญญาณบรรจุลงสื่อต่างๆ ได้ทั้งเทปและซีดี คุณปิงปองให้ความเห็นว่าข้อเสียของการบันทึกเสียงด้วยระบบนี้คือทุกอย่างง่ายขึ้น แต่การละเมิดลิขสิทธิ์ก็เกิดขึ้นง่ายด้วยเช่นกัน
คุณปิงปองเล่าว่า คนที่ทำงานด้าน Sound Engineer ในยุคหลัง หูหนวกไม่เป็นไร แต่อย่าตาบอด เพราะว่าการบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลเราสามารถมองเห็นเสียงเป็นคลื่นผ่านหน้าจอได้
ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก
หลังจากที่เรียนรู้ถึงประวัติการบันทึกเสียงแบบคร่าวๆ ไปแล้ว ในช่วงต่อมาคุณปิงปองได้โยงไปสู่เรื่องการบันทึกเสียงในเชิงเทคนิคบ้าง โดยเกริ่นว่าการบันทึกเสียงเป็นเรื่องที่ต้องออกแบบ การบันทึกเสียงเป็นจึงเป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ รูปแบบหนึ่งของการบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลคือการใช้ไฟล์ Midi (Music Instrument Digital Interface) หรือไฟล์เสียงตัวโน้ต 127 เสียง มีต้นกำเนิดมาจากเกมของค่าย Atari ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องเกมรุ่นแรกๆ จะใช้กันมาก ไฟล์ Midi จะอยู่ในซาวนด์การ์ดของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกชนิดทั่วโลก ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก บันทึกเสียงโดยการใช้คีย์บอร์ดเพื่อป้อนโน้ตต่างๆ เข้าไป โดยสามารถแก้ไขได้ตลอดเวลาไม่เหมือนระบบอนาล็อก
เวลาใช้ไฟล์ Midi ต้องใช้ผ่าน Sound Module ที่บรรจุไฟล์เสียงสังเคราะห์ที่ดีกว่าซาวนด์การ์ดเอาไว้ เพื่อแปลงเป็นไฟล์เสียงคุณภาพดีตามต้องการ หลังจากนั้นการใช้ Midi จึงพัฒนาไปสู่การแปลงเป็นเสียงจริง โดยการใช้เสียงจริงบันทึกลงที่บันทึกข้อมูลอย่างแผ่นดิสก์หรือฮาร์ดดิส และใช้ Midi สั่งเสียงจริงให้ออกมาได้เลย ตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้เรียกว่าเครื่อง Sampler เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ถูกทำใน Sampler คือกลอง ก่อนจะพัฒนาไปสู่เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เกือบทุกชนิด
วง Red Hot Chili Peppers
คุณปิงปองได้ให้นิยามว่า การบันทึกเสียงเหมือนการตกแต่งภาพให้สวยงาม เพลงจะสมบูรณ์ได้อยู่ที่ ‘การออกแบบ’ ยกตัวอย่างเช่นวงดนตรีที่เล่นทับไลน์กัน คือเล่นกีตาร์เหมือนกันสองตัว คีย์บอร์ดก็เล่นเหมือนกีตาร์ เบสก็เล่นตามกลอง ฟังแล้วจะรู้สึกโล่งๆ แต่สำหรับวงดนตรีรุ่นใหญ่อย่าง Red Hot Chili Peppers เป็นวงที่เล่นแล้วทำให้คนฟังรู้สึกแน่น ทั้งๆ ที่มีเครื่องดนตรีแค่ กีตาร์ กลอง เบส อย่างละตัวเท่านั้น วงนี้เป็นวงที่มีการออกแบบดนตรียอดเยี่ยมมากวงหนึ่งของโลก ในการออกแบบศิลปินจะรู้ว่าออกแบบมาเพื่ออะไร แต่ละเครื่องดนตรีจึงเล่นไม่เหมือนกัน
วันที่สองของการอบรม คุณปิงปองเริ่มต้นด้วยส่วนประกอบของ ‘เพลง’ อันประกอบไปด้วย เนื้อร้อง ทำนอง ดนตรี ซึ่งผู้บันทึกเสียงที่ไม่ใช่นักดนตรีจำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนที่จะบันทึกเสียง เพราะต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องดนตรีพอสมควรจึงจะสามารถบันทึกเสียงให้ดีได้ การบันทึกเสียงต้องเห็นความสำคัญของอารมณ์มากกว่าความถูกต้อง โดยเฉพาะการบันทึกเสียงของวงดนตรี มีความผิดเพี้ยนได้ แต่อารมณ์ของคำต่างๆ ต้องได้ตามความหมายนั้นๆ
