“...ตั้งแต่เดือนสี่ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ จนถึงเดือนเจ็ด ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙ วีรชนค่ายบางระจันได้ต่อสู้พม่าด้วยความกล้าหาญ และด้วยกำลังใจอันเด็ดเดี่ยว ยอมสละแม้เลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดินไทย...” ข้อความจากจารึกอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน
เรื่องราวของชาวบ้านบางระจันมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่านั้น ไม่ปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่น แม้แต่พงศาวดารร่วมสมัยครั้งศึกเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่น คำให้การชาวกรุงเก่า หรือแม้แต่ในพงศาวดารของฝ่ายพม่าก็ไม่พบเช่นเดียวกัน
ชาวบ้านบางระจันไม่มีอยู่จริง?
นี่อาจเป็นคำถามที่แม้แต่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ยังให้คำตอบไม่ได้...
แต่อย่างไรก็ตามอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันที่วัดโพธิ์เก้าต้นในเมืองสิงห์บุรี ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของคนในยุคปัจจุบันที่มองว่า ชาวบ้านบางระจัน คือหนึ่งในบรรพบุรุษไทยผู้ต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทย เหมือนที่ภาพยนตร์เรื่องบางระจันพยายามจะบอกกับเรา...
กิจกรรมการจัดฉายภาพยนตร์ยังคงมีเป็นประจำทุกเดือน ในวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2555 ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง บางระจัน 2 ที่ห้องมินิเธียเตอร์
เนื้อหาของเรื่องได้หยิบเอาประเด็นจากภาคที่แล้วมาเป็นตัวเดินเรื่อง คือ พระยาสุกี้ฝ่ายกองทัพพม่าได้ส่งกองกำลังตามล่าหลวงพ่อธรรมโชติ แต่แก่นของบางระจันในภาคนี้ที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาคือ ‘การแตกความสามัคคีของคนไทยด้วยกันเอง’ โดยมีคู่กรณีคือ พระยาเหล็ก ทหารหลวงจากกรุงศรีอยุธยา และ นายมั่น นักรบผ้าประเจียดผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ธรรมโชติผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุมชน
ภายหลังวีรกรรมของกลุ่มนักรบบ้านบางระจันที่ร่วมกันต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างสุดชีวิต ถึงแม้ผลจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่เรื่องราวของเหล่าผู้กล้าได้กลับกลายเป็นคำกล่าวขานที่แพร่กระจายไปในหมู่บ้านต่างๆ
เหมือนไฟลามทุ่ง... คำร่ำลือปลุกใจให้ชาวบ้านผู้กล้าอีกหลายคนทิ้งจอบเสี้ยม หรือแม้แต่ลูกเมีย ยอมทิ้งสิ่งที่รักเพื่อออกมาต่อต้านการรุกรานจากพม่าด้วยกำลังและอาวุธที่มีอยู่น้อยนิด อยุธยาราชธานีอ่อนแอจากความแตกแยก แต่ชาวบ้านตัวเล็กๆ กลับพยายามยืนหยัดต่อสู้เพื่อแผ่นดินบ้านเกิดของตน
การเคลื่อนทัพของพม่าจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค ถึงแม้จะเป็นทัพใหญ่ที่เปรียบได้กับช้างเชือกหนึ่ง แต่ต้องพบกับอุปสรรคเหมือนโดนมดกัดอยู่ในลูกตา
กลุ่มผู้กล้าชุมเขานางบวชรวมตัวกันขึ้นมาเป็นนักรบผ้าประเจียด ผู้ที่ทำหน้าที่คอยซุ่มโจมตีและตัดกำลังกองทัพพม่า อีกทั้งยังคอยดักปล้นเสบียงรวมถึงคอยช่วยเหลือเหล่าคนไทยที่ถูกจับไปเป็นเชลย
จากที่เคยเป็นเสี้ยนหนามเล็กๆ นอกสายตา แต่เมื่อกองทัพพม่าเริ่มได้ยินเรื่องหนาหูว่ากองทัพถูกตีปล้นสะดม ท่านสุกี้แม่ทัพพม่าจึงประกาศกร้าวให้ล่าหัวกลุ่มนักรบผ้าประเจียด รวมถึงล่าหัวพระอาจารย์ธรรมโชติผู้มีมนต์ทำให้เหล่านักรบหนังเหนียวด้วยอาคม
ภายในหมู่บ้านเริ่มมีการแตกคอกัน เมื่อจำนวนคนเพิ่มมากขึ้นจากการช่วยเหลือชาวบ้านจากบางอื่นที่ถูกจับไปเป็นเชลย จำนวนคนที่มากขึ้นสวนทางกับปริมาณเสบียงที่เริ่มไม่เพียงพอ ความแตกแยกกันจึงเริ่มก่อตัวขึ้น ตามมาด้วยเสียงให้ขับไล่ชาวบ้านบางอื่นออกไปจากหมู่บ้าน และแน่นอนว่าต้องมีเสียงคัดค้าน จนเกิดเป็นปัญหาให้คนไทยต้องบาดหมางกัน
ทหารพม่าเริ่มไล่ฆ่าชาวบ้านที่ขวางเส้นทางการเดินทัพ เพื่อบีบให้นักรบผ้าประเจียดยอมมอบตัว รวมถึงการสั่งให้ไส้ศึกที่เป็นชาวบ้านคนไทยไปวางยาพิษปลิดสังขารพระอาจารย์ธรรมโชติ แม้ว่าชาวบ้านบางคนจะยอมสละแม้กระทั่งชีวิตก็ไม่ยอมเผยความลับ แต่ก็มีบางคนที่ยอมทรยศเพื่ออาหารและเงินท้องหรือแลกกับชีวิตญาติพี่น้องที่ถูกจับไว้เป็นเชลย
ฝ่ายสุกี้นำทัพเข้าปิดล้อมกองกำลังของเหล่านักรบผ้าประเจียดได้ และหากไม่มีความช่วยเหลือจากอยุธยา ไม่มีปาฏิหาริย์ที่บันดาลให้ฝนตก เลือดของคนไทยอาจต้องไหลนองแผ่นดินมากกว่าที่ควรจะเป็น
กลุ่มนักรบผ้าประเจียดเพียงไม่กี่หยิบมือ ยกดาบขึ้นโห่ร้องก่อนเข้าประจัญบานแลกคมดาบคมธนูกับกองทัพพม่า... ตำนานบางระจันจึงถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยวิญญาณและเลือดเนื้อของคนไทย เสียงดาบและเสียงโห่ร้องดังกึกก้องไปทั่วบาง และเลือกก็นองผืนดินอีกครั้ง
ภาพยนตร์ บางระจัน 2 ได้นักแสดงนำอย่าง ฉัตรชัย เปล่งพานิช รับบทเป็น พระยาเหล็ก, ภราดร ศรีชาพันธุ์ รับบทเป็นนายมั่น, ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง รับบทเป็น พระอาจารย์ธรรมโชติ, ภูริ หิรัญพฤกษ์ รับบทเป็น นายแดง และยังคับคั่งด้วยนักแสดงสมทบอีกมากมาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ด้วยปริมาณความแพร่หลายทางการโปรโมทและไม่มีกระแสแรงเท่ากับภาคแรกที่ทำไว้ค่อนข้างดี จึงทำให้ภาพยนตร์ภาคต่อเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
แต่ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องบางระจันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตำนานเล่าขานเรื่องชาวบ้านบางระจันจะมีจริงหรือเปล่า...นั่นเป็นคำถามที่ไม่สำคัญเท่ากับว่า ข้อคิดที่แฝงไว้ในตำนานหรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องความสามัคคีของคนในชาติ ทีไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ความขัดแย้งยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ...ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงทำหน้าที่กระตุ้นให้เราได้ฉุกคิด
สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนออกมาและเป็นส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในพระราชดำรัชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินมาในวโรกาสเปิดอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “วีรกรรมในครั้งนั้นเป็นของผู้ที่รักแผ่นดินไทย เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งมวล ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีกำลังใจ และเตือนสติให้มีความสามัคคีและรักษาจิตใจให้เข้มแข็ง เพื่อรักษาประเทศไทยให้ตนเองและเพื่อความมั่นคงของแผ่นดิน...”
ปัจฉิม ลิขิต