“1…2…3…แชะ” ไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่แห่งไหนๆ ก็มักจะได้ยินเสียงนี้อยู่เสมอ
ในปัจจุบันกระแสการถ่ายภาพเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนมีเพียงมืออาชีพและผู้ที่สนใจจริงๆ เท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ราคาถูกลงมาก ทำให้ใครๆ ก็สามารถสร้างสรรค์การถ่ายภาพให้สวยงามได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ไม่ว่าจะถ่ายด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือ กล้องคอมแพค หรือกล้องระดับโปรก็ตาม ยิ่งสมัยนี้มีโชเชียลเน็ตเวิร์กเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารหลัก การแบ่งปันภาพถ่ายจากฝีมือของตนเองให้ผู้อื่นได้ชมจึงเป็นกระแสหนึ่งที่น่าสนใจมากทีเดียว
การถ่ายภาพบุคคล หรือ Portrait ก็เป็นประเภทของการถ่ายภาพแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดการอบรมการถ่ายภาพบุคคลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจ โดยวิทยากรช่างภาพมืออาชีพอย่าง คุณเศรษฐชัย จะวะนะ จาก Digital 2home ศูนย์รวมกล้องดิจิตอลครบวงจร ที่มาแนะนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพบุคคล ให้ผู้ที่สนใจสามารถถ่ายภาพบุคคลได้อย่างมืออาชีพ
คุณเศรษฐชัยอธิบายถึงเรื่องการใช้แสง
คุณเศรษฐชัยเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงที่มาของการถ่ายภาพบุคคลหรือ Portrait ซึ่งความหมายเดิมคือการวาดรูปเหมือนของคน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของคนนั้นๆ เมื่อมาถึงยุคที่มีกล้องถ่ายภาพขึ้นมา จึงนำมาใช้เป็นประเภทหนึ่งของการถ่ายภาพไปด้วย
เทคนิคแรกที่คุณเศรษฐชัยแนะนำคือการทำความรู้จักกับ ‘แสง’ อันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ภาพถ่ายบุคคลสมบูรณ์และสวยงามได้ เพราะว่านอกจากลักษณะท่าทางของตัวแบบแล้ว เรื่องของแสงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพถ่ายบุคคลมีคุณค่าได้
ลักษณะของแสงแบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งแสงนุ่มและแสงแข็ง โดยให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไปตามอารมณ์ของภาพ ส่วนทิศทางของแสงก็มาจากหลายทิศทาง ทั้งแสงตรง แสงเฉียง และแสงด้านหลัง การเลือกทิศทางของแสงนั้นก็มีจุดประสงค์แตกต่างออกไปตามที่ผู้ถ่ายต้องการ และในส่วนของต้นกำเนิดแสงก็มาจากแสงธรรมชาติอย่างแสงอาทิตย์และแสงสังเคราะห์ที่เกิดจากแฟลชและไฟสตูดิโอชนิดต่างๆ ปัจจัยในการเลือกใช้แสงประเภทไหนก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการถ่ายหรือสภาพแวดล้อมรอบข้าง ซึ่งผู้ถ่ายต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม
บรรยากาศการอบรม
เมื่อรู้จักการใช้แสงแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือทำความรู้จักกับอุปกรณ์พื้นฐานในการถ่ายภาพบุคคลกันบ้าง คุณเศรษฐชัยยกตัวอย่าง ‘แผ่นสะท้อนแสง’ หรือ รีเฟลกต์ ที่มีคุณสมบัติในการลดความเข้มของแสง เนื่องจากการถ่ายภาพในบางสถานที่ที่มีแดดจัด ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเลือกใช้แสง การใช้รีเฟลกต์จะช่วยลดแสงให้นุ่มลงได้ รวมไปถึงลบเงาบริเวณใต้ตาหรือใต้คางให้แสงกระจายสม่ำเสมอทั่วใบหน้าของแบบ ซึ่งสีหน้าของตัวแบบที่แสดงออกมาคือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการถ่ายภาพบุคคล จึงจำเป็นต้องใช้แสงช่วยขับเน้นให้ชัดเจนมากขึ้น
อีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการถ่ายภาพบุคคล คือการทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ ภายในตัวกล้อง โดยเริ่มต้นจากการตั้งค่า ‘รูรับแสง’ หรือค่า F stop หมายถึงการปรับรูรับแสงให้กว้างหรือแคบ เพื่อความเหมาะสมของความชัดลึกหรือชัดตื้นของภาพ การถ่ายภาพบุคคลนิยมปรับรูรับแสงให้กว้าง โดยปรับค่า F ให้น้อย เพื่อให้ตัวแบบเด่นขึ้นมาจากฉากหลังหรือฉากหลังจะละลายไปนั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการถ่ายด้วย ถ้าหากต้องการให้เห็นฉากหลังด้วยก็ปรับค่า F ให้มากขึ้น คือรูรับแสงแคบลง จะทำให้ฉากหลังมีความชัดมากขึ้นเท่าๆ กับตัวแบบ
การใช้ ‘สปีดชัตเตอร์’ หรือการปรับค่าความไวของม่านชัตเตอร์ ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับรูรับแสง เพื่อให้ได้ค่าแสงที่เหมาะสม และใช้ในการหยุดการเคลื่อนไหวของตัวแบบไม่ให้มีการสั่นไหว ซึ่งความชัดหรือเบลอของภาพก็ขึ้นอยู่กับค่าสปีดชัตเตอร์ และอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันก็คือการตั้งค่า ‘ISO’ หรือค่าความไวแสง ที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม หากอยู่ในที่ที่มีแสงมากให้ใช้ค่า ISO ให้น้อยที่สุด ภาพที่ได้จะมีคุณภาพความคมชัดที่ดี แต่หากอยู่ในที่ที่มีแสงน้อยให้ใช้ค่า ISO มากขึ้นตามความเหมาะสม ภาพที่ได้จึงจะไม่สั่นไหว แต่การใช้ค่า ISO มากๆ ก็มีผลต่อคุณภาพของภาพ เพราะจะทำให้ภาพเกิด ‘นอยซ์’ (Noise) หรือสัญญาณรบกวนภาพ มีลักษณ์เป็นจุดเม็ดสีเล็กๆ กระจายอยู่เต็มภาพ แต่ทั้งนี้คุณเศรษฐชัยก็แนะนำว่าบางครั้งการมีนอยซ์อยู่ในภาพก็เป็นการสร้างเสน่ห์ในภาพถ่ายแบบหนึ่งเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เป็นหลัก
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อารมณ์ของภาพแตกต่างออกไปก็คือการตั้งค่า ‘สมดุลแสงสีขาว’ หรือค่า White Balance ให้เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้นหรือความต้องการของผู้ถ่ายเอง เช่น หากอยู่ในสถานที่กลางแจ้งมีแดดจัด ควรเลือกเป็นแบบ Sunlight เพื่อให้ภาพมีสีส้มอ่อนดูสมจริง หรือหากอยู่ภายในอาคารที่เปิดหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ก็ให้เลือกแบบ Fluorescent เพื่อให้ค่าอุณหภูมิแสงมีสีโทนชมพูเข้าไปเหมือนที่สายตาเราเห็น
การใช้เลนส์ในแต่ละช่วง
หลังจากเรียนรู้เรื่องการปรับตั้งค่าต่างๆ ไปแล้ว ก็มาทำความเข้าใจกับระยะของ ‘เลนส์’ แต่ละชนิดกันบ้าง เพราะต้องรู้ถึงข้อจำกัดของเลนส์ชนิดต่างๆ จึงจะสามารถเลือกใช้เลนส์ได้ตรงตามความต้องการ คุณเศรษฐชัยกล่าวว่าถ้าอยากได้ภาพมุมกว้างก็ใช้เลนส์ไวด์ที่มีระยะ 10-20 มม. ถ้าอยากได้ภาพมุมแคบก็ใช้เลนส์เทเลที่มีระยะ 200 มม. แต่เลนส์ที่นิยมใช้ถ่ายภาพบุคคลคือเลนส์ฟิกซ์ระยะ 35 มม. และ 50 มม. เพราะจะไม่ทำให้สัดส่วนของตัวแบบผิดเพี้ยน ซึ่งเลนส์คิทระยะ 18-55 มม. เป็นเลนส์ระยะปกติที่ติดแถมมากับกล้องก็มีคุณภาพดีไม่แพ้กัน
คุณเศรษฐชัยแนะนำเรื่องการซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง ต้องดูถึงความคุ้มค่าในการใช้งาน ถ้าหากเปิดสตูดิโอแล้วใช้กล้องราคาสี่หมื่นก็นับว่าคุ้มค่า แต่ถ้าหากใช้ไปถ่ายท่องเที่ยวปกติแล้วใช้ถ่ายภาพสวยๆ บางคนก็ถือว่าคุ้มค่า แต่ถ้าหากไม่ใช้ประโยชน์ได้ถึงขนาดนั้นก็นับว่าไม่คุ้มกับราคาที่เสียไป
เมื่อทราบถึงพื้นฐานของอุปกรณ์ในขั้นต้นไปแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการลงมือจัด ‘องค์ประกอบภาพ’ ก่อนถ่าย ซึ่งมีทฤษฎีพื้นฐานคือกฎ 3 ส่วน และ จุดตัด 9 ช่อง ซึ่งเป็นเส้นสมมติที่ลากขึ้นเพื่อจัดองค์ประกอบของภาพให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นทฤษฎีพื้นฐานของการถ่ายภาพทุกประเภท ทั้งพอร์เทรต, แลนด์สเคป และมาโคร คุณเศรษฐชัยให้ความเห็นว่าการให้แบบอยู่ตรงกลาง หลายๆ ตำราบอกว่าการจัดองค์ประกอบแบบนี้ไม่ดี แต่ความจริงภาพที่ตัวแบบอยู่ตรงกลางจะแสดงออกถึงความมั่นคง เรียบง่าย และสง่างาม สิ่งที่จะทำให้ภาพดูน่าสนใจคืออารมณ์และแสงของภาพ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้ภาพอยู่ตรงกลางเราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเราต้องการสื่อถึงอะไร
การโพสต์ท่าของตัวแบบ
ขั้นตอนต่อมาคือการจัดระเบียบร่างกายของตัวแบบซึ่งข้อควรระวังคือเรื่องการเกร็งของตัวแบบ ภาพถ่ายบุคคลที่ดีตัวแบบต้องมีความเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผู้ถ่ายต้องละลายพฤติกรรมกับตัวแบบก่อน เช่นมีการพูดคุยกัน ท่ายืนท่านั่งต้องระวังแขนและขา รวมไปถึงทรงผมต่างๆ และเสื้อผ้าก็มีส่วนสำคัญ ต้องดูให้ละเอียด ซึ่งในทางเทคนิคสามารถตกแต่งในโปรแกรม Photoshop ได้ แต่อาจใช้เวลามากเพื่อให้ภาพสมบูรณ์แบบ นางแบบไม่จำเป็นต้องสวย แต่ถ้าหุ่นดี โพสต์ท่าเก่ง และคาร์แรกเตอร์เข้ากับคอนเซปต์ของงานก็พอแล้ว ส่วนการถ่ายคนกับสภาพแวดล้อมควรจะให้ตัวแบบใส่เสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเขา เพราะเสื้อผ้าสามารถสื่อสารเรื่องราวได้ เช่นถ้าจะถ่ายภาพชาวเขาก็ควรให้เขาสวมใส่ชุดประจำท้องถิ่นเป็นต้น หรือถ้าเสื้อผ้าไม่สามารถสื่อสารได้ สภาพแวดล้อมก็จำเป็นเช่นกัน
คุณเศรษฐชัยเล่าประสบการณ์ให้ผู้เข้าอบรมฟังว่า ถ้าเป็นงานถ่ายใหญ่ๆ มีคำพูดขำๆ ว่าช่างภาพเป็นแค่กรรมกรกดชัตเตอร์ เพราะทุกอย่างมีคนอื่นเป็นคนจัดการให้ อย่างสไตลิสต์และช่างแต่งหน้า ที่ดูและทั้งท่าโพสต์และเสื้อผ้าหน้าผม แต่อย่างไรก็ตามถ้าช่างภาพสามารถทำได้หมดก็ถือเป็นข้อดีเช่นกัน
เสร็จสิ้นจากการสอนทฤษฎีไปแล้ว คุณเศรษฐชัยก็แนะนำให้ผู้เข้าอบรมลองไปศึกษาภาพถ่ายบุคคลของมืออาชีพในเว็บไซต์ของต่างประเทศอย่าง photo.net และ pbase.com เพราะในปัจจุบันสื่อดิจิตอลถือเป็นแหล่งค้นคว้าที่ใหญ่ที่สุดไปแล้ว เพื่อศึกษาแนวทางของมือชีพและประยุกต์เป็นแนวทางของตนเองในภายหลัง
เวิร์กช็อปถ่ายจริง
และก็มาถึงช่วงเวิร์กช็อปที่มีตัวแบบให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองลองถ่ายจริงๆ เพื่อศึกษาทิศทางแสง, การโพสต์ท่า และการจัดองค์ประกอบของภาพ โดยมีคุณเศรษฐชัยและทีมงานคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้เข้าอบรมบางคนอาจจะเคยศึกษามาบ้าง แต่ยังไม่เคยทดลองถ่ายจริงๆ คราวนี้จะได้ลองถ่ายกันจริงจัง โดยทดลองถ่ายบนบริเวณพื้นที่ภายในห้อง Learning Auditorium ซึ่งมีแสงธรรมชาติลอดผ่านกระจกเข้ามา และพื้นที่บริเวณลานด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองถ่ายภาพบุคคลในสถานที่ที่มีสภาพแสงแตกต่างกัน
แม้กระแสของการถ่ายภาพจะเป็นค่านิยมในช่วงนี้ของคนทั่วไป แต่ถ้าหากได้ลองต่อยอดศึกษาการถ่ายภาพอย่างจริงจังแล้ว การถ่ายภาพเล่นๆ ตามกระแสก็สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลงานศิลปะที่ดีได้เช่นกัน
Goheng Photographer