ก่อนที่จะเข้าไปบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงจริงๆ คุณปิงปองได้แนะนำโปรแกรมที่ชื่อว่า Logic Pro ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์บันทึกเสียงที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
ห้องบันทึกเสียงในปัจจุบัน
หลังจากนั้นคุณปิงปองจึงพาผู้เข้าอบรมไปทดลองใช้ห้องบันทึกเสียงของ TK park (Sound Room) โดยอธิบายว่าห้องบันทึกเสียงจะแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือห้องคอนโทรลกับห้องเก็บเสียง ห้องบันทึกเสียงทุกวันนี้จะได้รับการออกแบบเพื่อป้องกันเสียงรบกวน เพราะอุปกรณ์อัดเสียงมีคุณภาพดีมาก ห้องบันทึกเสียงจึงถูกแยกออกมาจากห้องคอนโทรลอย่างชัดเจน ลักษณะของห้องบันทึกเสียงต้องไม่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่จะเป็นมุมป้านๆ และมีพื้นผิวไม่เรียบ เพื่อลดการกำธรของเสียง มีเหตุผลหนึ่งคือหากเราฟังเพลงที่บ้านจะฟังเพื่อความไพเราะ เครื่องเสียงจะออกแบบมาเพื่อฟังให้เพราะ แต่ห้องบันทึกเสียง ถูกออกแบบมาเพื่อฟังให้ชัดจริง ไม่หลอกหู
ภายในห้องบันทึกเสียงต้องมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ทำให้เกิดเสียง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต้องเป็นพรมหรือหลอดไฟที่ไม่มีเสียง ประตูปิดแล้วต้องเงียบสนิท รวมไปถึงเสื้อผ้าของผู้ที่ใส่เข้ามาจะต้องเสียดสีกันแล้วไม่มีเสียง ผนังต้องเป็นกำแพงสองชั้น มีคุณสมบัติดูดซับเสียง ไม่สะท้อน ภายในอาจจะบุด้วยโฟมหรือแผ่นใยหิน เพื่อกันเสียงภายนอกเข้ามาและเสียงภายในออกไป
คุณปิงปองอธิบายลักษณะของห้องบันทึกเสียง
การตั้งลำโพงในห้องคอนโทรลต้องอยู่ในระดับเดียวกับหูของคนทำงาน โดยคำนึงถึงทิศทางของเสียง มีการตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เพื่อประสิทธิภาพในการฟังเสียงที่ดีที่สุด
ทดสอบการบันทึกเสียง
หลังจากที่เรียนรู้เรื่องลักษณะของห้องบันทึกเสียงไปแล้ว ในขั้นตอนต่อมาคุณปิงปองได้ยกตัวอย่างการบันทึกเสียงจริงภายในห้องบันทึกเสียงแบบง่ายๆ โดยการให้ผู้เข้าอบรมลองร้องเพลงและเล่นกีตาร์ แสดงให้เห็นถึงความล้ำสมัยของเทคโนโลยีอุปกรณ์สมัยใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับเราอย่างมาก
และในสัปดาห์ถัดไป ผู้เข้าอบรมจะได้ลงมือบันทึกเสียงจริงๆ แต่ก่อนหน้านั้นทางห้องบันทึกเสียงของ TK park ก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองใช้ห้องด้วยตนเองก่อน หลังจากนั้นจะมีกลุ่มคนมาใช้งานห้องบันทึกเสียง โดยให้ผู้เข้าอบรมเป็นผู้ดูแลในการบันทึกเสียง และมีทีมงานมืออาชีพมาคอยควบคุมให้ เพื่อให้วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างการเล่นสดกับการบันทึกเสียง
จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของการบันทึกเสียงเป็นเทคโนโลยีหนึ่ง ที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันของเรามีความสุขและความบันเทิงกับเสียงดนตรีในทุกๆ จังหวะของชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย